ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2554

บลจ.บัวหลวงส่งกองทุน 9 เดือนผลตอบแทนต่อปี 3.40%


                                                                                  ข่าวประชาสัมพันธ์
                                                                             Press Release

บลจ.บัวหลวงส่งกองทุน 9 เดือนผลตอบแทนต่อปี 3.40%
ทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนคุ้มระหว่างรอดอกเบี้ยขึ้น 

นายวศิน วัฒนวรกิจกุล กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจกองทุนรวม บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด (บลจ.บัวหลวง) แนะนักลงทุนเลือกสร้างสมดุลการลงทุน โดยเลือกระยะเวลาการลงทุนที่เหมาะสมพร้อมกับเปิดโอกาสรับผลตอบแทนจากดอกเบี้ยขาขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการลงทุนเต็มที่ โดยมองว่าถ้าเปรียบเทียบการให้ผลตอบแทนตามระยะเวลาการลงทุนนั้น โดยปกติการลงทุนที่มีระยะเวลามากกว่ามักจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ซึ่งถ้าผลตอบแทนแทบจะใกล้เคียงกันนักลงทุนอาจเลือกพักเงินในการลงทุนระยะสั้นมากๆ เพื่อรอผลตอบแทนการลงทุนปรับขึ้นแล้วเข้าลงทุนต่อได้ แต่ถ้าเหมือนภาวะปัจจุบันที่ผลตอบแทนในแต่ระยะเวลาเช่น 3 เดือน 6 เดือน 9 เดือน ให้ผลตอบแทนที่ต่างกันพอสมควร นักลงทุนควรเลือกลงทุนในตัวที่ให้ผลตอบแทนดี เพื่อที่ให้ระหว่างช่วงที่รอดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนปรับขึ้นนั้นได้รับประโยชน์จากการลงทุนอย่างเต็มที่ แต่ต้องไม่ลืมที่จะลงทุนให้สอดคล้องกับความจำเป็นใช้เงินก้อนนั้นๆ ด้วย
สำหรับนักลงทุนผู้มีเงินออมสามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นๆ เพื่อสามารถรับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นได้ทันกับการปรับเพิ่มของอัตราดอกเบี้ยแต่ไม่ต้องการพลาดรับผลตอบแทนที่เหมาะสมระหว่างทาง กองทุนรวม B-Fixterm16/11 เป็นทางเลือกหนึ่ง โดยกองทุนมีแผนลงทุนในตั๋วเงินคลัง เงินฝาก ตราสารหนี้ของสถาบันการเงิน และตราสารหนี้ของเอกชน ในประเทศในสัดส่วนประมาณร้อยละ 51 และส่วนที่เหลือลงทุนในเงินฝากหรือตราสารหนี้ที่ออกโดยสถาบันการเงินต่างประเทศซึ่งได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ A- ขึ้นไป  กองทุน B-Fixterm16/11 คาดว่าจะให้ผลตอบแทนประมาณร้อยละ 3.40 ต่อปี มีอายุการลงทุนประมาณ 9 เดือน  ลงทุนขั้นต่ำ 10,000 บาท เปิดขายครั้งเดียวระหว่างวันที่ 25 มิถุนายนถึง 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 และเมื่อกองทุนนี้ครบอายุนักลงทุนจะได้รับเงินลงทุนและผลตอบแทนโดยวิธีการรับซื้อคืนอัตโนมัติ ที่สำคัญสำหรับนักลงทุนประเภทบุคคลได้รับผลตอบแทนโดยไม่ต้องเสียภาษี
กองทุนรวม B-Fixterm16/11 บริหารและจัดการกองทุนโดยบลจ.บัวหลวง จำกัด ภายใต้การสนับสนุนของธนาคารกรุงเทพ นักลงทุนสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือขอหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปได้ที่บัวหลวงโฟน 1333 หรือที่บลจ.บัวหลวง 0-2674-6488 กด 8 หรือที่ www.bblam.co.th

การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน

                                                                                                                 กลุ่มธุรกิจกองทุนรวม
                                                                                  บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด
                                                                                                                 29 มิถุนายน พ.ศ. 2554

วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ตอนที่ 2 กองทุนรวมทำงานอย่างไร


เนื้อหาจาก: หนังสือ "สวัสดีกองทุนรวม 2552"
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)


ตอนที่ 2 กองทุนรวมทำงานอย่างไร

 
เรื่อง ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกองทุนรวม
 
             มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของกองทุนรวมหลายฝ่ายด้วยกัน แผนภาพด้านล่างนี้ จะช่วยอธิบายถึงความสัมพันธ์ของแต่ละฝ่าย ซึ่งจะทำให้ท่านเข้าใจถึงกลไกการทำงานได้ดีขึ้น


ก.ล.ต. คือ หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการพิจารณาให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจการจัดการกองทุนรวมแก่ บลจ. พิจารณาอนุญาตให้จัดตั้งกองทุนรวม รวมทั้งออกกฏเกณฑ์และกำกับดูแลการปฏิบัติงานของ บลจ.

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)
-          ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวมจาก ก.ล.ต.
-          จัดทำหนังสือชี้ชวน ซึ่งเป็นเอกสารที่ชี้แจงรายละเอียดของแต่ละกองทุนรวมออกและเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรกให้กับผู้ลงทุน
-          ขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนให้กับผู้ลงทุน

ผู้ดูแลผลประโยชน์
-          เป็นสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) เป็นต้น ซึ่งกฏหมายกำหนดให้ บลจ. ต้องแต่งตั้งผู้ดูแลผลประโยชน์ที่มีความเป็นอิสระจาก บลจ. เพื่อดูแลให้ บลจ. จัดการกองทุนรวมตามวัตถุประสงค์และนโยบายการลงทุนที่ได้ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวนที่ได้รับอนุมัติจาก ก.ล.ต.
-          เก็บรักษาทรัพย์สินและรับ จ่ายเงินของกองทุนรวม
-          ติดตามสิทธิประโยชน์จากเงินลงทุนแทนผู้ถือหน่วยลงทุน
-          ตรวจสอบการทำงานของบลจ. และดำเนินการฟ้องร้อง หากพบว่า บลจ. ปฏิบัติงานบกพร่องจนเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของกองทุนรวม

ผู้จัดการกองทุน
-          เป็นบุคลากรของ บลจ. ที่ทำหน้าที่ตัดสินใจลงทุน
-          มีอำนาจตัดสินใจนำเงินของกองทุนรวมไปลงทุนตามนโยบายที่ระบุไว้
-          ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. โดยมีคุณสมบัติและประสบการณ์ตามเกณฑ์ที่ ก.ล.ต. กำหนด

นายทะเบียนกองทุนรวม
-          เป็นสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) เป็นต้น หรือ บลจ. เองที่ทำหน้าที่จัดทำทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุน
-          จัดเก็บรายชื่อ และรายละเอียดการซื้อขายหน่วยลงทุนของผู้ถือหน่วยลงทุน
-          ดูแลการเพิ่ม ลด เก็บยอดคงเหลือหน่วยลงทุนของผู้ถือหน่วยลงทุนแต่ละราย

ผู้ถือหน่วยลงทุน คือ รู้จักความเสี่ยง หาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน

ผู้สอบบัญชี คือ ทำหน้าที่ตรวจสอบงบการเงินของกองทุนรวม ซึ่งต้องเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต.

ตัวแทนขายของ บลจ. คือ เพื่อเพิ่มช่องทาง และอำนวยความสะดวกในการเปิดบัญชี และการซื้อขายหน่วยลงทุน บลจ. อาจแต่งตั้งตัวแทนขายที่เป็นนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตนายหน้าค้าจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ หรือใบอนุญาตนายหน้าค้าจัดจำหน่ายลงทุน (Limited Brokerage Dealing Underwriting License) เช่น ธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกันชีวิต บุคคลธรรมดาที่ได้รับอนุญาต ผู้ติดต่อผู้ลงทุน จาก ก.ล.ต.

            หลังจากศึกษาข้อมูลกองทุนรวมแล้ว เมื่อผู้ลงทุนตัดสินใจลงทุนในกองทุนรวมใดก็ตาม ผู้ลงทุนจะได้ หน่วยลงทุน ตามจำนวนเงินที่ลงทุนไป โดยการเพิ่มขึ้นของมูลค่าหน่วยลงทุน หมายถึง กำไร การลดลงของมูลค่าหน่วยลงทุน หมายถึง ขาดทุน


 โปรดติดตามอ่านตอนต่อไปได้ในครั้งหน้าค่ะ.....

วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ตอนที่ 1 ทำความรู้จักกองทุนรวมกันก่อน


เนื้อหาจาก: หนังสือ "สวัสดีกองทุนรวม 2552"
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)



ตอนที่ 1 ทำความรู้จักกองทุนรวมกันก่อน
กองทุนรวมคืออะไร

            กองทุนรวมคือ เครื่องมือในการลงทุนรูปแบบหนึ่งที่ผู้ลงทุนหลาย ๆ คนนำเงินลงทุนมารวมกัน และมอบหมายให้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนที่เรียกย่อ ๆ ว่า บลจ. ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการลงทุนและได้รับอนุญาตในการบริหารจัดการกองทุนรวมจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการเงินลงทุนก้อนนั้นให้แก่ผู้ลงทุน

            บลจ. จะทำหน้าที่ บริหารกองทุนรวมให้เกิดดอกผลโดยนำเงินลงทุนของกองทุนรวมไปลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินประเภทต่าง ๆ เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ หุ้น เป็นต้น เพื่อให้ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนของกองทุนรวมนั้นด้วย

กระบวนการในการขออนุญาตจัดตั้งกองทุนรวม

·        บลจ. ยื่นรายละเอียดของโครงการจัดการกองทุนรวมที่จะขอจัดตั้งต่อ ก.ล.ต. เช่น นโยบายการลงทุน วัตถุประสงค์การลงทุน ค่าธรรมเนียม การจัดการกองทุนรวม เป็นต้น
·        เมื่อได้รับอนุญาต บลจ. ก็จะออกและเสนอขาย หน่วยลงทุนของกองทุนรวม ให้กับผู้ลงทุน
·        บลจ. จำหน่ายหน่วยลงทุนให้ผู้ลงทุนได้เกินกว่า 35 ราย และมูลค่าเงินลงทุนที่ระดมได้เกินกว่า 50 ล้านบาท
·        บลจ. นำเงินดังกล่าวมาจดทะเบียนเป็น กองทุนรวม กับ ก.ล.ต. ทำให้กองทุนรวมมีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจาก บลจ. และ บลจ. ก็จะทำหน้าที่ในการบริหารกองทุนรวมนำเงินไปลงทุนตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไป
·        การบริหารต้องทำภายใต้กรอบการลงทุนของแต่ละกองทุนรวม ซึ่งได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้วตั้งแต่แรกที่ได้ยื่นรายละเอียดดโครงการไว้กับ ก.ล.ต.



เกร็ดความรู้
1.       หน่วยลงทุน คือ หน่วยย่อย ๆ ของกองทุนรวมแต่ละกองทุนที่มีมูลค่าเท่า ๆ กันใช้สำหรับซื้อขาย ผู้ที่ถือหน่วยลงทุนจะเป็นเจ้าของทรัพย์สินในกองทุนรวมร่วมกัน เช่น โครงการกองทุนรวม ก. มูลค่าโครงการ 1,000,000,000 หน่วยลงทุน มูลค่าที่ตราไว้หน่วยลงทุนละ 10 บาท
2.       การกำหนดให้กองทุนรวมเป็นนิติบุคคลเพื่อให้ทรัพย์สินของกองทุนรวมแยกต่างหากจากทรัพย์สิน บลจ. ดังนั้น หาก บลจ. ที่บริหารกองทุนรวมอยู่ประสบปัญหาด้านการเงินหรือปิดกิจการไป ทรัพย์สินของกองทุนรวมจะไม่ถูกกระทบ และยังสามารถโอนย้าย ไปอยู่ภายใต้การบริหารของ บลจ. อื่นได้
3.         ตราสารทางการเงิน  หมายถึง เอกสารที่แสดงสิทธิเรียกร้อง ที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานทางการเงิน ทั้งที่เกี่ยวกับการออมและการลงทุน อาทิเช่น ตราสารทางการเงินที่ให้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยหรือเงินปันผลเช่น บัญชีเงินฝากประเภทต่าง ๆ หุ้นกู้ หุ้นทุน เป็นต้น หรือตราสารทางการเงินที่มูลค่าเพิ่มหรือลดได้ เช่น หุ้นทุน หุ้นกู้ เป็นต้น


โปรดติดตามอ่านตอนต่อไปได้ในสัปดาห์หน้าค่ะ.....




วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2554

พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ

พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ

วรวรรณ ธาราภูมิ
นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ. บัวหลวง จำกัด

29 พค 54

เงินเฟ้อของไทยที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ล่าสุดอยู่ที่ 4.04% ในเดือนเมษายนปีนี้เมื่อเทียบกับเดือนเมษายนปีที่แล้ว หรือเพิ่มขึ้น 1.38% จากเดือนมีนาคม 2554

อัตราเงินเฟ้อล่าสุดที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วมาจากราคาอาหารโดยเฉพาะพืชผักและผลไม้ที่แพงขึ้นประมาณ 21% เมื่อเทียบกับราคาในปีก่อน ในขณะที่ราคาเนื้อสัตว์แพงขึ้นประมาณ 9% 

และเมื่อพรรคการเมืองต่างหาเสียงด้วยนโยบายจะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ  ในขณะที่ราคาน้ำมันในอนาคตจะเพิ่มสูงขึ้น  ก็ย่อมจะทำให้ต้นทุนในการทำธุรกิจสูงขึ้นไปด้วย  ต้นทุนเหล่านี้ย่อมจะถูกส่งผ่านไปยังราคาสินค้า และทำให้เงินเฟ้อมีอัตราสูงขึ้นไปอีก ทำให้คาดกันว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. ในปัจจุบัน ณ วันที่ 30 พค 54 ซึ่งอยู่ที่ 2.75% จะสูงขึ้นไปจนถึง 3.50% ในปีนี้

เงินเฟ้อนอกจากจะทำให้รายจ่ายของเราในการซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นศัตรูสำคัญของเงินออม เพราะเงินเฟ้อจะทำให้ค่าของเงินออมลดน้อยลงไป  เงินเฟ้อเป็นต้นเหตุที่ทำให้มูลค่าเงินลดลงตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา เมื่อ 30 ปีก่อน ก๋วยเตี๋ยวราคาชามละ 10 บาท วันนี้ก๋วยเตี๋ยวชามละ 35 50 บาทแล้ว  แล้วในอีก 10 ปีข้างหน้าราคาก๋วยเตี๋ยวจะสูงขึ้นไปเป็นชามละเท่าไหร่ในเมื่อพื้นที่เพาะปลูกลดลงไปทุกทีจากการขยายตัวของเมือง และผลกระทบจากภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ผลผลิตอาหารลดน้อยลง

ปัญหาก็คือ เงินเก็บออมเพื่อเอาไว้ใช้ในยามเกษียณของเราในอนาคตที่อยู่ในรูปแบบของเงินฝากธนาคาร พันธบัตร ตราสารหนี้ หุ้น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ หรือลงทุนผ่านกองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มันจะพอใช้จ่ายไปอีก 20 ปีหรือไม่  ในเมื่อข้าวของมีแต่จะแพงขึ้นไปทุกวัน

และด้วยอัตราเงินเฟ้อล่าสุดที่ 4.04% ต่อปี แต่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปี ที่ไม่เกิน 3.00% ก็แปลว่าหากเราเก็บออมเงินทั้งหมดในเงินฝาก ค่าเงินของเราก็หดลงไปแล้วไม่ต่ำกว่า 1% และหากเราฝากออมทรัพย์อย่างเดียวซึ่งได้ดอกเบี้ยเพีบง 0.75% ต่อปี ค่าของเงินเราจะต่ำกว่าเงินเฟ้อถึงกว่า 3.29% ทีเดียว

การออมและการลงทุนที่ดีจะต้องปกป้องเงินออมที่เราทำมาหาได้อย่างเหนื่อยยากไม่ให้สูญเสียค่าของเงินไป นั่นก็คืออย่างน้อยจะต้องชนะเงินเฟ้อ

เรื่องนี้ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดใหญ่ ธนาคารกรุงเทพฯ  เขียนเอาไว้ได้ดีทีเดียว  ท่านบอกว่า  ให้เราลงทุนไปกับเงินเฟ้อ โดยลงทุนกับสิ่งที่ผลตอบแทนจะเพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้อด้วยแนวคิดที่ว่า ถ้าน้ำจะขึ้น ก็ขอขึ้นตามน้ำ เพื่อให้สามารถลอยคอขึ้นตามน้ำ รักษาค่าของเงินที่เราเก็บออมไว้ได้ ทั้งนี้ ในช่วงที่เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น การฝากเงิน หรือพันธบัตรและตราสารหนี้  โดยเฉพาะประเภทที่มีระยะเวลายาว จึงเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยจะแพ้อัตราเงินเฟ้อ  หากเราฝากเงินอย่างเดียว เมื่อเรากลับไปที่แบงก์ ถอนเงินต้นและดอกเบี้ยที่ได้ไปซื้อของต่างๆ จะซื้อของได้น้อยลง เทียบกับถ้าการเอาเงินต้นที่มีไปซื้อของมาเก็บไว้แต่ต้นปี เรียกว่าจนลง

เมื่อกลับไปดูวิธีทำให้เงินงอกเงยขึ้นแบบอื่นจะพบว่าหากลงทุนในหุ้นตั้งแต่มีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามสถิติที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำไว้ พบว่าถ้าหักผลตอบแทนจากอัตราเงินเฟ้อแล้ว หุ้นยังให้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนสูงกว่าเงินฝากราว 4 เท่า และยังมากกว่าการลงทุนในพันธบัตร รวมถึงการลงทุนในทองคำ (คิดในรูปของเงินบาท) อีกด้วย

เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว เราน่าจะนำเงินทั้งหมดไปซื้อหุ้น ใช่ไหม ?  

คำตอบสำหรับคนทั่วๆ ไปก็คือ เราไม่ควรเอาไข่ทุกใบใส่ถุงเดียวกันแล้วไปชั่งกิโลขาย เพราะหากพลาดพลั้งหลุดมือไป  ไข่ทุกใบในถุงเดียวกันอาจจะแตกหมด

นั่นก็คือหลักการลงทุนที่สอนกันว่าเราควรกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ให้เหมาะสมกับตัวเรา หรือ Diversification  เพื่อลดความเสี่ยงที่หลักทรัพย์บางประเภทที่เราลงทุนจะได้รับผลตอบแทนติดลบในแต่ละปี  เพราะโดยปกติแล้วมักจะไม่มีผลตอบแทนไปในทางเดียวกัน  คือไม่ใช่เป็นบวกไปหมดและไม่ใช่ติดลบไปทั้งหมด

เราจึงอาจกระจายการลงทุนอยู่ในหุ้น 40% เงินฝาก 5% พันธบัตรและตราสารหนี้ 40% อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ และสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ อีก 15% เป็นต้น

แต่นอกเหนือไปจาก หุ้น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ และสินค้าโภคภัณฑ์ ดังกล่าวข้างต้นแล้ว เรากำลังจะมีการลงทุนที่เป็นทางเลือกใหม่ๆ สำหรับส่วนที่เราต้องการจัดสรรไปลงทุนในพันธบัตรและตราสารหนี้ โดยมีข้อดีคือจะชนะเงินเฟ้อด้วยความเสี่ยงในระดับเดียวกับพันธบัตรรัฐบาล

ทางเลือกใหม่ที่เราจะสามารถเลือกได้ก็คือ พันธบัตรแบบใหม่ที่กระทรวงการคลังจะออกในเดือนกรกฎาคมนี้ ที่เรียกกันว่า พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ  (Inflation-Linked Bond หรือ ILB)  ซึ่งจะให้ผลตอบแทนตามที่ระบุหน้าตั๋วพันธบัตรในอัตราต่ำที่ใกล้เคียงกับออมทรัพย์ในอัตราคงที่ แต่จะบวกผลตอบแทนนั้นด้วยอัตราเงินเฟ้อ  โดยถ้าเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นเทียบกับอัตราเงินเฟ้อ ณ วันที่ออกตราสารหรือวันตั้งต้น ดอกเบี้ยที่จะได้รับในงวดนั้นก็จะเพิ่มขี้น ในทางกลับกันถ้าเงินเฟ้อปรับลดลงเทียบกับอัตราเงินเฟ้อ ณ วันที่ออกตราสารหรือวันตั้งต้นดอกเบี้ยที่จะได้รับในงวดนั้นก็จะต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยคงที่ที่ระบุไว้ ดังนั้น ผลกระทบดังกล่าวจะมากหรือน้อยก็ขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้อ ณ ช่วงเวลานั้น แต่โอกาสที่ประเทศไทยจะเผชิญกับสภาวะเงินฝืดน่า จะมีน้อย เพราะตามนโยบายที่พรรคการเมืองต่างๆ ประกาศออกมานั้น จะทำให้รัฐบาลที่ไม่ว่าจะมาจากพรรคไหนต่างมีแนวโน้มที่จะเร่งใช้จ่ายและกู้ยืมเงินเพื่อลงทุนในโครงการต่างๆ สูงมาก

จึงเป็นที่น่ายินดีที่รัฐบาลไทยจะออกพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ วงเงิน 20,000-40,000 ล้านบาท ในเดือนกรกฎาคม ปีนี้  โดยเป็นพันธบัตรอายุ 10 ปี  ซึ่งเท่ากับรัฐบาลสัญญาว่าผลตอบแทนจากการถือพันธบัตรดังกล่าวจะสูงกว่าเงินเฟ้อตลอดช่วง 10 ปี  ทั้งนี้ จะจ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน โดยต้องซื้อขั้นต่ำที่ 100,000 บาท  หรือมากกว่านั้นแต่เป็นหน่วยละ 1 แสนบาท  และผู้ลงทุนจะต้องเสียภาษีรายได้จากผลตอบแทนตามกฎหมาย 

ผลการศึกษาของ บล. ภัทร ระบุว่า การออกพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อเกิดขึ้นครั้งแรกในโลกในปี 1981 ที่ประเทศอังกฤษ  ส่วนรัฐบาลสหรัฐออกพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อครั้งแรกในปี 1997  และในปัจจุบันมีประเทศกำลังพัฒนา 10 ประเทศที่ออก ILB ทั้งนี้ พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางจากนักลงทุนทั่วโลก วัดได้จากมูลค่าโดยรวมของ ILB ที่รวบรวมโดย Barclays World ปรากฏว่ามีการขยายตัวเฉลี่ย 19% ต่อปีตั้งแต่ปี 2003 และมีมูลค่ารวมสูงกว่า 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ทั่วโลก สำหรับดัชนี Barclays ILB ในส่วนของประเทศตลาดเกิดใหม่นั้นมูลค่าขยายตัวสูงถึง 56% ต่อปีและปัจจุบันมีมูลค่าทั้งสิ้นเท่ากับ 409,000 ล้านดอลลาร์  ซึ่งหากประเทศไทยสามารถออก ILB ได้ในเดือนกรกฎาคมตามที่วางแผนเอาไว้ ไทยก็จะเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศที่ 2 ในเอเชียต่อจากเกาหลีใต้ที่ออก ILB ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแนวหน้าในเรื่องนี้

พันธบัตรประเภทนี้มีชื่อเรียกต่างกันไปตามแต่ประเทศผู้ออก ในสหรัฐอเมริกาเรียก Treasury Inflation -Protected Securities หรือ Treasury Inflation-Indexed Securities (TIPS)  ในอังกฤษรียกว่า Index-Linked Gilts (ILG)    ในแคนาดาเรียกว่า Real Return Bond หรือ RRB และในญี่ปุ่นเรียกว่า Inflation-Index Bond (JGBi) เป็นต้น    

ในหลายๆ ประเทศ คนที่นิยมลงทุนในพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อมักเป็น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และบริษัทประกันชีวิต เพราะว่าพันธบัตรประเภทนี้จะช่วยให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนตามที่ต้องการ และยังช่วยลดความผันผวนในพอร์ตการลงทุนด้วย

และหากกองทุนรวมสามารถลงทุนในพันธบัตรประเภทนี้ได้ ก็จะช่วยให้นักลงทุนที่ไม่ได้มีเงินลงทุนทีละแสนบาท สามารถมีส่วนหนึ่งของเงินออมไปลงทุนในพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อได้เช่นกัน         

...............................................................................................

วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เกิดอะไรกับตลาดหุ้น

เกิดอะไรกับตลาดหุ้น

วรวรรณ ธาราภูมิ
นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน
CEO บลจ. บัวหลวง จำกัด
11 มิย 54

SET Index ปิดในวันศุกร์ที่ 1,020.37 จุด เพิ่มขึ้น 3.52 จุด หรือ 0.35% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 21,885 ล้านบาท  เป็นการฟื้นตัวติดต่อกันเป็นวันที่สอง หลังจากที่ร่วงลงติดต่อกัน 7 วัน ซึ่งเป็นการลดลงตามทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลกที่ถูกกดดันจากสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก วิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรป และความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ

ปัจจัยที่ต่างชาติขายหุ้น มี 2 ประเด็น

1.       ภาพรวมการลงทุนของตลาดหุ้นทั่วโลกยังไม่ดีนัก จากความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจโลก  

ü                 การที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยอมรับว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงมากกว่าที่คาด ประกอบกับการหมดลงของโครงการ QE2 ของสหรัฐในสิ้นเดือนนี้ ส่งผลให้ตลาดหุ้นมีความเสี่ยงขาลง นักลงทุนทั่วโลกจึงกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจจะกลับเข้าสู่ความอ่อนแออีกครั้ง จึงลดการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงลง เช่น หุ้น และกลับเข้าสู่สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำแทน เช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ  ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวลดลงและส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลก

ü                 ฟิทช์ จะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของหลักทรัพย์ทั้งหมดของกระทรวงการคลังสหรัฐลงสู่ขั้น "ขยะ" (Junk) หรือ "ต่ำกว่าระดับน่าลงทุน" (Investment Grade) หากรัฐบาลสหรัฐผิดนัดชำระหนี้ภายในวันที่ 15 ส.ค. และแม้ว่าจะชำระหนี้ได้ในเวลาต่อมาซึ่งจะได้ปรับอันดับความน่าเชื่อถือให้สูงขึ้นอีก แต่อาจจะไม่กลับขึ้นไปสู่อันดับ AAA เหมือนเดิม

ü                 นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานธนาคารกลางสหรัฐ สาขาเซนต์หลุยส์ ระบุว่า การผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อตลาดโลก

ü                 นักวิเคราะห์อาวุโสของมูดี้ส์กล่าวว่า อังกฤษเผชิญความเสี่ยงที่จะสูญเสียอันดับความน่าเชื่อ ถือที่ AAA ถ้าหากเศรษฐกิจยังคงอ่อนแอ และรัฐบาลไม่สามารถบรรลุเป้าการลดหนี้ได้

ü                 ไอเอ็มเอฟระบุว่ารัฐบาลญี่ปุ่นควรปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 5% เป็น 7% หรือ 8% ตั้งแต่ปีหน้าเพื่อนำเงินไปฟื้นฟูบูรณะประเทศ และควรปรับขึ้นต่อไปสู่ระดับ 15% เพื่อลดภาระหนี้สาธารณะในระยะยาว

ü                 ปัญหาของประเทศในกลุ่มอียูบางประเทศ เช่น กรีซ  ยังคงกดดัน

ü                 ฯลฯ

2.       ความกังวลเรื่องความสงบภายในประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง

ü                 นักลงทุนต่างชาติกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง เมื่อต้องลดพอร์ตการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่นหุ้นแล้ว จึงลดการลงทุนในสินทรัพย์ไทย ทั้งในรูปของหุ้น และตราสารหนี้  ในช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา มีการขายรวมแล้วประมาณ 7.4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการขายพันธบัตรในตลาดตราสารหนี้ 5.7 หมื่นล้านบาท และขายหุ้น 1.7 หมื่นล้านบาท  แต่มีข้อสังเกตุว่าเพิ่งนำออกไปเพียง 3 หมื่นกว่าล้านบาทเท่านั้น

ü                 Goldman Sach,  เครดิตสวิสกรุ๊ปเอจี  และนักวิเคราะห์ต่างชาติบางราย ออกบทวิเคราะห์แนะนำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนในตลาดหุ้นไทยหรือลดน้ำหนักการลงทุนลง เนื่องจากความเสี่ยงทางการเมืองมีอยู่สูงภายหลังการเลือกตั้ง

คำแนะนำในการลงทุน

ทุกครั้ง ในภาวะที่ตลาดหุ้นผันผวน ไม่ว่าจะขึ้นหรือลง ขอให้นึกไปถึงปัจจัยพื้นฐานของประเทศไทย  อย่าตื่นตระหนกหรือฮึกเหิมจนทำให้ตัดสินใจผิดพลาด  สังคมไทยในวันนี้เป็นสังคมที่เสพข่าวสารและมักคล้อยตามโดยในบางครั้งจะลืมคิดถึงความจริง 

ลองมาพิจารณาข้อมูลด้านอื่นๆ บ้าง

ü               ธนาคารโลก ชี้ว่าการขยายตัวในประเทศส่วนใหญ่ของเอเชียจะชะลอลงในปีนี้ รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศที่พัฒนา สำหรับเศรษฐกิจของประเทศไทยคาดว่าจะขยายตัว 3.7% ในปีนี้ โดยชะลอตัวลงจาก 7.8% ในปีที่แล้ว (ซึ่งมีฐานการเติบโตจากปี 2552 ที่ติดลบ จึงขยายตัวสูงถึง 7.8% ในปี 2553)  แต่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นสู่ 4.2% ในปีหน้า และ 4.3% ในปี 2556 

ü               ธปท. มองว่าสถานการณ์ที่ต่างชาติขายหุ้นและตราสารหนี้ในไทยน่าจะเกิดเพียงชั่วคราว หลังการเลือกตั้งชัดเจนก็น่าจะกลับมาลงทุนอีก

ü      ปลัดกระทรวงการคลัง มองว่า พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในระดับแข็งแกร่ง ซึ่งเห็นได้จากช่วง 5 เดือนที่ผ่านมานั้นการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและการส่งออกในทุกสาขายังขยายตัวได้ดี

ü      เดือน พ.ค. รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิสูงกว่าเป้า 18% โดยเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิที่สูงกว่าเป้าหมายมาก ส่งผลให้ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554 จัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมายเกิน 1.7 แสนล้านบาทแล้ว  

ü      บอร์ดบีโอไอไฟเขียวส่งเสริมลงทุน 9 โครงการ มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่ยอดคำขอรับส่งเสริม 5 เดือนแรกทะลุ 2 แสนล้านบาท

ü      ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค. อยู่ที่ 71.1 เพิ่มขึ้นจาก 70.5 ใน เม.ย. เป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน

ü      นายธนินทร์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ ซีพี กล่าวว่า พื้นฐานเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมีความแข็งแกร่งมากที่สุดตั้งแต่ทำธุรกิจซีพีมา 47 ปี และมีแนวโน้มจะเติบโตได้มากในเวทีโลกภายใต้เงื่อนไขการเมืองนิ่ง ไม่มีสีเหลืองสีแดง และต้องมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และเป้าหมายบริหารงานที่ชัดเจน

ü           ตลาดหลักทรัพย์ฯ ชี้ว่าปัจจัยพื้นฐานการลงทุนในตลาดหุ้นไทยยังดีอยู่จากการที่บริษัทจดทะเบียนไทยมีกำไรสุทธิเติบโตสูงติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศในแถบภูมิภาคนี้ โดยเติบโตถึง 30% ในไตรมาสแรกปีนี้เทียบกับปีก่อน ขณะที่ผลสำรวจของบลูมเบิร์กคาดว่าจะโต 20% นอกจากนี้ ผลตอบแทนจากเงินปันผลก็ดีที่สุดในภูมิภาค

อย่าลืมว่าปัจจัยพื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะใช้พิจารณาว่าอะไร ที่ไหน น่าลงทุน  ลองกลับมาทบทวนเบื้องหลังความสำเร็จของนักลงทุนระดับโลกผู้เป็นตำนานกันบ้าง

Benjamin Graham บิดาแห่งการลงทุนแบบ Value Investment  บอกว่านักลงทุนผู้ชาญฉลาด ไม่ได้หมาย ความว่าต้องมีไอคิวหรือมีการศึกษาสูง แต่หมายถึงต้องอดทน มีวินัยในการลงทุน  ขวนขวายหาความรู้อยู่เสมอ  ศึกษาทำความเข้าใจกิจการที่สนใจอย่างละเอียด  มีความรอบคอบก่อนที่จะตัดสินใจซื้อหุ้น  และควบคุมอารมณ์ไม่ให้เหนือเหตุผลได้ดี  เขาบอกว่า ในระยะสั้นราคาหุ้นจะขึ้นหรือลงนั้นจะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจซื้อขายของผู้เล่น  ถ้าคนเชื่อและลงความเห็นว่ามันจะขึ้นมากกว่าคนที่คิดว่ามันจะลง ราคาหุ้นก็จะขึ้นตามการ "ลงคะแนน" ของนักลงทุน  แต่ในระยะยาวนั้นราคาหุ้นจะขึ้นอยู่กับผลประกอบการของบริษัท ถ้ามีกำไรมาก ตลาดก็จะให้ราคาหุ้นสูงขึ้นตามกำไรหรือน้ำหนักนั้น

Warren Buffet  บอกให้เราเลือกลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ดี ในราคาที่เหมาะสม และถือมันตราบที่มันยังเป็นกิจการที่ดีอยู่  เวลาจะซื้อหุ้นก็ให้ดูก่อนว่ามันเป็นกิจการที่ดีหรือเปล่า ถ้าไม่ดีอย่าซื้อ  ถ้าดีก็ต้องดูว่าราคาหุ้นในขณะนั้นเหมาะสมหรือไม่  ถ้าแพงอย่าซื้อ  ถ้าถูกค่อยซื้อ (นี่คือรากฐานของแนวคิด Good Stock + Good Trade = Good Performance ของ บลจ.บัวหลวง)  นอกจากนี้ยังแนะนำให้เก็บหุ้นไว้ไม่ต้องคิดว่าจะขายแม้ว่าราคาหุ้นจะขึ้นหรือตก ให้ขายต่อเมื่อกิจการเริ่มไม่ดีแล้ว และให้เรากลัวเมื่อคนอื่นกำลังโลภ และให้เราโลภเมื่อคนอื่นกำลังกลัว เพราะในช่วงที่ตลาดดีมาก การกลัวเมื่อคนอื่นโลภจะช่วยให้เรารอดจากหายนะได้
แต่ในยามวิกฤติที่ทุกคนกลัวและถอนตัวออกจากตลาด มันก็ยากมากที่เราจะรู้สึกโลภ

Peter Lynch เปิดเผยความสำเร็จในการลงทุนว่า ไม่ต้องไปสนใจการขึ้นลงของตลาด ให้ใช้เหตุผลในการซื้อขายเท่านั้น เพราะราคาหุ้นกับกำไรจะไปด้วยกันเสมอในระยะยาว และหากราคาหุ้นแยกออกไปจากกำไร ไม่ช้ามันจะวิ่งกลับไปหาเส้นกำไร อย่ากลัวเวลาราคาหุ้นตกหากกำไรของบริษัทยังดีอยู่ ยิ่งหุ้นลงยิ่งเป็นโอกาสซื้อ เพราะไม่ช้าราคาหุ้นจะวิ่งกลับมาตามกำไร และถ้าราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปเกินกำไรที่เพิ่มขึ้น ราคาหุ้นก็จะปรับตัวลงมาหาเส้นกำไร

Jesse Livermore ผู้เป็นตำนานของนักเก็งกำไรใน Wall Street บอกว่า ตลาดหุ้นเป็นอันตรายต่อคนที่ขี้เกียจ คนโง่ และคนที่ชอบรวยทางลัด เพราะการเก็งกำไรไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ทำให้คนรวยได้ในชั่วข้ามคืน และนักเก็งกำไรที่จะประสบความสำเร็จต้องทำงานหนักและ "ฉลาด"    

ทบทวนเบื้องหลังความสำเร็จของกูรูด้านการลงทุนกันแล้ว ก็อย่าลืมทฤษฎีที่เป็นจริงที่สุดที่ว่า  เงิน ต้องมีที่ไป

ในเมื่อประเทศตะวันตกเช่น สหรัฐอเมริกา และยุโรป ยังไม่พ้นจากปัญหาที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจและหนี้สิน  คนที่เขามีเงิน ผู้จัดการกองทุนที่บริหารเงินมหาศาลทั่วโลกจะทำอย่างไร ในเมื่อต้องบริหารเงินของผู้ลงทุน  เงินจึงต้องไหลไปในที่ที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนที่พอใจและเหมาะสมกับความเสี่ยง

หากมองว่าทั้งโลกแย่แล้ว ลงทุนหุ้นก็เสี่ยงสูงไปในภาวะที่ไม่แน่นอน ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไม่ว่าประเทศไหนก็เสี่ยงว่ารัฐบาลประเทศนั้นๆ จะไม่สามารถใช้คืนหนี้พันธบัตรที่เราไปลงทุนได้  เงินจะไหลไปไหน  

หากเป็นประเด็นข้างต้น ลงทุนในอะไรที่ประเทศไหนก็น่ากลัวทั้งนั้น  เงินจะไหลไปอยู่ในสินทรัพย์ที่เสี่ยงน้อยที่สุดในภาวะการณ์นั้น  ซึ่งก็น่าจะเป็น ทองคำ (Safe Heaven)

แต่หากยังมีประเทศที่เศรษฐกิจยังไปได้  มีอัตราการเติบโต เดี๋ยวเดียวเงินที่ไหลไปก็จะไหลกลับมา

ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Market หรือ EM) ยังมีปัจจัยพื้นฐานที่ดีอยู่ และมีอัตราการเติบโตที่ใช้ได้ โดยเฉพาะในเอเชีย แม้จะมีความเสี่ยงอยู่บ้างจากอัตราเงินเฟ้อ

เราน่าจะชินกับสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองกันแล้ว  ที่อยู่รอดมาได้ก็เพราะนักธุรกิจไทยทำงานกันอย่างหนัก จนส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของเรา และเดี๋ยวนี้เขาก็ออกมาโหมโรงต่อต้านคอร์รัปชั่นกันแล้วด้วย

รากฐานของนักธุรกิจเหล่านี้อยู่ในประเทศไทย เขาไม่ปล่อยให้ประเทศพังแน่ เพราะเขาจะพังไปด้วย  ดังนั้น อย่าไปกลัวมากเกินไปกับนโยบายประชานิยมทั้งหลายที่เรากำลังห่วงกันว่าจะทำร้ายประเทศไทยในระยะยาว
หรือจะทำให้เงินเฟ้อจนควบคุมไม่ได้   ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย ข้าราชการกระทรวงการคลัง และพวกเราจะส่งสัญญาณเตือนไปยังรัฐบาลใหม่อย่างแน่นอนหากมีแนวโน้มในทางลบมากเกินไป

นอกจากนี้ นโยบายเศรษฐกิจบางนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ก็ดูจะดีต่อประเทศ  หากมองอย่างไร้อคติ

เชื่อไหม หากจะบอกว่า สักวันหนึ่งไม่นานนัก ไม่น่าจะเกิน 2 ปี ทุกคนจะเหนื่อยและคิดได้  

เราเหนื่อยกันมาหลายปีแล้ว  กีฬาแข่งกันยังมีเวลาเลิก  จึงเชื่อว่าบ้านเมืองคงจะอยู่กันแบบที่ผ่านมานี้ได้อีกไม่เกิน 2 ปี แล้วก็จะกลับเข้ามาอยู่ในวิถีที่ควรจะเป็นจะอยู่ร่วมกัน  ซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศไทยที่มีตำแหน่งที่ตั้งที่ได้เปรียบและเป็นศูนย์กลางของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้  ขอเพียงแต่ให้เรามีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และเป้าหมายบริหารงานที่ชัดเจนเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเท่านั้นเอง

ล่าสุด ตอนนี้กองทุนในประเทศก็เริ่มซื้อหุ้นแล้ว หลังจากที่ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงไปมาก โดยน่าจะมองกันว่าปัจจัยลบต่างๆ ได้สะท้อนไปในราคาหุ้นที่ลดลงไปมากแล้ว 

หากอ่านถึงตรงนี้แล้วยังกลัว ไม่กล้าลงทุนในช่วงที่คนอื่นกลัว ก็ขอให้กลับไปอ่านใหม่ตั้งแต่ต้น และทำความเข้าใจที่ 4 กูรูต่างประเทศผู้ประสบความสำเร็จในการลงทุนชั้นเทพเขาแนะนำอีกที

แต่หากอ่านแล้วก็ยังไม่กล้า หัวใจไม่เข้มแข็งพอ ก็จะบอกว่าเราคงไม่เหมาะกับหุ้น เพราะลงทุนไปแล้วนอนไม่หลับหากซื้อหุ้นหรือกองทุนหุ้นแล้วราคามันตก ขาดทุน  

เมื่อเป็นแบบนั้น ก็อย่าไปยุ่งกับหุ้น  แค่ฝากเงินหรือซื้อกองทุนพันธบัตรก็พอแล้ว  ถึงได้ผลตอบแทนน้อยหน่อย แม้จะแพ้เงินเฟ้อ แต่เราหัวถึงหมอนนอนหลับสบาย มันก็น่าจะเหมาะสมกว่า  เพราะความเข้มแข็งของหัวใจกับความอดทนของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

ก็เงินของเราเอง  เราถึงต้องตัดสินใจเอง ไม่มีใครมาการันตีให้เราได้หรอก