ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ทำอย่างไรไม่ให้สำลักข่าว

คุณวรวรรณ ธาราภูมิ
CEO บลจ.บัวหลวง 

10 มิย 2555  

ท่ามกลางข่าวสารเข้ามาท่วมหัวอย่างนี้ เราจะลงทุนหรือไม่ลงทุนอย่างไรดี เพราะหลายคนคงกำลังสับสนกับข่าวสารและความเสี่ยงในโลก ในไทย ที่อาจมีต่อการลงทุน โดยเฉพาะเมื่อโลกใกล้ตัวมากขึ้นเป็นรายวินาที เราก็ได้รับข่าวสารจากทุกมุมโลกแล้ว และเปลี่ยนได้รวดเร็ว

จะทำอย่างไรไม่ให้สำลักข่าว (เรียงตามลำดับ)

1.         ย่อยข่าวก่อน ข่าวอะไรไกล-ใกล้ตัว อะไรเป็นข่าว อะไรเป็นวิเคราะห์   

2.         ดูตนเองว่าเงินเราส่วนไหนลงทุนระยะสั้น กลาง ยาว  

3.         จัดลำดับน้ำหนักข่าวที่จะมีต่อการลงทุน ข่าวอะไรช่วงนี้เชื่อถือได้ วิเคราะห์ความเป็นไปได้และ   ผลกระทบต่อการลงทุนของเราในระยะสั้น กลาง ยาว แล้วค่อยปรับพอร์ตสั้นหากมีผล  ส่วนพอร์ต    กลางก็แล้วแต่กรณี  สำหรับพอร์ตยาวน้อยครั้งที่ข่าวรายวันจะกระทบ

4.         สรุปแนวโน้มภาพยาวๆ ที่วิเคราะห์และมองว่ามีแนวโน้มสูงที่จะเป็นเช่นนั้นแปะข้างฝาไว้ ใกล้ๆ รายการ Asset Allocation หรือเป้าหมายการจัดน้ำหนักลงทุนระยะยาวที่เรากำหนด ที่ให้แปะไว้ก็เพื่อจะได้ไม่ลืมเป้าหมายการลงทุนของเราในระยะยาวไกล และไม่ลืมมุมมองภาพกว้างในระยะยาว

มุมมองเศรษฐกิจ ตลาดเงิน ตลาดทุนภาพกว้างระยะยาวนี้ มักไม่เปลี่ยนไว ยกเว้นมีปัจจัยอ่นที่มี            น้ำหนักกระทบแรงมาทำให้ภาพวิเคราะห์เปลี่ยน หากมีก็เปลี่ยนที่แปะไว้ เอาอันใหม่ขึ้นไปแปะแทน


อ่านดูแล้วหลายคนคงว่าเชยมาก แปะข้างฝา อ้าว ก็จะได้เห็นง่ายๆ ไง  แต่ความจริงจะแปะที่ไหนก็ได้ ที่ทำให้เราเห็นบ่อยๆ อย่าไปแปะบนหน้าผากตนเองก็แล้วกัน เพราะส่องกระจกอ่านก็ต้องกลับด้าน

5.         อย่าลืม Rebalancing  หรือปรับสมดุลย์พอร์ตลงทุน กรณีที่เวลาผ่านไปแล้วทำให้สัดส่วนลงทุนเปลี่ยนไป  เช่นเดิมตั้งเป้าจะมีหุ้น 40% พันธบัตร 50% ทองคำ 10%  หากผ่านไปแล้วหุ้นกลายเป็น 35% พันธบัตร/ตราสารหนี้ กลายเป็น 60% ทองคำกลายเป็น 5% ก็ให้เพิ่มสัดส่วนหุ้นกับทองคำให้       เท่าเป้าหมายเก่า  จะโดยเพิ่มเงินใหม่ลงไปหริอขายพันธบัตร/ตราสารหนี้ออกไปก็แล้วแต่

6.         ทำตนให้ชินกับข่าวสาร อย่าตื่นตูม และอย่าวิ่งแตกตื่นสนองตอบข่าวระยะสั้นๆ ด้วยการแห่ทำตามคนอื่น ไม่ว่าด้านซื้อหรือขาย โดยเฉพาะสำหรับพอร์ตระยะยาว หากเป็นพอร์ตระยะสั้นๆ ก็อาจกระทบถ้าสนองตอบช้าไปเพราะปัจจัยพื้นฐานมีผลน้อยกว่าพฤติกรรมผู้เล่นในตลาดแม้จะไม่มีเหตุผล ส่วน พอร์ตระยะกลางให้ประเมินผลให้ดีก่อนว่าควรปรับหรือไม่ ทั้งนี้ขึ้นกับว่าระยะกลางนั้น เราใช้ระยะเวลาเท่าใดกำหนด เพราะบางคนก็บอกว่า 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1-2 ปีเป็นระยะกลาง

เมื่อไม่มั่นใจ สติแตก กลับมาอ่านใหม่ตั้งแต่ข้อ 1 ถึงข้อ 6

หากอ่านทวนแล้วก็ยังสติแตกก็มี 2 ทางเลือกคือ เลิกอ่านข่าว หรือไม่งั้นก็ล้างพอร์ต กอดเงินสดไว้ แล้วปิดไฟ เข้านอน

สรุป

ถ้าเรามีสติกำกับ โอกาสชนะมีสูง

ขอให้ปัญญา สติดี และโชคดี ในการลงทุนค่ะ

ปัญญาดี ไม่มีสติกำกับ ก็ไม่มีประโยชน์
สติปัญญาดี บางทีก็ต้องมีโชคช่วยบ้างนิดหน่อย

วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เตรียมตัวอย่างไรกับวิกฤติหนี้ยุโรป

เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต  นิจถาวร

10 มิถุนายน 2555

                 สถานการณ์หนี้ยุโรปขณะนี้น่าห่วงมาก ข่าวที่ออกมาอาทิตย์ที่แล้ว โดยเฉพาะกรณีของสเปนชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ที่อ่อนไหวและขับคันมากขึ้น และหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นผู้ดำเนินนโยบายในยุโรปเอง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)  ธนาคารโลก และนักลงทุนสถาบันต่างออกมาแสดงความห่วงใยในสถานการณ์อย่างเปิดเผย ความไม่แน่นอนขณะนี้ก็คือ ความไม่ชัดเจนว่าการแก้ไขปัญหาในยุโรปจะเดินต่ออย่างไร ขณะที่ความเชื่อมั่นของตลาดเกี่ยวกับความสามารถของทางการที่จะดูแลปัญหาก็ลดลง เห็นได้จากแรงกดดันของตลาดที่มีมากขึ้น เช่น ในสเปนที่อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมภาครัฐได้ปรับสูงขึ้นกว่าร้อยละ 6.6 ขณะที่ค่าเงินยูโรก็อ่อนลงต่อเนื่อง พูดได้ว่าสถานการณ์จากนี้ไปจะขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นที่นักลงทุนมีต่อความสามารถของทางการยุโรปที่จะแก้ไขปัญหา ถ้าความเชื่อมั่นลดลงอย่างรุนแรง สถานการณ์ก็อาจผลิกผันไปสู่การเกิดวิกฤตได้ ดังนั้น เราจึงควรเตรียมตัวกับความเป็นไปได้ที่อาจเกิดขึ้น เพราะต้นทุนของการไม่เตรียมตัวแต่วิกฤตเกิดจะแพงมาก เมื่อเทียบกับต้นทุนของการเตรียมตัวแต่วิกฤตไม่เกิด

                 เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ความเชื่อมั่นหรือ Sentiment ในตลาดการเงินโลกลดลงมากจากสามปัจจัย หนึ่ง ความไม่แน่นอนในกรีซ เมื่อผลเลือกตั้งไม่มีข้อยุติ สร้างความไม่แน่นอนว่าการแก้ปัญหาในกรีซจะเดินต่ออย่างไร สอง การพูดอย่างเปิดเผยถึงความเป็นไปได้ที่กรีซอาจต้องใช้การลดค่าเงินเป็นวิธีแก้ปัญหา ซึ่งหมายถึงกรีซต้องออกจากระบบเงินยูโร ซึ่งสร้างความวิตกกังวลให้กับผู้ร่วมตลาด และ สาม ปัญหาของสถาบันการเงินในสเปนที่อาจทำให้สถานการณ์หนี้ยุโรปยุ่งยากมากขึ้น

                 ในกรณีของกรีซ ไม่ว่าผลการเลือกตั้งเดือนนี้จะออกมาอย่างไร ทางเลือกแรกที่ประชาชนกรีซต้องการก็คือ กรีซอยู่ในระบบเงินยูโรต่อไป แต่อยากให้เงื่อนไขการกู้ยืมที่กรีซต้องรัดเข็มขัดผ่อนคลายลง เพื่อให้เศรษฐกิจกรีซมีโอกาสฟื้นตัว ความเป็นไปได้นี้จะขึ้นอยู่กับรัฐบาลสหภาพยุโรปโดยเฉพาะ เยอรมนี และ ไอเอ็มเอฟ ว่าจะยอมตามหรือไม่ ถ้าไม่ยอม กรีซก็คงต้องเลือกที่ออกจากระบบเงินยูโร ซึ่งเป็นทางเลือกที่จะส่งผลกระทบต่อกรีซ สหภาพยุโรป และเศรษฐกิจโลกมาก ผลกระทบดังกล่าวจะทำให้รัฐบาลสหภาพยุโรปและ ไอเอ็มเอฟ ต้องพยายามทำทุกทางรวมถึงการเข้าอุ้มภาระหนี้ของประเทศหนี้สูงในยุโรป และระบบการเงินถ้าจำเป็น เพื่อไม่ให้ปัญหากรีซลุกลามกระทบเสถียรภาพของประเทศอื่นๆ

                 สำหรับสเปน เศรษฐกิจสเปนขณะนี้กำลังเผชิญกับสามปัญหา หนึ่ง  เศรษฐกิจชะลอตัวมาก และมีการว่างงานสูง ล่าสุดอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 24  สอง สถาบันการเงินในสเปนมีปัญหาหนี้เสียจากราคาบ้านที่ลดลง เศรษฐกิจที่ชะลอตัว และการว่างงานที่สูง หนี้เสียดังกล่าวทำให้ธนาคารในสเปนต้องเพิ่มทุน สาม มีเงินทุนไหลออกในรูปของการย้ายเงินฝากออกจากสถาบันการเงินในสเปน ทำให้ระบบการเงินสเปนขาดแคลนสภาพคล่อง ทั้งสามปัญหานี้เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสเปน และทำให้ความสามารถของรัฐบาลที่จะเข้าช่วยเหลือสถาบันการเงินลดลง ซึ่งกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน กดดันให้อัตราดอกเบี้ยที่รัฐบาลสเปนกู้เพิ่มสูงขึ้น ล่าสุดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้รัฐบาลสเปนก็ถูกปรับลดลง ด้วยเหตุผลของปัญหาที่มีในระบบสถาบันการเงิน และความผิดหวังที่ตลาดมีต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ  

                 ดังนั้น สถานการณ์หนี้ยุโรปขณะนี้มีจุดเปราะบางมากขึ้น ความห่วงใยของนักลงทุนก็มีมากขึ้น สองปัจจัยนี้ทำให้ตลาดการเงินโลกปรับตัวมากในช่วงสองอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งลึกๆ แล้วก็สะท้อนช่องว่างที่มีอยู่ระหว่างสิ่งที่ผู้ทำนโยบายในยุโรปเชื่อและสิ่งที่ตลาดเชื่อ กล่าวคือขณะที่ทางการยุโรปพูดถึงความจำเป็นที่การแก้ไขปัญหาจะต้องเดินตามแนวทางเดิมต่อ แต่ตลาดปรับตัวเหมือนกับยอมรับแล้วว่าจะมีประเทศที่ต้องออกจากระบบเงินยูโร ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นตลาดปรับตัวมาก โดยการลดการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงทุกประเภท  เหมือนเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเลวร้ายลง

                 ในกรณีที่สถานการณ์ยุโรปผกผันจนเป็นวิกฤต คาดว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกจะมีมากด้วยสามเหตุผล คือ หนึ่ง ยุโรปเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก ดังนั้น ถ้าอะไรเกิดขึ้นกับยุโรป ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกจะมีมาก สอง เศรษฐกิจโลกในส่วนอื่นๆขณะนี้ก็ไม่สดใส หลายประเทศเริ่มชะลอ พูดได้ว่าเศรษฐกิจของประเทศสำคัญๆ ขณะนี้กำลังชะลอตัวลงอย่างพร้อมเพียงกัน แบบ Synchronized slowdown ไม่ว่าจะเป็น จีน อินเดีย บราซิล เกาหลี ไต้หวัน ออสเตรเลีย ดังนั้นถ้าอะไรเกิดขึ้นในยุโรป ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกจะมาก เพราะเศรษฐกิจโลกจะไม่มีความเข้มแข็งของเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่มาเป็นตัวช่วย เหมือนตอนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกเมื่อสี่ปีก่อน สาม พื้นที่ด้านนโยบายที่กลุ่มประเทศอุตสาหกรรม จะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมก็มีจำกัด เพราะหนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูง และอัตราดอกเบี้ยก็ต่ำมากแล้ว ทั้งสามเหตุผลนี้ชี้ว่า ถ้าปัญหายุโรปบานปลาย ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกจะมีมาก ความหวังขณะนี้อยู่ที่บทบาทของเยอรมนีที่จะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เข้าช่วยเหลือเศรษฐกิจยุโรปอย่างเต็มที่

                 ประเทศไทย ซึ่งเป็นเศรษฐกิจเปิด คงถูกกระทบแน่ถ้าปัญหาหนี้ยุโรปบานปลาย ดังนั้น เราควรต้องตระหนักถึงความเป็นไปได้ของปัญหา และมีการเตรียมรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เพื่อผ่อนหนักให้เป็นเบา และเท่าที่ประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจ จะมีอย่างน้อยห้าด้าน

                 หนึ่ง การส่งออก จากที่ยุโรปเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหญ่ การส่งออกคงถูกกระทบแน่ และจะหวังพึ่งตลาดเอเชียมาทดแทนก็ยาก เพราะเศรษฐกิจเอเชียก็ชะลอเหมือนกัน การส่งออกจะถูกกระทบ ทั้งการผลิต รายได้ และการมีงานทำ  ภาครัฐจึงควรเตรียมเข้ามาดูแลเพื่อให้ธุรกิจส่งออกสามารถปรับตัวได้

                 สอง ธนาคารพาณิชย์ในยุโรป คงลดทอนการปล่อยกู้ให้กับธนาคารพาณิชย์และลูกค้าในต่างประเทศ ซึ่งจะกระทบสภาพคล่องของภาคธุรกิจไทย โดยเฉพาะ สินเชื่อการค้า และสภาพคล่องของนักลงทุนไทยในต่างประเทศ ดังนั้นธนาคารพาณิชย์ไทยควรพร้อมเข้ามาเติมช่องว่างนี้ เพื่อให้ภาคธุรกิจเอกชนสามารถเดินต่อได้

                 สาม  ผลต่อสภาพคล่องในประเทศจากการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศ ที่จะสร้างความผันผวนให้กับตลาดเงินในประเทศ โดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย ควรดูแลสภาพคล่องทั้งเงินดอลล่าร์และเงินบาทให้เพียงพอ และให้อัตราแลกเปลี่ยนปรับตัวตามภาวะตลาดทั้งสองทิศทาง ไม่ฝืนตลาด และให้ความผันผวนอยู่ในขนาดที่ธุรกิจจะปรับตัวได้

                 สี่ ดูแลการกระจายสภาพคล่องในระบบธนาคารให้ถึงมือธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่คงต้องปรับตัวมาก การกระจายควรเน้นการใช้กลไกราคามากกว่าการจัดสรรสินเชื่อ คืออัตราดอกเบี้ยอาจแพงแต่มีเงินให้กู้ จะดีกว่าจัดให้มีสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่หากู้ไม่ได้ และ

                 ห้า สถานการณ์ยุโรปคงกระทบความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจกระทบความต้องการของเอกชนที่จะใช้จ่ายและลงทุน ดังนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยนโยบายการคลังและนโยบายการเงินอาจจำเป็น เพื่อประคองเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอตัวหรือหดตัวมากเกินไป แต่การกระตุ้นต้องอยู่ภายใต้การรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ และวินัยด้านการเงินการคลัง

                 นอกจากนี้การสื่อความอย่างตรงไปตรงมาโดยภาครัฐ รวมถึงการให้ข้อมูลเศรษฐกิจที่ถูกต้อง ชัดเจนทันเวลา จะจำเป็นและสำคัญต่อการประเมินสถานการณ์ของภาคเอกชน เพื่อประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจ

                 ก็หวังว่าข้อคิดเหล่านี้จะเป็นประโยชน์

วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

นัยทางเศรษฐศาสตร์ของการแก้ไขหนี้ยุโรป

ดร.บัณฑิต นิจถาวร

14 พ.ค. 55


ข่าวใหญ่ขณะนี้ก็คงเป็นความไม่แน่นอนว่า นโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้ยุโรปจะเดินต่ออย่างไร หลังการเลือกตั้งทั่วไป ในกรีซและฝรั่งเศส ที่ได้นำมาสู่การเปลี่ยนรัฐบาลในทั้งสองประเทศ ตามเสียงข้างมากของประชาชนที่ปฏิเสธไม่เอาการแก้ไขเศรษฐกิจ ที่เน้นมาตรการตัดลดการใช้จ่าย และการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างที่ได้ทำมา ที่ถูกมองว่าได้ทำให้เศรษฐกิจประเทศยุโรปที่มีหนี้สูงเข้าสู่ภาวะถดถอย มีการว่างงานสูง ซึ่งกระทบความเป็นอยู่ของประชาชนต่อเนื่องมาแล้วกว่า 30 เดือน
 
ปีนี้อย่างที่เคยให้ความเห็นไว้ จุดอ่อนไหวที่สุดของเศรษฐกิจโลกก็คือปัญหาหนี้ยุโรป ที่การแก้ไขปัญหายังไม่สามารถฟื้นเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้สิ่งที่ปรากฏออกมาชัดเจนก็คือ การอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางยุโรปเมื่อช่วงต้นปี ก็มีผลเพียงรักษาระบบการเงินให้มีสภาพคล่อง ให้ธนาคารพาณิชย์ยุโรปมีสภาพคล่องพอที่จะหลีกเลี่ยงปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ แต่ไม่ได้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ หรือปัญหาหนี้ที่มีอยู่ เมื่อปัญหาหนี้ยังแก้ไม่ได้ เศรษฐกิจยุโรปที่กำลังถดถอยก็ยิ่งจะทำให้รัฐบาลขาดรายได้ที่จะใช้จ่ายและชำระหนี้ และยิ่งการแก้ไขปัญหาเน้นมาตรการรัดเข็มขัดที่ลดรายจ่าย เศรษฐกิจยุโรปก็ยิ่งจะถดถอยมากขึ้น ประชาชนที่เดือดร้อนจึงผิดหวังต่อการแก้ไขปัญหา มีการเรียกร้องให้รัฐบาลผ่อนปรนมาตรการแก้ไขปัญหาที่เข้มงวด เพื่อให้เศรษฐกิจมีโอกาสฟื้นตัว แต่เมื่อรัฐบาลไม่ทำ เพราะมาตรการรัดเข็มขัดเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขการช่วยเหลือให้กู้ยืมเงินจากต่างประเทศ ประชาชนก็หมดความอดทนและลงคะแนนเสียงไม่สนับสนุนรัฐบาลเดิม เพื่อให้มีการใช้แนวทางอื่นในการแก้ไขปัญหาแทน 
ในทางเศรษฐศาสตร์ ปัญหาที่ประเทศที่มีหนี้สูงในยุโรป เช่น กรีซ มีขณะนี้ก็คือ ปัญหาดุลชำระเงิน ที่มาจากการใช้จ่ายเกินตัวของเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง
ในอดีตการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดถูกชดเชยได้โดยการกู้ยืมจากต่างประเทศ จึงไม่มีปัญหา และเศรษฐกิจก็ขยายตัว ผู้ให้กู้จึงมั่นใจว่า รัฐบาลจะมีรายได้มาชำระหนี้
แต่วิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2007 ได้ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอลง เศรษฐกิจกรีซ ก็ชะลอลง แต่ที่ปัญหาหนี้ของกรีซกลายเป็นวิกฤติ ก็เพราะผู้ให้กู้จากต่างประเทศเริ่มไม่มั่นใจว่ากรีซจะสามารถชำระหนี้ได้ เงินที่เคยให้กู้ยืมเพื่อชดเชยการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดก็ลดลง นำมาสู่ปัญหาดุลชำระเงิน และการขาดสภาพคล่องของรัฐบาลที่จะชำระหนี้ ทำให้ประเทศอย่างกรีซต้องพึ่งการช่วยเหลือจากภายนอก เช่น รัฐบาลสหภาพยุโรป และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ แต่การช่วยเหลือจากภายนอกก็มากับเงื่อนไขที่รัฐบาลต้องดำเนินมาตรการรัดเข็มขัด เพื่อแก้ไขเศรษฐกิจ 
คำถามก็คือ ทำไมต้องรัดเข็มขัดเพื่อแก้เศรษฐกิจ
ปกติการแก้ไขปัญหาดุลชำระเงิน จะต้องทำในสามด้าน
ด้านแรก ก็คือ  แก้ไขการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีต้นเหตุมาจากการใช้จ่ายเกินตัวของเศรษฐกิจ
สอง  กู้ยืมเงินจากต่างประเทศ  เพื่อให้ประเทศมีสภาพคล่องชั่วคราวที่จะชำระหนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้
สาม ปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อให้เศรษฐกิจมีความสามารถในการแข่งขันพอที่จะกลับมาขยายตัวอีก
ทั้งสามด้านนี้เป็นสิ่งที่ต้องทำพร้อมกัน แต่หัวใจของการแก้ไขปัญหาหนี้ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นระดับประเทศหรือบริษัททั่วไป อยู่ที่การประหยัดที่ต้องลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เพื่อให้มีเงินเหลือพอที่จะชำระหนี้
ในแง่เศรษฐกิจ การลดรายจ่าย เพื่อแก้ปัญหาการใช้จ่ายเกินตัวทำได้สองวิธี
วิธีแรก ก็คือ การลดค่าเงิน เพื่อให้สินค้านำเข้าแพงขึ้น และสินค้าส่งออกมีราคาสูงขึ้น สินค้านำเข้าที่แพงขึ้นก็จะทำให้คนลดการใช้จ่าย ขณะที่สินค้าส่งออกที่ได้ราคาสูงขึ้นก็จะสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจส่งสินค้าออกไปขายต่างประเทศแทนที่จะขายในประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ ผลสุทธิก็คือ การประหยัดของเศรษฐกิจที่จะทำให้การขาดดุลเดินบัญชีเดินสะพัดลดลง
วิธีที่สอง ก็คือ การลดการใช้จ่ายโดยตรง เพื่อให้เกิดการประหยัดทั้งในภาครัฐบาลที่ต้องรัดเข็มขัดด้านการคลัง และภาคเอกชนที่ต้องใช้จ่ายน้อยลงโดยนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น
ในทางปฏิบัติ ประเทศที่มีปัญหาจะใช้ทั้งสองวิธีในการแก้ปัญหา คือ ลดค่าเงินและลดการใช้จ่ายของภาครัฐและเอกชน การแก้ไขพร้อมกันทั้งสองวิธีจะไม่ทำให้เศรษฐกิจถดถอยมาก และจะสามารถฟื้นตัวได้เร็ว เพราะการใช้จ่ายในประเทศที่ถูกตัดทอนลงจะถูกทดแทนด้วยการส่งออกที่จะขยายตัวได้มากขึ้น 
แต่ในกรณีของปัญหายุโรปขณะนี้ ระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินยูโร ซึ่งเป็นอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศสมาชิกกลุ่มเงินสกุลยูโรทั้งหมดเป็นข้อจำกัดสำคัญที่ทำให้ประเทศที่ต้องแก้ไขปัญหาอย่างกรีซ ไม่สามารถใช้วิธีลดค่าเงินแก้ไขปัญหาได้ เพราะในระบบเงินยูโรที่ประเทศกรีซเป็นสมาชิก สกุลเงินก็คือ ยูโร ที่ใช้ร่วมกัน ประเทศอย่างกรีซจึงไม่มีสกุลเงินของตนเองที่จะลดค่าได้ และเมื่อวิธีการลดค่าเงินไม่สามารถใช้ได้ การแก้ไขปัญหาในกรณีของกรีซ จึงต้องพึ่งการลดการใช้จ่ายด้านเดียว ทำให้รัฐบาลกรีซต้องประหยัดมากคือ ต้องตัดทอนรายจ่าย เพิ่มภาษี และขายสินทรัพย์ เพื่อให้มีรายได้พอที่จะชำระหนี้ และขนาดของการตัดลดรายจ่ายในกรีซก็ต้องมาก เพราะกรีซไม่มีการลดค่าเงินที่จะเป็นมาตรการที่จะช่วยได้อีกทาง ประเด็นนี้ทำให้เศรษฐกิจกรีซชะลอตัวรุนแรง มีปัญหาการว่างงานสูงและประชาชนเดือดร้อน จนนำมาสู่การลงคะแนนเลือกตั้งที่ปฏิเสธไม่สนับสนุนการใช้มาตรการเข้มงวดในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ 
คำถามที่ตามมาก็คือ ถ้ารัฐบาลใหม่ของกรีซ ไม่ใช้ความเข้มงวดทางการคลังเป็นวิธีแก้ปัญหา รัฐบาลจะใช้มาตรการอะไรในการแก้ไขปัญหา 
จุดนี้คือความไม่แน่นอนที่ตลาดการเงินโลกมีขณะนี้ เพราะถ้าไม่เข้มงวดด้านการคลัง ทางเลือกเดียวที่มีก็คือ ต้องลดค่าเงิน ซึ่งหมายถึงประเทศอย่างกรีซจะต้องออกจากระบบเงินยูโร และหันกลับมาใช้ระบบที่มีสกุลเงินของตัวเองเพื่อให้สามารถลดค่าเงินได้ ซึ่งตั้งแต่ผลการเลือกตั้งออกมาเมื่ออาทิตย์ก่อน ตลาดการเงินก็ได้ประเมินความเป็นไปได้นี้ สูงขึ้นเรื่อยๆ และถ้ากรีซออกจากระบบเงินยูโรจริง ความยุ่งเหยิงที่ตามมาจะสร้างความปั่นป่วนต่อตลาดการเงินโลกมาก ทำให้ปัญหาหนี้ยุโรป ซึ่งหนักอยู่แล้ว จะยิ่งรุนแรงและแก้ไขยากขึ้นไปอีก
 
ดังนั้น ความเป็นไปได้นี้จึงเป็นสิ่งที่ตลาดการเงินโลกไม่อยากให้เกิด เพราะไม่สามารถบอกได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นตามมา
แต่อย่างที่ทราบ ถึงแม้ตลาดการเงินจะเป็นตลาดโลกคือเป็นตลาดเดียวสำหรับทุกประเทศทั่วโลก แต่การตัดสินใจด้านนโยบายยังเป็นเรื่องของแต่ละประเทศ เป็นเรื่องของการเมืองและนักการเมืองของแต่ละประเทศ
ดังนั้น เมื่อประชาชนกรีซเลือกแล้วโดยวิธีทางการเมืองว่าจะไม่เอาการประหยัด เป็นวิธีแก้ไขปัญหา เราคงต้องตามดูว่ารัฐบาลใหม่จะเดินอย่างไรต่อในการแก้ไขปัญหา ซึ่งไม่ว่ารัฐบาลกรีซจะตัดสินใจอย่างไร ผลต่อตลาดเงินและเศรษฐกิจโลกจะมีสูงกว่าเดิมมาก



วันพุธที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

2 ก. กรีซ กับ โกลด์

Greece

·    การเมืองในกรีซกำลังเสี่ยงมากขึ้นหลังการพ่ายแพ้การเลือกตั้งของ 2 พรรคใหญ่ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลเก่า เพราะคนส่วนใหญ่ไม่พอใจมาตรการรัดเข็มขัดที่เข้มงวด (เงินเดือน บำนาญลดไปกว่า 40%) จึงหันไปลงคะแนนให้กับพรรคเล็กที่ประกาศจะผลักดันให้ยกเลิกมาตรการดังกล่าว ทำให้โลกกังวลว่ากรีซภายใต้รัฐบาลใหม่จะไม่ทำตามแผนรัดเข็มขัดที่รัฐบาลชุดก่อนตกลงใช้เพื่อแลกกับความช่วยเหลือทางการเงินจาก EU และ IMF ซึ่งจะทำให้กรีซอาจหลุดพ้นจากการเป็นสมาชิกยูโรโซน

·   ขณะนี้ พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายของกรีซ (Radical Left Coalition - Syriza) ภายใต้การนำของ อเล็กซิส ไซพราส กำลังหาพันธมิตรเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม ซึ่งจะได้รับอำนาจอย่างเป็นทางการในการจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากพรรคนิวเดโมเครซีซึ่งแม้จะชนะเลือกตั้ง แต่ก็ยังจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้

·   พรรคเล็กที่ได้รับไม้ต่อให้พยายามตั้งรัฐบาลผสม ประกาศว่า กำลังติดต่อพรรคอื่นๆ ที่มีนโยบายจะชักดาบ และจะยกเลิกมาตรการที่ตกลงรัดเข็มขัดกับ ECB และ IMF รวมถึงไม่เอามาตรการตัดบำบาญ/ลดเงินเดือน / เลิกจ้างงาน 150,000 ตำแหน่ง  แต่ไม่ง่ายที่จะตั้งรัฐบาล เพราะบางพรรคบอกว่ายินดีสนับสนุนตราบเท่าที่ไม่ทำให้กรีซหลุดจากยูโร

·   ECB เตือนว่า กรีซต้องตระหนักว่าไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากทำตามแผนรัดเข็มขัดที่ให้ไว้เดิม เพื่อจะรักษาสถานภาพสมาชิก EU ในขณะที่ รมต.ตปท. เยอรมนี ทุบโต๊ะให้สัมภาษณ์ว่า ผู้มีอำนาจในกรีซต้องรีบผลักดันให้จีดตั้งรัฐบาลที่มีเหตุผลโดยเร็ว และมาตรการต่างๆ ที่เคยตกลงกันแล้วจะไม่มีการย่อหย่อนให้เป็นอันขาด

·    เป็นไปได้สูงที่พรรคการเมืองต่างๆ ของกรีซจะตกลงจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ แม้จะมีคนเสนอให้ตั้งรัฐบาลแห่งชาติซึ่งมีตัวแทนจากทุกพรรคการเมือง ดังนั้น จึงมีโอกาสเลือกตั้งใหม่ในเดือน มิย นี้

·    ความเสี่ยงคือกรีซอาจจะขาดเงินสดในการบริหารประเทศภายในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ ถ้ายังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลขึ้นเพื่อเร่งเจรจาขอเงินช่วยเหลืองวดต่อไปกับสหภาพยุโรป และ IMF  ขณะที่รายได้ของรัฐอาจจะลดลง   



·    แม้ไม่มีเรื่องการเมืองกรีซ ก็ยังคาดว่า เศรษฐกิจยูโรโซนจะถดถอยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ แต่เยอรมนีจะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกันได้

·    Nouriel Rubini :  ตัวเลขดัชนี PMI ของกลุ่มยูโรโซนออกมาแล้ว และมันก็ยืนยันว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในยุโรปกำลังถลำลึกลงไปกว่าเดิม ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มัวแต่ทำอะไรอยู่?  ถ้ามีประเทศใดในยุโรปผิดนัดชำระหนี้อย่างไม่มีระบบ หรือแตกแยกออกจากกลุ่มยูโรโซนอย่างไม่มีระเบียบ  ความเสียหายจะระบาดไปทั่วในระดับมหากาฬ

·       Peter Schiff  ถ้า กรีซ ทำให้ยุโรปเป็นไข้หวัดใหญ่ สเปน กับ อิตาลี ก็จะทำให้ยุโรปติดเชื้ออิโบล่า

·       Citigroup Inc ระบุว่า ความเสี่ยงที่กรีซต้องกระเด็นออกจากกลุ่มยูโรโซนภายในสิ้นปีหน้าสูงขึ้นถึง 75% แล้ว

·       เราจึงควรเตรียมตัวเผื่อช่วงกลางเดือน มิย นี้ ที่  FED  รมต.คลัง ยูโรโซน  กับ ECB จะมีการประชุมกัน และน่าจะเป็นช่วงที่กรีซเลือกตั้งอีกครั้งเพราะน่าจะจัดตั้งรัฐบาลผสมไม่ได้

·   หาก กรีซ เข้าใจ Poker’s game และนำลีลามาใช้ต่อรองกับเจ้าหนี้ ในภาวะที่ลูกหนี้อย่างกรีซได้เปรียบเจ้าหนี้ เพราะผลกระทบจากการชักดาบของกรีซจะมีต่อเจ้าหนี้อย่างมหาศาลและเป็นลูกโซ่  และกรีซไม่มีอะไรจะเสียอีกแล้ว แต่ถ้าลูกหนี้อย่างกรีซชักดาบ  เจ้าหนี้เน่าแน่ๆ  ก็คงต้องยอมถอยกันบ้าง  ดูอย่างบ้านเราช่วงต้มยำกุ้ง :  ไม่เบี้ยว ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย  ใครจะทำไม  

Gold

·    ราคาทองคำปรับตัวลดลงต่ำกว่า $1,600 USD/oz. แล้ว ณ ขณะนี้ เพราะความเสี่ยงทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นหลังการเลือกตั้งในฝรั่งเศสและกรีซ กระทบความหวังในการแก้ปัญหาหนี้ยุโรป นักลงทุนจึงหันเข้าหาเงินดอลลาร์แทน และตลาด Commodities ก็ปรับตัวลดลงกันถ้วนหน้า จึงเกิดแรงขายทองคำออกมามากหลังราคาทองคำไม่สามารถยืนเหนือ $1,630/oz. อันเป็นจุด Support สำคัญที่ยืนระดับได้มานาน


·    เป็นที่น่าสังเกตว่า ในระยะ 1 ปีให้หลังนี้ ราคาทองคำไม่เคยได้รับผลบวกจากปัจจัยเสี่ยงเรื่องหนี้ในยุโรปที่เพิ่มขึ้นเลย กลายเป็นว่าความสัมพันธ์เป็นลักษณะว่า ยุโรปเสี่ยง à หันเข้าหาดอลลาร์ à เป็นผลลบต่อทองคำ หรือพูดได้ว่า ณ ขณะนี้ ทองคำมีราคาเคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้ามกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

·       คำเตือนของ Marc Faber

·    ลุงมาร์ค เล่าว่า มีคนพูดกันว่าทองคำเป็นฟองสบู่แล้ว เพราะพุ่งขึ้นมาแรงมากจากราคาต่ำสุดที่ $252 ต่อออนซ์ ในปี 1999  ในระยะสั้นๆ ทองคำเสี่ยงสูง ไม่น่าจะให้ผลตอบแทนดี เพราะทองคำเคยให้ผลตอบแทนดีมากไปแล้ว จึงต้องมีการถอยลงก่อนบ้าง   

      แต่ ลุงมาร์ค ก็ บอกเราว่า 12 ปีให้หลังนับจากราคาทองคำต่ำสุดที่ $252 ต่อออนซ์ ในปี 1999 วันนี้เรา   กำลังอยู่ในภาวะที่ทองคำควรจะมีราคาสูงขึ้นอีกมาก เพราะว่าสภาพเศรษฐกิจและการเงินโลก          โดยเฉพาะสหรัฐและ EU ย่ำแย่กว่าที่เคยเป็นเมื่อ 12 ปีที่แล้ว สหรัฐมีหนี้ที่ปะทุขึ้นมาจากหนี้ภาครัฐ    ภาคเอกชน รวมไปถึงหนี้สวัสดิการที่มีแต่ตัวเลข เพราะที่รัฐบาลอเมริกันยังไม่ได้ใส่เงินลงไปตามภาระ     จริงที่มีอย่างเช่น  ประกันสังคม กับสวัสดิการและการประกันสุขภาพ เป็นต้น

·   เพื่อเช็คว่าทองคำเป็นฟองสบู่หรือไม่ ลุงมาร์ค ใช้วิธีถามผู้เข้าร่วมงานสัมมนาหลายแห่งว่ามีกี่คนที่มีทองคำ คำตอบตามปกติก็คือแทบไม่มีสักคน และมีครั้งหนึ่งที่มีคนเข้าฟังถึงหลายพันคน ปรากฏว่าไม่มีใครสักคนที่มีทองคำ  

      อาการอย่างนั้นไม่ใช่ฟองสบู่ ไม่เหมือนครั้งที่ไปงานสัมมนาด้านลงทุนในปี 1989 ที่ทุกคนมี    หุ้นญี่ปุ่น และในปี 2000 ที่ทุกคนมีหุ้นเทคโนโลยี  อย่างนั้นต่างหากที่เขาเรียกว่าฟองสบู่  ฟองสบู่เกิดเมื่อผู้เล่นส่วนใหญ่ในตลาดเป็นเจ้าของสินทรัพย์นั้นๆ และขณะนี้ Marc Faber เชื่อ  ว่ามีคนจำนวนมากที่มีหุ้น  Apple มากกว่าเป็น เจ้าของ ทองคำ

วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เมื่อแกนโลกเอียงกลับ 1/3

วรวรรณ ธาราภูมิ

29 เมษายน 2555

อะไรๆ ก็ BRICs  มันจะอารายกันนักกันหนาฟะ จะเอาก้อนอิฐไปเฟี่ยงใส่หลังคาบ้านป๋าอีกไง้ ?

หนอย ไอ้เจ้าหนอนหงอย เซอะแล้วยังทำซ่านะแก เมายากันยุงหรือว่าเมาค่าน้ำมัน ค่าไฟ ละเนี่ยะ!  ก็ BRICs หรือ BRIC เฉยๆ แบบไม่มีตัว s ห้อยท้ายน่ะ เขาหมายถึงประเทศใหญ่ๆ ในกลุ่มกำลังพัฒนาหรือที่เรียกกลุ่มโดยรวมว่า Emerging Market  ตัวย่อว่า EM ไง

เอ๊า  ชื่อคนตายมีตั้งเยอะ ทำไมไม่เอามาตั้ง นึกไม่ออกก็ไปหาเอาในที่เก็บกระดูกในวัดสิ  ไปตั้งเป็นก้อนอิฐ ก้อนหินกันทำไมเล้า บ้าป่ะ

เอาๆ แกกินน้ำเย็นๆ มั่ง อากาศร้อนยังงี้ฉีดยากลัวน้ำยังล่ะ

เย้ยยย ... ป้าอ่ะ หนอนน้อยไม่ใช่หมานา

อ้าว  ก็เห็นบ่นจนน้ำลายฟูมปากอยู่เนี่ยะ จะไม่ใช่หมาบ้าได้ไง้  เนี่ยะ เขากำลังเข้าโหมดปูดอง เอ้ย ปรองดองกันในชาติอยู่นะ แกอย่ามาโวยวายให้เสียบรรยากาศ  แล้วคำว่า BRICs ก็ไม่ได้ย่อมาจาก Brutally Raped In the Country สักกะหน่อย

แปลด่วนเลยป้า หนอนน้อยขี้เกียจเปิดกระดิกแปล

ฝันเหอะ ไม่ใช่ขี้ข้าแกนะ นังหนอนย่น  ชั้นเป็นอำมาตย์  จะให้ไปทำงานไพร่ได้ไง้

โห พูดงี้ต่อยกันเลยไหมป้า  ไหนว่าปรองดองไง 

ก็ปรองดองตามแบบชั้นไง  ใครจะทำไมว้ะ  เออ ... BRICs เนี่ยะคนตั้งชื่อคือ ตา จิม โอนีล หัวหน้าทีมเศรษฐศาสตร์ของ โกลแมนแซคส์ เชียวนา เขาย่อมาจาก Brazil / Russia / India / China

แล้วมันสำคัญต่อเงินในกระเป๋าของเราไงละป้า  เขาถึงออกมาคร่ำครวญถึงกันนัก

คร่ำครวญบ้านแกสิ นังหนอนระเหย แกนี่เกิดภายใต้ฤกษ์ที่มีดาวหมาเป็นเจ้าเรือนแห่งปาก รึเปล่า ห๊า

โด่ ..... ป้ากะหลานก็พอกันแร้ ..

ฮึ !  ... เออ ….  ตาจิม โอนีล เขาให้สัมภาษณ์ว่า กลุ่มประเทศ BRICs ยังมีบทบาทสำคัญในช่วง 10 ปีจากนี้ไป แล้วเขาก็เปรียบเทียบได้สะใจชะมัดเลย  เขาบอกว่าต่อให้จีนโตชะลอลงเหลือเพียง 7-8% หรือต่ำกว่านี้ ก็ยังจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจโลกเติบโตได้มากกว่าสหรัฐ และ ยุโรป รวมกัน เสียอีก

จริงรึ

จริงซิ

แน่นะ

อ๋อ แน่สิ ... เย้ยยยย .... ถ้าไม่หยุดบ่นเป็นเพลงคู่เชยๆ นี่  ชั้นจะตบแกให้ฟันร่วงหมดปากแน่ ไอ้หนอนแดดเดียว

อะน่า .... ป้าเล่าต่อเหอะ อย่าตบปากหนอนน้อยเลย  เพราะตบยังไงๆ หนอนน้อยก็ไม่หลงกลตบจูบแน่ๆ  อย่าฝันไปเล้ย .... ฮ่าๆๆๆ  แหวะ แหวะ

%$%^#&(O”:Oษฐถุ745ญฎษญฐญ๘ษ๗@%^#&+(_+(_U_U}(_3lg45klp@~#%^

แน่ะ มีด่าภาษากุโบสด้วยนะ ป้าเรา

นี่ จะฟังชั้นดีๆ หรือจะฟังทั้งน้ำตา

อะ  ฟังๆ  ดิป้า  น้ำตาจะเก็บไว้ไหลตอนไปจ่ายตลาด

ไอ้หนอนย่นใต้บาทา ฟังนะ ตาจิมเขาบอกอีกว่า ด้วยศักยภาพของจีน จีนจะสร้างประเทศแบบกรีซได้ในเวลาเพียง 11 สัปดาห์ หรือแบบสเปนได้ในเวลาเพียง 1 ปี  นอกจากนี้ เศรษฐกิจ BRICs รวมกันก็สามารถสร้างประเทศอย่าง อิตาลี ได้อีก 1 ประเทศในเวลาเพียง 18 เดือน  เนี่ยะเขาคงคิดจากการเพิ่มขึ้นของ GDP ประเทศกลุ่ม BRICs แล้วเห็นว่ามีขนาดพอๆ กับการเพิ่มขึ้นโดยเศรษฐกิจประเทศยุโรปเหล่านั้นละ

แล้วจะไปสร้างประเทศอะไรห่วยๆ หนี้ท่วมหัวแบบนั้น ไปทำไมกันเล้า หนอนน้อยไม่เข้าใจ

ฮ่วย  เขาแค่เปรียบเทียบให้เห็นภาพเท่าน้าน .... ทำไมโง่งี้ว้า

ฮึ ถามก็ว่าโง่  ไม่ถามก็ว่าเง่า  จะเอาไงกันละป้า  ป้าไม่ใช่พี่ปูแสนสวยนะ  ถ้าป้าพูดไม่สวยไม่มีใครเขาให้อภัยร้อก

เออสิ  ชั่งชั้น ไม่สวยแต่มีกึ๋นนะ  กึ๋นเหนียวด้วย ..  ฮึ ....  เอ้า มาต่อกัน .....  ตาจิมบอกว่า ช่วงที่ยุโรปกำลังจมอยู่กับปัญหาหนี้ จึงจะมีแต่ BRICs เท่านั้นที่จะเข้ามาช่วยเหลือได้ ดังนั้น ตาจิมถึงย้ำว่า สำหรับนักลงทุนระยะยาว 10 20 ปี ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยในสหรัฐกับยุโรปต่ำและประเทศยังอยู่ในภาวะเป็นหนี้สูง  การลงทุนในหุ้นจึงจะยังให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าพันธบัตรโดยเฉพาะใน Growth Market  ดังนั้น แนวคิดหลักในการลงทุนจึงยังอยู่ในกลุ่มประเทศ BRICs

ป้าๆๆ  ที่เขายังมั่นใจในกลุ่มประเทศนี้ เพราะเขาเห็นว่ายังมีช่องว่างในการขยายตัวได้มากกว่าโซนอื่นใช่ไหม

ใช่  เพราะทั้งทรัพยากรและประชากรในกลุ่มนี้มีจำนวนมาก หมายถึงมีทั้งของจะขายหรือมี Supply กับมีคนจะซื้อหรือ Demand ไง  ทำให้เพิ่มบทบาททางเศรษฐกิจในตลาดโลกได้ และต่อไปมีโอกาสที่จะมีศักยภาพเท่าประเทศพัฒนาแล้วที่เขาเรียกกันว่า Developed Market หรือ DM ได้  ดังนั้น BRICs ต่างหากที่จะเป็นตัวชี้นำเศรษฐกิจโลก ไม่ใช่สหรัฐหรือยุโรป แต่ยังไง BRICs ก็ยังมีความแตกต่างทางการเมืองของแต่ละประเทศนะ ทำให้ทั้งกลุ่มไม่ค่อยจะไปในทิศทางเดียวกันเท่าไหร่

ป้าๆ  ทำไมเราเรียกตะวันตกเป็น DM  แล้วเรียกกลุ่มอื่นๆ เป็น EM ล่ะ

โอ้ว .... ถามได้ดี  ถามได้ฉลาดมาก ก็คนตั้งชื่อน่ะมันเอาตัวเองเป็นมาตรวัดไงว่าประเทศเขา คนของเขา เจริญกว่า พัฒนากว่า

โด้ เอ๊ย ... หนี้ท่วมยังงี้นี่นะ  พัฒนา

ฮ่าๆๆๆ  พ่อหนอน พ่อมหาจำเริญ คิดได้ดีนี่  สอดคล้องกับเรื่องปัญหาหนี้ในยุโรปที่ทำให้บทบาทของกลุ่ม BRICs เพิ่มขึ้น เช่น ที่จีนเข้าไปช่วยเหลือกรีซ แล้วล่าสุดเนี่ยะ BRICs ก็เริ่มหือละ

หือยังไงละป้า เขาไป Occuoy  IMF เหรอ

ไม่ช้าย .... เขาแสดงความต้องการเพิ่มสิทธิของพวกตนในการออกเสียงในการประชุม IMF เพื่อแลกกับการสมทบเงินเข้ากองทุน EFSF ไง   นี่ละ เขาต้องการเพิ่มบทบาทของกลุ่ม BRICs ใน IMF ให้มากขึ้น โดยให้เหตุผลประกอบว่า กลุ่มประเทศยุโรปมีขนาดเล็กกว่าและเศรษฐกิจเริ่มแย่นั้น ทำไมจึงมีสิทธิในการออกเสียงโหวตมากกว่า แม้ว่าปัจจุบันนี้ จีนมีสิทธิในการเสียงใกล้เคียงกับประเทศ อิตาลี หรือ ฝรั่งเศส แล้ว  แต่มันยังไม่สะท้อนภาพจริงที่ทั้ง BRICS ควรจะมีน้ำหนักมากกว่านี้

อ่าฮะ

วันจันทร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2555

อ่านตลาดเกิดใหม่ 360 องศา ผ่านสายตาสุดยอดกูรู "โมเบียส"


29 เมษายน 2555


ตลาดเกิดใหม่ทำไมถึงเนื้อหอม Fundamentals นำเสนอกันอีกรอบผ่านสายตากูรูระดับโลกอย่างมาร์ค โมเบียส

ปีนี้วิกฤติหนี้รัฐยุโรปดูจะจบยาก สหรัฐมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างเชื่องช้า ยิ่งทำให้ตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกรวมไทย ยังคงเป็นเป้าหมายสำคัญของนักลงทุน

ต้นเดือน เม.ย. ปีนี้ "มาร์ค โมเบียส" กูรูผู้รู้จริงพัฒนาการตลาดเกิดใหม่ เดินทางมาเยือนไทยตามคำเชิญของ บลจ.กรุงศรี เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้ข้อมูลแบบรอบด้านสำหรับข้อสงสัยที่ว่าหุ้นตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะละติน อเมริกา เหตุใดจึงมีเสน่ห์ดึงดูดเงินทุนจากทุกมุมโลกไหลเข้าต่อเนื่อง 
Fundamentals ได้มีโอกาสรับฟังสุดยอดกูรูผู้นี้จึงขอเก็บตกรายละเอียดทุกมุมมองเกี่ยวกับพัฒนาการกับอนาคตสดใสของตลาดเกิดใหม่ มานำเสนอนักลงทุนไทยทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป็นเหมือนคู่มือช่วยหาจังหวะช่องทางทำรีเทิร์นดีจากตลาดเหล่านี้ในระยะยาว

ย้อนดูรีเทิร์นโดดเด่น
 
ด้วยประสบการณ์การศึกษาพัฒนาการตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกอย่างถ่องแท้มานานหลายสิบปี จนผู้คนยกให้ มาร์ค โมเบียส ประธานบริหารเทมเพิลตัน อีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ตส์ เป็นสุดยอดกูรูตลาดเกิดใหม่ และการมาเยือนไทยครั้งล่าสุดนี้เขามีข้อมูลสถิติตัวเลขเศรษฐกิจมากมายเกี่ยวกับตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกมาฝาก

โมเบียส หยิบยกพัฒนาการเฉพาะตลาดหุ้นเกิดใหม่เปรียบเทียบกับตลาดหุ้นสหรัฐและตลาดหุ้นทั่วโลก ทั้งในระยะ 5 ปี และตลอดทศวรรษที่ผ่านมา พิจารณาจากกราฟดัชนี MSCI ของ มอร์แกน สแตนเลย์ พบว่าดัชนี MSCIตลาดหุ้นเกิดใหม่ ไม่ว่าอยู่ในช่วงเกิดวิกฤติการเงินโลกปี 2551-2552 และวิกฤติหนี้รัฐในยุโรปตั้งแต่ต้นปี 2554 และยืดเยื้อถึงต้นปีนี้ หรือในช่วงเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีขึ้นช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สะท้อนว่าผลประกอบการตลาดหุ้นเกิดใหม่ยังสามารถปรับขึ้น ทำได้ดี และเหนือกว่า  MSCI ตลาดหุ้นสหรัฐ กับ MSCI ทั่วโลก ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

ละตินอเมริการีเทิร์นดีสุด

นอกจากเปรียบเทียบดูภาพรวมระหว่างดัชนี MSCI ตลาดเกิดใหม่ กับ MSCI ตลาดสหรัฐ และ MSCI ตลาดทั่วโลก แล้ว โมเบียส ยังให้ภาพลึกลงไปด้วยการเปรียบเทียบเฉพาะดัชนี MSCI ตลาดหุ้นละตินอเมริกา กับ MSCI ตลาดเกิดใหม่อื่น โดยรวม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผลที่ออกมาคือในระยะเวลาดังกล่าวส่วนใหญ่ละตินอเมริกาให้ผลประกอบการดีเหนือกว่าตลาดเกิดใหม่อื่น และหากเป็นระยะเวลาสั้นลงเป็น 5 ปีที่ผ่านมา แยกเป็นดัชนี MSCI ของ 3 ตลาดเกิดใหม่เหมือนกัน คือละตินอมเริกา เอเชีย และ ยุโรปตะวันออก ปรากฏผลไม่ต่างกันมากนักเพราะว่าช่วง 5 ปีที่ผ่านมาตลาดละตินอเมริกาก็ยังให้ผลประกอบการเด่นสุด ทำรีเทิร์นได้ดีและเหนือกว่าตลาดเกิดใหม่อื่นอย่างเอเชียและยุโรปตะวันออก

ตลาดแนวหน้า น่าลงทุน
 
ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่กว่า 40 ประเทศนั้น โมเบียส ยังให้คำนิยามกับกลุ่มประเทศหนึ่งที่อยู่ในตลาดเกิดใหม่นี้ว่าเป็นตลาดแนวหน้า (frontier markets) ทั้งที่อยู่ในทวีปแอฟริกา ตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออกและเอเชียหลายแห่งโดดเด่นดึงดูดใจให้ลงทุนมากที่สุด ไม่แพ้ตลาดเกิดใหม่ที่มีขนาดใหญ่อย่างจีน อินเดียหรืออินโดนีเซีย และตลาดแนวหน้าข้างต้น ประกอบด้วย ไนจีเรีย  เวียดนาม  คาซัคสถาน  ยูเครน เคนยา  กานา  ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ อียิปต์และโรมาเนีย 
ทั้งนี้ เดนนิส ลิม ผู้จัดการกองทุน เทมเพิลตัน แอสเซต แมเจนเมนท์ ซึ่งเดินทางมาไทยร่วมกับโมเบียส และเป็นผู้เชี่ยวชาญตลาดย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ได้แนะนำนักลงทุนจับตาการเติบโตกับอนาคตอันสดใสของ พม่าและกัมพูชา ซึ่งถือเป็นสองตลาดแนวหน้าของอาเซียน
 
ลิม ให้เหตุผลว่า พม่าอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งแก๊สธรรมชาติ นอกเหนือจากน้ำมันและแร่ธรรมชาติ ส่วนกัมพูชาเป็นแหล่งลงทุนที่ดีจะได้ประโยชน์จากการค้าขายกับเพื่อนบ้านอย่างไทย เวียดนามและลาว แต่การเข้าไปกัมพูชาต้องศึกษามาตรฐานบรรษัทภิบาลของประเทศนี้ให้ดีก่อน
 
ส่วน โมเบียส มองพม่าเป็นหนึ่งในตลาดแนวหน้าเช่นกัน และอีก 2-3 ปีเขาอาจเข้าไปลงทุนในพม่า และสนใจลงทุน 3 ภาคธุรกิจ คือ พลังงาน การผลิตระดับท้องถิ่น และ การบริโภค เพราะพม่าอยู่ติดกับจีนและอินเดีย มีทรัพยากรอยู่มาก ซึ่งเป็นปัจจัยช่วยพม่าไปได้ดีกว่าเพื่อนบ้าน แต่พม่าต้องพัฒนาตลาดเงินกับค่าเงิน และพัฒนาระบบธนาคารกับสาธารณูปโภคให้ดีก่อน

ดึงทุนไหลเข้าได้อีกมาก
 
โมเบียส เชื่อว่า ตลาดหุ้นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ยังมีช่องว่างให้เติบโตหรือเข้าไปลงทุนได้อีกมาก ขณะที่ความต้องการเข้าไปลงทุนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เขาหยิบยกกราฟสถิติมูลค่าตามราคาตลาดรวม หรือ มาร์เก็ตแคปของตลาดหุ้นเกิดใหม่โดยรวม เทียบกับตลาดหุ้นละตินอเมริกา ช่วงปี 2536-2554 ปรากฏว่า มาร์เก็ตแคปตลาดหุ้นเกิดใหม่โดยรวมปีก่อนเท่ากับ 34% จากเดิมเมื่อ 15 ปีที่แล้ว มีเพียง 5% ของมาร์เก็ตแคปตลาดหุ้นทั่วโลก ส่วนมาร์เก็ตแคปเฉพาะหุ้นตลาดละตินอเมริกาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมาถึงขณะนี้ยังขยายตัวน้อยเฉลี่ยเพียง 5% ของทั่วโลก ขณะที่สถิติเข้าไปลงทุนหุ้นตลาดเกิดใหม่ของกองทุนบำเหน็จบำนาญทั่วโลกช่วงเดียวกัน มีเพียง 3-8% ของมาร์เก็ตแคปตลาดหุ้นทั่วโลก สะท้อนได้ว่านักลงทุนสถาบันยังเข้าไปตลาดกลุ่มนี้ไม่มาก  และโมเบียสตั้งข้อสังเกตว่า พอร์ตการลงทุนไหลเข้ามาลงทุนในหุ้นตลาดเกิดใหม่ทั่วโลก ตั้งแต่เดือน ม.ค. ปี 2538-2554 มีแต่จะเพิ่มขึ้น และล่าสุดเติบโตถึง 2,823% หรือจากราว 1 พันล้านดอลลาร์ เป็นกว่า 8 แสนล้านดอลลาร์ ในปีที่ผ่านมา  
ในช่วงเวลาเดียวกันข้างต้น กองทุนตลาดเกิดใหม่ของเทมเพิลตัน ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2528 นั้น เริ่มต้นจากการมีสินทรัพย์บริหารงานเพียง 100 ล้านดอลลาร์ ตอนนี้โตขึ้นมากกว่า 500 เท่า มีมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ สะท้อนถึงช่วงที่ผ่านมาดีมานด์ความต้องการลงทุนในตลาดเกิดใหม่มีมาก และในอนาคตความต้องการลงทุนยังขยายตัวได้อีกมาก

โครงสร้างพื้นฐานแกร่ง
 
โมเบียส ให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานของตลาดเกิดใหม่ด้วยว่า ยังน่าสนใจและแข็งแกร่ง ซึ่งเริ่มจากการเปรียบเทียบอัตราการเติบโตของจีดีพีระหว่างตลาดเกิดใหม่กับตลาดพัฒนาแล้วโดยรวม ในปี 2554 และ ปี 2555 ซึ่งจีดีพีตลาดเกิดใหม่ขยายตัวที่ระดับ 6% และ 5.4% ตามลำดับ ซึ่งดีกว่าตลาดพัฒนาแล้วที่ระดับ 1.4% กับ 0.8% ตามลำดับ
 
และหากดูตลาดเกิดใหม่แยกรายภูมิภาคด้วยคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีปี 2555 โมเบียสตั้งข้อสังเกตุว่า เอเชียขยายตัวมากที่สุด 6.7% ตามด้วยแอฟริกา 5.5% ละตินอเมริกา 3.6% และตลาดเกิดใหม่ยุโรป 2.6%

ช่วงห่างของการเติบโตดังกล่าวทำให้เขามองแนวโน้มการเติบโตของตลาดอื่นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่นอกเหนือจากเอเชียซึ่งขยายตัวมากอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น แอฟริกา ละตินอเมริกา และยุโรป ต่างยังมีช่องว่างให้เติบโตได้อีกมาก
 
ส่วนเงินทุนสำรองสกุลต่างประเทศของตลาดเกิดใหม่เทียบตลาดพัฒนาแล้วตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมายังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและมีมากกว่าตลาดพัฒนาแล้ว ขณะเดียวกันในเดือน ก.พ. ปีนี้ทุนสำรองสกุลต่างประเทศของตลาดเกิดใหม่รวมกันแล้วอยู่ที่ประมาณ 7 ล้านล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้เป็นของจีนมากที่สุดกว่า 3.2 ล้านล้านดอลลาร์ 
โมเบียส ยังพิจารณาหนี้สาธารณะเทียบจีดีพีของตลาดเกิดใหม่กับตลาดพัฒนาแล้วช่วงปี 2545-2555 ด้วยว่า แตกต่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยหนี้สาธารณะของตลาดเกิดใหม่ลดลงต่อเนื่องล่าสุดอยู่ที่ 30% ของจีดีพีช่วยสถานการณ์ทางการเงินของกลุ่มประเทศนี้ดีขึ้นมาก ส่วนตลาดพัฒนาแล้วอยู่ที่ประมาณ 100% ของ จีดีพี

เงินเฟ้อ-ดอกเบี้ยไม่เป็นปัญหา 

โมเบียส รู้ว่าเงินเฟ้อกับอัตราดอกเบี้ย ย่อมมีผลต่อการตัดสินใจเข้าไปลงทุนในตลาดเกิดใหม่ เขายอมรับว่าเงินเฟ้อในละตินอเมริกาโดยเฉพาะอาร์เจนตินาเคยขึ้นเป็นตัวเลขหลักร้อยซึ่งน่ากลัวมาก แต่จากภาพรวมตลาดเกิดใหม่ช่วงปี 2540-2554 อัตราเงินเฟ้อในตลาดเกิดใหม่กลับอยู่ระดับต่ำมากไม่ถึง 10% ยิ่งละตินอเมริ กาช่วงปีเดียวกันต่ำเช่นกันไม่ถึง 10%
 
เมื่อดูคาดการณ์ค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อแยกตามภูมิภาคในกลุ่มตลาดเกิดใหม่พบว่า เอเชียต่ำสุด 3.9% แอฟริกา 5.9% ละตินอเมริกา 6.2% ตลาดใหม่ในยุโรป 6.5% ถือว่าเป็นระดับไม่สูงจนน่ากลัว และหากดูอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นตลาดเกิดใหม่ช่วงปี 2550 จนถึงต้นปี 2555 ยังคงอยู่ระดับต่ำล่าสุดไม่ถึง 4% หากแยกดูเฉพาะตลาดละตินอเมริกาตั้งแต่ต้นปี 2552 ก็ลดลงต่อเนื่อง และแม้ปรับขึ้นบ้างช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา แต่ยังอยู่เหนือระดับ 7% เล็กน้อย
 
สรุปแล้วโมเบียสเชื่อว่าทั้งอัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเกิดใหม่จากนี้ไปไม่ใช่ปัญหาและมีแนวโน้มจะลดลงอยู่ระดับต่ำ

ค่าพีอีสะท้อนหุ้นถูก
 
สัดส่วนราคาเทียบกำไรของหุ้น หรือ ค่าพีอี ในตลาดเกิดใหม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่โมเบียสพยายามนำมาอธิบายเพื่อบอกว่า เป็นตัวชี้วัดบอกแนวโน้มราคาหุ้นตลาดเกิดใหม่ช่วง 12 เดือนข้างหน้าได้ 
เขาหยิบเอากราฟเป็นสถิติค่าพีอีตลาดเกิดใหม่ลงต่ำสุดและขึ้นสูงสุด โดยขึ้นสูงสุดอยู่ที่ 28 เท่าในเดือน พ.ค. ปี 2521 และลงต่ำสุดที่ 7 เท่าในเดือน พ.ย.ปี 2550  แต่ในเดือน ก.พ. ปี 2555 นี้ ค่าพีอียังค่อนข้างต่ำที่ระดับ 10 เท่า สะท้อนว่าราคาหุ้นตลาดเกิดใหม่ยังค่อนข้างถูกอยู่
เมื่อแยกดูเฉพาะ ค่าพีอีหุ้นตลาดละตินอเมริกา ทั้งค่าพีอีขึ้นสูงสุดกับค่าพีอีลงต่ำสุด พบว่า ค่าพีอีสูงสุดที่ระดับ 16 เท่าในเดือน ก.พ. ปี 2537   ค่าพีอีต่ำสุดที่ระดับ 5 เท่าในเดือน ต.ค. ปี 2541 ส่วนเดือนก.พ. ปี 2555 นี้ ค่าพีอีอยู่ที่ 11 เท่า ถือว่าไม่สูงและราคาหุ้นยังค่อนข้างถูกเช่นกัน

ประชากรมากหนุนดีมานด์
 
โมเบียส แสดงถึงความเชื่อมั่นในพลังการบริโภคของตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะจีนกับอินเดีย เป็นอีกแรงขับเคลื่อนให้ตลาดเติบโตและน่าสนใจ เพราะพิจารณาจากแนวโน้มประชากรตลาดเกิดใหม่ช่วงปี 2493-2554 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและ 2 ปีที่แล้วจำนวนประชากรอยู่ที่เกือบ 6 พันล้านคน ตรงข้ามกับตลาดพัฒนาแล้วทั่วโลกในช่วงเวลาเดียวกันข้างต้น กลับมีจำนวนประชากรทรงตัวเพิ่มขึ้นน้อยมากราว 1.1 พันล้านคน 
จากนั้นดูรายได้ต่อหัวของประชากรในกลุ่มบริค ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจดาวเด่นสำคัญของตลาดเกิดใหม่ คือ บราซิล  รัสเซีย  อินเดีย และ จีน พบว่ายังไม่สูงและน้อยกว่าตลาดพัฒนาแล้ว อย่างสหรัฐ  อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และญี่ปุ่น ถึง 10 เท่า สะท้อนว่ายังมีช่องให้รายได้ต่อหัวของประชากรในตลาดสำคัญของตลาดเกิดใหม่เพิ่มขึ้นได้อีกมาก 
นอกจากนี้ ยังพิจารณา จีดีพีเทียบการเติบโตของรายได้ช่วงปี 2548-2553 ปรากฏว่า ตลาดเกิดใหม่มีจีดีพีเทียบการเติบโตของรายได้อยู่ที่ 87% ซึ่งสูงกว่าตลาดพัฒนาแล้วอย่างมาก ซึ่งช่วงปีเดียวกันนั้นจีดีพีเทียบการเติบโตของตลาดพัฒนาแล้วเท่ากับ 13%

ดีมานด์ดันยอดขายพุ่ง
 
โมเบียส ยังนำเสนอ ข้อมูลการใช้สินค้าภาคครัวเรือนในชนบทตลาดสำคัญของตลาดเกิดใหม่ เช่น

ตู้เย็น                            มีภาคครัวเรือนในชนบทจีนใช้เพิ่มต่อเนื่องจาก 1% ในปี 2533 เป็น 37% ในปี 2552   
เครื่องซักผ้า              ใช้เพิ่มชึ้นในช่วงเดียวกันจาก 9%ในปี 2533 เป็น 53% ในปี 2552  
เครื่องคอมพิวเตอร์     ใช้เพิ่มจาก 0% ในปี 2533 เป็น 7% ในปี 2552 
เขาตั้งข้อสังเกตว่า แรงซื้อการใช้สินค้าอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิต ยังปรับขึ้นอีกเหมือนเป็นเส้นทางยาวไกลยังไปได้เรื่อยๆ ดูจากการใช้จักรยานของภาคครัวเรือนในชนบทจีนลดลงจาก 118% ในปี 2533 มาอยู่ที่ 96%ในปี 2552  สวนทางยอดขายรถยนต์เทียบตลาดสหรัฐ ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องล่าสุดเมื่อสิ้นปี 2554ยอดขายรถในจีนอยู่ที่1.6 ล้านคันต่อเดือน สะท้อนความต้องการรถยนต์มีมากกว่าตรงข้ามกับการใช้จักรยานที่ลดลง  เช่นเดียวกับ ….

อินเดีย          ยอดขายรถยนต์ต่อเดือนช่วงปี 2535-2555 แนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องล่าสุดเกือบ 1.8 แสนคัน
บราซิล             ยอดขายรถช่วงปี 2535-2555 เพิ่มต่อเนื่องล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 2.7แสนคัน
อินโดนีเซีย       ยอดขายรถมอเตอร์ไซค์ช่วงปี 2535-2555 ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่กว่า 6 แสนคัน 
โมเบียส ยังใช้สถิติอัตราการมีรถยนต์ใช้เทียบประชากรทั้งประเทศ บ่งชี้ว่าความต้องการใช้รถยนต์ประเทศสำคัญตลาดเกิดใหม่ อย่าง อินเดีย  จีน บราซิลและเม็กซิโก ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากเมื่อเทียบกับสหรัฐ โดยอัตราผู้มีรถยนต์ในอินเดียกับจีนมีเพียง 1% และ 4% ของประชากร ส่วนบราซิลกับเม็กซิโกมีอัตราผู้ใช้รถ 12% และ 17% ตามลำดับ ตรงข้ามกับสหรัฐมีอัตราผู้ใช้มากถึง 42% ของประชากร 
และหากดูการผลิตไฟฟ้าสนองความต้องการใช้ในจีน ละตินอเมริกา และ อินเดีย ช่วงปี 2519-2552  มีแต่จะเพิ่มขึ้น แต่ตลาดจีนมีการใช้เพิ่มขึ้นมากสุดถึง 4 ล้านล้านเมกะวัตต์ ทิ้งห่างละตินอเมริกาที่ใช้ราว 1.4 ล้านล้านเมกะวัตต์ ตามด้วยอินเดีย ใช้ 1 ล้านล้านเมกะวัตต์
 
โมเบียส กล่าวถึงการใช้อินเทอร์เน็ตในบราซิลและจีน ช่วงปี 2545-2553 พบว่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในบราซิลเพิ่มจากกว่า 15 ล้านคน ในปี 2545 เป็น 80 ล้านคนในปี 2553 ส่วนจีนมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มต่อเนื่องจาก 50 ล้านคน ในปี 2545 เป็น 650 ล้านคน ในปี 2553   
นอกจากนี้การนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นทองคำ  น้ำมัน โลหะต่างๆ และสินค้าด้านพลังงานอื่นๆ ของตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะจีน ช่วง 10-40 ปีที่ผ่านมา มีแต่จะเพิ่มขึ้น สวนทางกับตลาดพัฒนาแล้วที่ทรงตัวและค่อยๆ ลดลง

เปิดรับความเสี่ยงน้อย

โมเบียส ยอมรับทุกที่ทุกตลาดย่อมมีความเสี่ยง แต่หากพูดถึงความเสี่ยงสำหรับตลาดเกิดใหม่นั้น โมเบียสเชื่อว่าความเสี่ยงมีน้อยกว่าตลาดพัฒนาแล้วมาก พิจารณาจากมูลค่าหนี้สาธารณะต่อจีดีพี (Goverment Debt Per Capital) ในปี 2553 พบว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น  อิตาลี แคนาดา ฝรั่งเศสเยอรมนี สหรัฐ อังกฤษ และ สเปน ยังมากกว่าบราซิล  เม็กซิโก และ จีน อยู่มาก  
นอกจากนี้การส่งออกตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกไปยังตลาดสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งปัจจุบันยังวุ่นวายอยู่กับการจัด การวิกฤติหนี้สาธารณะในภูมิภาคนั้นปรากฏว่า ตั้งแต่ปี 2550-2553 การส่งออกหรือพึ่งตลาดยุโรปลดลงอย่างต่อเนื่อง จนเหลือเพียง 15% ของการส่งออกโดยรวม หากดูเฉพาะตลาดเกิดใหม่ในละตินอเมริกา พบว่าส่งออกไปอเมริกาไม่ถึง 13% ของการส่งออกโดยรวม