ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ทำอย่างไรไม่ให้สำลักข่าว

คุณวรวรรณ ธาราภูมิ
CEO บลจ.บัวหลวง 

10 มิย 2555  

ท่ามกลางข่าวสารเข้ามาท่วมหัวอย่างนี้ เราจะลงทุนหรือไม่ลงทุนอย่างไรดี เพราะหลายคนคงกำลังสับสนกับข่าวสารและความเสี่ยงในโลก ในไทย ที่อาจมีต่อการลงทุน โดยเฉพาะเมื่อโลกใกล้ตัวมากขึ้นเป็นรายวินาที เราก็ได้รับข่าวสารจากทุกมุมโลกแล้ว และเปลี่ยนได้รวดเร็ว

จะทำอย่างไรไม่ให้สำลักข่าว (เรียงตามลำดับ)

1.         ย่อยข่าวก่อน ข่าวอะไรไกล-ใกล้ตัว อะไรเป็นข่าว อะไรเป็นวิเคราะห์   

2.         ดูตนเองว่าเงินเราส่วนไหนลงทุนระยะสั้น กลาง ยาว  

3.         จัดลำดับน้ำหนักข่าวที่จะมีต่อการลงทุน ข่าวอะไรช่วงนี้เชื่อถือได้ วิเคราะห์ความเป็นไปได้และ   ผลกระทบต่อการลงทุนของเราในระยะสั้น กลาง ยาว แล้วค่อยปรับพอร์ตสั้นหากมีผล  ส่วนพอร์ต    กลางก็แล้วแต่กรณี  สำหรับพอร์ตยาวน้อยครั้งที่ข่าวรายวันจะกระทบ

4.         สรุปแนวโน้มภาพยาวๆ ที่วิเคราะห์และมองว่ามีแนวโน้มสูงที่จะเป็นเช่นนั้นแปะข้างฝาไว้ ใกล้ๆ รายการ Asset Allocation หรือเป้าหมายการจัดน้ำหนักลงทุนระยะยาวที่เรากำหนด ที่ให้แปะไว้ก็เพื่อจะได้ไม่ลืมเป้าหมายการลงทุนของเราในระยะยาวไกล และไม่ลืมมุมมองภาพกว้างในระยะยาว

มุมมองเศรษฐกิจ ตลาดเงิน ตลาดทุนภาพกว้างระยะยาวนี้ มักไม่เปลี่ยนไว ยกเว้นมีปัจจัยอ่นที่มี            น้ำหนักกระทบแรงมาทำให้ภาพวิเคราะห์เปลี่ยน หากมีก็เปลี่ยนที่แปะไว้ เอาอันใหม่ขึ้นไปแปะแทน


อ่านดูแล้วหลายคนคงว่าเชยมาก แปะข้างฝา อ้าว ก็จะได้เห็นง่ายๆ ไง  แต่ความจริงจะแปะที่ไหนก็ได้ ที่ทำให้เราเห็นบ่อยๆ อย่าไปแปะบนหน้าผากตนเองก็แล้วกัน เพราะส่องกระจกอ่านก็ต้องกลับด้าน

5.         อย่าลืม Rebalancing  หรือปรับสมดุลย์พอร์ตลงทุน กรณีที่เวลาผ่านไปแล้วทำให้สัดส่วนลงทุนเปลี่ยนไป  เช่นเดิมตั้งเป้าจะมีหุ้น 40% พันธบัตร 50% ทองคำ 10%  หากผ่านไปแล้วหุ้นกลายเป็น 35% พันธบัตร/ตราสารหนี้ กลายเป็น 60% ทองคำกลายเป็น 5% ก็ให้เพิ่มสัดส่วนหุ้นกับทองคำให้       เท่าเป้าหมายเก่า  จะโดยเพิ่มเงินใหม่ลงไปหริอขายพันธบัตร/ตราสารหนี้ออกไปก็แล้วแต่

6.         ทำตนให้ชินกับข่าวสาร อย่าตื่นตูม และอย่าวิ่งแตกตื่นสนองตอบข่าวระยะสั้นๆ ด้วยการแห่ทำตามคนอื่น ไม่ว่าด้านซื้อหรือขาย โดยเฉพาะสำหรับพอร์ตระยะยาว หากเป็นพอร์ตระยะสั้นๆ ก็อาจกระทบถ้าสนองตอบช้าไปเพราะปัจจัยพื้นฐานมีผลน้อยกว่าพฤติกรรมผู้เล่นในตลาดแม้จะไม่มีเหตุผล ส่วน พอร์ตระยะกลางให้ประเมินผลให้ดีก่อนว่าควรปรับหรือไม่ ทั้งนี้ขึ้นกับว่าระยะกลางนั้น เราใช้ระยะเวลาเท่าใดกำหนด เพราะบางคนก็บอกว่า 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1-2 ปีเป็นระยะกลาง

เมื่อไม่มั่นใจ สติแตก กลับมาอ่านใหม่ตั้งแต่ข้อ 1 ถึงข้อ 6

หากอ่านทวนแล้วก็ยังสติแตกก็มี 2 ทางเลือกคือ เลิกอ่านข่าว หรือไม่งั้นก็ล้างพอร์ต กอดเงินสดไว้ แล้วปิดไฟ เข้านอน

สรุป

ถ้าเรามีสติกำกับ โอกาสชนะมีสูง

ขอให้ปัญญา สติดี และโชคดี ในการลงทุนค่ะ

ปัญญาดี ไม่มีสติกำกับ ก็ไม่มีประโยชน์
สติปัญญาดี บางทีก็ต้องมีโชคช่วยบ้างนิดหน่อย

วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เตรียมตัวอย่างไรกับวิกฤติหนี้ยุโรป

เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต  นิจถาวร

10 มิถุนายน 2555

                 สถานการณ์หนี้ยุโรปขณะนี้น่าห่วงมาก ข่าวที่ออกมาอาทิตย์ที่แล้ว โดยเฉพาะกรณีของสเปนชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ที่อ่อนไหวและขับคันมากขึ้น และหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นผู้ดำเนินนโยบายในยุโรปเอง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)  ธนาคารโลก และนักลงทุนสถาบันต่างออกมาแสดงความห่วงใยในสถานการณ์อย่างเปิดเผย ความไม่แน่นอนขณะนี้ก็คือ ความไม่ชัดเจนว่าการแก้ไขปัญหาในยุโรปจะเดินต่ออย่างไร ขณะที่ความเชื่อมั่นของตลาดเกี่ยวกับความสามารถของทางการที่จะดูแลปัญหาก็ลดลง เห็นได้จากแรงกดดันของตลาดที่มีมากขึ้น เช่น ในสเปนที่อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมภาครัฐได้ปรับสูงขึ้นกว่าร้อยละ 6.6 ขณะที่ค่าเงินยูโรก็อ่อนลงต่อเนื่อง พูดได้ว่าสถานการณ์จากนี้ไปจะขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นที่นักลงทุนมีต่อความสามารถของทางการยุโรปที่จะแก้ไขปัญหา ถ้าความเชื่อมั่นลดลงอย่างรุนแรง สถานการณ์ก็อาจผลิกผันไปสู่การเกิดวิกฤตได้ ดังนั้น เราจึงควรเตรียมตัวกับความเป็นไปได้ที่อาจเกิดขึ้น เพราะต้นทุนของการไม่เตรียมตัวแต่วิกฤตเกิดจะแพงมาก เมื่อเทียบกับต้นทุนของการเตรียมตัวแต่วิกฤตไม่เกิด

                 เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ความเชื่อมั่นหรือ Sentiment ในตลาดการเงินโลกลดลงมากจากสามปัจจัย หนึ่ง ความไม่แน่นอนในกรีซ เมื่อผลเลือกตั้งไม่มีข้อยุติ สร้างความไม่แน่นอนว่าการแก้ปัญหาในกรีซจะเดินต่ออย่างไร สอง การพูดอย่างเปิดเผยถึงความเป็นไปได้ที่กรีซอาจต้องใช้การลดค่าเงินเป็นวิธีแก้ปัญหา ซึ่งหมายถึงกรีซต้องออกจากระบบเงินยูโร ซึ่งสร้างความวิตกกังวลให้กับผู้ร่วมตลาด และ สาม ปัญหาของสถาบันการเงินในสเปนที่อาจทำให้สถานการณ์หนี้ยุโรปยุ่งยากมากขึ้น

                 ในกรณีของกรีซ ไม่ว่าผลการเลือกตั้งเดือนนี้จะออกมาอย่างไร ทางเลือกแรกที่ประชาชนกรีซต้องการก็คือ กรีซอยู่ในระบบเงินยูโรต่อไป แต่อยากให้เงื่อนไขการกู้ยืมที่กรีซต้องรัดเข็มขัดผ่อนคลายลง เพื่อให้เศรษฐกิจกรีซมีโอกาสฟื้นตัว ความเป็นไปได้นี้จะขึ้นอยู่กับรัฐบาลสหภาพยุโรปโดยเฉพาะ เยอรมนี และ ไอเอ็มเอฟ ว่าจะยอมตามหรือไม่ ถ้าไม่ยอม กรีซก็คงต้องเลือกที่ออกจากระบบเงินยูโร ซึ่งเป็นทางเลือกที่จะส่งผลกระทบต่อกรีซ สหภาพยุโรป และเศรษฐกิจโลกมาก ผลกระทบดังกล่าวจะทำให้รัฐบาลสหภาพยุโรปและ ไอเอ็มเอฟ ต้องพยายามทำทุกทางรวมถึงการเข้าอุ้มภาระหนี้ของประเทศหนี้สูงในยุโรป และระบบการเงินถ้าจำเป็น เพื่อไม่ให้ปัญหากรีซลุกลามกระทบเสถียรภาพของประเทศอื่นๆ

                 สำหรับสเปน เศรษฐกิจสเปนขณะนี้กำลังเผชิญกับสามปัญหา หนึ่ง  เศรษฐกิจชะลอตัวมาก และมีการว่างงานสูง ล่าสุดอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 24  สอง สถาบันการเงินในสเปนมีปัญหาหนี้เสียจากราคาบ้านที่ลดลง เศรษฐกิจที่ชะลอตัว และการว่างงานที่สูง หนี้เสียดังกล่าวทำให้ธนาคารในสเปนต้องเพิ่มทุน สาม มีเงินทุนไหลออกในรูปของการย้ายเงินฝากออกจากสถาบันการเงินในสเปน ทำให้ระบบการเงินสเปนขาดแคลนสภาพคล่อง ทั้งสามปัญหานี้เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสเปน และทำให้ความสามารถของรัฐบาลที่จะเข้าช่วยเหลือสถาบันการเงินลดลง ซึ่งกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน กดดันให้อัตราดอกเบี้ยที่รัฐบาลสเปนกู้เพิ่มสูงขึ้น ล่าสุดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้รัฐบาลสเปนก็ถูกปรับลดลง ด้วยเหตุผลของปัญหาที่มีในระบบสถาบันการเงิน และความผิดหวังที่ตลาดมีต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ  

                 ดังนั้น สถานการณ์หนี้ยุโรปขณะนี้มีจุดเปราะบางมากขึ้น ความห่วงใยของนักลงทุนก็มีมากขึ้น สองปัจจัยนี้ทำให้ตลาดการเงินโลกปรับตัวมากในช่วงสองอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งลึกๆ แล้วก็สะท้อนช่องว่างที่มีอยู่ระหว่างสิ่งที่ผู้ทำนโยบายในยุโรปเชื่อและสิ่งที่ตลาดเชื่อ กล่าวคือขณะที่ทางการยุโรปพูดถึงความจำเป็นที่การแก้ไขปัญหาจะต้องเดินตามแนวทางเดิมต่อ แต่ตลาดปรับตัวเหมือนกับยอมรับแล้วว่าจะมีประเทศที่ต้องออกจากระบบเงินยูโร ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นตลาดปรับตัวมาก โดยการลดการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงทุกประเภท  เหมือนเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเลวร้ายลง

                 ในกรณีที่สถานการณ์ยุโรปผกผันจนเป็นวิกฤต คาดว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกจะมีมากด้วยสามเหตุผล คือ หนึ่ง ยุโรปเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก ดังนั้น ถ้าอะไรเกิดขึ้นกับยุโรป ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกจะมีมาก สอง เศรษฐกิจโลกในส่วนอื่นๆขณะนี้ก็ไม่สดใส หลายประเทศเริ่มชะลอ พูดได้ว่าเศรษฐกิจของประเทศสำคัญๆ ขณะนี้กำลังชะลอตัวลงอย่างพร้อมเพียงกัน แบบ Synchronized slowdown ไม่ว่าจะเป็น จีน อินเดีย บราซิล เกาหลี ไต้หวัน ออสเตรเลีย ดังนั้นถ้าอะไรเกิดขึ้นในยุโรป ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกจะมาก เพราะเศรษฐกิจโลกจะไม่มีความเข้มแข็งของเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่มาเป็นตัวช่วย เหมือนตอนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกเมื่อสี่ปีก่อน สาม พื้นที่ด้านนโยบายที่กลุ่มประเทศอุตสาหกรรม จะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมก็มีจำกัด เพราะหนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูง และอัตราดอกเบี้ยก็ต่ำมากแล้ว ทั้งสามเหตุผลนี้ชี้ว่า ถ้าปัญหายุโรปบานปลาย ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกจะมีมาก ความหวังขณะนี้อยู่ที่บทบาทของเยอรมนีที่จะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เข้าช่วยเหลือเศรษฐกิจยุโรปอย่างเต็มที่

                 ประเทศไทย ซึ่งเป็นเศรษฐกิจเปิด คงถูกกระทบแน่ถ้าปัญหาหนี้ยุโรปบานปลาย ดังนั้น เราควรต้องตระหนักถึงความเป็นไปได้ของปัญหา และมีการเตรียมรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เพื่อผ่อนหนักให้เป็นเบา และเท่าที่ประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจ จะมีอย่างน้อยห้าด้าน

                 หนึ่ง การส่งออก จากที่ยุโรปเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหญ่ การส่งออกคงถูกกระทบแน่ และจะหวังพึ่งตลาดเอเชียมาทดแทนก็ยาก เพราะเศรษฐกิจเอเชียก็ชะลอเหมือนกัน การส่งออกจะถูกกระทบ ทั้งการผลิต รายได้ และการมีงานทำ  ภาครัฐจึงควรเตรียมเข้ามาดูแลเพื่อให้ธุรกิจส่งออกสามารถปรับตัวได้

                 สอง ธนาคารพาณิชย์ในยุโรป คงลดทอนการปล่อยกู้ให้กับธนาคารพาณิชย์และลูกค้าในต่างประเทศ ซึ่งจะกระทบสภาพคล่องของภาคธุรกิจไทย โดยเฉพาะ สินเชื่อการค้า และสภาพคล่องของนักลงทุนไทยในต่างประเทศ ดังนั้นธนาคารพาณิชย์ไทยควรพร้อมเข้ามาเติมช่องว่างนี้ เพื่อให้ภาคธุรกิจเอกชนสามารถเดินต่อได้

                 สาม  ผลต่อสภาพคล่องในประเทศจากการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศ ที่จะสร้างความผันผวนให้กับตลาดเงินในประเทศ โดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย ควรดูแลสภาพคล่องทั้งเงินดอลล่าร์และเงินบาทให้เพียงพอ และให้อัตราแลกเปลี่ยนปรับตัวตามภาวะตลาดทั้งสองทิศทาง ไม่ฝืนตลาด และให้ความผันผวนอยู่ในขนาดที่ธุรกิจจะปรับตัวได้

                 สี่ ดูแลการกระจายสภาพคล่องในระบบธนาคารให้ถึงมือธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่คงต้องปรับตัวมาก การกระจายควรเน้นการใช้กลไกราคามากกว่าการจัดสรรสินเชื่อ คืออัตราดอกเบี้ยอาจแพงแต่มีเงินให้กู้ จะดีกว่าจัดให้มีสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่หากู้ไม่ได้ และ

                 ห้า สถานการณ์ยุโรปคงกระทบความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจกระทบความต้องการของเอกชนที่จะใช้จ่ายและลงทุน ดังนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยนโยบายการคลังและนโยบายการเงินอาจจำเป็น เพื่อประคองเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอตัวหรือหดตัวมากเกินไป แต่การกระตุ้นต้องอยู่ภายใต้การรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ และวินัยด้านการเงินการคลัง

                 นอกจากนี้การสื่อความอย่างตรงไปตรงมาโดยภาครัฐ รวมถึงการให้ข้อมูลเศรษฐกิจที่ถูกต้อง ชัดเจนทันเวลา จะจำเป็นและสำคัญต่อการประเมินสถานการณ์ของภาคเอกชน เพื่อประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจ

                 ก็หวังว่าข้อคิดเหล่านี้จะเป็นประโยชน์