ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

คนไทยต้อง "อ่านออกเขียนได้ ทางการเงิน"

ห้องความรู้บัวหลวง นสพ.โพสต์ทูเดย์
3 ก.พ. 54
วรวรรณ ธาราภูมิ
นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน และ
 ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ. บัวหลวง จำกัด
คนไทยต้อง อ่านออกเขียนได้ ทางการเงิน

คนในประเทศเราเคยชินกับเครื่องมือชนิดเดียวที่ช่วยให้เงินทำงานงอกเงยด้วยตัวมันเองมานานหลายชั่วอายุคน นั่นคือการฝากเงินธนาคารโดยจะได้รับดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทน

หากแบงค์ล้มเนื่องจากการปล่อยสินเชื่อที่หละหลวม เนื่องจากการทุจริตของผู้บริหารและพนักงาน หรือเนื่อง จากผลพวงของพิษเศรษฐกิจครั้งใด รัฐบาลก็จำเป็นจะต้องเข้าไปอุ้มชูแบงค์เพื่อไม่ให้พังไปทั้งประเทศเนื่อง จากเส้นเลือดใหญ่ทางการเงินที่หล่อเลี้ยงกิจการต่างๆ ไม่ว่าจะใหญ่ กลาง เล็ก ก็คือ แบงค์ หากปล่อยให้ล้มสัก 1 แบงค์ มันจะลามไปทั้งระบบ ทั้งประเทศ เพราะเมื่อคนเกิดตื่นตระหนกถอนเงินฝากออกกันทุกแบงค์พร้อมๆ กัน  แบงค์จะเอาปัญญาไปหาจากไหนมาคืนได้ครบทุกคน เพราะเงินฝากเหล่านี้แบงค์เอาไปปล่อยสินเชื่อให้ผู้กู้แล้ว  ผู้กู้ที่ไหนจะไปมีปัญญาใช้คืนแบงค์ได้ทันที  และหากผู้ฝากขอถอนเงินแต่แบงค์บอกว่าขอแปะไว้ก่อนนะ อีก 2-3 วันน่าจะหามาคืนให้ รับรองได้ว่าหากใครได้ยินข่าวนี้ก็จะรีบแล่นไปถอนเงินที่มีในทุกธนาคารทันทีแบบตัวใครตัวมัน  

แต่ก็เกิดคำถามขึ้นมาว่าเงินที่เอาไปอุ้มแบงค์นั้น มาจากไหน คำตอบก็คือ มาจากภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บจากกิจการต่างๆ และจากประชาชน  ซึ่งนั่นก็คือความไม่เป็นธรรมในระบบ จึงได้เกิดระบบการอุ้มแบบจำกัดวงเงินขึ้นมา นั่นก็คือ ต่อไปนี้จะอุ้มผู้ฝากเงินไม่เต็มจำนวนที่ฝากแล้วนะ เรามีองค์กรที่ชื่อว่าสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เกิดขึ้นมาแล้วและตั้งแต่ 11 สิงหาคม 2554 เขาจะอุ้มผู้ฝากรายละ 50 ล้านบาท   พอถึง 11 สิงหาคม ปี 2555 ก็จะอุ้มผู้ฝากลดลงเหลือเพียงรายละ 1 ล้านบาทเท่านั้น ความจริงไม่น่าชื่อนี้เลย ควรชื่อ สถาบันจำกัดการคุ้มครองเงินฝาก ถึงจะถูกต้อง

สิ่งที่ตามมาก็คือ ต่อไปนี้หากแบงค์ที่เราฝากเงินไว้เกิดล้มขึ้นมา  เราจะได้เงินฝากคืนตามจำนวนที่ฝากไว้ แต่ได้คืนไม่เกิน 1 ล้านบาท คนจนไม่กระทบเลย แต่คนรวยที่เข้าใจดีจะเริ่มเครียด แต่จะไม่ทำให้เกิดอาการแตกตื่นแห่ถอนเงินจากแบงค์หนึ่งไปอีกแบงค์หนึ่งที่เชื่อว่าปึ้กกว่าทันที จนกว่าจะมีแบงค์ไหนล้มจริงๆ  ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะคนไทยยังชินกับความเชื่อที่ว่าแบงค์บอกว่าได้ดอกเบี้ย หรืออะไรที่แบงค์ขายหากบอกว่าจะได้ผลตอบแทนเท่าไหร่ เราต้องได้เท่านั้น  นั่นคือเราไม่รู้จักความเสี่ยง เชื่อว่าฝากเงินไม่เสี่ยง ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิดเอามากๆ  ต่อไปนี้หากเรามีเงินเกิน 1 ล้านบาท ก่อนจะฝากเงินเราก็ต้องดูด้วยว่าแบงค์ที่เราฝากเขามีฐานะการเงินมั่นคงไหม มีคณะผู้บริหารที่เก่งและดีหรือไม่  ไม่ใช่ดูแค่ดอกเบี้ยว่าใครจะให้ดีกว่ากันหรือตัดสินใจเพียงเพราะรักใคร่ชอบพอกับผู้จัดการแบงค์แต่เพียงอย่างเดียว เพราะหากเกิดอะไรขึ้นมา ผู้จัดการแบงค์ที่ไหนก็ไม่มีปัญญาจะหาเงินมาคืนเราได้  ต่อไปผู้ฝากต้องเข้าใจมากขึ้นว่า เสี่ยงมากได้ดอกเบี้ยมาก เสี่ยงน้อยได้ดอกเบี้ยน้อย ให้เลือกฝากได้ตามอัธยาศัย และจะไม่มีแบงค์ไหนที่ฝากเงินแล้วไม่เสี่ยงอีกแล้ว

นอกจากนี้แล้ว เราต้องรู้จักแสวงหาช่องทางอื่นในการให้เงินทำงานด้วยตัวมันเองให้มากขึ้น  ไม่จำเป็นต้องติดอยู่กับการฝากเงินเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะเมื่ออัตราดอกเบี้ยจากการฝากเงินยังมีระดับต่ำเอามากๆ แบบนี้ แม้จะขึ้นดอกเบี้ยอีกสัก 1-2 ครั้ง ก็จะยังไม่ไปไหนเท่าไหร่  ยังต่ำกว่าเงินเฟ้อด้วยซ้ำ

แต่ก็น่าเสียดายที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ ไม่รู้  หรือกลัวความเสี่ยงที่จะไปสัมผัสอะไรที่นอกเหนือไปจากเงินฝาก ทั้งๆ ที่มีคนจำนวนมากขึ้นได้รับประโยชน์จากการแสวงหาช่องทางเพิ่มเติมจนพบสิ่งเหมาะสมกับเขา  คนเหล่านี้มีจำนวนประมาณ 2 ล้านบัญชี  เขาเลือกให้เงินทำงานผ่านกองทุนรวม

สมมติว่าเมื่อ 10 ปีก่อน เรามีเงินลงทุน 1 ล้านบาท  แล้วเราเลือกนำเงินไปฝากประจำในสัดส่วน 90% ฝากออมทรัพย์ 10% พอถึงสิ้นปี 2552 ผลตอบแทนจากการฝากเงินของเราจะเท่ากับ 2.19% ต่อปีโดยเฉลี่ย โดยมีค่าความเสี่ยงที่อาจไม่เป็นเช่นนั้นที่ประมาณ 0.9%

แต่หากเรานำงินลงทุน 1 ล้านบาทเมื่อ 10 ปีก่อน ไปฝากประจำในสัดส่วน 10% ฝากออมทรัพย์ 5% ลงทุนในพันธบัตร 20%  ลงทุนในทองคำ 5% ลงทุนในหุ้น 70%  พอถึงสิ้นปี 2552  ผลตอบแทนบางปีโดยรวมติดลบ  บางปีบวก แต่โดยเฉลี่ยแล้วเราจะได้ผลตอบแทนเท่ากับ 7.06% โดยเฉลี่ยต่อปี   โดยมีค่าความเสี่ยงที่อาจไม่เป็นเช่นนั้นที่ประมาณ 33%  

ลองเปรียบเทียบดูแล้วก็เลือกเอาเองว่าจะเลือกอยู่กับเงินฝากอย่างเดียวต่อไปเรื่อยๆ โดยต่อจากนี้ไปรัฐไม่ได้อุ้มแบงค์แบบเก่าอีกแล้ว หรือจะลองแสวงหาช่องทางอื่นมาช่วยเพิ่มมูลค่าของเงินเรา แต่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ซึ่งเราต้องดูว่าในความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นนั้น ผลตอบแทนคาดหวังจะคุ้มกับตัวเราหรือไม่เอาไว้ด้วย

เมื่อใดที่คนไทยเริ่มเข้าใจแล้วว่าโลกนี้ไม่ได้มีแต่เงินฝาก เข้าใจแล้วว่าความเสี่ยงมีอยู่ทุกหนแห่ง และรู้ว่ามีช่องทางลงทุนอื่นๆ อีกมากที่จะทำให้เงินทำงานดีขึ้น  เราก็เริ่ม อ่านออก เขียนได้ทางการเงิน แล้ว

อย่าไปตกหลุมพรางของความไม่รู้ หรือความเชื่อผิดๆ ที่ว่าตลาดทุนคือแหล่งการพนัน  มันเป็นแหล่งพนันจริงแต่ก็เฉพาะสำหรับนักพนันผู้หวังรวยทางลัดชั่วข้ามคืน  แต่เป็นแหล่งลงทุนและทางเลือกของผู้ที่ต้องการแสวงหาหนทางให้เงินเราทำงานได้เป็นอย่างดีสำหรับนักลงทุนระยะยาว 

ทั้งนี้ หากไม่มีเวลา ไม่มีความรู้พอ  ก็ให้เริ่มด้วยการให้เงินทำงานผ่านกองทุนรวมเหมือนคนอื่นๆ ที่ใช้ช่องทางนี้  โดยจัดสรรเงินลงทุนกระจายไปในช่องทางลงทุนต่างๆ ให้เหมาะสมกับตนเอง แต่หากจะเป็นแฟนคลับตัวยงของเงินฝากต่อไป ก็ไม่มีใครขัด  เงินของเรา เราเลือกได้ และต้องเลือกเองด้วย

สิ่งที่เปลี่ยนไป เมื่อมี พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก

กินรี
กรกฎาคม 2551

สิ่งที่เปลี่ยนไป เมื่อมี พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก

หลังจากมีความพยายามดำเนินการจัดตั้งมากว่า 10 ปี ในที่สุดวันที่ 11 สิงหาคม 2551 นี้ พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ก็จะเริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ และส่งผลให้สถานภาพการคุ้มครองเงินฝากของผู้ฝากเงินกับธนาคารในประเทศไทยกำลังจะเปลี่ยนแปลงไป

แนวคิดการจัดตั้ง สถาบันคุ้มครองเงินฝาก หรือชื่อเดิมคือ สถาบันประกันเงินฝาก เริ่มขึ้นอย่างจริงจังเมื่อประเทศไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 สถาบันการเงินจำนวนมากประสบปัญหาจนต้องปิดกิจการลง สร้างความเสียหายต่อระบบการเงินสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท ระบบการคลังของประเทศต้องแบกภาระอย่างหนัก เพราะต้องคุ้มครองเงินฝากของผู้ฝากเงินทั้งหมด เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนรองรับว่าแท้จริงแล้วการคุ้มครองเงินฝากของผู้ฝากเงินควรอยู่ที่ระดับใดกันแน่

การคุ้มครองเงินฝากแบบเดิม ทำให้ผู้ฝากเงินส่วนใหญ่เลือกฝากเงินกับสถาบันที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด โดยไม่ได้สนใจว่าสถาบันการเงินใดมีความมั่นคงมากกว่ากัน เพราะเสมือนว่าได้รับความคุ้มครองเหมือนกันหมด ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง แต่ตาม พ.ร.บ. ฉบับใหม่ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ทำให้รูปแบบการคุ้มครองเงินฝากเปลี่ยนแปลงไป นั่นคือ จะมีการจำกัดวงเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครอง ให้เหลือเพียง 1 ล้านบาทต่อ 1 คนต่อ 1 สถาบันการเงิน เท่านั้น โดยจะค่อยๆ ลดระดับความคุ้มครองอย่างค่อยเป็นค่อยไปใน 5 ปี นั่นหมายความว่าหากสถาบันการเงินหรือธนาคารผู้รับฝากเงินประสบปัญหาเหมือนเช่นปี 2540 ผู้ฝากเงินจะได้รับความคุ้มครองสูงสุดลดหลั่นตามแต่ละปีที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.

ระยะเวลา
ระดับความคุ้มครองสูงสุดสำหรับ  1 คน ต่อ 1 ธนาคาร
11 ส.ค. 51  -  10 ส.ค. 52
คุ้มครองเต็มจำนวน
11 ส.ค. 52  -  10 ส.ค. 53
คุ้มครองสูงสุดไม่เกิน 100 ล้านบาท
11 ส.ค. 53  -  10 ส.ค. 54
คุ้มครองสูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาท
11 ส.ค. 54  -  10 ส.ค. 55
คุ้มครองสูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท
11 ส.ค. 55 เป็นต้นไป
คุ้มครองสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท

สถาบันคุ้มครองเงินฝากอาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย แต่ในอีกเกือบ 100 ประเทศ ได้มีการจัดตั้งสถาบันประเภทนี้อยู่แล้ว โดยเฉพาะประเทศที่ระบบการเงินพัฒนาไปมากอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ หรือแม้แต่มาเลเซีย จึงเป็นหน้าที่ของผู้ฝากเงินที่ต้องหันมาสนใจเรื่องความปลอดภัยของเงินฝากของตนเองให้มากขึ้น แทนที่จะดูเรื่องผลตอบแทนเพียงอย่างเดียว ควรคิดไตร่ตรองให้ดีเสียก่อนว่าสถาบันการเงินหรือธนาคารที่รับฝากเงินนั้น มีความมั่นคงอยู่ในระดับใด มีโอกาสเกิดปัญหาจนส่งผลกระทบต่อเงินฝากของเรามากน้อยแค่ไหน ผลตอบแทนที่ได้รับจูงใจเพียงพอที่จะแลกกับความเสี่ยงหรือไม่ เพราะหากเกิดปัญหาขึ้นย่อมหมายถึงความสูญเสียของเงินออมที่เก็บสะสมมาทั้งชีวิต

นอกจากนี้ ผู้ฝากเงินก็ควรเริ่มศึกษาหาทางเลือกของการออมและการลงทุนอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อใช้เป็นทางเลือกในการกระจายความเสี่ยงและสร้างโอกาสเพิ่มผลตอบแทนนอกเหนือจากการฝากเงินไว้กับธนาคารด้วย เช่น ตราสารหนี้ต่างๆ พันธบัตรรัฐบาล  รวมถึงกองทุนรวมตราสารหนี้ประเภทต่างๆ ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ขนาดของเงินลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ทั้งระบบ ณ วันที่  20 มิถุนายน 2551 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงถึง 950,000 ล้านบาทแล้ว เนื่องจากผู้ฝากเงินส่วนหนึ่งเห็นว่ากองทุนรวมตราสารหนี้สามารถใช้เป็นทางเลือกของการลงทุนที่น่าสนใจ ควบคู่ไปกับเงินฝากสะสมทรัพย์และเงินฝากประจำได้เป็นอย่างดี

            บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด