ค้นหาบล็อกนี้

วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2555

วิเคราะห์ และตรวจอาการเศรษฐกิจไทย

ดร.บัณฑิต นิจถาวร

26 มีค 55



สองอาทิตย์ก่อนที่ผมเขียนเรื่อง วิเคราะห์และตรวจอาการเศรษฐกิจโลกก็มีแฟนคอลัมน์หลายคนถามว่าเมื่อไรจะวิเคราะห์ และตรวจอาการเศรษฐกิจไทยบ้าง
วันนี้ก็เลยอยากจะแสดงความเห็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทย รวมถึงประเด็นที่ควรห่วงใยในการทำนโยบายของภาครัฐ
 
การวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยขณะนี้ ต้องมองในสามมิติ หนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลก และผลที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทย สอง  นโยบายของทางการไทยเอง ว่า กำลังให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร และสิ่งที่ทำอยู่จะกระทบเศรษฐกิจอย่างไร และ สาม ความรู้สึก และการตอบสนองของภาคเอกชนกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งสามมิตินี้ เมื่อรวมกัน ก็คือ ผลที่จะมีต่อเศรษฐกิจ ซึ่งความเห็นของผมเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยขณะนี้มีดังนี้
 
ในแง่เศรษฐกิจโลก ชัดเจนว่าปีนี้ ปัญหาหนี้ยุโรปเป็นจุดอ่อนสำคัญ และเศรษฐกิจยุโรปคงเข้าสู่ภาวะถดถอย ที่ต้องตระหนัก ก็คือ แม้เศรษฐกิจสหรัฐล่าสุด ตัวเลขต่างๆ จะดูดีขึ้น แต่การชะลอตัวของเศรษฐกิจยุโรปจะมีผลอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจเอเชีย รวมถึงจีน ที่ตัวเลขเศรษฐกิจเริ่มชะลอ ผ่านการชะลอของการค้าโลก ซึ่งก็จะกระทบการส่งออกของไทย
 
อีกประเด็น ก็คือ ราคาน้ำมันที่ได้ปรับสูงขึ้น ซึ่งสะท้อนความห่วงใยของตลาด จากกรณีความตึงเครียดระหว่างสหรัฐ กับอิหร่าน ในเรื่องการพัฒนาโปรแกรมนิวเคลียร์ของอิหร่าน รวมถึงการมองว่าเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว ทำให้ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับสูงขึ้นไปแล้วประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ต้นปี ถ้าราคาน้ำมันปีนี้ยืนอยู่ในระดับที่สูง ก็จะเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ สภาพคล่องในตลาดการเงินโลกที่มีมาก จากการผ่อนคลายนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ก็จะกระทบเศรษฐกิจไทยในแง่เงินทุนไหลเข้า สร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ และราคาสินทรัพย์ที่อาจปรับสูงขึ้นเร็วเกินไป อันนี้ คือ สองสามประเด็นสำคัญในแง่เศรษฐกิจโลกที่จะกระทบเศรษฐกิจไทย
 
สำหรับเศรษฐกิจไทยเอง เศรษฐกิจกำลังปรับตัวกับผลกระทบของน้ำท่วม เพื่อเข้าสู่การทำงานที่เป็นปกติ ตัวเลขเดือนมกราคมชี้ว่า การฟื้นตัวของภาคการใช้จ่าย และภาคการผลิตในประเทศ กำลังเกิดขึ้น แต่ไม่ได้พุ่งทะยานอย่างที่หลายฝ่ายคิด โดยเฉพาะด้านการผลิต การผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนมกราคมยังอยู่ระดับต่ำกว่าปีก่อน ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตก็ยังไม่กลับเข้าสู่ระดับของเดือนกันยายนที่แล้วก่อนเกิดน้ำท่วม ด้านการใช้จ่าย การลงทุนของภาคเอกชนยังไม่เร่งตัว ขณะที่การขยายตัวของการส่งออกในเดือนมกราคมก็ถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก สิ่งเหล่านี้ชี้ว่า Momentum หรือกำลังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นยังไม่เป็นกอบเป็นกำ ยกเว้นในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค เช่น รถยนต์ ที่อยู่อาศัย ที่ได้ประโยชน์จากสินเชื่อ การลดภาษี และการกระตุ้นของภาครัฐ แต่ส่วนที่เหลือ กิจกรรมเศรษฐกิจฟื้นตัวแบบไม่พุ่งทะยาน และเมื่อการผลิตยังไม่ขยายตัวมาก ผลการขยายตัวของการใช้จ่ายที่มีต่อเศรษฐกิจ จึงออกมาในรูปของการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าในประเทศ และราคาสินทรัพย์ คือ หุ้นและพันธบัตรมากกว่าจะเป็นการขยายตัวของรายได้
 
ประเด็นหลังนี้ จึงสะท้อนความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ขณะนี้ ว่า ตลาดหุ้นดี การใช้จ่ายของครัวเรือนคล่องขึ้น (จากสินเชื่อ) แต่รายได้ หรือกำลังซื้อของประชาชนไม่ขยายตัว ขณะที่ราคาสินค้าแพงขึ้น ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 โดยเฉพาะราคาอาหารที่เป็นผลจากน้ำท่วมที่มีต่ออุปทาน หรือการผลิตอาหารในประเทศ และจากราคาน้ำมันที่ได้ปรับสูงขึ้น และถ้ามีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามมา อัตราเงินเฟ้อก็สามารถเร่งตัวขึ้นอีก
 
สำหรับนโยบายเศรษฐกิจภาครัฐ ขณะนี้ ไม่มีอะไรเพิ่มเติมจากที่ทางการได้สร้างความเข้าใจตั้งแต่หลังน้ำท่วม ว่า นโยบายด้านการคลังและการเงิน จะมุ่งสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ด้านการคลัง นอกจากการผลักดันการกู้เงินใหม่ผ่านการออก พระราชกำหนด ความชัดเจนในวิธีการใช้เงิน และในแผนการลงทุนป้องกันน้ำท่วมยังไม่มีรายละเอียดมากในสายตานักลงทุน ซึ่งถ้ามาตรการของรัฐไม่มีอะไรเพิ่มเติมจากที่เป็นข่าวไป โดยเฉพาะในโครงการการลงทุนขนาดใหญ่ในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ภาคเอกชนก็คงจะต้องพึ่งตัวเองในเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งต่อไป ทำให้ในแง่ธุรกิจ น้ำท่วมยังเป็นความเสี่ยงที่สำคัญ ในแง่นี้เราจึงเห็นอัตราค่าธรรมเนียมประกันภัยอุทกภัย และน้ำท่วมของภาคเอกชนไทยเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง จนรัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อลดภาระ ซึ่งมีผลลดทอนแรงจูงใจของภาคธุรกิจที่จะลงทุนใหม่

ดังนั้น ขณะนี้ สิ่งที่พอจะสรุปได้ ก็คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังน้ำท่วมกำลังเกิดขึ้น แต่ไม่พุ่งทะยาน และการฟื้นตัวคงใช้เวลา เพราะข้อจำกัด หรือปัญหาคอขวดในการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังมีอยู่ นโยบายของทางการที่ทำมาสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ แต่วิธีการแก้ไขไม่สามารถสร้างพลัง และจูงใจให้ธุรกิจเอกชนเดินตามในแง่การลงทุน ขณะที่ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น ก็อาจเป็นข้อจำกัดเพิ่มเติมให้พลังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอ่อนแรงลงในระยะข้างหน้า ซึ่งก็เริ่มเห็นแล้วจากตัวเลขปริมาณเงิน ทั้งตัวเลขฐานเงิน และตัวเลขปริมาณเงินตามความหมายแคบ หรือ M1 ที่อัตราการเพิ่มชะลอลงต่อเนื่องในเดือนมกราคม ในทางเศรษฐศาสตร์ ตัวเลขปริมาณเงินมักชี้นำกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอนาคต
 
และที่ไม่ควรวางใจ ก็คือ เรื่อง เงินเฟ้อ ที่จะกระทบความเป็นอยู่ของประชาชน และลดทอนกำลังของเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัว ซึ่งถ้าเงินเฟ้อเพิ่มเร็ว รัฐบาลก็จะต้องเสียเวลามากกับการช่วยเหลือภาคประชาชนปรับตัวต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้น อย่างที่กำลังทำขณะนี้ ทำให้รัฐบาลจะต้องมาแก้ปัญหาที่ปลายเหตุมากกว่าจะแก้ที่ต้นเหตุ ก็คือ แก้สาเหตุที่ ทำให้ราคาสินค้าแพง
 
ดังนั้น ประเด็นที่อยากฝากไว้ ก็คือ ไม่อยากให้ทั้งรัฐบาล และธนาคารแห่งประเทศไทย ประเมินความเสี่ยงที่จะมีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อต่ำเกินไป เพราะจะทำให้เศรษฐกิจขาดโอกาสที่จะขับเคลื่อนการฟื้นตัวได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ขณะที่การดูแลเงินเฟ้อถ้าถูกปล่อยวาง จนไม่ทันเหตุการณ์ ก็จะทำให้อัตราเงินเฟ้อ และการเพิ่มของต้นทุนการผลิตผสมผสานกันเป็นแรงกดดันขาขึ้น จนเงินเฟ้อเป็นปัญหาใหญ่ ทำให้การแก้ไขปัญหาตามมาต้องใช้มาตรการรุนแรง ซึ่งจะกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากขึ้นไปอีก
 
ก็หวังว่าข้อสังเกตเหล่านี้จะเป็นประโยชน์

วันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2555

Risk On VS. Risk Off กับการลงทุนใน "ทองคำ"

คุณวรวรรณ ธาราภูมิ
CEO บลจ. บัวหลวง

22 มีนาคม 2555


ป้าๆ  อย่าเพิ่งอาละวาดเรื่อง อาบังไม่มีตาดำ เลย หนอนน้อย อยากรู้ว่า Risk On  Risk Off มันแปลว่าอะไรง่ะ

ว้ากก .. เจ้าหนอนน้อย คนกำลังมีน้ำโห ยังมากวนใจตอนนี้ ไม่มีอารมณ์ตอบ ไปไกลๆ เลย แล้วอะไรไม่มีตาดำ มันหมายฟามว่าไงยะ

โห .... ป้าอ่ะ  เชยระเบิด  ไม่มีตาดำก็มีแต่ตาขาวไง  เอาน่า ... หนอนน้อย อยากรู้  ไหนป้าว่าคนอยากรู้อยากเห็นจะเจริญไง เดี๋ยวหนอนน้อยนวดแข้งให้นะ

เฮ่อ .... กะได้ๆ  Risk Off แปลตรงๆ ก็คือหยุดเสี่ยง หมายถึง ช่วงเวลาที่นักลงทุนกังวลในปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ก็เลยถอยออกจากการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงไง

อ่อๆ  สินทรัพย์เสี่ยงก็หุ้น สินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน ทองคำ  ช่ายป่ะ

เออ  เจ้าปัญญาแล้ว  แล้วรู้ไหมละว่าเมื่อเขาขายสินทรัพย์เสี่ยงแล้ว เขาเอาเงินไปไว้ที่ไหน

อ่ะ  หมูๆ เลยป้า  ก็เอาไปใช้ดิ  ไปเที่ยว ไปช็อปปิ้ง ไง 

พลั๊วะ !!! เด็กเวรนี่  ปัดเดี๋ยวตาย

โอ๊ย ป้าอ่ะ หนอนน้อยไม่ใช่อาบังไม่มีตาดำนะ มาถีบทำไม  มันจริงๆ นะ ถ้าได้เงินมาแล้วไม่รู้จักใช้หาความสุขมั่งปลวกจะกินเงินเอา แล้วก็จะตายไปโดยไม่เคยได้ใช้เงิน  ป้ายิ่งแก่ๆ อยู่ด้วย  เดี๋ยวก็ตายแล้ว ปากอย่างนี้น่าจะตายก่อนเกษียณด้วยนะ

วอนตายซะแล้ว ไอ้เจ้าเด็กนรกคนนี้นี่ มันน่าเอาขี้เถ้ายัดปากจริงเลย  เฮ้อ .... เอ้า  มาต่อๆ ให้จบๆ  เงินที่ขายได้น่ะ เขามักเอาไปพักไว้ในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐหรือยูโร อย่างบ้านเราก็จะออกมาพักในเงินฝากออมทรัพย์  คนที่ฉลาดหน่อยก็พักไว้ในกองทุนตราสาหนี้แบบมันนี่มาร์เก็ต รอจังหวะก่อน
อ๋อ  เข้าใจแล้ว

เออ... ทีนี้ Risk On มันก็ตรงกันข้าม คืออยากจะเสี่ยงละ มันเกิดขึ้นเมื่อนักลงทุนผ่อนคลายความกังวลจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เขาก็เลยเอาเงินกลับเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงกันใหม่ไง วิ่งเข้าวิ่งออกกันแบบนี้ละ

อาฮะ เข้าใจแล้วคับ  ทีนี้ในช่วงที่ผ่านมา หนอนน้อย สังเกตเห็นว่า ราคาสินทรัพย์ลงทุนต่างๆ มีความเคลื่อนไหวที่สัมพันธ์กันมากขึ้น มันแบ่งเป็น 2 กลุ่มค่อนข้างชัดเลยนะป้า

อะไรละแก แบ่งกลุ่มเตะตะกร้อหน้าบ้านแกเรอะ

เย้ยยยย ... ป้าอ่ะ  ว่าแต่หนอนน้อยกวน ป้าละตัวดีที่หนึ่งเลย  ก็แบ่งเป็นกลุ่มสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น สินค้าโภคภัณฑ์อย่างทองคำไง เวลาที่นักลงทุนอย่างหนอนน้อยหายกลัว ก็จะกล้ารับความเสี่ยงมากขึ้น เลยเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์กลุ่มนี้ไง  อีกกลุ่มก็พันธบัตรอย่างป้าว่า เวลากลัวก็กระโดดเข้าหลุมหลบภัยไปก่อน เอ๊ะ ... แต่มันแหม่งๆ นะ เพราะหนอนน้อยว่า "ทองคำ" ในฐานะหลุมหลบภัยหรือ Safe Haven น่าจะเฟื่อง
เวลาคนกลัวหรือ Risk Off ไม่ใช่เหรอป้า แต่ทำไมทองคำไม่งั้นละ มันดันขึ้นพร้อมหุ้น แล้วก็ตกพร้อมหุ้นด้วย งงจัง

เจ้าหนอนกุดเอ๊ย ทองคำมักไม่สัมพันธ์กับสินทรัพย์ใดเป็นพิเศษหรอก  อย่างในปี 2010 ที่เกิดปัญหาหนี้ยุโรปขึ้นมาใหม่ๆ ไง จำได้ไหมว่าทองคำขึ้นแต่หุ้นกลับถูกเทขาย ไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน เพราะคนกลัวหุ้นจะกระทบและกลัวค่าเงินยูโรกับดอลลาร์จะลดลง และทองคำก็ไม่ได้มีฐานะเป็น Risk Off Asset เสมอไป บ่อยครั้งที่มันเป็น Risk On Asset อย่างช่วงปี 2004-2007 หุ้นขึ้นเยอะ ทองคำก็ขึ้นเยอะ และปี 2008 ที่มีรปัญหา Lehman หุ้นลงแรง ทองคำก็ลงแรง ล่าสุด ปีที่แล้วหุ้นกับทองคำก็ลงพร้อมๆ กัน เรียกว่าไปไหนไปกันในทางเดียวกัน แต่มาตอนนี้หุ้นขึ้น ทองลง แยกวงกันดัง

นั่นสิ  หนอนน้อยเลยงงไงป้า แต่หนอนไม่กุดนะ เฮ่อ ...

เออ ไม่กุดก็ไม่กุดสิ  เนี่ยะ ที่จริงนะ การที่ทองคำราคาขึ้น มันเป็นการสะท้อนเรื่องการด้อยค่าของสกุลเงินหลัก เช่น ดอลลาร์หรือยูโร มากกว่าที่คนจะซื้อทองเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจขาลงนะไอ้หนอนเน่า  แล้วสินทรัพย์คนละชนิดที่มีปัจจัยพื้นฐานไม่เหมือนกันมันก็อาจมีราคาเปลี่ยนไปในทิศทางเดียวกันได้ในบางช่วง เช่น ช่วงที่คนคาดหวังว่าจะมี QE ไง จำได้ไหมว่าทั้งหุ้นและทองต่างก็ได้ประโยชน์ทั้งคู่ แต่ด้วยคนละสาเหตุกัน โดยหุ้นได้ผลดีจากความหวังว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น หรือคาดว่าเงินที่อัดฉีดเขามานั้นมันจะไหลเข้าตลาดหุ้น ส่วนทองจะได้ผลดีจากการที่คนเชื่อว่าค่าเงินสกุลหลักๆ จะลดลงเพราะไปออก QE ที่เราเรียกกันว่าเสกแบงค์จากแท่นพิมพ์เข้าระบบไง

อ๋อ ... เขาใจแล้ว  เอ๊ะ แต่ที่สภาทองคำโลก (WGC) บอกว่าปีที่แล้วความต้องการทองคำพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 14 ปีละป้า มันมาจากไหน

ที่จริงแล้ว ความต้องการทองคำที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะยังมาจากความต้องการด้าน Jewelry จากจีนและอินเดียเป็นหลัก  2 ประเทศนี้รวยขึ้น คนก็เลยมีกำลังซื้อมากขึ้น แล้วคนที่นั่นก็บ้าทองด้วย คสวามต้องการทองคำจากจีนและอินเดียทั้งเพื่อเป็นเครื่องประดับกับเพื่อลงทุนรวมกันก็เกินครึ่งหนึ่งของทั้งโลกแล้ว  แต่สรุปได้ว่ารูปแบบของความต้องการทองคำยังไม่ได้เปลี่ยนไป  ยังต้องการเอาทองไปทำเครื่องประดับมากที่สุดเหมือนที่เคยเป็นมา  แต่ก็มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นคือธนาคารกลางต่างๆ เปลี่ยนจากผู้ขายไปเป็นผู้ซื้อทองเพื่อกระจายความเสี่ยงออกไปจากดอลลาร์และยูโรในทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ  แต่ยังเป็นส่วนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับความต้องการด้าน Jewelry

อ้าว เหรอ  หนอนน้อย คิดว่า ทองขึ้นเพราะคนต้องการลงทุนในทองซะอีก

นั่นก็ไม่ผิดหรอก การที่คนนิยมลงทุนในทองคำมากขึ้นก็เพราะเขาเริ่มมีความรู้เกี่ยวกับทองแล้ว จึงหันมาสนใจลงทุนทองในฐานะสินทรัพย์ที่ใช้กระจายความเสี่ยง โดยเฉพาะในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยติดลบเมื่อหักอัตราเงินเฟ้อไง  ที่สำคัญก็คือ คนลงทุนในทองเพราะเขาขาดความเชื่อถือในคุณค่าของสกุลเงินต่างๆ และมันก็ตลกดีนะ เพราะราคาทองคำที่ขึ้นมันมาจากความต้องการทองไปลงทุนมากกว่าความต้องการเอาไปทำ Jewelry ทั้งๆ ที่ยังมีปริมาณน้อยกว่า Jewelry เลยพูดได้ว่าพวกนักลงทุนและนักเก็งกำไรที่เป็นคนส่วนน้อยกลับสร้างผลกระทบต่อราคาทองคำได้มากกว่าผู้ซื้อจากจีนและอินเดียที่ต้องการทองคำเพื่อไปใช้สอยจริง

ใช่เลย หนอนน้อยว่ายังมีคนอีกเยอะที่ยังอยากลงทุนในทองอยู่นะป้า เพราะปัญหาเศรษฐกิจโลกยังไม่หายไปจริงๆ ป้าว่าเป็นอย่างนั้นป่ะ

นี่ๆ  ไอ้หนอนเหี่ยว ที่ปัญหาเศรษฐกิจยุโรปยังมีผลดีต่อทองคำน่ะ มันไม่ใช่เพราะตัวเศรษฐกิจที่ชะลอลงหรอกนะ มันเป็นเพราะ วิธีการที่จะใช้แก้ปัญหาต่างหากที่มันส่งผลดีต่อทองคำ เพราะเขาไปแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มสภาพคล่องไปในระบบการเงินเยอะๆ ด้วยต้นทุนต่ำ ทำให้ปริมาณเงินเพิ่มขึ้น ก็เลยจะเป็นผลดีต่อทองคำตามที่บอกไปแล้วน่ะแหละ แต่ไม่มีผลดีเท่ากับ QE ของลุงเบน ที่สหรัฐ เพราะอันนั้นมันเป็นการเสกแบงค์ออกมาจากแท่นพิมพ์จริงๆ 

แล้วความเสี่ยงของการลงทุน "ทองคำ" ในช่วงเวลานี้คืออะไรละป้า

ถ้าเขากลับทิศทางนโยบายผ่อนคลายการเงินของสหรัฐและยุโรปน่ะสิ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายดอกเบี้ยต่ำ หรือนโยบายอัดฉีดสภาพคล่อง (QE)  หากเกิด ราครทองคำก็บุ๋งๆ แต่ในระยะสั้นยังไม่เกิดหรอก ซึ่งที่ราคาทองคำลดลงในช่วงสัปดาห์ก่อนๆ ก็เพราะผู้เก็งกำไรผิดหวังที่ FED ไม่ใช้นโยบาย QE3 อย่างที่ตลาดคาด

ช่ายเลย หนอนน้อยตุนทองไว้เพียบ ยังเซ็ง ดีนะที่ไม่ทะลึ่งไปเล่น Gold Futures ขืนเล่นละไม่เหลือ Future แหงๆ เออ แล้วตอนนี้ทองคำเป็นฟองสบู่ยังอ่ะป้า

เก็งกำไรทองน่ะมีแน่นอน แต่ราคาทองคำยังไม่เป็นฟองสบู่ เพราะไม่ได้ขึ้นไปรวดเร็วขนาดนั้น ปกติฟองสบู่จะเกิดเวลาคนคาดหวังต่อสินทรัพย์อะไรมากๆ  ซึ่งสำหรับทองคำไม่ได้เป็นแบบนั้น แต่ก็ควรระวัง อย่าไปไล่ซื้อเมื่อราคาทองคำขึ้นแรงๆ เพราะนั่นก็คือการเก็งกำไร

แล้วเรายังควรลงทุนในทองคำอยู่ไหม

มาถามอะไรช้าน  หัวน่ะ เขามีเอาไว้คิด  ไม่ได้มีเอาไว้เปลี่ยนหมวกใส่แบบอาบังคนไม่มีตาดำนะไอ้หนอนเปื่อย

โฮ้ย  ... คุยกะป้าทีไร หนอนน้อยเสียหมาทุกที

ไม่ได้เสียหมา แกน่ะปากหมาด้วยไอ้หนอนหงอย  เอ้า ในระยะสั้น ราคาทองคำจะยังผันผวนได้มากอยู่ ถ้าจะลงทุนก็ควรมองระยะยาวว่าทองคำช่วยป้องกันความเสี่ยงจากการด้อยค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อได้  แต่คนไทยคงไม่ได้มี Exposure กับเงินดอลลาร์เท่าไหร่ จึงไม่ต้องไปหวังผลตอบแทนสูงมากๆ อย่างที่เคยเกิดขึ้นใน 10 ปีที่ผ่านมา ถ้าได้เกินปีละ 7% ก็ให้ถือว่าส่วนที่เกิน 7% เป็นโบนัส พอใจยังละแก

ช่าย  อ้อ แล้วหากเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ชอบทอง ก็ลงทุนทุกเดือนอย่างสม่ำเสมอในสัดส่วนที่พอสมควร  แล้วอย่าลืมปรับสมดุลย์พอร์ตลงทุนตัวเองด้วย  หากเป็นพวกมือใหญ่เก็งกำไรก็ตัวใครตัวเผือก ใช่ไหมป้า

เออ ใช่ ยังจะมาถามให้ชั้นเป็นแผ่นเสียงตกร่องอยู่ได้  ไป๊  ไปไหนก็ไปซะ ไอ้หนอนเขียว

วันพุธที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2555

คำกล่าวในโอกาสที่คุณวรวรรณครบวาระนายกสมาคม บลจ.วันนี้

คุณวรวรรณ ธาราภูมิ
นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน
CEO บลจ.บัวหลวง จำกัด


21 มีนาคม 2555

4 ปีที่ผ่านมาในตำแหน่งนายกสมาคม 2 วาระ หากไม่มีการสนับสนุนจากทุกท่านแล้ว นายกสมาคมคนนี้กับคณะกรรมการทุกๆ ท่าน คง เอาไม่อยู่

การเป็นกรรมการที่ดี เป็นนายกสมาคมที่ดี ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องปฏิบัติหน้าที่แทนเสียงเรียกร้องจากสมาชิกที่มีความหลากหลาย มีข้อจำกัดและจุดเด่นที่ต่างกัน  หลายอย่างที่ทำไปก็ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของต้นสังกัดแต่เราก็ต้องทำ  ดังนั้น ผู้ที่จะเป็นกรรมการสมาคมที่ดีได้ จึงต้องการความเข้าใจและการเสียสละจากต้นสังกัดที่ต้องอนุญาตและสนับสนุนให้ปฏิบัติงานเพื่ออุตสาหกรรมโดยรวม แม้ต้นสังกัดจะต้องเสียประโยชน์หรือเสียความได้เปรียบ  ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลย หากกรรมการและนายกสมาคมปฏิบัติหน้าที่ด้วยผลประโยชน์แอบแฝง ไมใช่ทำเพื่อส่วนรวม 

คำว่าส่วนรวมนี้ บางคนอาจจะยังคงเข้าใจผิด คิดว่าส่วนรวมคืออุตสาหกรรม บางทีเขาอาจจะหลงลืมไปบ้างว่าอุตสาหกรรมของเราจะตั้งอยู่ได้ก็ด้วยความเชื่อถือไว้วางใจจากสาธารณช  หากสมาคม บริษัทสมาชิก และบุคคลากรของอุตสาหกรรมไม่ประพฤติตนให้เป็นที่ไว้วางใจหรือประพฤติตนเสื่อมเสีย วงการก็พลอยจะมัวหมองไปด้วย และหากพฤติกรรมไม่ดีกลายเป็นพฤติกรรมกลุ่ม อุตสาหกรรมนี้ก็จะไปไม่รอด ดังนั้น จึงขอให้พวกเราทุกคนยึดมั่นและมีความเชื่อในการทำดี และดำรงตนในจรรยาบรรณวิชาชีพอย่างเคร่งครัด

ไม่ต้องรอให้เขาแก้กฏหมาย (พรบ.หลักทรัพย์ฯ) เพื่อให้สมาคมมีอำนาจก่อนแล้วค่อยไปเป็นองค์กรกำกับดูแลกันเอง (SRO)  เพราะเราก็ทำดีได้ตั้งแต่วันนี้ 

ไม่จำเป็นต้องได้ชื่อว่า SRO ก่อนแล้วค่อยไปทำดีต่อผู้ลงทุน เพราะชื่อไม่สำคัญไปกว่าตัวตนกับการกระทำของเรา  อะไรดีหรือไม่ดีต่อผู้ลงทุนนั้น เราย่อมรู้อยู่แก่ใจ

จากผลการศึกษาของมอร์นิ่งสตาร์กลางปี 2554 พบว่า อุตสาหกรรมกองทุนของไทยมีคุณภาพน่าลงทุนเป็นที่ 3 รองจากสิงคโปร์และสหรัฐอเมริกา โดยเราได้คะแนนสูงสุดด้านกฎระเบียบการกำกับดูแลที่เข้มงวด ด้านภาษีที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุน ตลอดจนการเปิดเผยข้อมูลในการทำงานที่โปร่งใสเหนือกว่าประเทศอื่นๆ

เมื่อปลายเดือนกันยายน 2553 Asian Corporate Governance Association (“ACGA”) และ CLSA Asia-Pacific Markets ประกาศผลสำรวจการกำกับดูแลกิจการของประเทศในเอเชีย หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า CG Watch โดยครั้งนี้ ประเทศไทยขยับขึ้นเป็น อันดับที่ 4 จาก 11 ประเทศ  และได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศที่มีพัฒนาการดีที่สุดในภูมิภาคเอเชีย  โดยในการสำรวจครั้งก่อนหน้าในปี 2550 เราอยู่ในอันดับที่ 8  คราวนี้ ได้มาอยู่ในอันดับที่ 4  สูงสุดตั้งแต่เคยมีการทำรายงาน CG Watch เมื่อปี 2544 

ความน่าภาคภูมิใจครั้งนี้ สมาชิกหลายท่านอาจจะไม่รู้ว่ามาจากความร่วมมือของทุกฝ่ายในตลาดทุนรวมถึงสมมาคมของเราด้วยในตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยในรายงานยังกล่าวถึงบทบาทของผู้ลงทุนสถาบัน ว่ามีส่วนช่วยพัฒนาการกำกับดูแลกิจการของ บจ. ให้ดีขึ้นด้วย   

สิ่งที่พวกเราทำไปก็คือการให้ความสำคัญในเรื่องที่ บจ. ต้องมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดย บลจ. ที่เป็นสมาชิกทุกรายได้ใช้แนวทางการใช้สิทธิออกเสียง (voting policy) ตามที่สมาคมกำหนด และแต่ละ บลจ. ก็ได้เปิดเผยข้อมูลการใช้สิทธิออกเสียง (voting record) ไว้บนเว็บไซต์ของ บลจ. แต่ละแห่ง  รวมทั้งเปิดเผยผลรวมของทุกสมาชิกในแต่ละหัวข้อไว้ในเวบไซท์สมาคมอีกด้วย  ซึ่งการดำเนินการนี้มีส่วนช่วยกระตุ้นให้ บจ. เตรียมการประชุมผู้ถือหุ้นด้วยความระมัดระวังรอบคอบมากขึ้น นอกจากนี้ บลจ. ยังเปิดเผยผล CG Rating ไว้ในรายงานการลงทุนของกองทุนภายใต้การบริหารเพื่อให้ผู้ลงทุนทราบว่ากองทุนที่ลงทุนนั้นมีการลงทุนในบริษัทอะไร และบริษัทนั้นๆ มี CG Rating ในระดับใด  ซึ่งเป็นแนวคิดที่สมาคมสนับสนุนให้ผู้จัดการกองทุนให้ความสำคัญในด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียนที่กองทุนลงทุน เพราะบริษัทที่มีผลประกอบการดีนั้นจะมีความเจริญอย่างยั่งยืนได้ก็ด้วยการมีผู้บริหารและพนักงานที่ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี

พวกเราจึงควรภาคภูมิใจได้ว่า ภายใต้การนำของคณะกรรมการที่กำลังหมดวาระลงในวันนี้ พร้อมด้วยสนับสนุนที่ดียิ่งจากสมาชิกในการปฏิบัติตามกฏกติกาของคณะกรรมการ ได้มีผลต่อความน่าเชื่อถือของตลาดทุนในระดับสากลแล้ว

อุตสาหกรรมกองทุนต้องยึดถือผลประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ ในขณะที่ต้องเข้าใจปรัชญาในการทำธุรกิจที่ต้องมีกำไรให้ผู้ถือหุ้น และรับผิดชอบต่อสังคมไปด้วย  จึงเป็นเรื่องดีที่ 4 ปีที่ผ่านมานี้ อุตสาหกรรมของเรามีพัฒนาการในด้านคุณภาพที่ดีขึ้น ทั้งในด้านที่เป็นประโยชน์ต่อลูกค้าและสังคมส่วนรวม  ซึ่งได้แสดงให้เห็นแล้วว่า เราไม่เคยต้องการให้วัดความสำเร็จของอุตสาหกรรมกันที่เม็ดเงินภายใต้การบริหารแต่เพียงอย่างเดียว  

นอกจากนี้ การมีตัวตนปรากฏในตลาดทุนก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งเราได้ทำไปแล้วผ่านองค์กรต่างๆ จนได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางถึงความมีตัวตน ถึงความสำคัญ  ซึ่งต้องผ่านการเสียสละทำงานให้แก่ตลาดทุนโดยรวม

เมื่อมองด้านการตลาดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ เราพบว่าการแข่งขันทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นการแข่งขันที่มีเป้าหมายดึงลูกค้าและผู้ขายให้สนใจเรื่องการลดแลกแจกแถมมากกว่าให้เขาเข้าใจผลการดำเนินงานกับความเสี่ยงและไม่ได้ให้ลูกค้ากับคนขายเข้าใจวิธีบริหารกองทุนของเรา ซึ่งยังไม่เท่ามาตรฐานที่ดีของต่างประเทศ

ที่ผ่านมานี้ สมาคมไม่เคยคิดรวมหัวกันกำหนดราคา แต่วันนี้อยากจะขอให้พวกเรารู้จักให้คุณค่ากับบุคคลากรของเราและแก่ตัวเราเองด้วย การบริหารกองทุนไม่ใช่เรื่องง่าย  ต้องใช้ความสามารถ ความอดทน ความทุ่มเท และความรักในงาน อย่างไม่มีเวลาหยุดเหมือนอาชีพอื่น หากเรายังไม่เห็นคุณค่าของตนเอง แล้วใครเขาจะมาเห็น 

สิ่งที่อยากฝากไปยังนายกสมาคมและคณะกรรมการชุดใหม่ให้สานต่อคือการเร่งให้สมาชิกให้ความสำคัญในการนำเสนอผลการดำเนินงาน ความเสี่ยง แนวคิดในการบริหารจัดการธุรกิจ และวิธีการบริหารกองทุนของแต่ละค่ายซึ่งจะมีจุดเด่นอันเป็นจุดขายที่ต่างกัน ทั้งนี้ เพื่อให้นักลงทุนเข้าใจถึงความสำคัญของกองทุนในเชิงคุณภาพและใช้เป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจลงทุนให้มากขึ้น และเพื่อให้แต่ละค่ายมีจุดขายอันโดดเด่นของตนมากขึ้น  ไม่ใช่ว่าลูกค้ามองไม่เห็นข้อมูลสำคัญเพียงเพราะคนขายไม่ได้ชูประเด็นนั้น แต่ไปชักนำให้ลงทุนเพื่อได้รับของแถมแต่เพียงอย่างเดียว

หากเราต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้อย่างที่ร้องขอมายังสมาคมมาโดยต่อเนื่อง เราก็ต้องทำตนเองให้เปลี่ยนแปลง ดังที่ มหาตมะ คานธี เคยกล่าวไว้ว่า คุณต้องเป็นความเปลี่ยนแปลงที่คุณอยาก จะเห็นในโลกนี้  

ในนามของคณะกรรมการที่กำลังหมดวาระ ขอขอบพระคุณ บริษัทสมาชิก ผู้บริหารและ พนักงานสมาคมฯ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  สำนักงาน ก.ล.ต.  ธนาคารแห่งประเทศไทย สื่อมวลชน  และบรรดาผู้ที่ช่วยถ่ายทอดความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการลงทุนแก่สาธารณชนผ่านช่องทางต่างๆ  พวกท่านล้วนมีส่วนสำคัญในการพัฒนาตลาดทุนมาโดยตลอด  จึงขอแสดงคารวะต่อทุกท่านที่เป็นผู้พัฒนา การอ่านออกเขียนได้ทางการเงิน ให้เกิดแก่คนไทย  

ขอขอบพระคุณต้นสังกัดของทุก บลจ. ที่เสียสละประโยชน์ทางธุรกิจโดยการส่งบุคคลากรของท่านให้มาเป็นคณะกรรมการกับคณะทำงานในตลอด 4 ปีที่ผ่านมานี้ และหากการปฏิบัติหน้าที่ที่ผ่านมาเคยทำให้ท่านใดมีความขุ่นข้องหมองใจ ก็ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ และขอเรียนว่ามิได้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือต้นสังกัด แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ซึ่งคำว่าส่วนรวมนี้ก็คือ อุตสาหกรรม ผู้ลงทุน และสาธารณชน

สุดท้ายนี้ ขอให้พวกเรามั่นใจได้ว่า นายกสมาคมและคณะกรรมการชุดใหม่ที่ท่านคัดเลือกมาเองนี้ จะสามารถสานต่องานพัฒนาอุตสาหกรรมของเราไปได้ด้วยดี ด้วยความตั้งมั่นในความเป็นธรรม และขอการสนับสนุนแก่คณะกรรมการชุดใหม่ให้เหมือนที่เคยให้กับพวกเราตลอด 4 ปีที่ผ่านมานี้ด้วย  ขออวยพรให้พวกท่านปฏิบัติหน้าที่ได้สำเร็จ  และให้มีความภาคภูมิใจในการนำพาอุตสาหกรรมของเราไปในแนวทางที่ดียิ่งๆ ขึ้นไป

จึงขอส่งมอบ อำนาจ หน้าที่ ความรับผิดชอบ กับคำอวยพรด้วยความรักและปรารถนาดี ต่อนายกสมาคม และคณะกรรมการชุดใหม่ ณ บัดนี้

วันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2555

วิเคราะห์และตรวจอาการเศรษฐกิจโลก

วิเคราะห์และตรวจอาการเศรษฐกิจโลก

ดร.บัณฑิต นิจถาวร bandid.econ@gmail.com

วันที่ 5 มีนาคม 2555

ตอนนี้ก็เข้าสู่เดือนที่สามของปี จากที่เคยวิเคราะห์ไว้เมื่อต้นปี ความเข้าใจโดยทั่วไปก็คือ เศรษฐกิจโลกปีนี้คงชะลอลงจากปัญหาหนี้ยุโรป และเศรษฐกิจยุโรปคงเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกที่การแก้ไขปัญหาหนี้ยุโรปยังไม่จบสิ้น

ในช่วงครึ่งปีหลังถ้าปัญหาหนี้ยุโรปมีทางออก เศรษฐกิจยุโรปก็จะเริ่มมีเสถียรภาพ ทำให้เศรษฐกิจโลกมีโอกาสปรับตัวดีขึ้นช่วงครึ่งปีหลัง

แต่ถ้าการแก้ไขปัญหายุโรปยังไม่มีข้อยุติในช่วงครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจโลกก็คงจะซบเซาทั้งปี และยากที่จะบอกได้ว่าความผันผวนในตลาดการเงินโลกจะรุนแรงแค่ไหน

วันนี้ก็เลยอยากเขียนเรื่องนี้โดยตรวจสอบดูว่า อาการเศรษฐกิจโลกขณะนี้เป็นอย่างไร และจากที่ได้ประมวลข้อมูลและสถานการณ์ล่าสุด ความเห็นของผมเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกขณะนี้คงสรุปได้เป็นห้าประเด็น

1. เศรษฐกิจโลกปีนี้คงชะลอตัวลงแน่นอน และศูนย์กลางความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลกขณะนี้ ก็  คือ ยุโรป โดยเฉพาะกรีซที่การแก้ไขปัญหายังเป็นจุดที่กระทบความเชื่อมั่นในตลาดการเงินโลกมาก ที่สุด

            ประเทศกรีซขณะนี้ต้องพึ่งความช่วยเหลือคือกู้เงินทั้งจากสหภาพยุโรปและไอเอ็มเอฟ เพื่อไม่ให้เกิดการ   ผิดนัดชำระหนี้ ล่าสุดรัฐบาลสหภาพยุโรปก็ได้อนุมัติข้อตกลงวงเงินกู้ครั้งที่สองให้กรีซในจำนวน 130   พันล้านยูโร ซึ่งจะช่วยให้กรีซสามารถชำระหนี้ที่จะเริ่มครบกำหนดในวันที่ 20 มีนาคมนี้ได้ แต่ความ ช่วยเหลือดังกล่าวตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่เข้มงวด โดยกรีซจะต้องรัดเข็มขัดเพิ่มเติมในด้านการคลัง และปฏิรูประบบการเงิน  ทำให้ตลาดการเงินมีความเป็นห่วงว่ารัฐบาลกรีซอาจไม่สามารถทำตามเงื่อนไขการกู้เงินนี้ได้ และการทำตามเงื่อนไขดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจกรีซทรุดลงมากไปอีก ซึ่งจะกระทบความสามารถของกรีซที่จะชำระหนี้ในอนาคต

            นอกจากนี้การเจรจาให้ผู้ที่ถือพันธบัตรรัฐบาลกรีซปรับโครงสร้างหนี้ โดยลดมูลค่าหนี้คงค้างลง 53% อย่างสมัครใจ เพื่อลดยอดหนี้คงค้าง ก็จะทำให้เจ้าหนี้ที่ถือพันธบัตรรัฐบาลกรีซขาดทุนมาก            

            นอกจากนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าผู้ที่ซื้อประกันหนี้รัฐบาลกรีซเอาไว้ในตลาด CDS จะได้เงินคืนเต็มหรือไม่เมื่อเกิดการปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าว

            ทั้งหมดนี้ทำให้เงินใหม่ที่จะเข้ามาช่วยซื้อพันธบัตรรัฐบาลกรีซที่ต้องออกใหม่ เพื่อชำระหนี้เดิมจะยากขึ้น และทำให้ตลาดประเมินว่าข้อตกลงเงินกู้ช่วยเหลือกรีซครั้งที่สอง จะไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาทำให้ปัญหาหนี้กรีซจะยืดเยื้อ

            ที่ออกมาอย่างนี้ส่วนหนึ่งก็เพราะแนวทางการแก้ไขปัญหาในกรีซที่เกิดขึ้นสะท้อนความต้องการทางการเมืองโดยเฉพาะจากรัฐบาลเยอรมันและฝรั่งเศส ที่ต้องการให้กรีซใช้การประหยัดด้านการคลังเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหา เพื่อผลทางการเมืองในประเทศของตน และเพื่อการวางรากฐานระยะยาวในการแก้ไขปัญหา ซึ่งจะมีผลให้เศรษฐกิจกรีซติดลบมากขึ้น และทำลายความสามารถในการชำระหนี้ของกรีซแนวทางนี้สวนทางกับตลาดการเงินที่ต้องการเห็นการแก้ไขปัญหาผ่อนเบาในเรื่องการประหยัดทางการคลังไว้ก่อน เพื่อให้เศรษฐกิจกรีซสามารถฟื้นตัวได้ในระยะสั้น และสร้างความสามารถในการชำระหนี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นสวนทางกับสิ่งที่ตลาดต้องการ

2. จากแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น วิเคราะห์ได้ว่า สิ่งที่ผู้ทำนโยบายในยุโรปให้ความสำคัญมากที่สุดขณะนี้ก็คือ ป้องกันไม่ให้ปัญหาหนี้ในกรีซลุกลามไปสู่ประเทศยุโรปอื่นๆ เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินยุโรป และความอยู่รอดของระบบเงินยูโร ทำให้นโยบายจำเป็นต้องขีดเส้นให้สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในกรีซหยุดอยู่ที่กรีซ และไม่ลามไปประเทศอื่น

            การขีดเส้นก็คือ การให้ธนาคารกลางยุโรปเข้ามาปล่อยกู้ให้กับสถาบันการเงิน ในลักษณะแบบมาตรการ QE ที่ธนาคารกลางสหรัฐทำ เพื่อให้ความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับการลามต่อของปัญหากรีซต่อสภาพคล่องและเศรษฐกิจยุโรปและต่อสถาบันการเงินยุโรปลดลง ซึ่งก็เริ่มเห็นผลโดยตัวเลขที่ชี้ความเสี่ยงต่างๆ ของพันธบัตรประเทศยุโรปที่มีหนี้สูง เช่น สเปน โปรตุเกตุ และอิตาลี ได้ปรับตัวดีขึ้น ทำให้เสถียรภาพของตลาดการเงินยุโรปดูดีขึ้น แต่สิ่งที่ยังไม่ดีขึ้นก็คือ ตัวเศรษฐกิจยุโรปเอง โดยเฉพาะปัญหาการว่างงาน ซึ่งชี้ว่าวิธีการแก้ไขปัญหาหนี้ยุโรปที่ทำในปัจจุบันไม่ได้นำมาสู่การปรับตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจ เพียงแต่ทำให้ความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาเสถียรภาพในตลาดการเงินยุโรปดูลดลงกว่าเดิม

3. การแก้ไขปัญหาหนี้ยุโรปขณะนี้ถ้าดูกรีซเป็นตัวอย่างก็ชัดเจนว่า เป็นการแก้ปัญหาแบบประคับประคอง ซื้อเวลา และเน้นป้องกันไม่ให้ปัญหากรีซลุกลามไปประเทศอื่น หรือเป็นความเสี่ยงต่อระบบเงินยูโร
                       
            ภายใต้แนวทางนี้พูดได้ว่า ผู้บริหารนโยบายในยุโรปได้เลือกแล้วที่จะใช้วิธีการแก้ไขปัญหาคล้ายกับสหรัฐ คือ ผ่อนคลายนโยบายการเงินโดยปล่อยเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำให้กับสถาบันการเงินในยุโรปอย่างเต็มที่ เพื่อขีดเส้นไม่ให้เกิดปัญหาสภาพคล่องในสถาบันการเงินยุโรป หรือเกิดปัญหาเสถียรภาพที่ลามไปประเทศยุโรปอื่นๆ บวกกับการแก้ปัญหาโดยเน้นการสร้างวินัยการคลังและแก้ไขปัญหาโครงสร้าง

            ล่าสุด ธนาคารกลางยุโรปได้ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเป็นครั้งที่สองให้กับสถาบันการเงินในยุโรปกว่า 800 แห่ง ในวงเงินกว่า ห้าแสนล้านยูโร ทำให้ยอดคงค้างของการอัดฉีดสภาพคล่องโดยตรงกับสถาบันการเงินยุโรปของธนาคารกลางยุโรปขณะนี้มีสูงถึง 1 ล้านล้านยูโร วิธีนี้เหมือนการเลี้ยงไข้ที่จะทำให้การแก้ปัญหาหนี้ยุโรปยืดเยื้อ และนำไปสู่ความเสี่ยงที่อาจเกิดปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงในอนาคต

4. เศรษฐกิจสหรัฐขณะนี้ตัวเลขต่างๆ ดูดีขึ้น แต่ก็เป็นการปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ภายใต้ความอ่อนแอเชิงโครงสร้างที่ยังมีอยู่มาก โดยเฉพาะปัญหาหนี้สาธารณะและอัตราการว่างงานที่สูง
                       
            ตัวเลขที่ดีขึ้นนี้ต้องถือว่าเป็นข่าวดีที่จะทำให้ความจำเป็นที่สหรัฐจะต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมมีน้อยลง ขณะที่   ญี่ปุ่น จีน และประเทศในเอเชียนจะถูกกระทบมากจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจยุโรป  ทำให้ประเทศเหล่านี้อาจจำเป็นต้องดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในลักษณะผ่อนคลายต่อไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

5. ในแง่ความเสี่ยง ประเด็นสำคัญขณะนี้มี 2 ประเด็น คือ

            1ความอ่อนไหวของสถานการณ์ตลาดน้ำมันจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในตะวันออกกลางซึ่งอาจทำให้ราคาน้ำมันในช่วงครึ่งปีหลังผันผวนมาก และสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ

            2ความสามารถของทางการยุโรป ที่จะป้องกันไม่ให้ปัญหาในกรีซลามไปประเทศอื่นในภาวะที่ตลาดไม่มั่นใจในวิธีแก้ปัญหา

            จุดทดสอบสำคัญว่าการแก้ไขปัญหาจะสำเร็จหรือไม่ ก็คือ เงื่อนไขความช่วยเหลือครั้งที่สองของกรีซที่เพิ่งจะตกลงกันว่ารัฐบาลกรีซจะสามารถปฏิบัติตามได้หรือไม่ และต้นทุนที่จะเกิดขึ้นตามมาในแง่ของความวุ่นวายทางการเมือง และทางสังคม จะเป็นสิ่งที่ผู้ทำนโยบายยุโรปยอมรับได้หรือไม่

โดยสรุป เศรษฐกิจโลกขณะนี้ยังอ่อนไหว มีความไม่แน่นอนสูง และยังวางใจไม่ได้ การช่วยเหลือกรีซครั้งที่สองเป็นความสำเร็จทางการเมืองมากกว่าทางเศรษฐกิจที่สามารถผลักดันวิธีการแก้ไขที่เข้มงวดแต่มีโอกาสสูงที่การแก้ไขจะไม่สำเร็จ  ดังนั้น ปัญหากรีซและปัญหาหนี้ยุโรปจะยืดเยื้อ ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นสิ่งที่ผู้บริหารนโยบายยุโรปในทางการเมืองได้ยอมรับโดยปริยายตราบใดที่ปัญหากรีซไม่ลุกลามและไม่เป็นความเสี่ยงต่อระบบเงินยูโร

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาหนี้ยุโรปอาจจะไม่มีข้อยุติในปีนี้ ทำให้ปัญหาจะยืดเยื้อ และถ้าวิธีการแก้ไขปัญหายังไม่เปลี่ยน ตลาดการเงินโลกก็คงจะต้องอยู่กับความอ่อนแอของยุโรปต่อไป ทำให้ตลาดการเงินโลกจะผันผวนและกระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก

Guru Talk บอกอะไรเรา

คุณวรวรรณ ธาราภูมิ
 CEO บลจ.บัวหลวง

6 มีนาคม 2555


นี่ๆ หนอนใหญ่ วันนี้จะยกตัวอย่างแง่คิดดีๆ ที่เราเรียนรู้ทางลัดจากประสบการณ์ทั้งชีวิตของคนที่ประสบความสำเร็จในการลงทุนให้ฟัง  เจ้าจะฟังไหม

อะฮ้า  เรียกหนอนน้อยเป็นหนอนใหญ่ ก็ต้องฟังกันหน่อยละป้า คนอื่นๆ จำไว้ด้วยนะ  หนอนใหญ่แล้วนะ เว่ย เฮ่ย

ป้าจะเอาที่คนอื่นๆ ไม่ค่อยเอ่ยถึงมาเล่าเด้อ   เรามาเริ่มจากลุง Warren Buffet กัน

"When we own portions of outstanding businesses with outstanding managements, our favorite holding period is forever."

เดี๋ยวๆ  ยู้ดดดดด...หยุดก่อน  หนอนชักจะไม่ใหญ่แล้ว ภาษาปะกิด ไม่ใช่ฟังไม่รู้นะป้า  แต่เราต้องอนุรักษ์ภาษาไทยดิ ป้าเล่นภาษาต่างด้าวอย่าง พี่จิ๋มสุวภา แบบนี้ หนอนน้อยเมื่อยตานะ ไม่ใช่อ่านไม่ออกนะ

เฮ่อ เว้ย เจ้าหนอนน้อย ยังงี้แล้วเมื่อไหร่จะได้สนองนโยบายเปิดเสรีการค้าละว้า  แล้วจะไปติดต่อต่างชาติ ได้ไงละนี่

เอาน่า ป้า หนอนน้อย ก็ใช้ล่ามไง ภาษาไม่แข็งแรงก็หาคนเป็นล่ามสิ  ไม่ต้องมั่วให้อายใครด้วย

เออๆ เอ้า ตะกี้น่ะ ลุงบัฟ แกบอกว่า ถ้าเราได้หุ้นของกิจการดีๆ ที่มีผู้บริหารที่ดี เราจะถือหุ้นบริษัทนี้ไปชั่วกาลนาน

อ๋อ หมายถึงให้ถือยาว เพราะกิจการแบบนี้ ยิ่งนานยิ่งทวีมูลค่า ช่ายปะ ป้า

ป้าด ... ฉลาดแท้  เอ้า ลุงบัฟแกบอกอีกอันที่ป้าชอบมากนะ แกว่า

"Someone’s sitting in the shade today because someone planted a tree a long time ago." แปลว่า ที่เราได้นั่งสบายใต้ร่มเงาไม้ในวันนี้  ก็เพราะมีคนปลูกต้นไม้ไว้นานมาแล้ว

เอ๊ะ ลุงบัฟ แกมาเข้าโครงการปลูกป่าของ ปตท เหรอป้า

เย้ย .. ไม่ช้าย เดี๊ยะๆ  เดี๊ยะเจอลูกถีบ ดร็อบคิก หรอก เจ้าหนอนป่วย!!   ลุงแกหมายถึงผู้ลงทุนที่ทำการบ้าน ศึกษา วิเคราะห์ ให้หนัก เมื่อเจอสิ่งที่ใช่แล้ว ก็ต้องรู้จักอดทนถือยาวๆ รอคอยดอกผล เราจะสบายในวันหน้าเมื่อราคามันขึ้นไปเพราะมีคนเห็นในภายหลัง และในระหว่างทางก็ได้ปันผลด้วยไง

อ้าว เหรอ ภาษาอังกฤษมันนิดเดียว ทำไมป้าแปลได้ย้าวยาว                    
เออสิ ก็แปลให้กระบือน้อยอย่างแกฟังไง เอ้า ... มาดูคู่บุญของ ลุงบัฟ นะ ชื่อ ลุง Charlie Munger  ลุงชาลี บอกว่า “Passion is more important than brain power”  ความรักลุ่มหลงในงาน สำคัญมากกว่ามันสมอง

อะไรกันนี่  ซีรีส์เกาหลี NC18 เหรอป้า

ว้ากกกกกกกกกก ..  !!   ลุงชาลี เขาหมายความว่า ความเก่ง ความฉลาดอย่างเดียวไม่พอ  ผู้จัดการกองทุน หรือนักลงทุนต้องมีความรัก ความชื่นชม และทุ่มเทให้กับงานด้วย จึงจะสำเร็จ ไม่ได้เกี่ยวกะซีรีส์เกาหลี เกาหลอย ที่ไหนเลย ไอ้เจ้าหนอนเหี่ยว !!

เย้ยยย ... ไม่เหี่ยวนะป้า
                       
เออ ไม่เหี่ยวก็ไม่เหี่ยว เอ้า มาดูต่อ ลุงชาลีบอกว่า ถ้าการลงทุนมันไม่ยากสักหน่อย ใครๆ ก็รวยแล้วสิ

อืม .. ก็จริงนะ  ว่าแต่ว่า ภาษาอังกฤษไปไหนแล้วล่ะ

ไปเยี่ยมญาติแกม้าง

เออ  ป้าๆ  หนอนน้อยเคยได้ยินใครนะที่ว่า แต่ก่อนต้องลงทุนยาว เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไป๋  อะไรประมาณนี้น่ะ

ก็ Michael Steinhardt ไง เขาบอกว่า "In the 1950s and 1960s, the heroes were the long-term investors; today the heroes are the wise guys."  ในยุค 1950-60 ผู้ลงทุนระยะยาวเป็นพระเอก แต่วันนี้ พระเอกคือคนฉลาด

แปลด่วนเลยป้า เขาจะให้หนอนน้อยไปเทสต์หน้ากล้องโกอินเตอร์เหรอ

ฝันเหอะ !!  เขาหมายถึง โลกลงทุนมันเปลี่ยนไปแล้ว การลงทุนแช่ยาวอาจไม่ดีเสมอไป ผู้ชนะต้องปรับตนเองให้ทันโลก

อะฮ้า ... หนอนน้อยชอบคนนี้ที่สุดเลย

ใช่สิ  ก็แกมันชอบวิ่งเข้า วิ่งออก ตลาดหุ้นนี่ แต่ชั้นสงสัยว่าตอนจบแกจะไม่ได้เป็นพระเอกละ

น้าน  มีแช่ง

                                               
เอา  เราไปดู ปู่ John (Jack) Bogle เจ้าพ่อ Pasive Fund ที่ Vanguard กัน

ไปเครื่องบินเหรอป้า  เอาคะแนนบัตรเครดิตที่หนอนน้อยซื้อกองทุน LTF ไปแลกตั๋วฟรีใช่ไหม  หนอนน้อยต้องลางานก่อนนะ

ชั้นอยากจะฆ่าเด็ก  ฆ่าเสร็จ ชั้นจะไปเปลี่ยนกฏหมายให้ฆ่าเด็กได้ไม่มีผิด  มีไรป่ะ


ปู่แจ๊ค บอกว่า "If you have trouble imagining a 20% loss in the stock market, you shouldn’t be in stocks."  ถ้าทนขาดทุนหุ้นสัก 20% ไม่ไหว ก็อย่าไปยุ่งกับหุ้น เขาหมายถึงตลาดหุ้นมีความผันผวนสูง ผู้ลงทุนในหุ้นต้องเข้าใจและยอมรับได้  หากรับไม่ได้อย่าสะเหร่อ


อุ้ย  ป้าปากจัดจัง  นี่หนอนน้อยเคยได้ยิน Jim Cramer บอกว่า หุ้นให้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนอื่นๆ ทุกชนิด ป้าเคยได้ยินป่ะ

แม้ ... แกนี่สำมะคัญนะ  ดอดไปได้ยินเขาพูดที่ไหนกันละนี่  ป้าไม่เคยได้ยินเลย  เคยแต่ได้อ่านที่เขาบอกว่า "Stock historically have outperformed all other investment plans” แล้วก็ "I think that there are a thousand stocks out there that could make you rich, totally independent of what you do for a living"หมายถึง อย่ากลัวความเสี่ยงจนไม่กล้าลงทุนในหุ้น เพราะหุ้นให้ผลตอบแทนสูงกว่าอย่างอื่น มีหุ้นเป็นพันๆ ตัวในตลาดที่ทำให้เรารวยได้ และไม่เกี่ยวกับงานที่เราทำ หมายถึง เป็นลูกจ้างอย่างเดียวโดยไม่ลงทุน ไม่มีรวยหรอก

ไม่จริงอ่ะ ป้า  หนอนน้อยเป็นลูกจ้างก็รวยได้ถึงจะไม่ลงทุน  เพราะหนอนน้อยจะโกงไง


ไปตายซะ ไอ้หนอนบูด !!!

ตายตอนนี้ได้ไง  ป้าสิตายก่อน แก่แล้วตายก่อนไง


เออ แต่ปากยังงี้ แกได้ตายก่อนเกษียณแน่  เอ้า ไปดูน้า Jim Rogers ของแกไหม

เอาๆ  น้าแกแสบดี


อันนี้ไม่ใช่แนวคิดนะ  แต่มันสะท้อนภาพที่แกมองโลกตะวันตก   น้าจิม บอกว่า ในอเมริกาจะมีข่าวดีในปีนี้ ให้ค่อยไปห่วงสถานการณ์ในปีหน้า แล้วไปสติแตกในปีโน้น แล้วลองให้เครื่องพิมพ์แบงค์ดอลลาร์กับลุงเบนสิ ลุงแกจะใช้ปั๊มเงินกระดาษออกมาอย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้เลย

ฮ่าๆๆๆ  น้าจิม นี่กัด ลุงเบน ตลอดศกเลยนะ

ไม่ได้กัดเฉพาะ ลุงเบน หรอก แกกัดรัฐบาลได้เจ็บแสบเลยละ  แกว่า ....

อย่าไปฟังรัฐบาล เพราะไม่ทำให้เรารวยขึ้นมาได้หรอก รัฐบาลที่ไหนๆ ก็มีแต่โกหก บิดเบือนความจริง และทำแต่เรื่องผิดๆ

เย้ย.... แกพูดงี้จริงอ่ะ

จริงดิ  นี่ไง

“Don`t Listen To Governments. If you listen to governments, then you are not going to make a lot of money. Governments lie, distort and make mistakes.” 


วงแตกแล้วป้า  หนอนน้อยขอโกยแน่บก่อนนะ

เอ้า เฮ้ย รอด้วย  ป้าวิ่งหนีไม่ทันแล้วหนอนน้อย

วันอังคารที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2555

ดาวน์โจนส์ 13,000 อย่าเพิ่งวางใจ กูรูหวั่น พื้นฐานยังไม่แกร่งพอ

5 มีนาคม 2555

นันทิยา วรเพชรายุทธ



ทำเอานักลงทุนทั่วโลกตาวาวไปตามๆ กันเมื่อสุดสัปดาห์ที่เพิ่งผ่านมา หลังดัชนีตัวหลักๆ ในตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดตลาดสูงสุดทุบสถิติกันถล่มทลาย

ดัชนีอุตสาหกรรมดาวน์โจนส์ ปิดทะลุระดับ 13,000 จุดได้เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปี

ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ก็เพิ่งทุบสถิติใหม่ในรอบ 3 ปีไปได้หมาดๆ

ส่วนดัชนีแนสแด็ค คอมโพสิต นั้นไปไกลยิ่งกว่า เพราะทะยานขึ้นไปเหนือระดับ 3,000 จุด ซึ่งทุบสถิติสูงที่สุดในรอบ 12 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2000 ทีเดียว

แน่นอนว่าย่อมฉุดตลาดหุ้นทั่วโลกให้อยู่ในบรรยากาศแดนบวกไปพร้อมกันด้วย

ตัวเลขเหล่านี้จึงน่าจะเป็นตัวชี้วัดการกลับมาอีกครั้งของตลาดหุ้นยุคกระทิงดุ หลังจากที่ต้องเป็นหมีจำศีลมานานหลายปีนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ภาคการเงินในสหรัฐเมื่อปี 2008

ทว่านักลงทุนจำนวนไม่น้อยต่างเกิดอาการหวาดระแวงตัวเลข 13,000 ครั้งนี้ และส่งสัญญาณเตือนว่า อย่าเพิ่งวางใจในตลาดหุ้น เพราะนี่อาจเป็นสัญญาณลวงในยุคเงินท่วมตลาด ทั้งที่ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจยังไม่แน่นพอ และมีความเป็นไปได้ที่จะทรุดตัวลงอีกครั้ง

ปัจจัยบวกที่หนุนให้หุ้นสหรัฐปรับตัวได้อย่างร้อนแรงในปีนี้มาจากตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจหลายด้านในสหรัฐ ตั้งแต่ตัวเลขการว่างงานที่ลดลงต่ำสุดในรอบ 3 ปี อยู่ที่ 8.3% ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้น 2.43 แสนอัตราเมื่อเดือน ม.ค. และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นราว 2.1 แสนอัตราในเดือน ก.พ. ซึ่งจะเป็นการจ้างงานเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน

นอกจากนี้ ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 ที่ผ่านมา จีดีพีชี้วัดการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังเติบโตได้ถึง 3% ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2010 อีกด้วย

ปัจจัยบวกเหล่านี้จึงขับให้ตลาดหุ้นนิวยอร์กไต่ระดับขึ้นมาได้อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เปิดตลาดปี 2012 ดัชนีเอสแอนด์พี 500 มีมูลค่าขยับขึ้นไปแล้วถึง 9% ในปีนี้ มาปิดตลาดสัปดาห์ที่ผ่านมาทะลุแรงต้านไปอยู่ที่ 1,370 จุด และยังมีแนวโน้มจะแรงต่อเนื่อง โดยมีนักลงทุนบางราย เช่น บริษัทลงทุนบิรินยี แอสโซซิเอทเทส อิงก์ คาดหวังที่จะได้เห็นดัชนีไต่ไปถึง 1,700 จุด ภายในสิ้นปีนี้

หากทิศทางสหรัฐดูสดใสเช่นนี้แล้ว เหตุใดนักลงทุนจึงยังคลางแคลงใจในตลาดหุ้นอีก
คำตอบหลักๆ คือ การแกว่งตัวของราคาน้ำมัน ที่เพิ่งขึ้นไปทะลุระดับ 110 เหรียญสหรัฐเมื่อไม่นานมานี้ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะกระชากความมั่นใจของนักลงทุนในตลาดหุ้นลงมา

ปัจจัยที่สำคัญอีกประการก็คือ ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจสหรัฐอาจยังไม่แกร่งพอที่จะดันให้หุ้นทะลุทะลวงได้มากเช่นนี้ เพราะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐยังเพิ่งอยู่ในระดับที่ค่อยเป็นค่อยไป การจ้างงานที่เกิดขึ้นนั้นเป็นงานพาร์ทไทม์ไปไม่น้อย

นอกจากนี้ยังเต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจโลกซ้ำจากปัญหาหนี้ยุโรป ที่ยังพร้อมปะทุขึ้นมาได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ กรีซ สเปน หรืออิตาลี

และเมื่อดูพื้นฐานแล้ว การบวกของดัชนีอุตสาหกรรมดาวน์โจนส์ (DJI) กลับไม่ไปด้วยกันกับหุ้นสำคัญอย่างดัชนีภาคการขนส่งดาวน์โจนส์ (DJT) ซึ่งใช้เป็นดัชนีชี้วัดพื้นฐานเช่นเดียวกัน ซึ่งโดยปกติในช่วงที่หุ้นดีเป็นปกติของยุคตลาดกระทิง ดัชนีของดาวน์ 2 ตัวนี้มักไปด้วยกันเสมอ

เหตุที่ต้องจับตาหุ้นตัวอื่นไปด้วยโดยเฉพาะดัชนี DJT เป็นเพราะดัชนีการขนส่งเป็นหุ้นพื้นฐานของดาวน์โจนส์ที่มีประวัติยาวนานมาตั้งแต่ปี 1884  โดยตามหุ้นในกลุ่มรถไฟ ชิปปิ้ง สายการบิน และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางของคนหรือการเคลื่อนย้ายสินค้า ซึ่งสะท้อนให้ถึงสภาพเศรษฐกิจได้

แต่ในเดือน ก.พ. นี้ ดัชนีขนส่ง DJT กลับปรับตัวลดลง 3% สวนทางกับดัชนีอุตสาหกรรม DJI ที่ปรับตัวขึ้น 2.5% และหากนับย้อนไปตั้งแต่เดือน เม.ย. ปีที่แล้ว DJT ลดลง 6% ขณะที่ DJI บวกขึ้นมา 1.2%

บรูซ แมคเคน หัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์ของ ธนาคารเพื่อการลงทุนคีย์ไพรเวทแบงก์ เปิดเผยกับเอพีว่า มีความเสี่ยงที่ตลาดหุ้นจะทรุดตัวลงมาได้อีกครั้ง

ขณะที่ เดนนิส สลอธโธวเยอร์ บรรณาธิการของเว็บไซต์วิเคราะห์หุ้น สเตลท์สต็อกเดลี มองว่า กรณีที่ DJI ขึ้นนำหุ้นตัวอื่นๆ โดยไม่สอดคล้องกัน มักจะเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนัก

เอพี ระบุว่า นักวิเคราะห์ด้านเทคนิคหลายคนมองกรณีการสวนทางดังกล่าวว่าอาจนำไปสู่ขาลงของตลาดหุ้นได้ไม่ยาก เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งก่อนหน้านี้ในปี 1929 ปี 1937 และในปี 2000 ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปีอันตกต่ำของตลาดหุ้นสหรัฐและทั่วโลก

สิ่งที่ดันให้หุ้นขึ้นในวันนี้ไม่น่าเป็นเพราะปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจสหรัฐเพียงอย่างเดียว แต่น่าจะมาจากภาวะที่เงินหรือสภาพคล่องกำลัง ท่วมตลาดไม่ว่าจะเป็นเงินเหรียญสหรัฐบนพื้นฐานการตรึงดอกเบี้ยต่ำพิเศษ 0 – 0.25% ที่เปิดช่องให้มีการกู้เงินดอกเบี้ยต่ำไปลงทุนในตลาดทุนทั่วโลก หรือกระทั่งเงินยูโร ที่ล่าสุดธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เพิ่งปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ (LTRO) ให้แบงก์ในยุโรปเป็นครั้งที่ 2 ในวงเงิน 5.29 แสนล้านยูโร หลังจากที่เพิ่งอัดฉีดเงินล็อตแรกให้เมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว ในวงเงิน 4.89 แสนล้านยูโร

ภาวะที่เงินล้นมือเช่นนี้เองที่ทำให้สัญญาซื้อขายสินค้าล่วงหน้าในตลาดโภคภัณฑ์พุ่งทะลุ 1 ล้านสัญญาไปแล้วในปีนี้ทั้งที่ผ่านมาแค่ 2 เดือน และไม่น่าแปลกใจว่าเงินเหล่านี้จะถูกนำไปเก็งกำไรในตลาดหุ้น ทองคำ น้ำมัน และตลาดทุนอื่นๆ ท่ามกลางความเสี่ยงของการผันผวนอย่างหนัก และอาจกลับมาเป็นขาลงได้เสมอ หากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐออกมาไม่ดีตามคาด เพราะพื้นฐานยังไม่แข็งแกร่งพอ หรือหากมีข่าวร้ายจากยุโรประเบิดออกมาอีกครั้ง

ดังนั้น ความเสี่ยงต่างๆ บนปัจจัยพื้นฐานที่ระบุมาข้างต้น จึงพร้อมที่จะปะทุได้อยู่ตลอดเวลา และอาจทำให้ตลาดหุ้นผันผวนอย่างหนักได้อยู่เสมอ

งานนี้ใครไหวตัวทันก็กำไร พร้อมบินพ้นกองไฟไป

มันกำลังจะมาแย้ว.....

คุณวรวรรณ ธาราภูมิ
  CEO บลจ.บัวหลวง

5 มีนาคม 2555


ที่หยุดเขียนบทความไปเป็นเดือน ยกเว้น Good Morning News ที่ทำทุกวันเว้นวันหยุด ก็ด้วย 3 สาเหตุ

1.         ไม่เห็นมีอะไรใหม่ที่จะทำให้เปลี่ยนมุมมองด้านเศรษฐกิจและการลงทุนจากที่เคยเขียนไปตั้งแต่ สิงหาคมปีที่แล้ว (ลองกลับไปอ่านทวนดูบ้างก็ดี)
2.         คอมเจ๊งบ่อยๆ แต่ตอนนี้เรียบร้อยแล้ว  ที่ว่าเรียบร้อยคือเปลี่ยนเครื่อง (เห็นไหม มีเงินสำรองไว้บ้างอะไรๆ มันก็ง่ายขึ้น)
3.         หันไปใช้เวลาด้านอื่น เช่น หาคำตอบว่าโลกจะเปลี่ยนไปยังไงได้บ้างหากเรื่องทุนนิยมเสรีกับระบอบประชาธิปไตยล้มเหลวจนเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก และหาคำตอบว่าหากเกิดสงครามเราต้องทำยังไง   (เอ ..... แต่เดี๋ยวเราก็ตายแล้ว ปล่อยลูกหลานคิดเอง ทำเอง บ้างเหอะ  แก่ต้องอยู่ส่วนแก่ รู้ละ รู้วางเลิกอุ้ม)

แต่ว่าวันนี้มีเรื่องจะเตือนสั้นๆ ว่า มันกำลังจะมาแย้ว ....

ใคร  ใครมา  หนอนน้อยกัวนะ กัว กัว ....  อย่านะ อย่ากลับมาเลย

ไม่ช้าย  เจ้าหนอนน้อย  ใครมาก็ไม่น่ากลัวเท่าไอ้เจ้านี่หรอก

อ้าว ไม่ใช่ใครแล้วมันคืออะไรล่ะ

เงินเฟ้อไง 

ฮ้วย ... เงินเฟ้อแล้วไงล่ะ ไม่เห็นตื่นเต้ลลล์เลย ป้าอ่ะ

เออ แล้วรู้ไหมล่ะว่าทำไมหุ้นขึ้น

ฮี่เธ่อ ง่ายนิดเดียว หุ้นขึ้นก็เพราะมีคนอยากซื้อหุ้นมากกว่าคนอยากขายหุ้นอะดิ มันเลยแพง

แม้ ...... แสนรู้จริงนะเจ้าหนอนน้อย ..  นี่แน่ะ  พลั่ก !!!

โอ๊ย  เจ็บ  อย่าเข้ามานะ  หนอนน้อยมีไม้กางเขนนี่ไง  แล้วหนอนน้อยตอบผิดตรงไหนล่ะ  เนี่ยะตอบแบบใช้ความรู้เศรษฐศาสตร์เชียวนา  กฏของ Demand กับ Supply ไง  ป้าไม่ได้จบเศรษฐศาสตร์อย่ามาเบ่งใส่เล้ย

เออ ... ถูกก็ถูกของแก  เจ้าเด็กกวนประสาท แล้วแกรู้ไหมละว่าส่วนหนึ่งที่หุ้นขึ้นมันมาจากเงินไหลท่วมโลก ไม่ใช่ปัจจัยพื้นฐานล้วนๆ

อ๋อ  ใช่ๆ  ที่ป้าเคยเขียนไว้ใช่ไหม ว่าใครๆ ก็ปั๊มเงินใส่ระบบ

เออ  นั่นละ  แล้วยุโรปก็กำลังทำอย่างหน้ามืดด้วย เพราะวิธีแก้ไขปัญหาให้กรีซมันแค่สนองการเมืองของประเทศใหญ่ๆ ในกลุ่มยูโร  โดยเฉพาะอีตาซาร์โกซี (Nicolas Sarkozy ประธานาธิบดีฝรั่งเศส) ที่เพิ่งโดนคนปาไข่ใส่ กับคุณป้าแองจี้ (Angela Merkel นายกรัฐมนตรีเยอรมันนี) 2 คนนี่กระทืบ Like ให้กรีซประหยัดจนน่ากลัว และจะทำให้เศรษฐกิจกรีซติดลบมากขึ้น ทำให้หมดปัญญาหาเงินมาใช้หนี้มากขึ้นไปอีก เงินที่อัดฉีดเข้าไปประคองในระบบด้วยดอกเบี้ยต่ำเกือบจะ 0%  มันเลยท่วมไปหมด  เขาเลยมาลงทุนที่อื่นที่ดูว่าจะให้ผลตอบแทนดีมีความเสี่ยงต่ำกว่า อย่างเช่นในเอเชีย รวมประเทศไทย ไงล่ะ

อ้าว ป้าจะบอกหนอนน้อยเหรอว่า ปัจจัยพื้นฐานบ้านเรามันไม่ดี

ไม่ช้าย ..... ยกเว้น คนแล้ว  บ้านเราดีนะ ก็เคยบอกไงว่าหุ้นจะขึ้นแบบ V Shape เพราะฐานเดิมไตรมาส 4 มันหดจู๋

แล้วมันเกี่ยวไรกะเงินเฟ้อล่ะ

เชอะ ไหนว่าแกจบเศรษฐศาสตร์มาไง  จำได้ไหมละว่ารอบก่อนที่โอบามาปล่อย QE หลังช่วง 2008 เงินเฟ้อท่วมโลกเลย  หุ้น ทอง น้ำมัน อะไรๆ  ก็ขึ้นหมด  เพราะเงินมันเยอะมาก  แต่คนได้เงินดอกเบี้ยต่ำพวกนั้น ก็พวกแบงค์แหละ เขาไม่กล้าเอาไปปล่อยกู้  เลยเอาไปลงทุน  เลยเข้ากฏ Demand Supply ของแกไง เจ้าหนอนเน่า

เย้ย ... ยังไม่เน่าสักหน่อย

เออ อีกไม่นานเน่าแน่แก เพราะถ้าราคาน้ำมันพุ่งขึ้นจากปัญหานิวเคลียร์อิหร่าน แกได้เดินไปทำงานแหง็มๆ

หนอนน้อยลาออกดีกว่าไหมป้า ค่าเดินทางไปทำงานมันจะแพงกว่าเงินเดือนแล้ว อะไรๆ ก็แพงไปหมด

เรื่องของแกดิ  ไม่ต้องมาถาม มีอย่างเดียวที่ราคาถูกๆ ก็คือสมองขี้เลื่อยของแกไง

เย้ย  ... อีกแล้วนะ

เนี่ยะ ยังมีอีกนะ ที่จะดันเงินเฟ้อไปถึงยอดภูเขาทองเลย

ไรล่ะป้า

ก็นโยบายรัฐบาลเราไง เขาต้องการผลักดันการบริโภค ให้ผู้คนมีเงินจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เศรษฐกิจจะได้โต และไม่ต้องกังวลมากเรื่องปัญหาจากนอกประเทศ  แบบว่าทำเอง กินเอง ภายในไง

อ้าว แล้วมันไม่ดีตรงไหนละป้า

มันจะไม่ดี ถ้าควบคุมไม่ได้  จำได้ไหม ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน มันกำลังจะใช้แล้วเดือนหน้านี่ละ เงินเฟ้อก็น่าจะกระเด้งดึ๋งๆ เลย แล้วเราจะเจอเงินเฟ้อทั้งจาก Cost Push หมายถึงต้นทุนการผลิตสูงขึ้น (น้ำมันแพง ค่าแรงพุ่ง)  กับเงินเฟ้อเพราะคนจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นหรือ Demand Pull  (ได้เงินมากขึ้น ก็ใช้มากขึ้น) แล้วไอ้ที่หวังให้ลุงประสาร ผู้ว่าแบงค์ชาติกับคณะกรรมการนโยบายการเงินของแบงค์ชาติเขาลดดอกเบี้ยลงอีก ก็อาจจะแห้วด้วยละ เว่ย เฮ่ย

แง้ ........... แล้วหนอนน้อยจะพอกินไหมป้า  เงินเฟ้อตอนนี้มันแค่ 3.35%  แต่ข้าวมันไก่ต้นปีก่อนจานละ 30  ตอนนี้ 50 แล้ว  นี่มันแพงกว่าเงินเฟ้ออีกนะป้า  ขึ้นไปตั้ง 67% ไม่ใช่แค่ 3.35% ด้วย

เอ๊า ... มาถามเรื่องพอกินกับชั้นทำไมยะ ชั้นไม่ได้เป็นนายกนะ คติของชั้นคือ มีเงินให้มานี่ มีหนี้ให้ไปโน่น ไง จำไม่ได้เหรอ

ฮู้ย ... อะไรจะตังเม หนาดนั้นนะ  เอ้า ถามเรื่องเงินที่มีก็ได้  หนอนน้อยลงทุนหุ้นไปหน่อยนึง ควรทำไงล่ะ  หนอนน้อยลงแบบยาวนะป้า  รอได้หลายปีเลย  เออ  แล้วหนอนน้อยก็แบ่งส่วนนึงไปซื้อกองทุนของป้าแล้วนะ

เออ ต้องยังงี้สิ  ไม่งั้นไม่ตอบร้อก  ฮ่าๆๆๆๆๆ

งกอิ๊เอ๋งเลย ป้านี่

หุ้นที่ช่วยปกป้องเรื่องเงินเฟ้อได้ดีก็คือพวกที่โตเร็วแบบอาหารกับค้าปลีก  แล้วก็ยังมีพวกเทเลคอม กับพลังงานไง  แต่เลือกเป็นตัวๆ  ทำการบ้านดีๆ  อย่าลืมที่เคยสอนนะว่า Good Stocks ต้องมี Good Trade ด้วย ถึงจะได้ Good Performance

อะฮ้า ... เข้าใจแล้ว  ขอบคุณคับ