ค้นหาบล็อกนี้

วันจันทร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2555

อ่านตลาดเกิดใหม่ 360 องศา ผ่านสายตาสุดยอดกูรู "โมเบียส"


29 เมษายน 2555


ตลาดเกิดใหม่ทำไมถึงเนื้อหอม Fundamentals นำเสนอกันอีกรอบผ่านสายตากูรูระดับโลกอย่างมาร์ค โมเบียส

ปีนี้วิกฤติหนี้รัฐยุโรปดูจะจบยาก สหรัฐมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างเชื่องช้า ยิ่งทำให้ตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกรวมไทย ยังคงเป็นเป้าหมายสำคัญของนักลงทุน

ต้นเดือน เม.ย. ปีนี้ "มาร์ค โมเบียส" กูรูผู้รู้จริงพัฒนาการตลาดเกิดใหม่ เดินทางมาเยือนไทยตามคำเชิญของ บลจ.กรุงศรี เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้ข้อมูลแบบรอบด้านสำหรับข้อสงสัยที่ว่าหุ้นตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะละติน อเมริกา เหตุใดจึงมีเสน่ห์ดึงดูดเงินทุนจากทุกมุมโลกไหลเข้าต่อเนื่อง 
Fundamentals ได้มีโอกาสรับฟังสุดยอดกูรูผู้นี้จึงขอเก็บตกรายละเอียดทุกมุมมองเกี่ยวกับพัฒนาการกับอนาคตสดใสของตลาดเกิดใหม่ มานำเสนอนักลงทุนไทยทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป็นเหมือนคู่มือช่วยหาจังหวะช่องทางทำรีเทิร์นดีจากตลาดเหล่านี้ในระยะยาว

ย้อนดูรีเทิร์นโดดเด่น
 
ด้วยประสบการณ์การศึกษาพัฒนาการตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกอย่างถ่องแท้มานานหลายสิบปี จนผู้คนยกให้ มาร์ค โมเบียส ประธานบริหารเทมเพิลตัน อีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ตส์ เป็นสุดยอดกูรูตลาดเกิดใหม่ และการมาเยือนไทยครั้งล่าสุดนี้เขามีข้อมูลสถิติตัวเลขเศรษฐกิจมากมายเกี่ยวกับตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกมาฝาก

โมเบียส หยิบยกพัฒนาการเฉพาะตลาดหุ้นเกิดใหม่เปรียบเทียบกับตลาดหุ้นสหรัฐและตลาดหุ้นทั่วโลก ทั้งในระยะ 5 ปี และตลอดทศวรรษที่ผ่านมา พิจารณาจากกราฟดัชนี MSCI ของ มอร์แกน สแตนเลย์ พบว่าดัชนี MSCIตลาดหุ้นเกิดใหม่ ไม่ว่าอยู่ในช่วงเกิดวิกฤติการเงินโลกปี 2551-2552 และวิกฤติหนี้รัฐในยุโรปตั้งแต่ต้นปี 2554 และยืดเยื้อถึงต้นปีนี้ หรือในช่วงเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีขึ้นช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สะท้อนว่าผลประกอบการตลาดหุ้นเกิดใหม่ยังสามารถปรับขึ้น ทำได้ดี และเหนือกว่า  MSCI ตลาดหุ้นสหรัฐ กับ MSCI ทั่วโลก ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

ละตินอเมริการีเทิร์นดีสุด

นอกจากเปรียบเทียบดูภาพรวมระหว่างดัชนี MSCI ตลาดเกิดใหม่ กับ MSCI ตลาดสหรัฐ และ MSCI ตลาดทั่วโลก แล้ว โมเบียส ยังให้ภาพลึกลงไปด้วยการเปรียบเทียบเฉพาะดัชนี MSCI ตลาดหุ้นละตินอเมริกา กับ MSCI ตลาดเกิดใหม่อื่น โดยรวม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผลที่ออกมาคือในระยะเวลาดังกล่าวส่วนใหญ่ละตินอเมริกาให้ผลประกอบการดีเหนือกว่าตลาดเกิดใหม่อื่น และหากเป็นระยะเวลาสั้นลงเป็น 5 ปีที่ผ่านมา แยกเป็นดัชนี MSCI ของ 3 ตลาดเกิดใหม่เหมือนกัน คือละตินอมเริกา เอเชีย และ ยุโรปตะวันออก ปรากฏผลไม่ต่างกันมากนักเพราะว่าช่วง 5 ปีที่ผ่านมาตลาดละตินอเมริกาก็ยังให้ผลประกอบการเด่นสุด ทำรีเทิร์นได้ดีและเหนือกว่าตลาดเกิดใหม่อื่นอย่างเอเชียและยุโรปตะวันออก

ตลาดแนวหน้า น่าลงทุน
 
ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่กว่า 40 ประเทศนั้น โมเบียส ยังให้คำนิยามกับกลุ่มประเทศหนึ่งที่อยู่ในตลาดเกิดใหม่นี้ว่าเป็นตลาดแนวหน้า (frontier markets) ทั้งที่อยู่ในทวีปแอฟริกา ตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออกและเอเชียหลายแห่งโดดเด่นดึงดูดใจให้ลงทุนมากที่สุด ไม่แพ้ตลาดเกิดใหม่ที่มีขนาดใหญ่อย่างจีน อินเดียหรืออินโดนีเซีย และตลาดแนวหน้าข้างต้น ประกอบด้วย ไนจีเรีย  เวียดนาม  คาซัคสถาน  ยูเครน เคนยา  กานา  ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ อียิปต์และโรมาเนีย 
ทั้งนี้ เดนนิส ลิม ผู้จัดการกองทุน เทมเพิลตัน แอสเซต แมเจนเมนท์ ซึ่งเดินทางมาไทยร่วมกับโมเบียส และเป็นผู้เชี่ยวชาญตลาดย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ได้แนะนำนักลงทุนจับตาการเติบโตกับอนาคตอันสดใสของ พม่าและกัมพูชา ซึ่งถือเป็นสองตลาดแนวหน้าของอาเซียน
 
ลิม ให้เหตุผลว่า พม่าอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งแก๊สธรรมชาติ นอกเหนือจากน้ำมันและแร่ธรรมชาติ ส่วนกัมพูชาเป็นแหล่งลงทุนที่ดีจะได้ประโยชน์จากการค้าขายกับเพื่อนบ้านอย่างไทย เวียดนามและลาว แต่การเข้าไปกัมพูชาต้องศึกษามาตรฐานบรรษัทภิบาลของประเทศนี้ให้ดีก่อน
 
ส่วน โมเบียส มองพม่าเป็นหนึ่งในตลาดแนวหน้าเช่นกัน และอีก 2-3 ปีเขาอาจเข้าไปลงทุนในพม่า และสนใจลงทุน 3 ภาคธุรกิจ คือ พลังงาน การผลิตระดับท้องถิ่น และ การบริโภค เพราะพม่าอยู่ติดกับจีนและอินเดีย มีทรัพยากรอยู่มาก ซึ่งเป็นปัจจัยช่วยพม่าไปได้ดีกว่าเพื่อนบ้าน แต่พม่าต้องพัฒนาตลาดเงินกับค่าเงิน และพัฒนาระบบธนาคารกับสาธารณูปโภคให้ดีก่อน

ดึงทุนไหลเข้าได้อีกมาก
 
โมเบียส เชื่อว่า ตลาดหุ้นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ยังมีช่องว่างให้เติบโตหรือเข้าไปลงทุนได้อีกมาก ขณะที่ความต้องการเข้าไปลงทุนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เขาหยิบยกกราฟสถิติมูลค่าตามราคาตลาดรวม หรือ มาร์เก็ตแคปของตลาดหุ้นเกิดใหม่โดยรวม เทียบกับตลาดหุ้นละตินอเมริกา ช่วงปี 2536-2554 ปรากฏว่า มาร์เก็ตแคปตลาดหุ้นเกิดใหม่โดยรวมปีก่อนเท่ากับ 34% จากเดิมเมื่อ 15 ปีที่แล้ว มีเพียง 5% ของมาร์เก็ตแคปตลาดหุ้นทั่วโลก ส่วนมาร์เก็ตแคปเฉพาะหุ้นตลาดละตินอเมริกาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมาถึงขณะนี้ยังขยายตัวน้อยเฉลี่ยเพียง 5% ของทั่วโลก ขณะที่สถิติเข้าไปลงทุนหุ้นตลาดเกิดใหม่ของกองทุนบำเหน็จบำนาญทั่วโลกช่วงเดียวกัน มีเพียง 3-8% ของมาร์เก็ตแคปตลาดหุ้นทั่วโลก สะท้อนได้ว่านักลงทุนสถาบันยังเข้าไปตลาดกลุ่มนี้ไม่มาก  และโมเบียสตั้งข้อสังเกตว่า พอร์ตการลงทุนไหลเข้ามาลงทุนในหุ้นตลาดเกิดใหม่ทั่วโลก ตั้งแต่เดือน ม.ค. ปี 2538-2554 มีแต่จะเพิ่มขึ้น และล่าสุดเติบโตถึง 2,823% หรือจากราว 1 พันล้านดอลลาร์ เป็นกว่า 8 แสนล้านดอลลาร์ ในปีที่ผ่านมา  
ในช่วงเวลาเดียวกันข้างต้น กองทุนตลาดเกิดใหม่ของเทมเพิลตัน ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2528 นั้น เริ่มต้นจากการมีสินทรัพย์บริหารงานเพียง 100 ล้านดอลลาร์ ตอนนี้โตขึ้นมากกว่า 500 เท่า มีมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ สะท้อนถึงช่วงที่ผ่านมาดีมานด์ความต้องการลงทุนในตลาดเกิดใหม่มีมาก และในอนาคตความต้องการลงทุนยังขยายตัวได้อีกมาก

โครงสร้างพื้นฐานแกร่ง
 
โมเบียส ให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานของตลาดเกิดใหม่ด้วยว่า ยังน่าสนใจและแข็งแกร่ง ซึ่งเริ่มจากการเปรียบเทียบอัตราการเติบโตของจีดีพีระหว่างตลาดเกิดใหม่กับตลาดพัฒนาแล้วโดยรวม ในปี 2554 และ ปี 2555 ซึ่งจีดีพีตลาดเกิดใหม่ขยายตัวที่ระดับ 6% และ 5.4% ตามลำดับ ซึ่งดีกว่าตลาดพัฒนาแล้วที่ระดับ 1.4% กับ 0.8% ตามลำดับ
 
และหากดูตลาดเกิดใหม่แยกรายภูมิภาคด้วยคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีปี 2555 โมเบียสตั้งข้อสังเกตุว่า เอเชียขยายตัวมากที่สุด 6.7% ตามด้วยแอฟริกา 5.5% ละตินอเมริกา 3.6% และตลาดเกิดใหม่ยุโรป 2.6%

ช่วงห่างของการเติบโตดังกล่าวทำให้เขามองแนวโน้มการเติบโตของตลาดอื่นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่นอกเหนือจากเอเชียซึ่งขยายตัวมากอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น แอฟริกา ละตินอเมริกา และยุโรป ต่างยังมีช่องว่างให้เติบโตได้อีกมาก
 
ส่วนเงินทุนสำรองสกุลต่างประเทศของตลาดเกิดใหม่เทียบตลาดพัฒนาแล้วตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมายังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและมีมากกว่าตลาดพัฒนาแล้ว ขณะเดียวกันในเดือน ก.พ. ปีนี้ทุนสำรองสกุลต่างประเทศของตลาดเกิดใหม่รวมกันแล้วอยู่ที่ประมาณ 7 ล้านล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้เป็นของจีนมากที่สุดกว่า 3.2 ล้านล้านดอลลาร์ 
โมเบียส ยังพิจารณาหนี้สาธารณะเทียบจีดีพีของตลาดเกิดใหม่กับตลาดพัฒนาแล้วช่วงปี 2545-2555 ด้วยว่า แตกต่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยหนี้สาธารณะของตลาดเกิดใหม่ลดลงต่อเนื่องล่าสุดอยู่ที่ 30% ของจีดีพีช่วยสถานการณ์ทางการเงินของกลุ่มประเทศนี้ดีขึ้นมาก ส่วนตลาดพัฒนาแล้วอยู่ที่ประมาณ 100% ของ จีดีพี

เงินเฟ้อ-ดอกเบี้ยไม่เป็นปัญหา 

โมเบียส รู้ว่าเงินเฟ้อกับอัตราดอกเบี้ย ย่อมมีผลต่อการตัดสินใจเข้าไปลงทุนในตลาดเกิดใหม่ เขายอมรับว่าเงินเฟ้อในละตินอเมริกาโดยเฉพาะอาร์เจนตินาเคยขึ้นเป็นตัวเลขหลักร้อยซึ่งน่ากลัวมาก แต่จากภาพรวมตลาดเกิดใหม่ช่วงปี 2540-2554 อัตราเงินเฟ้อในตลาดเกิดใหม่กลับอยู่ระดับต่ำมากไม่ถึง 10% ยิ่งละตินอเมริ กาช่วงปีเดียวกันต่ำเช่นกันไม่ถึง 10%
 
เมื่อดูคาดการณ์ค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อแยกตามภูมิภาคในกลุ่มตลาดเกิดใหม่พบว่า เอเชียต่ำสุด 3.9% แอฟริกา 5.9% ละตินอเมริกา 6.2% ตลาดใหม่ในยุโรป 6.5% ถือว่าเป็นระดับไม่สูงจนน่ากลัว และหากดูอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นตลาดเกิดใหม่ช่วงปี 2550 จนถึงต้นปี 2555 ยังคงอยู่ระดับต่ำล่าสุดไม่ถึง 4% หากแยกดูเฉพาะตลาดละตินอเมริกาตั้งแต่ต้นปี 2552 ก็ลดลงต่อเนื่อง และแม้ปรับขึ้นบ้างช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา แต่ยังอยู่เหนือระดับ 7% เล็กน้อย
 
สรุปแล้วโมเบียสเชื่อว่าทั้งอัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเกิดใหม่จากนี้ไปไม่ใช่ปัญหาและมีแนวโน้มจะลดลงอยู่ระดับต่ำ

ค่าพีอีสะท้อนหุ้นถูก
 
สัดส่วนราคาเทียบกำไรของหุ้น หรือ ค่าพีอี ในตลาดเกิดใหม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่โมเบียสพยายามนำมาอธิบายเพื่อบอกว่า เป็นตัวชี้วัดบอกแนวโน้มราคาหุ้นตลาดเกิดใหม่ช่วง 12 เดือนข้างหน้าได้ 
เขาหยิบเอากราฟเป็นสถิติค่าพีอีตลาดเกิดใหม่ลงต่ำสุดและขึ้นสูงสุด โดยขึ้นสูงสุดอยู่ที่ 28 เท่าในเดือน พ.ค. ปี 2521 และลงต่ำสุดที่ 7 เท่าในเดือน พ.ย.ปี 2550  แต่ในเดือน ก.พ. ปี 2555 นี้ ค่าพีอียังค่อนข้างต่ำที่ระดับ 10 เท่า สะท้อนว่าราคาหุ้นตลาดเกิดใหม่ยังค่อนข้างถูกอยู่
เมื่อแยกดูเฉพาะ ค่าพีอีหุ้นตลาดละตินอเมริกา ทั้งค่าพีอีขึ้นสูงสุดกับค่าพีอีลงต่ำสุด พบว่า ค่าพีอีสูงสุดที่ระดับ 16 เท่าในเดือน ก.พ. ปี 2537   ค่าพีอีต่ำสุดที่ระดับ 5 เท่าในเดือน ต.ค. ปี 2541 ส่วนเดือนก.พ. ปี 2555 นี้ ค่าพีอีอยู่ที่ 11 เท่า ถือว่าไม่สูงและราคาหุ้นยังค่อนข้างถูกเช่นกัน

ประชากรมากหนุนดีมานด์
 
โมเบียส แสดงถึงความเชื่อมั่นในพลังการบริโภคของตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะจีนกับอินเดีย เป็นอีกแรงขับเคลื่อนให้ตลาดเติบโตและน่าสนใจ เพราะพิจารณาจากแนวโน้มประชากรตลาดเกิดใหม่ช่วงปี 2493-2554 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและ 2 ปีที่แล้วจำนวนประชากรอยู่ที่เกือบ 6 พันล้านคน ตรงข้ามกับตลาดพัฒนาแล้วทั่วโลกในช่วงเวลาเดียวกันข้างต้น กลับมีจำนวนประชากรทรงตัวเพิ่มขึ้นน้อยมากราว 1.1 พันล้านคน 
จากนั้นดูรายได้ต่อหัวของประชากรในกลุ่มบริค ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจดาวเด่นสำคัญของตลาดเกิดใหม่ คือ บราซิล  รัสเซีย  อินเดีย และ จีน พบว่ายังไม่สูงและน้อยกว่าตลาดพัฒนาแล้ว อย่างสหรัฐ  อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และญี่ปุ่น ถึง 10 เท่า สะท้อนว่ายังมีช่องให้รายได้ต่อหัวของประชากรในตลาดสำคัญของตลาดเกิดใหม่เพิ่มขึ้นได้อีกมาก 
นอกจากนี้ ยังพิจารณา จีดีพีเทียบการเติบโตของรายได้ช่วงปี 2548-2553 ปรากฏว่า ตลาดเกิดใหม่มีจีดีพีเทียบการเติบโตของรายได้อยู่ที่ 87% ซึ่งสูงกว่าตลาดพัฒนาแล้วอย่างมาก ซึ่งช่วงปีเดียวกันนั้นจีดีพีเทียบการเติบโตของตลาดพัฒนาแล้วเท่ากับ 13%

ดีมานด์ดันยอดขายพุ่ง
 
โมเบียส ยังนำเสนอ ข้อมูลการใช้สินค้าภาคครัวเรือนในชนบทตลาดสำคัญของตลาดเกิดใหม่ เช่น

ตู้เย็น                            มีภาคครัวเรือนในชนบทจีนใช้เพิ่มต่อเนื่องจาก 1% ในปี 2533 เป็น 37% ในปี 2552   
เครื่องซักผ้า              ใช้เพิ่มชึ้นในช่วงเดียวกันจาก 9%ในปี 2533 เป็น 53% ในปี 2552  
เครื่องคอมพิวเตอร์     ใช้เพิ่มจาก 0% ในปี 2533 เป็น 7% ในปี 2552 
เขาตั้งข้อสังเกตว่า แรงซื้อการใช้สินค้าอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิต ยังปรับขึ้นอีกเหมือนเป็นเส้นทางยาวไกลยังไปได้เรื่อยๆ ดูจากการใช้จักรยานของภาคครัวเรือนในชนบทจีนลดลงจาก 118% ในปี 2533 มาอยู่ที่ 96%ในปี 2552  สวนทางยอดขายรถยนต์เทียบตลาดสหรัฐ ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องล่าสุดเมื่อสิ้นปี 2554ยอดขายรถในจีนอยู่ที่1.6 ล้านคันต่อเดือน สะท้อนความต้องการรถยนต์มีมากกว่าตรงข้ามกับการใช้จักรยานที่ลดลง  เช่นเดียวกับ ….

อินเดีย          ยอดขายรถยนต์ต่อเดือนช่วงปี 2535-2555 แนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องล่าสุดเกือบ 1.8 แสนคัน
บราซิล             ยอดขายรถช่วงปี 2535-2555 เพิ่มต่อเนื่องล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 2.7แสนคัน
อินโดนีเซีย       ยอดขายรถมอเตอร์ไซค์ช่วงปี 2535-2555 ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่กว่า 6 แสนคัน 
โมเบียส ยังใช้สถิติอัตราการมีรถยนต์ใช้เทียบประชากรทั้งประเทศ บ่งชี้ว่าความต้องการใช้รถยนต์ประเทศสำคัญตลาดเกิดใหม่ อย่าง อินเดีย  จีน บราซิลและเม็กซิโก ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากเมื่อเทียบกับสหรัฐ โดยอัตราผู้มีรถยนต์ในอินเดียกับจีนมีเพียง 1% และ 4% ของประชากร ส่วนบราซิลกับเม็กซิโกมีอัตราผู้ใช้รถ 12% และ 17% ตามลำดับ ตรงข้ามกับสหรัฐมีอัตราผู้ใช้มากถึง 42% ของประชากร 
และหากดูการผลิตไฟฟ้าสนองความต้องการใช้ในจีน ละตินอเมริกา และ อินเดีย ช่วงปี 2519-2552  มีแต่จะเพิ่มขึ้น แต่ตลาดจีนมีการใช้เพิ่มขึ้นมากสุดถึง 4 ล้านล้านเมกะวัตต์ ทิ้งห่างละตินอเมริกาที่ใช้ราว 1.4 ล้านล้านเมกะวัตต์ ตามด้วยอินเดีย ใช้ 1 ล้านล้านเมกะวัตต์
 
โมเบียส กล่าวถึงการใช้อินเทอร์เน็ตในบราซิลและจีน ช่วงปี 2545-2553 พบว่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในบราซิลเพิ่มจากกว่า 15 ล้านคน ในปี 2545 เป็น 80 ล้านคนในปี 2553 ส่วนจีนมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มต่อเนื่องจาก 50 ล้านคน ในปี 2545 เป็น 650 ล้านคน ในปี 2553   
นอกจากนี้การนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นทองคำ  น้ำมัน โลหะต่างๆ และสินค้าด้านพลังงานอื่นๆ ของตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะจีน ช่วง 10-40 ปีที่ผ่านมา มีแต่จะเพิ่มขึ้น สวนทางกับตลาดพัฒนาแล้วที่ทรงตัวและค่อยๆ ลดลง

เปิดรับความเสี่ยงน้อย

โมเบียส ยอมรับทุกที่ทุกตลาดย่อมมีความเสี่ยง แต่หากพูดถึงความเสี่ยงสำหรับตลาดเกิดใหม่นั้น โมเบียสเชื่อว่าความเสี่ยงมีน้อยกว่าตลาดพัฒนาแล้วมาก พิจารณาจากมูลค่าหนี้สาธารณะต่อจีดีพี (Goverment Debt Per Capital) ในปี 2553 พบว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น  อิตาลี แคนาดา ฝรั่งเศสเยอรมนี สหรัฐ อังกฤษ และ สเปน ยังมากกว่าบราซิล  เม็กซิโก และ จีน อยู่มาก  
นอกจากนี้การส่งออกตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกไปยังตลาดสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งปัจจุบันยังวุ่นวายอยู่กับการจัด การวิกฤติหนี้สาธารณะในภูมิภาคนั้นปรากฏว่า ตั้งแต่ปี 2550-2553 การส่งออกหรือพึ่งตลาดยุโรปลดลงอย่างต่อเนื่อง จนเหลือเพียง 15% ของการส่งออกโดยรวม หากดูเฉพาะตลาดเกิดใหม่ในละตินอเมริกา พบว่าส่งออกไปอเมริกาไม่ถึง 13% ของการส่งออกโดยรวม

 




วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2555

Taxmageddon ของคนอเมริกัน

คุณวรวรรณ ธาราภูมิ
CEO บลจ. บัวหลวง

23 เมษายน 2555


ย้อนไปดู 2 เดือนก่อน ดัชนีหุ้นไทยอยู่ที่ระดับประมาณ 1,126 จุด ผ่านไปประมาณ 2 เดือนถึงวันศุกร์ก่อน ขึ้นมาเป็น 1,185 จุด หรือขึ้นมากว่า 5%

ในขณะที่ช่วงเดียวกันนี้ดัชนีพี่ดาวพงษ์ เอ้ย ดาวโจรของสหรัฐ แทบไม่เปลี่ยนแปลง ย่ำอยู่ที่ประมาณ 13.00 จุด เหมือนเดิม แม้จะมีขึ้นๆ ลงๆ ระหว่างทาง

ยิ่งไม่เปลี่ยน ก็ยิ่งเหมือนเดิม

อะไร ๆ ในอเมริกาเปลี่ยนไปน้อยมาก อย่างผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐรุ่น 10 ปีก็อยู่เท่าเดิมที่ 2% ดอลลาร์/ยูโรก็อยู่ที่ 1.30 เหมือนเดิม

มีแต่ทองคำที่ราคาเปลี่ยนไป ลดลงจาก 1,730 มาอยู่ที่ 1,640 ดอลลาร์ต่อออนซ์  หากมอง 6 เดือนย้อนหลังก็ไม่เปลี่ยน  แต่ถ้าดู 1 ปีย้อนหลังก็เพิ่มขึ้นจากประมาณ 1,500 มาอยู่ที่ประมาณ 1,640 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 
 
แล้วภาพโดยรวมมันเปลี่ยนไหม มีพัฒนาการไหม

ไม่  .....  ไม่เลย  ….

ย้อนไปในช่วงก่อนสิ้นปีที่รัฐบาลประเทศต่างๆ พยายามเสแสร้งว่ากำลังแก้ปัญหาให้กรีซ (จำที่เราจ้องตาไม่กระพริบไปที่ยุโรปว่ากลุ่มยูโรโซนจะแตกไหม จะแก้ไขอะไรได้ไหม) ก็พบว่ามีคนแก่ยิงตัวตายหน้าสภากรีซเพราะไม่มีแรงประท้วงที่รัฐบาลโดนบีบบังคับให้ลดเงินเกษียณ ลดสวัสดิการ

ในวันนี้รัฐบาลพวกนี้ก็ยังไม่เปลี่ยน เพราะเพิ่มงานเหมือนเดิมเปี๊ยบอีกอย่างคือ พยายามเสแสร้งว่ากำลังแก้ปัญหาให้สเปนเพิ่มขึ้นมาอีกแห่ง และจะไม่ใช่แห่งสุดท้าย

เอ ... แต่มีอะไรเปลี่ยนไปเหมือนกันนะ นั่นก็คือ ไม่มีใครเชื่ออีกแล้วว่าปัญหามันจะแก้ได้ แต่รัฐบาลก็จะต้องเสแสร้งว่ากำลังแก้ไขได้ไปเรื่อยๆ

วันก่อนโน้น Wall Street Journal พาดหัวข่าวตัวโตหราเลยว่า แผนช่วยเหลือยุโรปกำลังสะดุด แม้ในวันนี้จะมีข่าวคล้ายๆ จะดี ที่ IMF จะได้เงินเพิ่มเพื่อเอาไว้ช่วยยุโรปอีกก็ตาม

ที่สะดุดก็เพราะแบงค์ต่างๆ ในสเปนมีสินเชื่อเน่าๆ สูงมากกว่าที่เคยมีในรอบ 17 ปี นับตั้งแต่ปี 1995  
โลกน่าจะตื่นขึ้นมารับรู้กันเสียทีว่าการเอาเงินเน่าๆ ใส่ลงไปในระบบตามหลังเงินดีๆ นั้น ….

จุดจบก็คือเราจะไม่มีเงินเหลืออยู่เลย

เอ ... แต่การที่ธนาคารกลางยุโรปหรือ ECB (European central bank) ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยแทบเป็นศูนย์เปอร์เซ็นต์ให้แบงค์ต่างๆ ในยุโรปมันน่าจะหยุดปัญหาขาดเงิน หรือปัญหาสภาพคล่องได้นี่ แล้วมันเกิดอะไรขึ้นล่ะ

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือผู้ลงทุนรับรู้ว่าลูกหนี้จะได้เงินเพิ่มอีก ด้วยกลไกที่ ECB ให้แบงค์ต่างๆ กู้ด้วยอัตราดอกเบี้ยเกือบจะ 0% แล้วแบงค์ต่างๆ ก็เอาเงินกู้อันนี้ไปปล่อยให้รัฐบาลกู้ต่อ เพราะ ECB ปล่อยกู้รัฐบาลโดยตรงไม่ได้ รัฐบาลก็เลยมีกระแสเงินสดไปใช้หนี้ได้ทันเวลาโดยไม่ต้อง Default 

อ้าว  มันก็น่าจะทำให้รัฐบาลถังแตกรอดได้นี่นา ตราบใดที่ยังมีเงินให้กู้แบบนี้เรื่อยๆ

ก็ใช่  แต่ ....

Wall Street Journal รายงานว่า หลังจากแบงค์ต่างๆ เอาเงินกู้ไปปล่อยต่อให้รัฐบาล ผ่านไปพักหนึ่ง แบงค์ในสเปนกับอิตาลีพบว่าจะไม่มีเงินเหลืออีกแล้ว

ทำไมล่ะ

ก็เพราะแบงค์ต่างๆ มีหนี้เสียมากมายที่แบกมาตั้งแต่ปล่อยกู้เพราะความโลภจนเกิดฟองสบู่แตก จนเกิด Lehman Crisis ไง

จำได้ไหมว่าประเทศแรกที่ปัญหาปะทุคือประเทศไหน  เออ ... คงจำกันไม่ได้หรอก ปลาทองเรียกญาติกันทั้งนั้น

ก็ ไอร์แลนด์ ไง แล้วรัฐบาลก็เข้าไปอุ้มแบงค์ แต่นั่นก็คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้รัฐแย่ไปด้วย

ใช่ รัฐทำตนเองแท้ๆ  เพราะรัฐไม่มีเงินไปอุ้ม ก็ลยต้องไปขอยืมเงินคนอื่นมาปล่อยให้แบงค์ต่างๆ ด้วยอัตราดอกเบี้ยเรี่ยดิน รัฐบาลก็เลยกลายเป็นลูกหนี้ไปด้วย

สิ่งที่เกิดตามมาก็คือ ผู้ลงทุนเริ่มระแวงว่าประเทศในกลุ่มลูกหมู (PIIGS: Portugal, Ireland, Italy Spain และ Greece) จะเกิดปัญหาคล้ายๆ กัน

แล้วไงล่ะ

ก็ประเทศที่เหลือพบว่าเขาก็กำลังจะถังแตกเหมือนกันเลยไงล่ะ !!

นั่นก็คือจุดเริ่มต้นที่ ธนาคารกลาง ประเทศต่างๆ เข้ามาเป็นซุปเปอร์แมน แปลงร่างจากธนาคารกลางเป็นเจ้าหน้าที่สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ ทำหน้าที่ปล่อยเงินกู้ ด้วยแนวคิดที่ต้องอุ้มทั้งแบงค์ต่างๆ กับอุ้มรัฐบาลไปพร้อมๆ กัน
โครงการ LTR (Long-Term Repurchase) ของ ECB (ธนาคารกลางยุโรป) จึงเกิดขึ้น ปัญหาสภาพคล่องถูกแก้ไขไปได้ (ก็พักหนี่งเท่านั้นแหละ วันนี้มันมาอีกแล้ว) ทำให้ตลาดกระดี๊กระด๊ากันไปช่วงหนึ่ง ซึ่งแผนซุปเปอร์แมนไม่มีอะไรมากไปกว่าประโยคนี้ ….
ธนาคารกลาง จะปล่อยกู้ให้แบงค์ต่างๆ โดยต้องมั่นใจว่าแบงค์ที่เอาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสุดๆ เหล่านั้นไป ต้องปล่อยกู้ต่อให้รัฐ
แค่นี้เองจริงๆ ไม่มีอะไรซับซ้อนเล้ย
เห็นปัญหาหรือยังล่ะ ว่ามันคืออะไร
นี่ไง โมเดลที่ยุโรปใช้ มันก็คือ โมเดลอเมริกัน ของลุงเบน เบอร์นานเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐหรือ FED นั่นแหละ!!
นั่นแหละปัญหา  เพราะมันคือโมเดลที่พยายามแก้หนี้ด้วยการเพิ่มหนี้
ตอนนี้ ผลตอบแทบพันธบัตรรัฐบาลสเปนที่เปิดให้ประมูลก็พุ่งขึ้นพรวดๆ อีกครั้งจนเกิน 6% ต่อปี แถมด้วยแบงค์พาณิชย์ต่างๆ ของสเปนก็มีฐานะง่อนแง่น อ่อนแอยิ่งกว่าสมัยใดใด
ในเวอร์ชั่นอเมริกัน ลุงเบน ให้ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED ซื้อพันธบัตรรัฐบาลอเมริกัน
ลุงเบนเอาเงินจากไหนไปซื้อล่ะ
เอ้า ก็ดูรอยหมึกบนมือแกสิ เพียบเลย เพราะ FED พิมพ์แบงค์กงเต็กออกมาให้รัฐบาลกู้
ส่วนเวอร์ชั่นยุโรป ECB ปล่อยเงินกู้ใหแบงค์ต่างๆ แล้วแบงค์เหล่านี้ก็เอาไปปล่อยต่อให้รัฐบาลกรีซ 
แล้ววันนี้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็มีหนี้เพิ่มอีกมหาศาลที่เกินกำลังตนจะหาเงินมาจ่ายคืนได้
แล้วอิตาลีในวันนี้ก็กำลังง่อนแง่นด้วยวิธีเดียวกัน
สิ่งที่เกิดขึ้นในอิตาลีปีที่แล้วก็คือ ไม่มีเงินพอจ่ายหนี้ตามกำหนด ใกล้จะ Default แล้ว ECB ก็เข้ามาอุ้มด้วยกระบวนการเดียวกัน เพราะอิตาลีก็เหมือนกับกรีซ เหมือนกับลูกหนี้ทั่วไปที่สัญญากับเจ้าหนี้ว่า ฉันจะใช้สอยอย่างประหยัดค่ะ ปีงบประมาณหน้าฉันจะตัดงบประมาณใช้จ่ายให้ได้ เพื่อให้งบประมาณสมดุลย์ จะได้มีเงินใช้หนี้ที่ยืมมา
ปีงบประมาณใหม่ใกล้เข้ามาแล้ว แต่เรื่องการทำงบประมาณสมดุลย์ยังอยู่อีกไกล แล้วมาริโอ มอนติ ก็บอกว่า ปีหน้าไง ปีหน้าจะสมดุลย์
เอาเลยเพื่อน มาริโอ มอนติ ใช้เงินต่อ แล้วก็ไปขอยืมอีก แล้วก็บอกเจ้าหนี้ ECB อีกครั้ง และหลายๆ ครั้งว่า ปีหน้าจะใช้งบสมดุลย์ให้ได้
ใช่สิ  ปีหน้าของนายมันไม่มีวันมาถึงไง แล้วต้องบอกเพื่อนๆ ที่ ECB ด้วยว่า อย่าหยุดพิมพ์เงินนะ
 
เห็นไหม ไม่มีอะไรเปลี่ยนเลย มันจะเป็นวงจรอุบาทว์อย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่ามันจะลากไม่ไหว
เข้าใจธรรมชาติของคำว่า Change ไหม
Change เป็นเรื่องธรรมชาติ มันเกิดขึ้นได้กับทุกสรรพสิ่ง
แต่ความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะไม่ให้เกิด Change ก็เป็นธรรมชาติของคนเช่นกัน
เราถึงเห็นการต่อสู้ที่จะไม่ยอมให้เกิด Change ในช่วงที่ควรเกิดการปรับฐานครั้งใหญ่นี้ อันเป็นการปรับฐานไปสู่ความจริงคือต้องลดหนี้ แต่เราก็พบการดิ้นรนที่จะไม่ Change จากการที่ธนาคารกลางใช้นโยบายดอกเบี้ย 0% หรือ Reflation (การกระตุ้นเศรษฐกิจหลังเกิดภาวะจะล่มสลาย ด้วยการเพิ่มปริมาณเงินหมุนเวียนเข้าไป เพื่อผลักดันเศรษฐกิจให้ขยายได้) โดยหวังจะหลีกเลี่ยงขั้นตอนการหดตัวของวงจรธุรกิจ ซึ่งที่จริงแล้ว FED กำลังดิ้นรนอย่างหนักด้วยการเพิ่มเงินลงไปในโลก ซึ่งเป็นนโยบายที่ผิดพลาด

บางคนอาจถามว่า ทำไม ลุงเบนถึงอยากแต่จะเพิ่มหนี้นัก
ความจริงไม่ใช่อยากเพิ่มหนี้หรอก แต่สิ่งที่ FED ต่อสู้ก็คือ “Change” ต่างหาก
และเครื่องมือที่ FED มีก็คือ แท่นปั๊มดอลลาร์ กับ เงินกระดาษที่จะเรียกล่วงหน้าว่าแบงค์กงเต็กก็ได้
แล้วอเมริกาก็จะต้องเจอกับการรัดเข็มขัดอย่างที่ยุโรปเจอ เพราะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ปีหน้า คนอเมริกันจะพบทั้งการขึ้นภาษีกับการรัดเข็มขัดไปพร้อมๆ กัน ซึ่งจะบีบสหรัฐให้อยู่ในสภาพที่หนังสือพิมพ์ที่นั่นตั้งชื่ออย่างเท่ๆ ว่า “Taxmageddon”
ก็เอามาจากชื่อภาพยนต์เรื่อง Armageddon ที่โลกเกือบจะหายนะ วินาศสันตะโร บวกกับคำว่า Tax นั่นแหละ เท่ไหมล่ะ

แล้วไงล่ะ Let It Be เหรอ
ก็ดู กรีซ สิ คนเกษียณแล้ว กับลูกหนี้หลายคน ยิงตัวตาย เผาตัวตาย  เด็กๆ กินไม่พอ หิวโหยตลอดเวลา  คนตกงานขู่จะก่อการจราจล

สเปน ก็ไม่น้อยหน้าเท่าไร คนหนุ่มสาวครึ่งหนึ่งไม่มีงานทำ และแบงค์ในสเปนก็ขาดทุนมโหฬารจากหนี้เสีย
เลยมีคนร่วม จุลกฐิน โดยการลงแขกพังและเผาแบงค์  
เผามันเลยพี่น้องงงง ... เผา  ... อะไรเกิดขึ้น ผมจะรับผิดชอบเอง
ในอเมริกา แม้จะมีคนโดดน้ำตายเพราะหนี้สินล้นพ้นตัว ตกงาน  แม้จะมีม็อบ Occupy นั่น Occupy นี่ ตั้งแต่กันยายนปีก่อนมาจนถึงวันนี้ แต่ก็ยังรอดความรุนแรงแบบกรีซกับสเปนมาได้
ถ้าสภาคองเกรสผิดสัญญาที่จะให้รัฐบาลรัดเข็มขัด ตามเงื่อนไขยอมขยายเพดานหนี้ที่ตกลงกันไว้ในตอนประธานาธิบดี ZerO_bama ขอในเดือนสิงหาคมปีก่อน (ทำเหมือนที่ มาริโอ มอนติ แห่งกรีซ ที่ผิดคำสัญญา)
หากอเมริกาไม่ทำตามที่รับปากคือต้องรัดเข็มขัดให้งบประมาณสมดุลย์ และให้หนี้ลด
การปรับฐานครั้งใหญ่หรือ The Great Correction เมื่อจะเกิดขึ้นเพราะลากกันไปด้วยหนี้มหึมาแบบนี้ไม่ไหว (อันเป็น Change ที่ต้องเกิดโดยธรรมชาติ) ก็จะรุนแรง กว้างไกล และลงลึก
และเมื่อรัฐบาลไม่สามารถทำแผนรัดเข็มขัดได้ อีโต้สับงบประมาณก็จะหล่นลงมาที่รายจ่ายรัฐ
ใช่ ต้นเดือนมกราคมปีหน้า อัตราภาษีได้ถูกวางไว้แล้วว่าต้องขึ้น การลดงบรายจ่ายโดยอัตโนมัติในปีหน้าก็จะเกิดขึ้น เพื่อให้ยอดหนี้ลดลงตามแผนที่เสนอและตามที่ได้สัญญาไว้ต่อคองเกรสในครั้งที่ขอขยายเพดานหนี้
สิ่งเหล่านี้คือเรื่องที่ควรจะเกิดขึ้นตั้งแต่ปีก่อน แต่รัฐบาลอเมริกันก็เลือกที่จะผลัดวันประกันพรุ่ง เลื่อนปัญหาออกไปก่อน
นอกจากนี้ ในปีหน้า การลดภาษีในโครงการ Bush/Obama Tax Cuts จะครบกำหนด (เดิมเรียก Bush tax Cut แต่เมื่อครบกำหนดในปีก่อน ZerO_bama ให้ขยายต่อไปอีกปี ก็เลยเรียกชื่อควบ
อะไรจะเกิดขึ้นล่ะ หาก “Taxmagedon” เกิดขึ้นตามกำหนดโดยรัฐบาลไม่เบี้ยว ไม่ผลัดวันประกันพรุ่งเลื่อนปัญหาออกไปอีก
กูรู้ผู้เชี่ยวชาญเขาบอกว่า GDP สหรัฐจะหดลงไป 3%
อ้าว .... เฮ้ย มันก็ติดลบน่ะสิ
เออใช่
แล้วมันจะฟื้นได้ไงวะ
ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้น ไม่มี หนีไม่พ้น อะดิ

อัตราว่างงานล่ะ

พุ่งขึ้นดิ

ราคาบ้านล่ะ

ดิ่งลงดิ

อ้าว..เฮ้ย ... แล้ว ซุปเปอร์แมนเบน จะยอมเหรอ

ไม่ยอมหรอก ไม่มีวัน เพราะสภาคองเกรสก็จะเลื่อนปัญหาออกไปอีก แล้วปัญหาจะพอกหางหมูไปเรื่อยๆ  ใหญ่ขึ้นทุกที  แก้ยากขึ้นทุกวัน  แม้ภาษีคงขึ้นบ้างแต่จะไม่มากเท่าที่ควรจะต้องขึ้น งบรายจ่ายจะถูกตัดบ้างแต่จะไม่มากพอ แค่ตัดขอบขนมปังออกบางๆ เท่านั้นแหละ ไม่ซีเรียสอะไร

หุ้นก็น่าจะดิ่งเหวในตอนนั้น เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมปี 2553 และดิ่งลงอีกครั้งอีกในกันยายน 2554  แล้ว FED ของลุงเบนก็จะได้ออก QE อีกครั้ง เพื่อต่อสู้กับ Change ที่ควรต้องปล่อยให้เกิด เพื่อให้ล้างบางของเน่าๆ ออกไปให้หมด แล้วการเติบโตจากการเกิดใหม่จะได้มีขึ้นเสียทีโดยไม่ผิดธรรมชาติ

ไม่อย่างนั้นแล้ว ถ้าเกิด Change ขึ้นมาวันไหน หรือเกิดการปรับฐานใหญ่จริงๆ ในวันไหน มันคงเกิดบนศพลุงเบนและรัฐบาลแหงๆ

อืม  คงจะน่าดูนะ

แน่น้อน !!

วันพฤหัสบดีที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2555

Fund Comment (March 2012)

ภาวะเศรษฐกิจ

            เดือนมีนาคมที่ผ่านมา นักลงทุนยังมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นในการแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะยุโรป ด้วยมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ว่าจะสามารถรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจในภูมิภาคได้ ทว่าตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม หลังจากดัชนีชี้ภาวะเศรษฐกิจหลายตัวของฝั่งยุโรปไม่ได้ดีอย่างที่ตลาดคาดหวัง ส่งผลให้เริ่มมีความกังวลกลับมาอีกครั้ง สะท้อนผ่านอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรประเทศในกลุ่ม PIIGS ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจากปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา

            อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลขเศรษฐกิจของฝั่งยุโรปอาจจะออกมาแย่กว่าคาดไปบ้าง แต่ความเสี่ยงที่จะการขาดสภาพคล่องของระบบเศรษฐกิจนั้นได้ลดลงไปมาก จากการอัดฉีดสภาพคล่องของ ECB ดังนั้น ในระยะสั้น การชะลอตัวของเศรษฐกิจจึงไม่น่าจะส่งผลต่อตลาดการลงทุนมากนัก แต่ในระยะยาวเนื่องจากปัญหาที่แท้จริงก็คือหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาลของหลายประเทศนั้นยังไม่ได้รับการแก้ไข อีกทั้งเศรษฐกิจของหลายประเทศในกลุ่ม PIIGS นั้นมีแนวโน้มหดตัว จึงทำให้มีเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้มีความเสี่ยงต่อบรรยากาศการลงทุนเป็นระยะๆ

            สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีการขยายตัวต่อเนื่อง และมีสัญญาณที่ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย แต่ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังไม่ฟื้นตัว และการฟื้นตัวของภาคการจ้างงานก็ยังไม่แน่ไม่นอน จึงคาดว่าต้องใช้เวลาอีกพักกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะฟื้นตัวกลับไปอยู่ในระดับปกติ

            สำหรับเศรษฐกิจไทยนั้น สามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่คาด โดยการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนได้กลับมาอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนเกิดน้ำท่วมแล้ว ภาคอุตสาหกรรมก็ทยอยกลับมาผลิตใหม่ได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวก็สามารถเติบโตได้ดี แทบจะไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบต่างๆ เลย ดังนั้น คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ในอัตราสูงกว่า 5.5% ในปี 2555 ซึ่งดีกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ก่อนหน้า
           

ภาวะตลาดทุน  

            เดือนมีนาคม ตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 ด้วยกระแสเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาซื้อหุ้นไทยจำนวนมาก เนื่องด้วยแนวโน้มการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนในไทยที่เติบได้ดี อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายเดือน ได้เริ่มมีแรงขายทำกำไรในหุ้นไทย รวมทั้งหุ้นในตลาดต่างประเทศด้วย (หลังจากที่ดัชนีหุ้นปรับตัวขึ้นมามากนับตั้งแต่ต้นปี) โดยมีปัจจัยลบได้แก่ ความกังวลต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคยุโรปที่เริ่มเป็นประเด็นขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่จะมีข่าวเชิงลบเช่นนี้เกิดขึ้นในตลาดเป็นระยะๆ ซึ่งจะทำให้ราคาหุ้นมีการปรับฐานลงบ้างในช่วงสั้น

            สำหรับแนวทางการลงทุนในระยะต่อไปนี้ นักวิเคราะห์ของ บลจ.บัวหลวง ยังเชื่อมั่นในแนวทางการลงทุนที่เน้นปัจจัยพื้นฐานของหุ้นรายตัว (Bottom-up approach) แม้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวที่ดีกว่าคาด แต่ความเสี่ยงจากปัญหาหนี้สาธารณะก็ยังมีอยู่อีกมาก เราจึงเชื่อว่า การลงทุนในธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากแนวโน้มความต้องการภายในประเทศที่แข็งแกร่ง น่าจะมีความยั่งยืนและให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจกว่าในระยะยาว เราจึงยังคงเน้นการลงทุนไปในหุ้นที่อิงกับเศรษฐกิจไทยหรือภูมิภาคอาเซียนเป็นหลัก (AEC Theme) เช่น กลุ่มพาณิชย์ กลุ่มธนาคาร กลุ่มสื่อสาร และกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

ภาวะตลาดตราสารหนี้  

            ภาวะตราสารหนี้ประเทศไทยในเดือนมีนาคม ตลาดตราสารหนี้ยังคงมีแรงซื้อพันธบัตรจากนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า จากการที่นักลงทุนบางส่วนยังคงกังวลต่อมาตรการการแก้ไขปัญหาหนี้สินของกรีซ และตัวเลขทางเศรษฐฏิจของสหรัฐที่ดีขึ้น  แต่ความกังวลว่าภาครัฐจะปล่อยอุปทานตราสารหนี้ออกมาเป็นจำนวนมากในช่วงต่อจากนี้เพื่อการระดมทุนในการลงทุนโครงการป้องกันน้ำท่วมก็ผลักดันให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น

            เมื่อวันที่ 21 มีนาคม คณะกรรมการการเงิน (กนง.) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับร้อยละ 3 โดยมีความเห็นว่า การลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งที่ผ่านมาทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ดี และเห็นว่าเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่ลดลง ทำให้ไม่มีความจำเป็นในการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินอีกในขณะนี้  แต่ ธปท. ก็ยังคงกังวลถึงความเสี่ยงภายนอกประเทศจากหนี้สาธารณะของยูโรโซน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับร้อยละ 3 จะสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อไทยให้อยู่ในกรอบเป้าหมายได้

            จากรายงานของ ThaiBMA พบว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลโดยรวมเพิ่มขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นอายุ 1-3 เดือนเปลี่ยนแปลงในช่วง -1 ถึง +1 bps   ช่วง 6 เดือนถึง 10 ปี เพิ่มขึ้น +2 ถึง +26 bps   และอัตราผลตอบแทนอายุมากกว่า 10 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้น +14 ถึง +28 bps

            แนวโน้มตลาดตราสารหนี้ในระยะต่อไปนี้ คาดว่าจะมีการออกพันธบัตรไทยในไตรมาส 2 อีกมาก และน่าจะทำให้ผลตอบแทนตราสารหนี้ไทยในเดือนเมษายนเพิ่มขึ้นไปได้อีก นอกจากนี้ ให้จับตาดูสถานการณ์หนี้กลุ่มยูโรโซน ซึ่งแม้จะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินไปแล้วแต่เศรษฐกิจก็ยังคงอยู่ในสภาวะที่มีความไม่แน่นอนอยู่ และยังคงมีความเสี่ยงที่จะลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ ได้


วันพุธที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2555

ให้พ่อแม่เดือนละเท่าไหร่ดี

คุณวรวรรณ ธาราภูมิ
CEO บลจ. บัวหลวง 

12 เมษายน 2555


ไม่มีอะไรเป็นอาชญากรรมที่น่าเศร้าที่สุดเท่ากับการทอดทิ้งพ่อแก่แม่เฒ่าให้อดหรือป่วยตาย โดยไม่ได้เข้าไปดูแลช่วยเหลือเจือจุน

ลูกบางคนบอกว่าเงินเดือนไม่พอให้พ่อแม่ แต่ไปสังสรร ไปซื้อกระเป่า รองเท้าใหม่ได้เสมอๆ

บางคนเลี้ยงหมา เลี้ยงแมวได้ แต่เลี้ยงพ่อแม่ ไม่ได้

แมวป่วย หมาป่วย แทบจะเป็นจะตาย แต่พ่อแม่ที่รักและเลี้ยงดูเรามาตลอด เรากลับทอดทิ้ง

ลำตัดรายการคุณพระช่วย มีแม่ค้าแก่ๆ คนหนึ่งอยู่คนเดียว มีลูก 2 คน คนหนึ่งอยู่เชียงใหม่ คนหนึ่งอยู่ราชบุรี  แม่ค้าบอกว่าที่อยู่คนเดียวเพราะรำคาญ ลูกๆ ต่างคนต่างแย่งให้แม่ไปอยู่แต่ละจังหวัด  แต่การแย่งนั้นคือ ไอ้คนอยู่เชียงใหม่ไล่ให้ไปราชบุรี ไอ้คนอยู่ราชบุรีให้ไปอยู่เชียงใหม่

คิดใหม่เถิด มงคลจะเกิดกับชีวิตเรา ความกตัญญูเป็นสิ่งประเสริฐสุด

ไม่ต้องถ่อไปไหว้พระ 9 วัด ถ้าพระในบ้านยังไม่เคยกราบไหว้ ไม่ต้องไปตามกรี๊ดดารา ศิลปิน หรือนักการเมือง แต่ทอดทิ้งพ่อแม่ให้หงอยเหงา ทุกข์ทรมานจากโรคภัยโดยลูกๆ ไม่เหลียวแล

สงกรานต์ปีนี้  ให้รดน้ำดำหัวพ่อแม่ และสำหรับแม่นั้น ครูบาอาจารย์ท่านสั่งมาว่าให้เอาน้ำล้างเท้าให้ท่าน เพราะเราทำกรรมหนักให้ท่านเหลือเกินในตอนอุ้มท้องและตอนคลอด

สำหรับจะให้ท่านเดือนละเท่าไรนั้น ไม่มีสูตรตายตัว แต่ให้คำนึงถึง

1.         พ่อแม่ทั้ง 2 ฝั่ง  ให้ถือเป็นพ่อแม่ตัว หากพบว่าเราลำบากมากที่จะเจียดเงินให้ท่าน เพราะมีลูก ต้องผ่อนบ้าน รถ  ให้คิดว่าสมัยที่ท่านอายุเท่าเรา จะยิ่งลำบากขนาดไหน เพราะท่านไม่ได้เลี้ยงดูเราคนเดียว ทำไมเราจะผ่านพ้นไปไม่ได้

2.         ต้องให้ท่านดำรงชีวิตได้ไม่ลำบาก ไม่ทรมาน

3.         ต้องให้ท่านมีประกันสุขภาพ

4.         ต้องดูและ บริหาร ทรัพย์สินของท่าน ให้เหมาะสมด้วย บ่อยครั้งจะพบว่าท่านบริหารจัดการไม่เป็นไม่มีการทำบัญชีทรัพย์สิน เงินอาจแช่ใน S/V  

5.         อย่าปล่อยให้ความเหงาของท่าน หรือการถูกลูกๆ ทอดทิ้ง ทำให้มิจฉาชีพแอบแฝงมาหาประโยชน์ น่าแปลกใจไหมที่ทุกวันนี้มีพ่อแม่หลายคนที่เชื่อผู้จัดการแบงค์มากกว่าลูก  เพราะผู้จัดการแบงค์เขาเข้าถึงตัวท่านมากกว่าลูกแท้ๆ

6.         หากพ่อแม่เรายังเลี้ยงตัวเองได้อยู่ ยังทำงาน ให้แนะนำเรื่องการจัดการเงินลงทุน เงินออม และ   ประกันสุขภาพไว้แต่เนิ่นๆ

7.         หากเงินเราไม่พอ ให้คิดเรื่องนำท่านมาอยู่ด้วย และขายบ้านที่ท่านอยู่ซะ  ฝรั่งทำกันมาก และครอบครัวแบบไทยๆ มีดีที่ความแน่นแฟ้น หากทำได้ ให้อยู่รวม เพราะท่านช่วยดูแลลูกๆ เราได้ เด็กก็อบอุ่น ปลอดภัย เวลาเราไปทำงาน ไม่มีผีอีเม้ยมาหลอกมาหลอน  ท่านก็ชื่นใจได้รับความไร้เดียงสาของเด็ก

หากเชื่อเรื่องชาติภพ จงเชื่อว่ากรรมดีๆ จะส่งให้เราและลูกเราดี

หากไม่เชื่อเรื่องชาติภพ  จงมองมันแบบวิทยาศาสตร์ก็ได้

นั่นก็คือ ชาติก่อนของเราคือพ่อแม่ หากท่านทำดี มันก็ส่งให้เราผู้เป็นลูกหรือชาตินี้ ดีไปด้วย  และชาติหน้าของเราคือลูกๆ หากเราทำดีมันก็ทำให้ลูกๆ ดีไปด้วย

นี่ละชาติภพในมุมมองของพี่ตู่

DNA ของครอบครัวในชาติก่อน มันไหลมายังเราในชาตินี้ และลูกเราในชาติหน้า

วันพฤหัสบดีที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2555

พึ่งตนเอง....Risk Ahead

คุณวรวรรณ ธาราภูมิ
 CEO บลจ. บัวหลวง

11 เมษายน 2555


อาการแดงเถือกทั้งแผ่นดิน ที่ไม่เกี่ยวกับอภินิหารคนเสื้อแดง คงกำลังทำให้ผู้ลงทุนระยะสั้นทั่วโลกหนาวๆ ร้อนๆ ไปตามกัน

สำหรับผู้ลงทุนไทยเองก็คงไม่ต่างกันมากนัก เพราะกำลังกล้าๆ กลัวๆ ว่า ..... เอ .... เราควรถอยออกจากตลาดไปพักดูก่อนเพราะวันหยุดยาวสงกรานต์กำลังจะมาถึงจึงน่าจะล้างพอร์ตลดความเสี่ยงว่าพอร์ตจะเปียกน้ำสงกรานต์ ทำเก๋แบบต่างชาติ  หรือเพราะกำลังเริ่มเข้าช่วงคำทำนายของหมอดูเกี่ยวกับความนองเลือดในบ้านเรากำลังจะเกิดขึ้น แถมนางสงกรานต์ปีใหม่ไทยยังจะออกมายืนยันความไม่สงบในแผ่นดิน  หรือว่าเพราะป้าไอ้เจ้าหนอนน้อยออกมาติดป้ายหน้าบ้านว่า “Risk Ahead”  หรือเพราะนั่น ....  เพราะโน่น ...... เพราะนี่  ...... ฯลฯ
หรือเราควรจะเป็นเด็กสวนเข้าซื้อเพราะ อามาร์ค โมเบียส (คนละคนกับลุงมาร์ค ฟาเบอร์) คนหัวไวจนผมขึ้นไม่ทัน ออกมาบอกว่า เมืองไทยจะเจ๋ง

แล้วเมื่อคืนนี้ ป้าไอ้เจ้าหนอนน้อย ก็ดันมาเกิดอารมณ์เสียเรื่อง พลเอก ร่มเกล้า กับเรื่องรายย่อยออกมาด่ากองทุนว่าทำไมกองทุนขาย  แกอารมณ์บูดซะจนเราไม่กล้าถาม กลัวได้ของแถมที่ไม่พึงประสงค์

ไอ้ครั้นจะให้เราไปถามเจ้าหนอนคัน เราก็กลัวว่ามันจะแนะนำแบบพาเข้ารกเข้าพงไปตามประสา

เอาฟะ ก็เมื่อป้าปากร้ายเขาเคยบอกให้เราพึ่งตนเอง อย่าตีโง่  โดยต้องรู้เป้าหมายการลงทุนของเราว่าเป็นระยะสั้น หรือระยะยาว เราก็ลองมาดูกันหน่อยแล้วกัน

ดูอะไรล่ะ

เออ นั่นสิ  ดูอะไร ??? ดูหน้ากันเองอะเหรอ

บ้าดิ ดูกราฟมั้ง

กราฟอะไรล่ะ

ไม่รู้อ่ะ ถึงรู้ก็ดูไม่รู้เรื่อง

อ้าวเฮ้ย ซวยแล้ว แล้วทำไงล่ะ

ไม่รู้

โอ้ย  รู้งี้เอาเงินไปใส่กองทุนรวมให้เขาบริหารดีกว่านิ

ไม่เอ๊า  ถ้าจะเจ๊งให้มันเจ๊งคามือเราเองดีกว่า

สมน้ำหน้า ไอ้เจ้าพวกแมลงเม่าสอนไม่รู้จำ เอาเลย  เอาให้เจ๊งคามือตัวเองไปเลย !!”

เย้ ... เย้ .... ป้ามาแล้ว

เออ มาแล้ว แต่จะไปแล้ว เพราะชั้นตื่นมาเข้าห้องน้ำย่ะ และยังอารมณ์เฉียด้วย มีหัวก็หัดใช้มันคิดกันบ้าง

โห ... ใจดำมาก ขอแช่งให้ตกส้วมไปเลย

ได้ยินนะ !!!  ปากอย่างงี้เป็นญาติไอ้เจ้าหนอนเหม็นรึไง ห๊า

อ้าว .... ก็หนอนมันต้องกลายเป็นแมลงสักวันแหละป้า แมลงเม่าไง มีรายป่ะ

เชอะ หนอนบ้านแกดิเป็นแมลงเม่า เขามีแต่เป็นผีเสื้อ แต่ก็เรื่องของแก จะเป็นหนอน เป็นแมง เป็นอะไรก็เป็นไปเหอะ เอ้า บอกให้ไปคิดต่อกะด้าย กลับไปดูปัจจัยพื้นฐานประกอบกับแรงซื้อขายและ Good Morning News สิ เจ้าแมงกุ๊ดจี่ แมงคินูน

แล้วมันดูยังไงล่ะป้า ... ฮู้ย .. ให้เป็นแมงอะไรไม่รู้ ชื่อแปลกๆ

ฮ่ะ ฮ่ะ ฮ่ะ ..... ดูจากหลังมาหน้า ม้าง

เชอะ ไม่ง้อกะด้าย เข้าห้องน้ำบ่อยๆ แบบนี้ ป้าแกท้องแหงๆ

ท้องบ้านแกดิ ไอ้เจ้าเด็กบ้า ท้องเสียโว้ย

ดี สมน้ำหน้า เออ ไม่ง้อกะด้าย  คิดเองก็เป็นโว้ย ...  เว่ย เฮ่ย

มาพวกเรา อ่านข้อมูล Good Morning News ย้อนหลังสัก 3-4 วัน แล้วใครมีข่าวอื่นเพิ่มเติมเอามาแชร์กัน เรามีเวลา 1 วัน ก็จะถึงวันหยุดยาวแล้ว น่าจะทันนะ

ทันเผาบ้านเผาเมืองอีกรอบเหรอ ลูกเพ่

เย้ยยยย ... ไอ้บร้า เผาบ้านแกเหอะ  ปากงี้ก็สมแล้วที่ป้าแกด่าเอา

นี่ไงๆ Goldman Sach เขาวิเคราะห์ว่า มันเป็น Good Weather 'Payback'

ไรของแกฟะ  ผีสิงเหรอ

ไม่ใช่ ก็ป้าแกเคยเริ่มจากดูแมคโครไง

อ้าว แกให้ซื้อหุ้น Makkro เหรอ  

ไม่ช้าย .... หมายถึงดูเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจเอเชีย กับบ้านเราก่อนไง ปัจจัยพื้นฐานน่ะ

เออ  แล้วมันเกี่ยวอะไรล่ะ ไอ้เจ้า Good Weather Paycheck น่ะ

ก็ Goldman Sach เขาวิเคราะห์ว่าที่วันสองวันก่อนนี้หุ้นเน่าเพราะตัวเลขการจ้างงานมันแย่กว่าที่คาดกันมาก เดิมที่มันดูดีขึ้นและตัวเลขคนของานทำก็ลดลงเพราะคนเลิกออกไปหางานทำกันแล้ว มันเลยดูเหมือนว่างงานน้อยลง และก็เพราะอากาศมันดีไง ไม่หนาวมาก ทำให้อุตสาหกรรมที่ขึ้นกับฤดูกาลเช่นพวกก่อสร้างยังทำงานได้ ไม่เจอหนาวจนทำไม่ไหว เลยยังจ้างคนงานได้อยู่ ไม่ต้องให้ออกเพราะผลิตไม่ได้ แล้วเขาก็จ่ายเงินค่าจ้างเป็นเช็คให้คนงานที่เรียกกันว่า Good Weather 'Payback'  ที่น่าจะดีไปตลอดเดือนนี้กับเดือนหน้า ไอ้แบบนี้ละม้างที่เขาเรียกกันว่า Seasonally-adjusted employment gains ซึ่งมันก็แค่ชั่วคราวไง

เออ  จริงดิ แต่มันก็น่าจะเป็นข่าวดีนะ

ช่าย  แต่มันก็ขึ้นกับว่าอากาศจะอุ่นแบบนี้ได้นานเท่าไร แล้ว Goldman Sach ก็บอกด้วยว่าควรเพิ่มความระมัดระวังเพราะ

1.         คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะยังคงไม่โต

2.         ข้อมูลจ้างงานที่ดูเหมือนดีขึ้นนั้น เขาเชื่อว่ามาจากอากาศหนาวไม่หนาวมากอย่างที่เคยเป็น ทำให้บางอุตสาหกรรมที่ขึ้นกับภูมิอากาศไม่ต้องปลดคนงานแบบที่เคยทำทุกปี  แต่ยังมีอีกหลายความ  เสี่ยงข้างหน้า ความเสี่ยงตัวแม่เลยก็คือสิ้นปีนี้คนจะโฟกัสเรื่องนโยบายการคลังสหรัฐที่เหมือนแขวนอยู่บนหน้าผาสูงชัน จะตกลงมาวันไหนก็ได้ ที่เขาเรียกกันว่า US fiscal cliff

3.         นโยบายการคลังกำลังปรับฐานอยู่ และนโยบายการเงินแบบเดิมๆ ก็เริ่มใช้ไม่ได้ในหลายๆ ประเทศแล้ว และด้วยการที่หลายๆ ประเทศกำลังจมหนี้ ต้องรัดเข็มขัดกัน มันยิ่งทำให้เศรษฐกิจโลกโตช้าลงแล้วจะเอาเงินที่ไหนไปใช้หนี้กัน ดังนั้น ความเสี่ยงของระบบการเงินอาจกลับมาได้เร็วกว่าวงจรปกติ เพราะเศรษฐกิจโลกจะโตช้า


นอกจากนี้ พวกที่แหงนรอ QE3 จากลุงเบน เบอร์นานเก้ ก็ยังผิดหวังไปก่อน เพราะเมื่อวานลุงเบนก็ไม่ได้พูดถึง QE3 เลย แกบอกแต่ว่าเศรษฐกิจบ้านแกยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่จากผลกระทบของวิกฤติการเงิน  ยังไม่ได้พูดถึงอนาคตเท่าไหร่  ฟังแล้วไม่ได้ประโยชน์อะไร น่าผิดหวังชะมัด

เออ แล้วยุโรปล่ะ เป็นไง

โดยรวมก็เผาดิ อีกนานกว่าจะฟื้นนะ เว่ย เฮ่ย

ช่าย ... แล้วจีนก็เงินเฟ้อขยับขึ้นอีก ที่จะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ต้องยั้งๆ ไว้บ้าง ไม่งั้นจะเงินเฟ้อแบบ Go together big

ไรฟะ หนอย  วิเคราะห์กันเองขึ้นมาหน่อย ดัดจริตใช้ศัพท์นักวิชาการขึ้นมาเลยนะแก

ไม่ช้าย ... Go together big ก็ไปกันใหญ่ไง ไอ้โง้

ป๊าด ... แกนี่ติดเชื้อไอ้หนอนน้อยจริงๆ ด้วยนะเพื่อน

นี่ๆ อย่าลืมเรื่องที่ป้าแกเตือนเรื่องสงครามอิหร่านด้วย  ตอนนี้เป็นไงล่ะ

เห็นเขาบอกว่าอิหร่านพร้อมเจรจานะ

เจรจากะแมวดิ ต่างฝ่ายต่างหลอกล่อกันแหละ เรียกว่ายังวางใจไม่ได้ นี่ไง ข่าววันนี้ กลาโหมรัสเซียเพิ่งบอกว่าน่าจะมีการโจมตีกันในอิหร่านภายในฤดูร้อนนี้ ก็น่าจะภายในสิงหาคมละ แถมรัสเซียยังวางแผนจะส่งกองกำลังรัสเซียไป Armenia ที่เป็นชายแดนรัสเซียติดกับพวกมุสลิมด้วย เพราะ Armenia  รับน้ำมันจากอิหร่านไง  ก็เลยต้องเตรียมตัวไปป้องกันไม่ให้สหรัฐอุดเส้นทางขนส่งแถบนี้

อืม ... จริงๆ แล้ว โลกยังเสี่ยงอยู่มาก เกาหลีเหนือ ก็บ้าๆ บวมๆ เราต้องอย่าไปหลงระเริงเทใจให้ 100% ว่าพ้นปัญหาไปแล้ว เพราะเห็นหุ้นขึ้นเกือบทุกตลาดตั้งแต่ต้นปีสินะ

เจ้าข้าเอ๊ย .... แผ่นดินไหวสุมาตราตั้งกว่า 8 ริกเตอร์น่ะ โหย .... มันจะอะไรกันนักกันหนาฟะ หยุดไปตามข่าวกันก่อนเหอะ

-------------------------- ผ่านไป 3 ชั่วโมง ------------------------

เฮ้อ  โล่งอก  ตะกี้วงแตกเพราะมัวแต่ไปตามข่าวสึนามิ หวาดเสียวตอนลุงปลอดแกโผล่อ่ะ  กลัวแกพูดอะไรออกมา  ดีนะที่ไม่พูด

เอ้าๆ  มาว่ากันต่อ

เมื่อวาน Good Morning News ของ บลจ. บัวหลวง เขาบอกว่า Dan Greenhaus เตือนว่า ดัชนีหลายตัวบ่งชี้ให้หนีออกจากความเสี่ยง  ให้จับตาระดับดัชนี S&P ที่แนวต้านสำคัญที่ 1370 กับ 1311 ไว้ให้ดี

ช่าย ... อีตา Doug Kass ก็บอกว่า จะถอย ก็รีบถอย อย่าคอยให้ถึงเดือนหน้า ให้ขายหุ้นให้ได้ราคา ก็ขายออกมา ขายเล้ย ขายเล้ย  

บ้าแล้วแก ร้องเพลงอะไรออกมาน่ะ เป็นผู้ชายทั้งแท่ง

เออเป็นผู้ชายนาน เบื่อแล้ว อยากเป็นเก้งกวางบ้าง ลองไหมละฮ้า

เว้ย  เดี๋ยวเตะคอหักเลยไอ้นี่  พอๆ หยุดเล่นมาดูกันต่อ

นี่ๆ ลุงมาร์ค ฟาเบอร์ ให้สัมภาษณ์ว่า ตลาดหุ้นสหรัฐจะตกลงมาอีกมากกว่าจะดีดตัวกลับขึ้นมาได้ และเชื่อว่าหุ้นจะปรับฐานลงอีกไม่ต่ำกว่า 10%-20% เรียกว่าจะเป็น Bear Market   

งั้นเราขายทิ้งหุ้นไทยให้หมดเลยดีไหม  ไปตั้งหลักก่อน  แบบว่าเก็บเงินสดไว้ช้อนทีหลังไง

เอ ... แต่ อามาร์ค โมเบียส เขาบอกว่า ตลาดหุ้นไทยยังน่าสนใจลงทุนอยู่นะ โดยเฉพาะกลุ่มพลังงานและธนาคาร เพราะรัฐบาลเราจะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคจากนโยบายเพิ่มค่าจ้างแรงงานจะเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ   ความเสี่ยงก็ยังไม่น่าห่วง  และเชื่อว่าภูมิภาคเอเชียจะเติบโตได้ต่อไปและไม่มีการหยุดชะงักของเศรษฐกิจ    

ช่าย พื้นฐานเรายังดีจริงๆ เศรษฐกิจพุ่ง V Sape แหงๆ เลย  แต่การเมืองล่ะ  จะเดินขบวน จะเผา จะยึดบ้านยึดเมือง กันอีกไม่ใช่เหรอในเดือนนี้ เดือนหน้าน่ะ โหรยังทายไว้น่ากลัวมากด้วย

เออ จริงดิ แล้วมะรืนก็จะหยุดยาวสงกรานต์แล้ว ถือแช่ไว้มันจะเสี่ยงไหม ถ้ามีเหตุอะไรเกิดขึ้น

ช่าย  ยัยป้าปากร้ายแกเคยบอกว่า รอบนี้ขึ้นด้วยปัจจัยพื้นฐานและบวกด้วยเงินต่างชาติเข้าผสมโรงอย่างหนัก ให้ระวังเวลาต่างชาติถอยน่ะ

อืม .... แล้วฝรั่งก็เริ่มขายบ้างแล้วด้วย เราไปถามป้าดีกว่า ทนๆ แกด่าหน่อยละกาน

ป้าๆ  (เสียงทุบประตูห้องน้ำ ปังๆๆๆๆ)  ขอถามหน่อยดิว่า หากฝรั่งเริ่มขายจริงๆ จุดรับจะอยู่ที่ไหนล่ะ

เย้ยยยย .... อะไรฟะ ฉันกำลังท้องเสีย จะบ้ารึไง มากวนคนปล่อยทุกข์อยู่ได้ ตะกี้ก็แผ่นดินไหวจนปล่อยไม่ออก  ตอนนี้อะไรอีกเล้า ....

ก็ขาขึ้นที่ผ่านมา ฝรังซื้อเกือบแสนล้านน่ะป้า ถ้าเขาเอาเงินออกช่วงหยุดยาวนี้ก่อน จุดรับจะอยู่ที่ไหนล่ะป้า

จะไปรู้รึ ชั้นไม่ใช่เทวดานี่

เอาน่า  ป้าเป็นนางฟ้าไง นางฟ้าใจดีแสนสวยด้วย

อ้ะ อ้ะ  กะได้ๆ  แม้ .... เด็กคนนี้ตามีแวว..... ช่วงที่ฝรั่งซื้อ ทุกๆ 1,000 ล้าน ดัชนีจะขึ้นเฉลี่ย 2.5 จุด ถ้าคิดแบบบัญญัติไตรยางค์ด้วนๆ นะ หากฝรั่งขายงวดนี้สักครึ่งหนึ่งที่ซื้อมา เพราะในช่วงที่ผ่านมาเขาไม่เคยขายเกินกว่านี้ และงวดนี้ฝรั่งหัวดำเยอะด้วยนะ เว่ย เฮ่ย  ก็เท่ากับว่าฝรั่งน่าจะขายประมาณห้าหมื่นล้าน ถ้าเอา 50,000 ล้าน หารด้วย 1,000 ล้าน จะได้ 50   ลองเอา 50 เนี่ยะ ไปคูณ 2.5 จุด จะได้เท่ากับ 125 จุด  ก็เอานี่ให้เป็น base case  เพราะเวลาตลาดตกใจนั้นจะตกเร็วและแรงกว่า

ถ้าให้ค่าตกใจอยู่ระหว่าง 3.5-5.0 จุด ต่อ 1,000 ล้านของที่ฝรั่งขาย ก็จะได้ 175 และ 250 จุด ตามลำดับนะ  และถ้าหากให้ดัชนีสุงสุดแถว 1,200  แนวรับน่าจะอยู่ที่ 1,075 / 1,025 และ 950 จุด  ส่วนหากหุ้นยังเป็นขาขึ้นต่อ คงต้องใช้ cost average  โดยแนวรับ แนวต้านจะอยู่ที่ใจเป็นหลัก เว่ย เฮ่ย  


ป้าๆ ผมลงทุนได้สั้นๆ แบบเก็งกำไรน่ะ แต่มีต้นทุนต่ำ ยังมีกำไรอยู่ เอาไงดี

เออ  เงินแก  ตัดสินใจเองสิ ห่วงไปเที่ยวสงกรานต์ก็ขายซะ จะขายหมด ขาย 1 ใน 3 หรืออะไรก็อยู่ที่ใจของแก  มีเงินสดบ้างก็ดีนี่  ไม่รู้สิ

แล้วของผมล่ะป้า  ยาวจนเกษียณได้เลยนะ  ผมซื้อทุกเดือนอย่างที่ป้าบอกด้วยนะ ถ้าเจ๊งละน่าดู ป้าก็ป้าเหอะวะ

ไรฟะ ใครจะไปรู้ละ  อนาคตไม่มีอะไรแน่นอนหรอก  แต่หากเป็นเงินชั้น และชั้นอายุเท่าแกนะ  ชั้นอยู่เฉยๆ ซื้อทุกสิ้นเดือนอย่างที่แกทำนั่นแหละ ซื้อตัวที่เจ๋งจริงๆ มีปันผลสม่ำเสมอ ถึงจะขาดทุนเพราะตลาดอาจตก  แต่ก็ได้ปันผลชดเชย เวลาสถานการณ์ดีขึ้น ตลาดขึ้น ราคาหุ้นมันก็จะกลับมาดีเองแหละ กลัวอะไร

แล้วจะให้ซื้อตัวไหนละป้า

ฮ้วย  ....รำคาญ  คิดไม่ออกก็ไปซื้อกองทุนรวมสิ  ไอ้ขี้ตืด