ค้นหาบล็อกนี้

วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

Democracy หรือว่า Demo Crazy กันแน่

คุณวรวรรณ ธาราภูมิ
CEO บลจ. บัวหลวง

18 กุมภาพันธ์ 2555

คำว่า ประชาธิปไตยหรือ  “Democracy” อุบัติขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งในกรีซ

ในยุคเริ่มแรกของประชาธิปไตยนั้น ประชาชนผู้ออกเสียง เขาได้ออกเสียงเลือกหนทางในแต่ละเรื่อง ไม่ใช่แค่ออกเสียงเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนปวงชนหรือแค่เลือกพรรค

คนจะออกเสียงเลือกได้ว่าจะทำสงครามไหม โดยที่เขารู้ก่อนจะออกเสียงว่ามันต้องใช้เงินจำนวนมากในการทำสงคราม รู้ก่อนว่าจะมีการเจ็บการตาย  รู้ก่อนว่ามีโอกาสที่จะเป็นเมืองขึ้น เป็นทาสหากพ่ายแพ้
  
นั่นละประชาธิปไตยของแท้

อีกตัวอย่างของประชาธิปไตยของแท้ก็ต้องย้อนไปศึกษาที่เมืองฟลอเรนซ์ อิตาลี ในช่วงศตวรรษที่ 15

เชื่อไหมละว่าคนฟลอเรนซ์เขาออกไปลงคะแนนเสียงว่าเขาต้องการสร้างโบสถ์คาธอลิคอีกสักแห่งหรือไม่

เมื่อเสียงส่วนใหญ่บอกว่าสร้าง  เขาก็ไปโหวตกันอีกว่าจะให้หน้าตาโบสถ์ออกมาเป็นยังไง ซึ่งเขาก็มีการสร้างโมเดลตัวอย่างมาให้เห็นกันจะจะ ในหลายๆ แบบ ทำให้ผู้ลงคะแนนเสียงได้เห็นล่วงหน้าว่าถ้าสร้างโบสถ์ออกมาแล้วหน้าตาจะดีไหม จะเหมาะกับพื้นที่ที่โบสถ์นั้นจะตั้งอยู่ไหม เขาจะได้รู้ล่วงหน้าแม้กระทั่งว่าจะใช้วัสดุและวิธีก่อสร้างกันอย่างไรในแต่ละโมเดลที่เอามาให้ลงคะแนนเลือกกัน และเขารู้กันล่วงหน้าว่าจะต้องใช้เงินเท่าไหร่  

นั่นคือประชาชนมีโอกาสได้รับรู้ทางเลือกอย่างละเอียดถี่ถ้วนและโปร่งใส รู้ผลดีผลเสียของทางเลือกนั้นก่อนที่จะตัดสินใจเลือกหนทางที่เขาชอบที่สุด

ไม่น่าจะมีหนทางที่เกลียดน้อยที่สุดแล้วต้องจำใจเลือก ตามที่เคยถูกกรอกหูมาหลายๆ ครั้ง

และเขาก็ยินยอมพร้อมใจที่จะรับผลเสียจากการเลือกของเขา  ในขณะที่คนอยู่ข้างแพ้ ก็จะรับรู้ว่าคนอื่นๆ ส่วนใหญ่ชอบทางเลือกอื่นมากกว่า และยอมรับในเสียงข้างมากเพราะเขาก็ได้เห็นข้อดีข้อเสียของแต่ละทางเลือกกันโดยถ้วนทั่ว แต่ในเมื่อคนข้างชนะเขาเลือกทางอื่น คนข้างแพ้ก็ยอมรับได้  ซึ่งคนข้างชนะก็ได้เห็นข้อดีข้อเสียของทางเลือกอื่นๆ ที่เขาไม่เลือก  และให้ความเคารพในเสียงข้างน้อยเช่นกัน

ที่เป็นเช่นนี้ ที่เขายอมรับกันและกันได้ ก็เพราะทุกขบวนการมีความโปร่งใส มีการให้ความรู้แก่ผู้คนก่อนจะให้ลงคะแนนเลือกทางที่คนส่วนใหญ่ชอบที่สุด

แต่วันนี้ ประชาธิปไตย กลับกลายเป็นระบบการปกครองที่ทำให้เกิดการโกงกินกันได้มากที่สุด

ประชาธิปไตยกลายเป็นช่องทางให้คนวงในเข้าไปโกงทั้งเงินและอำนาจจากคนวงนอก โดยเสแสร้งว่านี่คือความต้องการของเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ

ไม่เชื่อก็ลองเอาแต่ละนโยบายมาให้คนลงคะแนนกันสิ  

จะมีคนอเมริกันสักกี่คนที่จะยอมลงคะแนนเสียงให้เอาเงินภาษีไปอุ้มแบงค์

จะมีคนไทยสักกี่คนที่ออกเสียงลงคะแนนให้โรงเรียนรับแป๊ะเจี๊ยะที่ฟอกตัวจนขาวสะอาดโดยเปลี่ยนชื่อเป็นเงินบริจาค

แต่ผู้ลงคะแนนเสียงในวันนี้ ไม่เคยได้รับโอกาสเหมือนชาวกรีซ ชาวฟลอเรนซ์ในสมัยก่อนเลย

การเลือกตั้งในทุกวันนี้ อย่างดีก็บอกว่ามีนโยบายว่าจะทำนั่นให้ ทำนี่ให้ แต่ไม่เคยบอกเลยว่ามันมีผลดี ผลเสีย อย่างไร จะใช้เงินเท่าไหร่ ก่อนที่คนจะลงคะแนน

ภาษาวาณิชธนกิจเขาเรียกว่า ไม่มีการทำ Due Diligent ก่อนจะตัดสินใจ

ภาษาผู้จัดการกองทุนเขาเรียกว่า ไม่ได้ทำหน้าที่ด้วยความระมัดระวังรอบคอบสมกับวิชาชีพ ก่อนจะไปซื้อขายหุ้น

ภาษาแบงค์เขาเรียกว่าปล่อยสินเชื่อหละหลวม ไม่รอบคอบ ไม่วิเคราะห์ให้ดีก่อนว่าปล่อยหนี้ให้แล้ว ลูกค้าจะมีปัญญาหาเงินมาคืนได้หรือไม่ แถมยังไร้หลักประกัน  ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อฐานะของธนาคารเป็นอย่างยิ่ง

ผู้ลงคะแนนเสียงในวันนี้ ไม่ได้รับโอกาสให้โหวตในแต่ละเรื่อง ในแต่ละนโยบาย เพราะระบบให้เลือกผู้สมัครที่ได้รับเงินอุดหนุนจากคนวงในหรือพวก Insider ที่ต้องการประโยชน์จากทรัพย์สินหรืออำนาจส่วนรวมที่พวกเราคนนอก หรือ Outsider ไม่สามารถเข้าถึงได้

และหลายๆ เรื่องมันก็น่าเกลียด น่ากลัว เกินกว่าที่คนนอกอย่างเราจะจินตนาการได้ว่าจะมีใครกล้าทำขนาดนั้น

ประชาธิปไตยในวันนี้ไม่ว่าจะในประเทศไหน ต่างก็ออกห่างจากประชาธิปไตยของแท้ต้นแบบไปไกลลิบ เพราะมันก็แค่ระบบการปกครองที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปเข้าคูหาเพื่อลงลายมือชื่อในเช็คเปล่าที่ยังไม่ได้ใส่ตัวเลข 
หลังจากนั้น ใครอยู่ข้างชนะก็เอาเช็คเปล่านั้นไปชำเรากันตามใจชอบ

คนวงนอกอย่างเราจะพอใจหรือไม่พอใจ ก็ไม่มีผล 

เพราะคำตอบที่ได้ก็คือ อ้าว ก็เลือกเขาเข้าไปเองนี่ หรือไม่ก็ว่า เสียงส่วนใหญ่เลือกแล้ว อย่าทะลึ่ง

ถึงเวลาหรือยัง ที่เราจะเปลี่ยนชื่อ ประชาธิปไตย เป็น ประชาธิปตาย 

ภาษาอังกฤษก็ควรเปลี่ยนใหม่จาก Democracy เป็น Demo Crazy

ประชาธิปไตย ตายไปแล้ว  เหลือแต่ ประชาธิปตาย  พอๆ กับทุนนิยมเสรีของแท้ที่ไม่เคยเกิดจริงเลยสักครั้งในโลกนี้

(วันนี้ แม้จะเขียนไม่ขำ แต่ขอย้ำว่าไม่เครียด)

วันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

มองต่างมุมเรื่องเปิดเสรีธุรกิจหลักทรัพย์

วรวรรณ ธาราภูมิ
นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน
CEO บลจ.บัวหลวง จำกัด

12 กุมภาพันธ์ 2555


ค่าคอมมิชชั่นโบรกเกอร์ในบ้านเราควรเปิดเสรีไหม เทียบกับประเทศอื่นแล้วเราแพงกว่าหรือเปล่า

ในวันนี้ กองทุนไทยจ่ายให้โบรกเกอร์ที่ให้บริการงานวิเคราะห์เต็มรูปแบบที่ 0.15% ไม่ได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาค หรือของโลกแล้ว  ส่วนรายที่ไม่มีงานวิเคราะห์และเสนอตนเป็นทางผ่านไปซื้อขายหุ้นในตลาดฯ อย่างเดียวด้วยอินเตอร์เน็ต เขาคิดที่ 0.05%

ทำไมมีบางรายคิดต่ำ บางรายคิด 0% และบางรายให้ลูกค้ารายใหญ่ไปใช้พอร์ตบริษัทหลักทรัพย์ของตนเองไปซื้อขายหุ้นได้

ที่โบรกเกอร์จะไปลดค่าธรรมเนียมจนเหลือ 0% สำหรับรายใหญ่รายใด หรือให้เทรดผ่านพอร์ตบริษัทโบรกเกอร์นั้น เราไม่มีข้อมูลเป็นเอกสารยืนยัน แต่มันเป็นไปได้หรือที่ผู้ถือหุ้นของบริษัทโบรกเกอร์จะยินยอมให้เอาพอร์ตบริษัทไปให้ลูกค้ารายใหญ่ทำอะไรก็ได้ ในเมื่อแต่ละรายก็บอกว่าตนเองมีธรรมาภิบาล มีจริยธรรม

ถ้าเปิดเสรีค่าคอม จะมีผลดีผลเสียอย่างไร

ผลดีก็คือ ไม่มีการผูกขาดราคาแบบกลุ่ม ที่เรียกว่า Oligopoly เทียบง่ายๆ ก็แบบที่กลุ่ม OPEC ร่วมกันกำหนดราคาน้ำมันนั่นแหละ  ผู้บริโภคจึงน่าจะได้ความเป็นธรรมในด้านราคาและบริการมากกว่าการปล่อยให้เกิดการรวมตัวกันกำหนดราคาที่อาจจะแพงไปเมื่อเทียบกับบริการที่ลูกค้าจะได้รับ 

แต่ผลเสียก็คืออุปนิสัยของคนไทยนั่นแหละ ทั้งด้านลูกค้า และด้านโบรกเกอร์เอง เมื่อจำนวนรายลูกค้าของตลาดหุ้นไทยมันน้อยเหลือเกิน มีไม่ถึง 1 ล้านคน อาจจะสัก 6 แสนคน และมีรายใหญ่ไม่กี่รายที่ซื้อขายรวมกันในสัดส่วนมากๆ  รายใหญ่พวกนี้เขาก็ได้เปรียบโบรกเกอร์  ก็เกิดการต่อรอง  หรือแม้จะไม่ต่อรองแต่โบรกเกอร์ไปเสนอเอง ราคามันก็เลยลดลงมาเรื่อยๆ  จนวันนี้เริ่มเห็นแนวโน้มการทำการตลาดแบบเลือดเข้าตา ใช้บริการโบรกเกอร์แถมกระติกน้ำ แถมกองทุน  อีกหน่อยคงแถมตำแหน่ง CEO ให้  ก็ทำให้เราสงสัยเหมือนกันว่าโบรกเกอร์เขาไม่เห็นคุณค่าในตัวเขาเองบ้างเลยหรือ ไม่เห็นคุณค่างานวิเคราะห์ที่ทีมงานเขาทำหรอกหรือ  ถึงได้ยอมลดค่าคอมได้ขนาดนั้น เพียงเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดเอาไว้  นอกจากนี้ก็มีข้อสังเกตุด้วยว่า คนไทยไม่ค่อยคิดถึงอนาคต  เวลาขยายธุรกิจก็ไม่สร้างคน  เอาแต่ดึงคนเข้าเพื่อให้คนที่ถูกดึงไปนั้นลากลูกค้ารายใหญ่จากที่เดิมตามไปด้วย แล้ววิธีแก้ไขในอดีตก็น่าเป็นห่วงเพราะมีการกักกันเสรีภาพในการย้ายงานของมาร์เก็ตติ้ง ซึ่งส่วนตัวมองว่าผิดกฏหมายแรงงาน

ก็หากมาร์เก็ตติ้งของคุณดีขนาดที่ว่าสูญเสียไปไม่ได้  ทำไมไม่ให้เขาเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทไปเลย  ไม่ดีกว่าหรือ บางทีการจ่ายคอมอย่างเดียวมันก็ทำร้ายบริษัท ทำร้ายผู้บริหาร พนักงาน และในที่สุดก็จะทำร้ายลูกค้าไปด้วย  เพราะในที่สุดลูกค้าจะซื้อขายหุ้นด้วยการเก็งกำไรล้วนๆ เพราะมาร์เก็ตติ้งต้องเชียร์ให้เกิดการซื้อๆ ขายๆ เพื่อจะได้รับค่าคอม

บางคนมองว่าแม้การเปิดเสรีจะทำให้โบรกเกอร์หลายรายต้องล้มหายตายจากไป แต่ตลาดโดยรวมจะดีขึ้น นักลงทุนได้ประโยชน์จากค่าคอมมิชชั่นที่ลดลง ได้รับผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายมากขึ้น เพราะโบรกเกอร์ต้องดิ้นรนพัฒนาตนเองเพื่อความอยู่รอด  แต่ปัญหาอีกด้านที่ถูกมองข้ามไปก็คือ ในความเป็นจริง เมื่อธุรกิจรายได้ลด  ส่วนแรกที่กิจการจะทำเพื่อความอยู่รอดคือลดการจ้างงานในส่วนที่เห็นว่าจำเป็นน้อยที่สุด ปริมาณและคุณภาพของบทวิเคราะห์หลักทรัพย์นั่นแหละที่จะโดนก่อน และเราก็เริ่มเห็นผลกระทบแล้ว เพราะจำนวนนักวิเคราะห์หดหายไปถึง 1 ใน 3

โบรกเกอร์รายหนึ่ง ให้ข่าวว่าปัจจุบันโบรกเกอร์ทุกรายได้เตรียมความพร้อมด้วยการทำให้ตัวเองมีต้นทุนน้อยที่สุด โดยเฉพาะต้นทุนด้านงานปฎิบัติการ (Back Office) รวมทั้งงานวิจัยก็ลดลง ระบบการซื้อขายก็ไม่ลงทุนใหม่ ใช้ระบบเดิมของทางเซ็ทเทรดที่มีอยู่ และไปทุ่มเงินด้านมาร์เก็ตติ้ง ทำให้โบรกเกอร์เล็กจึงยังอยู่ได้ในภาวะเปิดเสรีค่าคอม แต่หากจะต้องการบริษัทเติบโตก็ต้องหาทางควบรวมกันเอง 

ข่าวอย่างนี้ ทำให้สะดุ้งสะเทือนกันบ้างไหมล่ะ

จะแก้ไขเรื่องงานวิเคราะห์ด้วยการให้รัฐกำหนดบังคับได้ไหม

การจะแก้ด้วยการให้รัฐแทรกแซงด้วยการออกกฏบังคับให้มีการผลิตบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ หรือบังคับให้ดำรงจำนวนขั้นต่ำของนักวิเคราะห์ มันก็ทำได้  แต่จะไปค้านกับแนวคิดทุนนิยมเสรีอย่างที่ตั้งใจจะให้เป็นกันไม่ใช่หรือ  เพราะคอนเซปท์ของตลาดที่มีประสิทธิภาพตามแนวคิดแบบทุนนิยมเสรีเต็มขั้นนั้น จะต้องไม่ปกป้องผู้อ่อนแอ  และจะต้องไม่ขัดขวางผู้มีกำลังมากกว่า  แม้จะครองตลาดทั้งหมด  ในระบบที่ดีนั้น รัฐต้องไม่เข้ามาแทรกแซงกลไกตลาด  ของเรามันแปลกๆ  ที่บอกว่าต้องเป็นทุนนิยมเสรี  แต่ในทางปฏิบัติกลับเลือกเสรีมั่ง ไม่เสรีมั่ง

เปิดเสรีค่าคอมและโบรกเกอร์แล้ว จะช่วยเพิ่มจำนวนลูกค้ากับปริมาณการซื้อขายหุ้นไหม

ในความเป็นจริงนะ หากสินค้ามันห่วย  ต่อให้ขายในราคา 0 บาท ก็ไม่มีใครซื้อ จริงไหมล่ะ  แต่ถ้าสินค้ามันดีจริงๆ ขายแพงกว่าที่อื่นบ้าง คนก็แย่งกันซื้ออยู่ดี

แล้วตอนนี้เรามีสินค้าห่วยหรือดี

ตอนนี้ใครๆ ก็วิ่งเข้าเอเชีย ก็เพราะรู้ว่าสินค้าที่มีในตลาดทุนมีศักยภาพ เราก็มีของดีด้วยเหมือนกัน  แต่เรามี
สินค้าน้อยเกินไป  เราจึงควรเร่งพัฒนาให้ถูกจุด การที่ตลาดทุนไม่โตมากดังใจ มันไม่ใช่เรื่องเปิดเสรีหรือไม่เปิด จึงอยากให้มองปัญหาให้ถูกจุด  ค่าคอมมันแค่องค์ประกอบหนึ่งเท่านั้นซึ่งไม่ได้เป็นจุดตัดสินใจใหญ่เลยโดยเฉพาะเมื่อตอนนี้ก็ไม่ได้แพงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก แถมยังถูกกว่าเพื่อนบ้านแล้ว ส่วนจะเปิดให้โบรกเกอร์ต่างชาติเข้ามาทำกิจการเพิ่มนั้น ถ้าเขาเข้ามาแล้วลูกค้าซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการอยากจะเปิดเสรีเขาได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจริง ก็ให้เข้ามาเถิด แต่จะได้ประโยชน์จริงหรือไม่  ขอให้ไปศึกษาพฤติกรรมการซื้อขายหุ้นของลูกค้า และถามลูกค้าก่อนน่าจะได้ภาพที่สะท้อนความจริงมากขึ้น

ทำไมถึงมีการมองว่าตลาดทุนไทยสู้คนอื่นไม่ได้ โดยเฉพาะเพื่อนบ้าน

มันก็ขำๆ นะ  หากสู้ไม่ได้จริงๆ  ทำไมผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ตั้งหลายรุ่นถึงไม่โดนเชิญให้ออกเล่า

ในความเห็นส่วนตัว อย่ามองว่าทำไมประชากรไทยทั้ง 67 ล้านคนถึงเข้ามาลงทุนในหุ้นไม่ถึง 1 ล้านคน  และจะเอาอัตราส่วนประชากรที่ลงทุนในหุ้นของไทยไปเทียบกับฐานของสิงคโปร์ไม่ได้ เพราะ Architecture ของประเทศและประชากรมันต่างกันมาก  บ้านเราเป็นสังคมเกษตร  แต่สิงคโปร์เป็นฐานทางการเงินการลงทุน  การเปรียบเทียบสัดส่วนผู้ลงทุนในตลาดหุ้นของเรากับสิงคโปร์จึงเป็นการเทียบที่ไม่ยืนอยู่บนความเป็นจริง  เพราะในขณะที่เกษตรกรและผู้ใช้แรงงานอื่นๆ ยังลืมตาอ้าปากไม่ได้ เราจะไปตั้งเป้าให้เขาลงทุนในหุ้นได้อย่างไร  กับเกาหลีใต้ก็เหมือนกัน  เขาเป็นสังคมอุตสาหกรรม ไม่ใช่สังคมเกษตร และเขาก็มี product หลากหลายกว่าเรา

ปัญหาคือเรามักคิดไปเองหรือเปล่าว่าเราจะถูกนับว่าเป็นประเทศพัฒนาหากมีผู้ลงทุนในตลาดหุ้นเยอะๆ  โดยไม่ได้แบ่งคัดว่าใครคือผู้มีศักยภาพในการลงทุนในตลาดหุ้น   

ประเด็นที่ถกเถียงกันก็คือ มีคนจำนวนไม่น้อยที่มองว่าตลาดทุน หรือเรียกง่ายๆ ว่าตลาดหุ้น กับคนในวิชาชีพนี้เอาเปรียบ เพราะคิดค่าบริการหรือค่าคอมแพงไป

คนไทยสมัยนี้นะ เวลาจะทำอะไรให้อิงมวลชนไว้  ให้พูดว่าทำเพื่อประชาชน  แล้วจะดูดี   

ณ ปัจจุบัน ไม่ได้แพงกว่าค่าเฉลี่ยในเอเชียเลย  เกาหลี ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ ก็แพงกว่าเราทั้งนั้น

แล้วการเปิดเสรีค่าคอมจะเป็นปัญหาอะไร

ปัญหามันเกิดเพราะมีแนวโน้มในการแข่งขันแบบเลือดเข้าตาด้วยการไปลดค่าคอมให้ลงไปกว่านี้  ซึ่งจะกระทบต่อพัฒนาการที่ดีของตลาดทุนทั้งหมดทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แต่ส่วนตัวก็คิดว่ามันเป็นเรื่องของแต่ละราย ไม่ได้อยากให้ไปบังคับว่าต้องเปิดหรือไม่เปิดเสรีหรอก

ได้ยินมาว่าบางรายเสนอ 0% เท็จจริงอย่างไรไม่ทราบ  

ที่รู้มาแน่ๆ คือมีโบรกเกอร์ที่คิดเพียง 0.02% ซึ่งก็อาจเป็นประเด็นที่ทำให้คนที่ลดค่าคอมมากๆ พยายามลดค่าใช้จ่ายด้วยการลดงานวิจัย  ทำให้จำนวนผู้วิเคราะห์วิจัย หายไปจากระบบอย่างน่าสังเกตุ  และเกิดการเอาเปรียบ การละเมิด กันขึ้น ตัวอย่างเช่น ไปใช้งานวิเคราะห์ของโบรกเกอร์รายหนึ่ง  แล้วไม่ซื้อขายผ่านเขา กลับไปซื้อขายผ่านโบรกเกอร์ที่คิดราคาถูกๆ หรือแม้แต่ 0%  หรือเอาไปซื้อขายผ่านระบบอินเตอร์เนตของอีกโบรกเกอร์  แบบนี้เป็นการกระทำที่น่ารังเกียจ  เพราะกว่าคนจะทำงานวิเคราะห์วิจัยออกมาได้  มันใช้เวลา ใช้ความรู้ และประสบการณ์มาก หากเราไม่ให้คุณค่างานของเขา แล้วกระทำตัวเยี่ยงโจร ทั้งระบบมันจะพัง  เพราะในที่สุดก็จะไม่มีใครลงทุนในด้านงานวิเคราะห์อีกต่อไป ก็คล้ายๆ ไปซื้อเทปผี ซีดีเถื่อน หากทำกันแบบนั้นแล้ว คนที่ผลิตงานดีๆ เขาจะเอาอะไรกิน เขาก็ล้มหายตายจากไปน่ะสิ ต่อไปเราก็ต้องร้องเพลงกันเอง ฟังกันเอง  ไม่ไหวหรอก  แล้วในที่สุดตลาดหุ้นบ้านเราจะไม่มีคุณภาพเพราะจะมีแต่พวกเก็งกำไร ไม่คิดถึงการลงทุนด้วยปัจจัยพื้นฐาน เพราะไม่มีงานวิเคราะห์ที่ดีมาสนับสนุน 

ที่สำคัญก็คือ แน่ใจหรือว่าลดค่าคอม เปิดเสรีธุรกิจแล้ว เราจะเพิ่มจำนวนผู้ลงทุนได้  เคยได้ยินไหมว่า บ้านนี้ลูกสาวดีจริงๆ ค่าสินสอดเท่าไรก็จะจ่าย

เรื่องสงครามราคามีในวงการ บลจ. ไหม

วงการเราให้เสรีในการคิดค่าธรรมเนียมกัน  ก็เลยมีการแข่งขันราคากันอย่างที่ไม่มีที่ไหนในโลกจะเจอ  ยกตัวอย่างเช่น กองทุนอสังหาริมทรัพย์  ไปค้นดูได้เลยว่าในแต่ละประเทศในโลกนี้ บลจ. เขาได้ค่าจัดการกองทุนเท่าไร  ในขณะที่ของไทยเราคิดค่าจัดการกองทุนถูกกว่าเขาเกิน 10 เท่า จนต่างชาติตกใจ

หรือจะไปดูด้านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็ได้  เราถูกลูกค้ารายใหญ่ๆ กดค่าจัดการกองทุนจนไม่เป็นธรรมในการทำธุรกิจแล้ว ความรู้สึกส่วนตัวคือเหมือนเราไม่มีเกียรติในวิชาชีพเลย  การที่อุตสาหกรรมทำงานกันเต็มที่ในการบริหารจัดการกองทุนนั้น เขากลับไม่เห็นคุณค่า  ไม่เห็นผลประกอบการที่ดีและคุ้มกับค่าจัดการ  บางคนถึงกับมองว่าผู้จัดการกองทุนเป็นผู้เอารัดเอาเปรียบที่มาคิดค่าจัดการกองทุนจากเงินเก็บสะสมของเขาก็มี  ทุกวันนี้ค่าจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพถูกกดลงจนขาดทุนเมื่อเทียบกับบริการที่ให้  แต่อุตสาหกรรมเราก็ไม่ได้ทำอะไร เพราะเราก็ห่วงว่าจะเป็น Oligopoly Business

หากเรามีคุณค่าแต่ลูกค้าไม่เห็นคุณค่าของเรา ก็ป่วยการจะตามตี๊อไปให้บริการเขา เอาเวลาไปทำสิ่งดีๆ ให้ลูกค้ารายอื่นที่เล็กกว่าไม่ดีกว่าหรือ  จะแข่งกันโต จะเพิ่มมาร์เก็ตแชร์โดยไม่มีกำไร แถมยังขาดทุน กันไปทำไม  ตรงนี้เป็นสิ่งที่แต่ละ บลจ. ตัดสินใจกันเอง เพราะโมเดลทางธุรกิจแตกต่างกัน ความจริงก็ว่ากันไม่ได้ว่าใครคิดผิดคิดถูก  

รายย่อยจะกระทบไหม

นักลงทุนรายใหญ่จะมีความเชี่ยวชาญการลงทุน และเข้าถึงฐานข้อมูลที่รอบด้านมากกว่า ไม่จำเป็นต้องอาศัยคำแนะนำอย่างรายย่อยซึ่งจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากคุณภาพที่ขาดหายไป และมาร์เก็ตติ้งของโบรกเกอร์ก็จะยิ่งไปเน้นให้เขาซื้อขายโดยขาดความรู้มากขึ้น

ที่สำคัญนั้น  ในต่างประเทศซึ่งมีการเปิดเสรีค้าหลักทรัพย์ไปก่อนหน้านี้นั้น กลับปรากฏว่าไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อประเทศโดยรวม  คนอังกฤษบนท้องถนนเขารวยขึ้นไหมเมื่อเทียบกับก่อนเปิดเสรี  ไม่เลย  กลับจนลงต่างหาก  แต่คนรวยขึ้นคือคนส่วนน้อยที่ทำธุรกิจกับตลาดหุ้นนั่นแหละ  แล้วก็เป็นต่างชาติเป็นส่วนใหญ่  ไม่มีความเป็นตัวตนของอังกฤษเหลือเห็นอีกแล้วในตลาดหุ้นลอนดอน 

นอกจากนี้ การเปิดเสรีก็จะต้องลดกฏเกณฑ์การกำกับดูแลลง ทำให้ต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น แล้วเรายังมั่นใจในมาตรฐานต่างชาติหรือว่าเขาอยู่ในกฏกติกามากกว่าคนไทย  ข่าวเสียๆ ก็มีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ กับโบรกเกอร์ชื่อดังระดับโลก  

อีกเรื่องที่ต้องคิดก็คือเมื่อเกิดปัญหาเศรษฐกิจทั้งในอเมริกากับยุโรป ส่วนของเอเชียกลับไม่กระทบเพราะไม่มีความเชื่อมโยงจากทั้ง 2 ภูมิภาคที่ประสบปัญหา  แล้วเราจะไปผูกกับคนป่วยๆ ไปทำไม ยิ่งเวลานี้เอเชียกำลังจะได้ประโยชน์จากทุนที่หลั่งไหลเข้ามาลงทุน  เรากลับจะยกประโยชน์ไปให้คนอื่นมาร่วมรับอานิสงส์ไปทำไมกัน