ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

การแก้ปัญหาหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ที่เตรียมเรียกเก็บเงินสมทบเข้าสถาบันคุ้มครองเงินฝากเพิ่มจาก 0.4% กระทบกับภาพรวมตลาดอย่างไร

คุณวรวรรณ ธาราภูมิ
นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.บัวหลวง จำกัด

7 มกราคม 2555      

ปัญหาในวันนี้คือ เรามีหนี้ และเป็นหนี้ของประเทศคือของพวกเราทุกคนที่ต้องจ่ายคืน หนี้ก้อนนี้เกิดจากการเข้าไปอุ้มสถาบันการเงินเมื่อกว่า10 ปีก่อน โดยที่รัฐบาลไปออกพันธบัตรเพื่อระดมทุนให้กองทุนฟื้นฟูฯ มันจึงเป็นหนี้ภาครัฐ

คำว่าหนี้ภาครัฐ ก็คือหนี้สาธารณะหรือหนี้ของพวกเราประชาชนทั้งหมดรวมถึงลูกหลานที่ยังไม่เกิด  อย่าไปมองว่ามันเกิดจากรัฐบาลไหน เพราะจะอย่างไรเราก็ปฏิเสธหนี้ไม่ได้ เราอยู่กับมันมากว่าสิบปีแล้วโดยที่พวกเราหลายคนอาจจะไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ  และเมื่อประมาณ 14 ปีก่อนที่มีปัญหาต้มยำกุ้ง หลายคนก็ชี้นิ้วไปที่แบงค์ชาติว่าเป็นต้นเหตุ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วไม่ใช่ แต่แบงค์ชาติเป็นส่วนที่ทำให้เสียหายเพิ่มด้วยการไปต่อสู้ค่าเงินบาทที่โดนโจมตีจากกองทุน Hedge Fund ต่างประเทศ แล้วก็สู้ไม่ได้ ต้องยอมมอบตัวในที่สุด เกิดความเสียหายมากมาย  หลายคนตกงานเพราะสถาบันการเงินถูกปิดไป 56 แห่ง เนื่องจากขาดสภาพคล่องรุนแรง อัตราดอกเบี้ยระหว่างกันบางวันพุ่งขึ้นไปถึง 50% ก็ยังไม่มีใครให้กู้  แบงค์ชาติก็อุ้มไม่ไหว ไม่มีเงินไปอุ้ม เมื่อธุรกิจไม่มีเงินจากแบงค์มาหนุน คนฝากเงินกลัวไม่ได้เงินฝากคืนก็พากันแห่ถอน ทุกอย่างจึงแทบจะหยุดไปหมด เรียกว่ากลไกของระบบการเงินมันพังทลายไปเลยก็ได้

ส่วนต้นเหตุจริงๆ น่าจะเป็นความรู้เท่าไม่ถึงการไปเปิดทางให้เอกชนกู้เงิน BIBF ที่ดูว่าเก๋มาก ทันสมัย ก้าวหน้าที่สุด โดยที่ประเทศยังไม่มีภูมิคุ้มกันเพียงพอ ก็อาจกล่าวได้ว่าสาเหตุเกิดจากทั้งรัฐบาล ทั้งแบงค์ชาติ ทั้งเอกชนที่ไปใช้ BIBF กู้เงินต่างประเทศดอกเบี้ยถูกเข้ามา และทั้งผู้ฝากเงินที่รัฐบาลต้องอุ้มไว้นั่นละ  

แบงค์ชาติใช้เวลาพักใหญ่ฝ่ามรสุมที่ผู้คนสาปแช่งอยู่นานกว่าจะได้รับความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้ถึงขนาดนี้ แล้วคนที่ความจำดีก็บ่นว่าทำไมคนที่ทำให้เกิดความเสียหายยังได้ดิบได้ดีกันยกชุด ยกเว้นคุณเริงชัย ที่เป็นคนหรือแพะผู้โดดเดี่ยวก็ไม่รู้ เพราะรับเละรายเดียวในฐานะเป็น CEO ธปท. และต้องรับในปริมาณที่เกิดใหม่ 500 ชาติก็ชดใช้คืนไม่ไหว  

ที่จริงแล้วเราทุกคนต้องไม่มองเรื่องนี้ด้วยสายตาที่ส่องผ่านความเกลียดชัง หรือความรักใคร่ชอบพอ เราต้องมองด้วยสายตาของคนไทยที่มีวุฒิภาวะและมีความรับผิดชอบต่อภาระหนี้ที้เกิดขึ้น  อย่ามองเพียงว่าเราไม่ได้เป็นคนทำแล้วทำไมเราต้องรับ เพราะหากเราเป็นคนญี่ปุ่น เราจะไม่โทษกันไปมาว่าหนี้นี้รัฐบาลก่อ หรือ แบงค์ชาติก่อ มันก็หน่วยงานรัฐทั้งหมดไม่ใช่หรือ เงินสามีเงินภรรยามันก็คนคนเดียวกันนั่นแหละ คนญี่ปุ่นเขามีความรับผิดชอบต่อประเทศชาติสูงมาก ซึ่งเราก็ชื่นชมเขาใช่ไหม แล้วทำไมเราไม่ทำตนอย่างคนญี่ปุ่นในเรื่องความรับผิดชอบ กับระเบียบวินัย และความไม่เห็นแก่ตัว

1.       ธุรกิจธนาคารจะได้รับผลกระทบอย่างไร

            ในระยะสั้น หากมีการทำตามข่าวล่าสุดที่ออกมาในวันเสาร์ คือจะยังไม่ขึ้นค่าประกันเงินฝากให้เกิน 0.40% แม้ว่า 0.35% จาก 0.40% นี้สถาบันประกันเงินฝากจะต้องส่งให้แบงค์ชาติจนเหลือไว้เองเพียง 0.05% ก็ตาม ผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์ก็ยังไม่มีอะไร แต่ผลกระทบเชิงจิตวิทยาของผู้เล่นในตลาดหุ้นมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่างในปลายสัปดาห์ที่แล้ว หุ้นแบงค์ตกกันกราวเลย ทั้งๆ ที่แบงค์ไม่น่าจะกระทบเลยในระยะสั้น

             แต่ในระยะปานกลางถึงระยะยาวหากมีความจำเป็นที่จะต้องเก็บค่าประกันเงินฝากเกิน 0.40% (กฏหมายกำหนดให้เก็บได้ไม่เกิน 1.00%) เช่น สมมติว่าเขาเก็บที่ 1.00% ก็จะทำให้เงินฝาก 100 บาทถูกกันไว้ 1 บาทเพื่อเป็นค่าประกันเงินฝาก ซึ่งแบงค์พาณิชย์เลยเอาไปปล่อยสินเชื่อเพื่อหารายได้ หรือทำอะไรอื่นๆ ได้ลดน้อยลง เรียกว่าต้นทุนเงินฝากของธนาคารจะสูงขึ้น และจะผลกระทบต่อกำไรของธนาคาร แต่ที่จะไป กระทบมากหรือน้อยมันขึ้นอยู่กับความสามารถของธนาคารในการผลักภาระไปยังลูกค้า ซึ่งรัฐบาลก็อาจจะตีกันไว้ก่อนเพื่อรักษาฐานเสียงว่าห้ามธนาคารผลักภาระไปยังลูกค้าก็ได้ หากเป็นเช่นนี้ ก็จะทำให้ ธนาคารไม่สามารถผลักภาระดังกล่าวไปให้ลูกค้าได้ทั้งในแง่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และการลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก  กำไรก็จะลดลง  แต่อาจจะหลบไปออกตั๋วบีอีแทนการหาเงินฝากบางส่วน เพราะตั๋วบีอีนี่สถาบันประกันเงินฝากไม่คุ้มครอง จึงไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมปะกัน อย่างไรก็ตาม ธปท. หรือ กลต. อาจ จะออกมาตรการควบคุมการออก B/E ที่เข้มงวดขึ้น จนทำให้ธนาคารไม่สามารถลดภาระต้นทุนดังกล่าวผ่านการออก B/E ได้สะดวกเหมือนที่ผ่านมาก็ได้  และจากเหตุผลข้างต้นในระยะสั้นที่ธนาคารอาจไม่สามารถผลักภาระมายังลูกค้าได้ หากเป็นอย่างนี้แล้วธนาคารก็จะไม่สามารถรักษาระดับ NIM (Net Interest margin = รายได้ดอกเบี้ยรับ ดอกเบี้ยจ่าย) ไว้ได้ กำไรจึงจะลดลง

            อย่างไรก็ตาม การบังคับเรียกเก็บค่าประกันเงินฝากเพิ่มขึ้นจะไม่สอดคล้องกับภาระในการคุ้มครองเงินฝากของสถาบันประกันเงินฝากที่ปัจจุบันเป็น 50 ล้านบาทต่อลูกค้าต่อธนาคาร เพราะเมื่อวงเงินประกันเงินฝากนี้ลดลงเหลือ 1 ล้านบาทแล้วในเดือนสิงหาคมนี้ ทำไมค่าประกันเงินฝากถึงไม่ลดลงจาก 0.40% ด้วยเล่า แถมยังจะไปเพิ่มอีก มันดูไม่มีเหตุผล และยังสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านเราด้วย ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการแข่งขันของธนาคารในประเทศสูงกว่าธนาคารคู่แข่งในภูมิภาค แล้วเมื่อเปิดเสรีแล้วจะไปแข่งกับเขาได้อย่างไร นอกจากนี้ ธนาคารของรัฐก็ไม่ได้อยู่ในระบบประกันเงินฝากด้วย ไม่มีภาระส่งเงินเข้าสถาบันประกันเงินฝาก แต่สามารถใช้ยี่ห้อว่ารัฐบาลเป็นประกันมาแข่งกับธนาคารพาณิชย์ในตลาดเดียวกัน อันนี้ก็ไม่มีความเป็นธรรมในการแข่งขัน ใครจะไปสามารถบอกได้ว่าธนาคารของรัฐมีความมั่นคง มีการควบคุม   และบริหารที่ดีกว่าของเอกชนได้  ซึ่งการที่รัฐบาลเป็นประกันนั้นก็คือจะต้องใช้เงินของพวกเราทั้งหมดไปอุ้มหากมีปัญหาเกิดขึ้นใช่หรือไม่ แล้วทำไมเอาเงินภาษีของประชาชนไปอุ้มอีก ก็เรากำลังจะออกจากวงวันนี้ไม่ใช่หรือ ถึงได้ลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาทสำหรับธนาคารพาณิชย์ แต่ทำไมธนาคารของรัฐถึงไม่เป็นแบบเดียวกัน ตรงนี้ผู้กำหนดนโยบายต้องบอกให้ชัดเจนถึงเหตุผล และต้องกำหนดทิศทาง  ให้ธนาคารรัฐทำหน้าที่สนองนโยบายรัฐบาลได้โดยไม่เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เราทุกคนมีภาระหนี้เพิ่มในวันข้างหน้าด้วย อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่าไม่ได้หมายความว่าทุกวันนี้ธนาคารรัฐบริหารไม่ดี เพียงแต่เห็นความเสี่ยงในอนาคตในเมื่อทุกรัฐบาลจะเอาอะไรก็ไปออกหวยที่ธนาคารรัฐกันหมด ต้องสนองนโยบายรัฐทั้งนั้น จึงไม่อยากเห็นกองทุนฟื้นฟูสองเกิดขึ้นมาให้เราแบกหนี้เพิ่มอีก

            เรื่องการขึ้นอัตราการเรียกเก็บเงินสมทบเพิ่มทุก 0.2% นั้น นักวิเคราะห์เขาประเมินว่าจะส่งผลกระทบลบ ต่อกำไรของกลุ่มธนาคารประมาณ 7% และกระทบมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้นประมาณ 1%

            (หมายเหตุ : ที่เขาทำ scenario ว่าเก็บเงินเข้าสถาบันประกันเงินฝากเพิ่มอีก 0.20% เพราะว่าภาระหนี้   ดอกเบี้ยจ่ายของกองทุนฟื้นฟูฯ เท่ากับ 45,000 ล้านบาทต่อปี และเงินที่ปัจจุบันสถาบันประกันเงินฝากเก็บที่ 0.40% เป็นเงินประมาณ 30,000 ล้านบาทต่อปี  ถ้าเก็บเพิ่ม 0.20% จะใกล้เคียงกับภาระดอกเบี้ยจ่าย)

            ธนาคารพาณิชย์จึงน่าจะหันไประดมเงินทุนผ่านการออก B/E  และ interbank มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นช่องทางที่ไม่ต้องส่งเงินเข้าสถาบันประกันเงินฝาก จึงอาจส่งผลให้เงินที่สถาบันประกันเงินฝากคาดว่าจะจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นเพื่อให้เพียงพอต่อ ภาระดอกเบี้ยจ่ายหนี้กองทุนฟื้นฟูไม่เป็นไปตามที่คาดว่าจะได้เพิ่มอีก 15,000 ล้านบาท หากเป็นเช่นนี้แบงก์ชาติอาจจะต้องออกกฏเพิ่มเติมเพื่อป้องกันเงินฝากไหลออกไปแหล่งอื่น เช่น ห้ามออก B/E เกินกี่เปอร์เซ็นต์ของแหล่งเงินทุนทั้งหมด หรือเรียกเก็บค่าธรรมเนียมธนาคารพาณิชย์ในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้นก็ได้

2.       ระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศจะเป็นอย่างไร ต้นทุนคนกู้จะเป็นอย่างไร

            ผลกระทบในระยะสั้นคงไม่มี แต่ในระยะยาวการ pass on ต้นทุนที่สูงขึ้นบางส่วนไปให้ผู้กู้เงินอาจทำได้ เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมของลูกค้าขนาดใหญ่ค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับการระดมทุนจากตลาดเงินและตลาดทุน แต่หาก pass on มากเกินไปลูกค้าอาจจะหันให้ระดมเงินจากทางตลาดเงินมากขึ้นแทน ส่งผลให้เงินฝากและเงินกู้ในระบบโตช้าลงได้ หรือลดลงก็ได้ในกรณีร้ายสุด  จึงมองว่าในระยะกลางและยาว ธนาคารต้องปรับตัวและกลยุทธ์ในการทำธุรกิจเพื่อมุ่งเน้นหารายได้ทางอื่นแทน ซึ่งบางแบงก์มีความพร้อม แต่หลายแบงก์ยังไม่มีความสามารถที่จะแข่งขันในผลิตภัณฑ์ทางการเงินด้านอื่นๆ มากนักและทรัพยากรบุคคลที่เหมาะสมก็มีจำกัด

3.       ธุรกิจกองทุนรวมเป็นอย่างไร

            ไม่กระทบ เราไม่เกี่ยวกับสถาบันประกันเงินฝากอยู่แล้ว

4.       เห็นด้วยหรือไม่ ที่จะให้ ธปท.รับเคลียร์หนี้แทนกระทรวงการคลัง

            เห็นด้วยบางส่วนว่า ธปท.ควรมีส่วนในการช่วยรับผิดชอบหนี้ที่เกิดขึ้นแต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะปัญหาเกิดมาจาก BIBF และ การขาย NPL ไปในราคาลดต่ำลงมาก ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของทั้งแบงก์ชาติและคลัง  แต่ไม่เห็นด้วยที่จะให้โอนหนี้ FIDF ทั้งก้อน (1.14 ล้านล้านบาท) จากเดิมอยู่ที่คลัง (บันทึกเป็นหนี้  สาธารณะ – Public debt) ไปที่ ธปท.และไม่เห็นด้วยกับวิธีการหาเงินมาจ่ายชำระดอกเบี้ยโดยการเพิ่มต้นทุนให้กับธนาคาร

            ปัจจุบัน ธปท. ขาดทุนจากภาระการออกพันธบัตรเพื่อดูดสภาพคล่อง หากไปผลักภาระดอกเบี้ยมาให้ ธปท. รับรายเดียว (เดิมคลังรับภาระดอกเบี้ยจ่าย) ถ้าการจัดเก็บเงินเพื่อมาจ่ายชำระหนี้ไม่เป็นไปตามที่ คาดการณ์มันก็เหมือนจะไปผลักดันให้ ธปท.ต้องทำการพิมพ์เงินชุดใหม่ออกมา ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อความเป็นกลางของ ธปท. รวมถึงก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อและเสถียรภาพของค่าเงินบาท ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสถานภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวแน่นอน ส่วนการที่รัฐบาลจะไปกำหนดห้ามมิให้ ธปท.พิมพ์เงินเพิ่มเพื่อชำระหนี้นี้ หากเขาไม่มีปัญญาจ่ายล่ะ จะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย หรือจะไปกดดันให้เขาสหาประโยชน์จากทุนสำรองเงินตราต่างประเทศด้วยการรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แล้วหากลงทุนแล้วขาดทุนล่ะ จะทำอย่างไร

5.       สถาบันการเงินบ้านเรามีความแข็งแกร่งเพียงพอหรือไม่ ณ ปัจจุบัน ในการรับมือวิกฤติหนี้ยุโรปเศรษฐกิจสหรัฐ

            จากผลของวิกฤติต้มยำกุ้ง กลุ่มธนาคารได้มีการปรับโครงสร้างและมีใช้นโยบายการรักษาสภาพคล่องและ การตั้งสำรองอย่างระมัดระวัง ผลดังกล่าวทำให้งบดุลของธนาคารมีความแข็งแกร่ง โดยมีสัดส่วนเงินสำรองต่อหนี้เสียสูงกว่า 100% ในขณะที่อัตราหนี้เสียอยู่ในระดับที่ต่ำ ความแข็งแรงของงบดุลดังกล่าวทำให้เราเชื่อว่าวิกฤติหนี้ยุโรปและเศรษฐกิจสหรัฐที่ไม่แข็งแรง น่าจะกระทบต่อธนาคารในแง่ของการเติบโตของรายได้มากกว่าจะส่งผลเสียต่อฐานะงบดุลที่แข็งแรงของกล่มธนาคาร

สุดท้ายก็มีข้อคิดว่า ทำไมไม่หาเงินก้อนแรกจากการหยุดคอร์รัปชั่น  ก้อนที่สองจากคนรวยจริงๆ ที่เลี่ยงภาษีแล้วใช้วิธีจ่ายเลี้ยงเจ้าหน้าที่ไม่ให้เก็บภาษีได้ครบถ้วน ก้อนที่สามจากการตรวจสอบทรัพย์สินข้าราชการกับนักการเมืองทุกคนโดยไปเทียบกับภาษีที่เขาจ่ายว่ามันสมเหตุสมผลกันไหม  แล้วให้ไปเร่งรัดคดียึดทรัพย์เข้าคลังให้ได้ภายใน 1-2 ปี  อาจจะดูสั้นไปสำหรับกระบวนการ (ไม่ยุติธรรม) ในบ้านเรา แต่จะให้รอจนเจ้าตัวกลับไปเกิดใหม่แบบทุกวันนี้ คงจะรอไม่ได้ หากทำแบบนี้ เราก็มีเงินใช้หนี้หมดเกลี้ยงภายใน 2 ปีแล้ว ไม่ต้องรอไปอีก 25 ปีหรอก

วันอังคารที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2555

คำแนะนำการลงทุนตลอดปี 2555 ตอนที่ 3 (ตอนจบ)


คุณวรวรรณ ธาราภูมิ
CEO บลจ. บัวหลวง

9 มกราคม 2555


คำถามที่เข้ามาบ่อยๆ คือ ประเทศไทย จะเป็นยังไงปีนี้

เอากำปั้นทุบดินตอบก็คือ ก็ยังทะเลาะกันไม่หยุดในหลายส่วนแบบเดิมแหละ เพราะมันกลายเป็นส่วนหนึ่งของ DNA ของพวกเราไปแล้วละมั้ง  วันไหนขาประจำตื่นมาไม่ได้ด่าใครน่าจะเกิดอาการท้องอืดไปตามๆ กัน

ทำใจให้ชินกับสิ่งแวดล้อมท่วมน้ำลายที่ไม่ฟังเหตุผลกัน และเอาแต่ดึงดันตามใจตนซะ  มันไม่หายไปจากบ้านเราง่ายๆ หรอก

ส่วนจะน้ำท่วม แผ่นดินจะไหว ตึกจะถล่ม ไฟจะไหม้ ระเบิดจะผุด คนจะตีกันไปจนตายหมดแผ่นดิน รัฐธรรมนูญจะโดนแก้ อำนาจจะโดนยึด รัฐบาลจะโดนล้ม  โลกจะล้อมประเทศ กองทัพจะโดนบอนไซ หรืออะไรก็แล้วแต่ เราควรปล่อยให้น้องปลาบู่กับกูรูโหราศาสตร์ว่ากันไป เพราะมันยังคาดเดาไม่ได้สำหรับเรา เราจะดูแค่การลงทุนไปก่อน

ป้าๆ หยุดบ่นแล้วเข้าเรื่องสักทีสิ

เออ ลืมตัวอ่ะ ขอบใจนะที่เตือน เอ้า มาสรุปสั้นๆ เรื่องเมืองไทยละ

ไทยจะฟื้นตัวแบบ V Shape ในปีนี้หากเทียบกับปีที่แล้ว เพราะปีที่แล้วอัตราการเติบโตของ GDP มีฐานต่ำ  และจะเติบโตสูงสุดในไตรมาส 4  ปีนี้ ด้วยแรงส่งของการใช้งบประมาณฟื้นฟูประเทศจากน้ำท่วม และงบประมาณผลักดันโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งผลักดันการเติบโตจากภายในประเทศด้วย ทักษิโนมิคโมเดล อย่างที่เคยประสบความสำเร็จในปี 2003  โดยบริษัทจดทะเบียนไทยในปีนี้น่าจะมีกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้งหนึ่ง ต่อเนื่องจากปีก่อน แม้ประเทศจะกระทบจากน้ำท่วมและปัญหาเศรษฐกิจในยุโรปก็ตาม ซึ่งจะได้แรงส่งจากการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐ การลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ฯลฯ และสิ่งที่เราจะพบเห็นมากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศก็คือการรวมกิจการกันเพื่อความแข็งแกร่งและอยู่รอด การรวมกันจะทำให้ผลกำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้น  ซึ่งรวมถึงภาคธุรกิจหลักทรัพย์

อ้าว ป้าพูดงี้แสดงว่าชอบ ทักษิโนมิคส์ อะดิ

ปั้ดโธ่ เจ้าหนอนน้อย การมองภาพที่กระจ่างที่สุด จะต้องไม่สนใจเชียร์ฝ่ายไหนนะยะหล่อน เพราะเงินไม่เคยเลือกข้างทางการเมือง 

เนี่ยะ เราน่ะรู้จักประชาคมอาเซียนป่ะ

รู้ๆ ก็ที่ลุงแขกดำ เอ้ย ลุงสุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็นประธานเก่านั่นใช่ไหม

เออๆ  อะไรประมาณนั้นน่ะ ประชาคมอาเซียน ในปีนี้จะค่อยๆ เดินไปสูความเป็นรูปธรรมและทวีความสำคัญขึ้น ที่จริงแล้วประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกไปยังอาเซียนมากกว่าที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ และจีนรวมกันอยู่แล้วด้วยซ้ำ เราจึงมีโอกาสที่การค้าในกลุ่มอาเซียนที่จะทวีขึ้นนั้นส่งประโยชน์กับประเทศไทยอีกมาก โดยอาจจะเกิดพื้นที่สำคัญในหัวเมืองชายแดนสำหรับเป็นจุดทำการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน

โห .. เพิ่งรู้นะป้า ว่าเราส่งออกให้เพื่อนบ้านเรามากกว่าสหรัฐกับจีนรวมกันเสียอีก

เออ หน้าตาฉลาดๆ อย่างนี้ ไม่รู้ก็ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่หรอก

ป้าๆ  อย่างนี้ถ้าจีนได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจภายนอกกับฟองสบู่ภายใน  อาเซียนก็ยังไปไปไหวใช่ไหม

ใช่แล้ว เราจึงควรเน้นที่ภูมิภาคนี้เป็นสำคัญ แต่มองว่าอุปสรรคในจีนยังอยู่ในช่วงต้นๆ ซึ่งท้าทายความสามารถของรัฐบาลปักกิ่งไม่น้อยว่าจะ เอาอยู่ ได้ไหม

เอาอยู่ เนี่ยนะ น่ากลัวอ้ะ

เออๆ  มันติดปาก ก็ชอบคำนี้นี่นา ทีนี้ส่วนสำคัญที่จะทำให้ประชาคมอาเซียนรุ่งเรืองคือต้องมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน กันละ ดังนั้น ในทศวรรษนี้จึงน่าจะมีการลงทุนในโครงการที่เกี่ยวกับการก่อสร้างจุดคมนาคมเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านอีกมากเลย อย่างเช่น ทางรถไฟ ถนน ท่าเรือ และโทรคมนาคม เนี่ยะ แล้วรู้ไหมล่ะว่าบริษัทไทยหลายแห่งที่มีความชำนาญและช่องทางทำธุรกิจกับพม่าอยู่แล้ว จะเป็นหัวจักรการลงทุนในพม่าอีกด้วยนะ

อ๋อ ... เข้าใจละป้า ...  ไทยจะได้ประโยชน์จากประชาคมอาเซียนในอนาคตได้ขนาดไหน มันก็ขึ้นอยู่กับนโยบายและกลยุทธ์ของรัฐที่จะช่วยผลักดันกันใช่ไหม  แต่เท่าที่ดูความพร้อมของบริษัทเอกชนทั่วๆ ไป ยกเว้นบริษัทใหญ่มากๆ แล้ว น่าจะยังไม่พร้อมเอาเสียเลย ไม่รู้จักด้วยซ้ำ แล้วคนไทยส่วนใหญ่ก็ยังไม่รู้เรื่องอยู่ดี

ใช่แล้วเจ้าหนอนน้อย ... ก็แค่บทความเกี่ยวกับเรื่องอาเซียนที่ลง นสพ. กันโครมๆ นั้น สงสัยจริงๆ ว่ามีคนอ่านกันสักกี่คน ทั้งๆ ที่มันมีประโยชน์มาก

หนอนน้อยก็ไม่เคยอ่านเหมือนกันแหละ  ป้าอย่าด่ากันนะ

เออๆ  ขี้เกียจด่าแล้ว  ด่าแล้วเจ็บนิ้ว

ไรว้า ด่าแล้วเจ็บนิ้ว เกิดมาไม่เคยเจอ

เอ๊า .. ก็คนทันสมัยเขาเป็นนักรบจิ้มแป้นกันไม่ใช่เหรอ เวลารบกันเขาก็ด่ากันผ่านแป้นพิมพ์ไง ด่ามากเลยเจ็บนิ้วมากไง  ฮ่าๆๆๆๆๆๆ

แล้วอัตราดอกเบี้ยละ จะขึ้นหรือจะลง

ถามทำไมล่ะ

ไม่รู้ มันดูเท่ ก็เลยถามอ่ะ

เออ เท่ ก็ เท่  เจ้าหนอนเน่า ... ตอนนี้น่ะ ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อมันทุเลาไปมากแล้ว โอกาสที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศจะเป็น "ขาลง" ต่อไปสักพักก็เลยมีเพราะเขาคงต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย 

เย้ยยยย .... หนอนน้อย ไม่ใช่ หนอนเน่า นะป้า ...  อย่างนี้ช่วงครึ่งแรกของปี ถ้าหนอนน้อย เอาเงินที่ต้องใช้ลงทะเบียนเรียนกลางปีไปลงทุนในกองทุนพันธบัตรระยะยาว หรือฝากเงินระยะยาว มันน่าจะดีใช่ไหม เพราะได้ล็อคอัตราดอกเบี้ยที่ยังสูงเอาไว้ก่อน

เออ ฉลาดขึ้นละ สินทรัพย์เสี่ยงทุกประเภท จะคงความผันผวนสูง เพราะเศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยได้อีกจนกว่าปัญหายุโรปจะคลี่คลาย หากไม่ใช่เงินยาวๆ แล้วอย่าไปยุ่งกับความเสี่ยง เงินลงทะเบียนเรียนมันช่วงสั้นแค่ 6 เดือนเอง อยู่กับอะไรที่ปลอดภัยกว่าก็ดีแล้ว  


ครับๆ ความเสี่ยงที่ยังมีในโลก เราจะจัดการยังไงละป้า

ไม่มีอะไรดีไปกว่าการประเมินเป็นเรื่องๆ แล้วเตรียมแผนรับมือล่วงหน้าว่าหากเกิดแล้ว เราจะทำอะไรกับพอร์ตลงทุน  ไม่ว่าจะเรื่องไฟไหม้ น้ำท่วม ยูโรแตก สงครามยิว-อาหรับ อิหร่าน-สหรัฐ หรือฆ่ากันตายในประเทศ-นอกประเทศ  อุกกาบาตตกลงบนหัว โอ้ย .. สาระพัด

เอ๊า .. อุกกาบาตจะตกลงมาบนหัวใครอ่ะ

หัวแกไง เจ้าหนอนเน่า ให้เตรียมตัว เตรียมใจ แต่ต้องไม่ลืมกฏที่ว่า ความเสี่ยงมันมีทุกวัน เราไม่รู้หรอกว่า  ตลาดจะเป็นอย่างไร แต่เรารู้อยู่แล้วว่าการลงทุนระยะยาวมันต้องผ่านวงจรที่มีทั้งขาขึ้นและขาลง   การสนองตอบแบบดีสุดขั้ว หรือมั่วสุดขีด จึงทำร้ายพอร์ตลงทุนของเราได้

ป้าๆ จะเล่นกายกรรมเหรอ ขาขึ้น ขาลง อั๊พแอ่นด๋าว น่ะ

เย้ย .... ชั้นจะได้เล่าจบก่อนฆาตกรรมเด็กไหมนี่ 
ป้าอ่ะ หนอนน้อยจะบวชเณร หน้าร้อนนี้แล้วนะ

เออๆ บวชแล้วไง

ก็ฆ่าแมวตัวก็เหมือนฆ่าเณรองค์นึงนะป้า

เกี่ยวไรกะแมวว้า ... แต่ก็นั่นแหละ งั้นชั้นฆ่าเณรองค์นึง ก็เท่ากับฆ่าแมวตัวนึงเองไง

โห ..... โหดที่สุด

เอ้า เจ้าหนอนบูด จำไว้นะว่า กุญแจของความสำเร็จในการลงทุนอยู่ที่การจัดสรรเงินลงทุนของเราไปในสินทรัพย์ต่างๆ ที่ทำให้เราหัวถึงหมอนนอนหลับสบาย เพราะเรามั่นใจว่าสัดส่วนการลงทุนแบบนั้นจะนำพาเราผ่านพ้นวิกฤติทางเศรษฐกิจหรืออะไรอื่น ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ในขณะที่จะทำให้เรายิ้มได้เมื่อตลาดขึ้นในรอบต่อไป

ค้าบ จำแล้วค้าบ ...







วันจันทร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2555

มาเป็นผู้ลงทุนที่มีคุณภาพกันมากขึ้นในปีนี้


คุณวรวรรณ ธาราภูมิ
CEO บลจ. บัวหลวง

8 มกราคม 2555


บทความของ Nathan Hale  ที่เขียนลงใน MoneyWatch เมื่อ 29 ธันวาคม 2554 น่าสนใจมากเพราะเหมาะกับช่วงเวลาที่เราเห็นความเสี่ยงหลายด้านอยู่ข้างหน้า  จึงขอนำมาถ่ายทอดให้อ่านกันค่ะ

Nathan Hale  บอกว่า ผู้ลงทุนหลายคนมักจะอยู่ใน 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผู้ไม่มีความรู้พอที่จะตัดสินใจได้ดี กับ ผู้ไม่รู้ตัวว่าเขาไม่มีความรู้พอที่จะตัดสินใจได้อย่างชาญฉลาด แต่ข่าวดีก็คือคนที่ประสบความสำเร็จในการลงทุนไม่ได้ต้องการอะไรที่ซับซ้อนมาเป็นตัวช่วย เพราะผลงานของกองทุนไม่ได้สัมพันธ์กันกับความซับซ้อนของกองทุนเลย  และเราสามารถสร้างพอร์ตการลงทุนระยะยาวของเราเองได้อย่างเรียบง่าย ตรงไป ตรงมา และสามารถฝ่าฟันวงจรเศรษฐกิจไปได้ในทุกวงจร ไม่ว่าจะดีหรือร้าย ด้วย 4 ข้อคิด ดังต่อไปนี้

1.       มุ่งความสนใจไปที่ค่าใช้จ่ายของกองทุน
                       
            นอกจากเราต้องพิจารณาผลตอบแทนที่กองทุนทำได้แล้ว Nathan Hale ยังแนะนำว่า ให้ดูค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการบริหารกองทุนด้วย หากมันมากกว่ากองทุนประเภทเดียวกันกองอื่นๆ เราก็น่าเป็นห่วงว่ามันมีผลต่อผลตอบแทนของกองทุน ซึ่งก็คือเงินของเราจะหดหายไปเกินควร

            เรื่องที่ Nathan ว่ามานี้ นี้เราอาจถกเถียงกันได้ว่า แล้วเราควรลงทุนเฉพาะใน Passive Funds ใช่ไหม เพราะค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุนมันถูกกว่า Active Funds

            ตัวอย่างของ Passive Funds ก็คือ Index Fund ที่มีเป้าหมายบริหารให้ผลตอบแทนกองทุนเท่ากับการขึ้นลงของดัชนี จึงมีค่าใช้จ่ายกองทุนที่ถูกกว่า Active Funds เพราะ Passive Funds  ไม่ต้องใช้การตัดสินใจของผู้จัดการกองทุน แต่ไปอิงการตัดสินใจจากโมเดลการลงทุนที่กำหนดจากข้อมูลในอดีตเป็นหลัก

            คำตอบคือไม่จำเป็น เพราะเราควรดูผลตอบแทนสุทธิที่กองทุนทำได้ในแต่ละปีและโดยรวมในระยะยาวด้วย สมมติว่า Passive Fund ให้ผลตอบแทนใน 5 ปี ที่เฉลี่ย 3.50% ต่อปี  สำหรับกองทุนหุ้น  แต่ Active Fund ที่ลงทุนในหุ้นเหมือนกัน ให้ผลตอบแทนที่เฉลี่ย 6.15% ต่อปีในช่วงเดียวกัน ซึ่งหักค่าใช้จ่ายกองทุนแล้ว เราก็คงไม่อยากอยู่กับ Passive Fund อีกต่อไป และในทางกลับกันหาก Active Fund ให้ผลตอบแทนในระยะยาวไม่เท่า Passive Funds ก็ไม่รู้จะไปจ่ายค่าจัดการกองทุนให้เขาไปมากๆ ทำไม ในเมื่อกี่ปีๆ ผ่านไปก็ไม่ได้บริหารได้ดีกว่าดัชนีเลย
           
2.       จัดสรรเงินลงทุนในพอร์ตของเราให้ถูกต้องเหมาะสมกับตัวเรา

            เรื่องนี้ Nathan ยกตัวอย่างได้ดีมาก เขาบอกว่า ผู้ลงทุนมักยอมให้อารมณ์ขึ้นมาอยู่เหนือความ สามารถในการรับความเสี่ยงของตนเอง ผลก็คือเหงื่อแตกซิกและน้ำตาเล็ดด้วยความเสียดมเสียดายโอกาสที่นานๆ ผ่านมาสักทีแต่ตนเองไม่กล้าลงทุนทั้งๆ ที่รับความเสี่ยงได้มาก  นอกจากนี้ ในเวลาตลาดดีๆ ก็มักจะมองโลกในแง่ดีเกินไป และมองโลกในแง่ร้ายเกินเหตุจนสติแตกเมื่อตลาดตก

            Nathan เตือนว่า เราไม่มีวันที่จะรู้แน่ชัดว่า ตลาดจะเป็นอย่างไร แต่เรารู้อยู่แล้วว่าการลงทุนระยะยาวมันจะต้องผ่านวงจรเศรษฐกิจที่มีทั้งขึ้นและลง ซึ่งก็คือจะต้องผ่านทั้งตลาดหมีและ ตลาดกระทิง การสนองตอบแบบดีสุดขั้ว หรือมั่วสุดขีด จึงทำร้ายพอร์ตลงทุนของเราได้

            กุญแจของความสำเร็จในการลงทุนจึงอยู่ที่การจัดสรรเงินลงทุนของเราไปในสินทรัพย์  ต่างๆ ที่ทำให้เราหัวถึงหมอนนอนหลับสบาย เพราะเรามั่นใจว่าสัดส่วนการลงทุนแบบนั้นจะนำพาเราผ่านพ้นวิกฤติทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ในขณะที่จะทำให้เรายิ้มได้เมื่อตลาดขึ้นในรอบต่อไป

            แม้จะไม่มีสูตรมหัศจรรย์สำหรับจัดพอร์ตลงทุนให้แต่ละคนเป็นสูตรสำเร็จ แต่ความผันผวนของตลาด ใน 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ คงให้ประสบการณ์เราได้ว่าเราจะรับความเสี่ยงและโอกาสได้ขนาดไหน

3.       กระจายการลงทุน

            ตัวอย่างที่ดีของการกระจายการลงทุนก็คือเมื่อเราไปดูตลาด Bond ของสหรัฐในปีที่แล้วซึ่งนักวิเคราะห์   นักเศรษฐศาสตร์ และผู้จัดการกองทุนระดับโลกทั้งหลายต่างมองว่าทุกคนควรถอยห่างจากพันธบัตร รัฐบาลสหรัฐทุกชนิด เรียกว่าให้ใส่เกียร์ถอยหลังเต็มสปีดทีเดียว เพราะการที่อัตราดอกเบี้ยกับเงินเฟ้อจะขึ้นสูง จะทำให้ผลตอบแทนอยู่ในแดนลบ

            ทุกคนไม่ได้มองผิด แต่ตลาดทำในสิ่งตรงกันข้าม เพราะแม้สหรัฐจะสะดุดจริง แต่ปัญหาของยุโรปดูจะหนักกว่า ผู้ลงทุนเลยหอบเงินหนีออกจากยุโรปมาหาแหล่งหลบภัยที่เขาเชื่อว่าดีที่สุดคือ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 

            นั่นคือตัวอย่างของสิ่งที่ผู้เล่นในตลาดสนองตอบโดยมันไม่ตรงกับปัจจัยพื้นฐาน ถึงขั้นหักปากกาเซียน Bond king อย่าง Bill Gross แห่ง PIMCO ได้  ซึ่งเขาก็ยังเจ็บหนักในวันนี้เพราะเขาเชื่อในปัจจัยพื้นฐาน แต่ลืมไปว่าในระยะสั้น พฤติกรรมผู้เล่นเป็นตัวกำหนดราคาซื้อขายมากกว่าปัจจัยพื้นฐาน ทำให้กองทุนของเขาหล่นลงมาจากอันดับต้นๆ มาเป็นที่ห้าร้อยกว่า เกือบบ๊วยไปในปีที่แล้ว

            ตัวอย่างในเมืองไทยก็คือตลาดหุ้นในหลายๆ ปีที่ดี ก็ให้ผลตอบแทนที่ทำให้แฟนคลับเงินฝากอย่างเดียวถึงกับตาร้อนผ่าวไปหลายรอบแล้ว

            เรื่องนี้ Nathan บอกว่า ไม่มีใครทำนายได้ว่าตลาดจะมีปฏิกิริยาอย่างไร ดังนั้น ให้ลงทุนตามสัดส่วนจัดสรรที่เหมาะกับคุณในระยะยาว โดยไม่ต้องไปเสียเวลาคาดเดาว่าตลาดจะไปทางไหน

4.       รู้ข้อจำกัดและนิสัยตนเองในการลงทุน

            Nathan เตือนว่า เราทุกคนมีความแตกต่างกัน บางคนรักที่จะใช้เวลาหลายชั่วโมงที่จะดูพอร์ตลงทุนปรับโน่น แต่งนี่ หลายรอบ โดยพยายามให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่จะทำได้  ในขณะที่บางคน กลับพบว่าการลงทุนให้ความตื่นเต้นพอๆ กับการพยายามแซะเอาคราบเกาะตรงซอกอ่างน้ำออก และจะมีความสุขมากหากไม่ต้องใช้เวลาคิดเรื่องนี้เกินปีละ 1 ชั่วโมง

            โชคดีจริงๆ ที่ความสำเร็จในการลงทุนไม่ได้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและความพยายามที่ใช้  ดังนั้น หากเราเป็นคนกลุ่มหลัง เราก็มีทางเลือกในการบริหารเงินลงทุนของเราเอง นั่นก็คือหันไปใช้บริการผู้จัดการกองทุนที่เราเข้าใจวิธีการบริหารพอร์ตของเขา และไว้วางใจเขาได้

มีถนนหลายเส้นที่จะพาเราไปเชียงรายได้ ความสำเร็จในการลงทุนก็เช่นกัน

ดังนั้น ต่อไปนี้ เมื่อมีเหตุการณ์ใดมากระทบ ขอให้เลิกตาลีตาเหลือกโทรมาถามตอนตีสามว่าจะทำไงดี

ให้กลับไปอ่านอีกครั้งให้เข้าใจโดยเฉพาะข้อ 2 เพื่อเราจะผ่านพ้นปีแห่งความเสี่ยงทั่วโลกไปได้ แล้วความสำเร็จในระยะยาวก็จะเป็นของเราทุกคนค่ะ

วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2555

คำแนะนำการลงทุนตลอดปี 2555 ตอนที่ 2

คุณวรวรรณ ธาราภูมิ
 CEO บลจ. บัวหลวง

4 มกราคม 2555


วันนี้เรามาดูเรื่องทองคำกันก่อน
ตลอด 12 ปีที่ผ่านมา คนที่เป็น Gold Bug (พวกคลั่งไคล้หลงไหลในทองคำ) ในสหรัฐ เขาขายหุ้นออกเมื่อหุ้นขึ้น และซื้อทองคำเมื่อมันราคาตกลงมา และมันก็เวิร์คมาตลอด 12 ปี เขาบอกว่า วันนี้เขาก็ไม่เปลี่ยนใจไปจากทองคำ เพราะยังไม่มีอะไรที่เป็นเรื่องสำคัญเปลี่ยนไปสักอย่าง
ใช่เลย ก็ยังไม่เห็น ลุงเบน เบอร์นานเก้ หรือประธานธนาคารกลางคนไหนที่กลับใจหันมารักษาค่าของดอลลาร์และตลาดพันธบัตรเลยสักคน และสภาคองเกรสก็ยังคงให้รัฐบาลอเมริกันใช้เงินเกินตัวต่อไปเรื่อยๆ
เอ ... แต่ถ้าราคาทองคำตกลงไปถึง 1,400 หรือ 1,200 ดออลาร์ต่อออนซ์ล่ะ จะทำไงดี
เรื่องนี้พวก Gold Bug จะตอบเหมือนกันทุกคนว่า
ซื้อสิฟะ เพราะนั่นคือโอกาสที่จะซื้อทองคำ ไม่ใช่ไปซื้อรองเท้าอีกนะยัยโง่
เอ๊ะ แต่ตอนนี้ใครๆ หลายคนบอกว่าระวังทองคำให้ดี มันจะซ้ำรอยปี 1980 ที่หกคะเมนตีลังกาลงมาลึกมากเป็นสิบปีไม่โงหัวเลยนี่นา ยังจะซื้ออีกเหรอ
ใช่ พระเจ้าจอร์ชมันยอดมากที่หลายคนมองไม่เหมือนพวกเรา คนพวกนั้นเขาคิดว่าทองคำมาไกลเกินไปแล้ว มันต้องเดี้ยงจนลึกเหมือนปี 1980 แหงๆ กลายเป็นตลาดหมีตกฮวบๆ ไปเลย แต่หุ้นจะขึ้นปรี๊ดๆ เป็นตลาดกระทิง
อ๋อ ทองคำจะเป็นกระเทย ส่วนหุ้นจะเป็นกระทิงปีนี้ แล้วทำไมเรามองไม่เหมือนเขาล่ะ

มันจะเหมือนกันไปได้ยังไงล่ะ อ้อ อาจจะเหมือนกันกับปี 1980 อย่างนึง คือ ลุงเบนมี 2 ขาเหมือนประธานธนาคารกลางสหรัฐสมัย 1980 ไง แล้วเธอบ้าหุ้นใช่ไหมล่ะ
อ่ะ ก็นิดหน่อยนะ

จำได้ไหม ลุงบัฟเฟต สอนว่า ถ้ากำลังเล่นโป๊กเกอร์ แล้วเธอมองหาผู้เล่นที่เธอจะหลอกไม่ได้ มันก็แปลว่าตัวเธอนั้นแหละที่จะโดนคนอื่นเขาหลอกต้อนเอา แล้วคนที่พูดเรื่องทองคำจะเป็นตลาดหมี หุ้นเป็นตลาดกระทิง อะไรๆ จะเป็นอย่างปี 1980 น่ะ มันแปลว่าเขาเชื่อว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวและบูมขึ้นมาอีก พวกนี้ละที่จะเป็นผู้เล่นโป๊กเก้อร์ที่โดนคนมือเหนือกว่ามาหลอกต้อนได้ พวกเขาจะขายทองคำแล้วซื้อหุ้น แต่เราทำตรงกันข้าม แต่ถ้าเขาคิดถูก เราเองก็จะเป็นเหยื่อนะ

อ้าว ไรฟะ พูดงี้มีต่อยดิ
โห ... นักเลงนี่หว่า เป็นมวยไทยด้วยป่ะล่า
ก็นิโหน่ย ท่าตั๊กแตนเบ่งอึน่ะ รู้จักป่ะ
ไม่รู้ รู้จักแต่ตั๊กแตนทอด กินมาเยอะแล้วด้วย ... มา ... มาฟังเรื่อง Mayer Amschel Rothschild ดีกว่า
ไม่เอ๊า จะฟังเรื่องทองคำต่อ
เดี๋ยวดิ ฟังเรื่องนี้ก่อน ตาคนนี้เขามีชีวิตช่วงปี 1744-1812 เป็นผู้ก่อตั้งอาณาจักรของครอบครัวในธุรกิจธนาคาร Rothschild ซึ่งเป็นกิจการธนาคารระหว่างประเทศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์  จนในปี 2005 เขาได้รับการยกย่องให้เป็นนักธุรกิจที่มีอิทธิพลมากที่สุดในโลกเท่าที่เคยมีมา โดยได้เป็นอันดับ 7 จัดโดยนิตยสาร Forbes และนิตยสารธุรกิจต่างๆ ก็ยกย่องให้ Mayer Amschel Rothschild เป็นบิดาแห่งศาสตร์การเงินระหว่างประเทศด้วย
แล้วไงอีกล่ะ
เนี่ยะ ที่นี้ใครๆ ก็รู้จักตาแก่ Rothschild แต่ไม่ค่อยมีใครรู้จักเมียเขา
อ้าว ใครเป็นชู้กับเมียเขาเหรอ
ฮ้วย ฆ่าไอ้เด็กบ้านี่มันจะบาปไหมฟะ
บาปดิ บาปมหันต์เลย ไม่ดีหรอก ฟังต่อกะได้
เออ เมียตาแก่ชื่อ Gutle Rothschild เนี่ยะไม่เหมือนตาแก่เลย เพราะทั้งๆ ที่รวยจนสะกดคำว่าไม่หรูไม่เป็น แต่หล่อนกลับใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายในบ้านเล็กหลังเก่าใน Frankfurt  ที่เคยอยู่ในช่วงหลังแต่งงานใหม่ๆ กับตาแก่ และในขณะที่ตาแก่ Rothschild กำลังทำงานหนักเพื่อสร้างอาณาจักรธุรกิจของตัวเอง เมียตาแก่กลับต้องทำงานหนักกว่ามากเพราะต้องเลี้ยงดูลูกๆ 10 คนให้สามารถรับช่วงอาณาจักรธุรกิจธนาคารของพ่อให้ได้ดี ไม่มีผู้หญิงอื่นอีกแล้วที่จะเลี้ยงลิง 10 ตัวจนมีความสามารถที่จะบริหารอาณาจักรธุรกิจธนาคารได้ดีอย่างหล่อน ต่างกับปัจจุบันนี้ที่เรารู้ว่าใครๆ ก็บริหารธนาคารในวันนี้ได้ แค่โง่เท่านั้นก็เป็นนายธนาคารใหญ่ได้แบบที่เราเห็นใน Wall Street ไง  ความโง่นี่เป็นคุณสมบัติหลักของการเป็นนายธนาคารที่ Wall Street ในวันนี้เลยนะ
ปากจัดชะมัดเลย ที่เล่านี่ก็เพื่อด่านายแบงค์ช่ายปะ
เออ ... ทีนี้กลับมาเรื่องทองคำกันต่อนะ เราคิดว่าทองคำจะราคาตกลงไปอีกและพันธบัตรสหรัฐก็จะยังขึ้นต่อได้อีกช่วงนึง แต่เราก็ยังเชื่อว่าอเมริกาจะต้องทรุดฮวบๆ แบบญี่ปุ่นเป็นสิบปี
เอ .... ถึงจะมีตัวบ่งชี้หลายตัวที่ทำให้เห็นว่าอเมริกากำลังจะเป็นญี่ปุ่น มันก็ยังต่างกันตรงที่วันนี้โครงสร้างประชากรญี่ปุ่นกำลังแก่ลงไปเป็นจำนวนมาก และมีคนน้อยลงไปทุกที แต่อเมริกายังค่อนข้างเด็กและจำนวนประชากรก็ยังเพิ่มอยู่นี่นา
ก็ใช่ แต่ ... แต่ ... แต่ .....
แต่อะไรล่ะฟะ เดี๋ยวก็ เว่ยเฮ่ย ใส่หรอก
แต่ ช้า แต่
โว้ย ... ฆ่าผู้ใหญ่นี่บาปไหม
ฮ่าๆๆๆๆๆ เดี๋ยวดิ มาดูนี่สิ นี่ไง ตัวเลขประชากรล่าสุดในสหรัฐที่เพิ่งรายงานออกมามันบอกว่าจำนวนผู้อพยพเข้าสหรัฐลดลงต่ำสุดไปรอบ 20 ปี  จำนวนคนเกิดใหม่ก็ลดลงเหลือเพียง 0.7% แล้ว นี่เป็นระดับต่ำที่สุดตั้งแต่ก่อนพวกเบบี้บูมเกิดอีกนะ
อาฮ่ะ อย่างนี้อเมริกาก็แย่อะดิ เอาไวอะกร้าทัดหูไว้หรือไงถึงไม่ค่อยมีเด็กเกิดใหม่ ท่าทางกำลังจะกลายเป็นประเทศที่ไม่มีพลังหนุ่มสาวมาสร้างชาติแล้ว ช่ายมะ
อืม ... เริ่มฉลาดแล้วใช่ไหม เรากำลังจะกลายเป็นญี่ปุ่นละ
พูดจาดีๆ ก็เป็นด้วยแฮะ
และนายธนาคารกลาง กับนายธนาคารพานิชย์ทุกวันนี้ก็ไม่เก่งเหมือนลูกๆ ของ Rothschild เราถึงยังเชื่อเรื่องทองคำในระยะยาวไงล่ะ เว่ย เฮ่ย
ฮู้ย ... จบดีๆ กะด้าย จะไปเลียนแบบ เว่ย เฮ่ย ของน้ารูบินี ทำแป๊ะไรนี่ ห๊า

คำแนะนำการลงทุนตลอดปี 2555 ตอนที่ 1


คุณวรวรรณ ธาราภูมิ
 CEO บลจ. บัวหลวง

1 มกราคม 2555


มันเป็นธรรมเนียมไปทั่วโลกเลย ที่พอสิ้นปีก็จะมีคำทำนายเศรษฐกิจและการลงทุน เพื่อให้พอใช้เป็นเข็มทิศชีวิตและการลงทุนของเรา แต่ของไทยและเอเชียจะมีโหราศาสตร์มาเพิ่มเติมพอเป็นสีสรร

บรรดา กูรู ด้านการลงทุนก็จะออกมาแนะนำการจัดพอร์ตรับความเสี่ยงในปีมะโรง นับเป็นวิทยาทานแก่ผู้คนที่ยังเป็น กูไม่รู้ แต่กูอยากรวยอ่ะ กันไม่น้อย

หากจะให้เราออกมาแนะนำการจัดพอร์ต ก็อึดอัดและไม่สบายใจ เพราะรู้อยู่แก่ใจว่ามันเป็นเหมือน ดวงโหล  หมายถึงคล้ายๆ เปิดนิตยสาร เปิดหนังสือพิมพ์ อ่านคำทำนายดวงตามราศี ปีเกิด เดือนเกิด ซึ่งมันโหลมากๆ เพราะไม่ได้มีเวลาตกฟากไปผูกดวง จึงไม่แนะนำให้ทำตามโดยปราศจากการวิเคราะห์ความเสี่ยงที่ตนเองแต่ละคนจะรับได้ และมันจำเป็นที่สุดที่จะต้องพิจารณาข้อมูลอื่นๆ เช่น อายุ ทรัพย์สินที่มี หนี้สิน กำลังการหารายได้ แผนค่าใช้จ่าย แผนการเงิน จำนวนคนที่ต้องอุปการะ ฯลฯ

ดังนั้น คำแนะนำเรื่องการจัดพอร์ตลงทุนต้อนรับปีมะโรงก็คือ ใครไม่เคยทำตามย่อหน้าข้างบน ก็ให้ไปทำซะ 

และเมื่อเรามีโมเดลพอร์ตที่เราจัดสัดส่วนไว้ล่วงหน้าแล้ว เราก็มีความอุ่นใจในระดับหนึ่งละ

อุ่นใจไงว้า มันก็แค่ตัวเลข

เย้ยยย... ยังจะมาเถียง ก็อย่าหยุดแค่ตัวเลขสิฟะ เดี๋ยวพั่ด..!!

ให้เริ่มทำบัญชีรายได้ รายจ่าย ทำบัญชีทรัพย์สิน หนี้สิน และแผนการเงินการลงทุนซะ มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากๆ เหมือนเรามีแผนที่ชีวิต ทำให้เรารู้ตัว และมีสติที่จะคิดถึงอนาคตเสมอไง แล้วก็ทำตามแผนที่เรากำหนด

มันไม่ยากเลย  และเมื่อเวลาผ่านไปโดยเราเก็บออมได้ทุกเดือน เราจะมีกำลังใจเวลาหยิบสมุดลงทุนไปอัพเดท แล้วเอามาเปิดดู หัวใจจะพองโตเลยละรู้ไหม

ทองตก หุ้นเตี้ย นี่นะ หัวใจพองโต บ้าป่ะเนี๊ยะ !!
เย้ย .... มันอยู่ที่ว่าเราลงทุนเงินส่วนนั้นได้ยาวไหม หากไม่ยาว ไม่กี่ปี ก็ไม่ค่อยดีหรอก เพราะช่วงต่อไปนี้มันลำบากหน่อย คาดการยากด้วย

ก็ น้าจิม โรเจอร์ บอกว่า ...

ใน 2-3 ปีข้างหน้านี้หรืออาจจะยาวกว่านั้น เราไม่อาจมองโลกในแง่ดีได้เลย เรามีปัญหาหนักมาก เพราะอเมริกาเจอกับเศรษฐกิจชะลอตัวในปี 2002 ซึ่งก็แย่แล้ว แต่มันก็เกิดอีกในปี 2008 ในระดับที่เลวร้ายกว่าเดิมมากเพราะมีหนี้เพียบ และปัญหาที่จะเกิดในรอบหน้าในขณะที่จำนวนหนี้จะยิ่งพุ่งขึ้นมหาศาลทำให้เราคาดเดาได้ว่ามันจะยิ่งสาหัสสากรรจ์กว่าปี 2008 ไปอีกมาก ปัญหานี้จะแก้ยังไงๆ ก็ไม่ได้ จนกว่าจะไปแก้ที่ต้นตอของมัน ซึ่งก็คือการใช้จ่ายเกินกำลังตนและการกู้หนี้ยืมสินจำนวนมหาศาล ด้านยุโรปทำผิดมหันต์ เพราะแทนที่จะปล่อยให้กรีซล้มละลายเพื่อปรับโครงสร้างหนี้และฟื้นฟูเศรษฐกิจใหม่ ยุโรปกลับไปเลือกทางที่ง่ายกว่า

ลุงมาร์ค ฟาเบอร์ ยอดดวงใจของ น้องมาร์ค เอี่ยมอมรพันธุ์ ก็บอกว่า ...
ลุงกำลังมองในแง่ร้ายสุดๆ ลุงคิดว่าคนจะโชคดีมากถ้าใน 5 ปีข้างหน้านี้เงินที่เขาสะสมมาทั้งหมดจะเหลือค่าเพียงครึ่งเดียว เราต้องกระจายการลงทุนบางส่วนไปในอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในชนบท บางส่วนในทองคำ และบางส่วนในหุ้น ตัวอย่างก็คือเยอรมันนีตั้งแต่ ปี 1900 จนถึงวันนี้ มีสงครามโลกครั้งที่ 1  มีเงินเฟ้อรุนแรง (Hyperinflation)  และมีสงครามโลกครั้งที่ 2  ซึ่งทำให้ผู้ฝากเงินกับผู้ลงทุนในพันธบัตรและตราสารหนี้สูญเสียเงินลงทุนไปหมดเลยถึง 3 ครั้ง แต่ผู้ถือหุ้นรอด นี่ก็เพราะโดยทั่วไปแล้วผู้ลงทุนในหุ้นจะไม่เจ๊งจนสูญเสียเงินไปทั้งหมด เว้นแต่ดันไปลงทุนในหุ้นตัวเดียวแล้วบริษัทนั้นมันล้มละลาย

จ๊าก ..... เราจะตายไหมนี่

เออ ช่างแกดิ  เนี่ยะ กรีซน่ะน่าจะเจ๊งไปชาตินึงแล้ว ไม่เข้าใจเลยว่าทำไมถึงไม่ให้ข้อมูลเตือนผู้ลงทุนว่าอนุพันธุ์ทุกชนิดเสี่ยงไม่เท่ากัน เพราะมันขึ้นกับความเสี่ยงของแบงค์คู่ค้าด้วย แล้วแบงค์ในยุโรปหลายแห่งก็กำลังแย่เพราะกู้ยืมมากเหลือเกิน แบงค์ในอเมริกาก็ด้วย แถมยังเป็นการกู้ในตลาดอนุพันธุ์ไม่น้อยนะ  นี่มันบ้าจริงจริ๊ง ที่ตอนตั้งสหภาพยุโรปและกลุ่มยูโรโซนขึ้นมา กฏ Maastricht treaty กำหนดไว้ว่าสมาชิกทุกประเทศต้องไม่ขาดดุลงบประมาณเกิน 3% ของ GDP และหนี้ต่อ GDP ก็ต้องไม่เกิน 60% ด้วย แต่ในที่สุดก็ไม่มีใครรักษาสัญญานี้เลย คอยดูนะ ลุงขอทายล่วงหน้าเลยว่าวันหนึ่งข้างหน้า หนี้สินต่างๆ จะทำให้ทั้งระบบล่มสลาย

ลุงอ่ะ ลุงพูดจาหยาบคายมากเลยที่ไปทำนายอย่างนี้
เออ หยาบก็ช่างหัวแก ...  แต่เรายังไปไม่ถึงวันนั้นหรอก สัญญาณเตือนก็คือเมื่อการ พิมพ์แบงค์กงเต็กมันไปถึงจุดที่ทำให้คนโกรธแค้นเพราะเงินเฟ้อจะพุ่งปรี๊ดและไม่มีค่าอีกต่อไป แล้วมันมีคนไม่กี่คนหรอกที่ได้ประโยชน์จากการพิมพ์แบงค์ ซึ่งไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของอเมริกาแน่ๆ

โอ้กกกกก....

ยัง ยังมีอีก .... น้า Nouriel Rubini เจ้าเก่า บอกว่า ...

Recession ในกลุ่มยูโรโซนเกิดแน่ แต่ยังทำนายไม่ได้ว่าจะอยู่นานแค่ไหนและจะสาหัสปานใด ไม่เกินปี 2013 เราจะได้เห็นเศรษฐกิจถดถอยแบบ Double Dip Recession ในสหรัฐที่สมบูรณ์แบบ ได้เห็นแผนแก้ปัญหาที่สับสนยุ่งเหยิงและไม่เป็นผลดีในกลุ่มยูโรโซน และอาจจะได้เห็นเศรษฐกิจจีนฟองสบู่แตกจนหัวทิ่มแบบ Hard Landing ด้วยเว่ยเฮ่ย

เอา เฮ้ย  น้ารู บอกกันดีๆ ก็ได้นิ ทำไม่ต้องมี เว่ยเฮ่ย ด้วยล่ะ

ต้องมีดิ ไม่งั้นไม่จ๊าบ  มา ... น้าจะอธิบายเพิ่มให้เข้าใจ .. อเมริกา เลื่อนการแก้ไขปัญหาทางการคลังออกไปอีกแล้ว แถมยังทะลึ่งเลี่ยงการปฏิรูปที่ต้องทำอย่างการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา การฝึกฝนความชำนาญ  และยังไม่ยอมเปลี่ยนนโยบายพลังงาน ทั้งที่มันจะช่วยคืนอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจได้ ไม่รู้มันเกิดอะไรขึ้นกับพวกนักการเมืองเฮงซวย มันไม่คิดจะแก้ปัญหายังไม่พอ ยังจะเพิ่มปัญหาซะอีกเว่ย เฮ่ย

เว่ย เฮ่ย อีกแล้วนะ น้ารู

เออดิ รูบินี ตัวจริง ต้องมีเว่ย เฮ่ย ดิว้า ... เนี่ยะ ยุโรป ก็ยังปฏิเสธความจริงที่ว่าบางประเทศล้มละลายจนไปกันไม่ไหวกับระบบเงินยูโรแล้ว  จีน ก็ดื้อด้านไม่ยอมให้หยวนอ่อนค่า เพราะอยากได้เปรียบในการส่งออกตามโมเดลเศรษฐกิจที่ ไอ้เหา จิ่นทู  เฮ้ย .. หู จิ่นเทา มันใช้  แถมยังออมมากไปแต่บริโภคในประเทศน้อยไปด้วย เฮ้อ...

ทำไมถึงเป็นอย่างนี้กันไปหมดล่ะ น้ารู

เฮอะ .. ก็ทุกเรื่องนี้มันไปติดที่การเมืองทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่จะมาถึงในเดือนพฤศจิกาหน้า การถ่ายโอนอำนาจไปให้ผู้นำคนใหม่ของจีนในช่วงนี้ กับความล้มเหลวของรัฐบาล 17 ประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโรที่ไม่อาจใช้นโยบายร่วมกันทั้งกลุ่ม เพราะไปติดที่การเลือกตั้งในหลายประเทศกำลังจะมาถึง

แล้วนักการเมืองมันปัญญาอ่อนรึไงลุง ถึงได้ไม่ทำสิ่งที่ถูกต้องแบบนี้น่ะ

ไม่ได้ปัญญาอ่อนร้อก แต่พวกนักการเมืองมันไม่มีวันแก้ปัญหาด้วยวิธีที่ถูกต้อง เพราะมันกลัวว่าจะทำให้ผู้เลือกตั้งมันเจ็บปวดและผิดหวังแม้ว่าเป็นแค่ระยะสั้น และแม้ว่ามันจะดีต่อคนทั้งประเทศในภายหลังก็ตาม เพราะนักการเมืองจะทำเพื่อประโยชน์ตนเองและพวกพ้องเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อคนทั้งชาติอย่างที่โม้กันมาตลอดเว่ย เฮ่ย ฮ่วย

โอ้ย ... แล้วเราจะกระทบไหมละนี่

ก็คอยตามไปอ่านต่อตอนสองสิฟะ ถามอยู่ได้ รำคาญเว่ย เฮ่ย



วันพุธที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2555

ปู่แจ๊ค อดีต CEO บลจ. Vanguard ผู้รังเกียจนักพนันใน Wall Street

คุณวรวรรณ ธาราภูมิ
 CEO บลจ. บัวหลวง

30 ธันวาคม 2554


ก่อนคริสต์มาส 3 วัน John C. Bogle  ที่คนมักเรียกว่า Jack Bogle ออกมาบอกว่าแม้คนจะเข้าใจว่าเขาเป็นคนในกลุ่ม 1% ผู้ร่ำรวยที่สุดในอเมริกา แต่เขาเห็นใจและสนับสนุนแนวคิดของพวก 99% ที่กำลัง
Occupy Wall Street
 

ปู่แจ๊ค อายุ 82 ปีแล้ว เป็นผู้ก่อตั้ง Vanguard ซึ่งเป็นบริษัทจัดการกองทุนหรือ บลจ.ที่เน้นวิธีบริหารแบบ Passive Management ที่ประสบความสำเร็จด้วยต้นทุนบริหารต่ำมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านมรสุมเศรษฐกิจและความรุ่งเรืองมาจนทุกวันนี้ได้อย่างสง่างาม

ปู่แจ๊ค เป็นคนแรกที่ก่อตั้งกองทุนรวมแบบ Index Fund ซึ่งเป็นสไตล์การบริหารกองทุนรวมแบบ Passive Management ที่ไม่สนใจที่จะทำให้ผลตอบแทนชนะดัชนีหรือ Index แต่จะพยายามหาโมเดลที่ทำให้ผลตอบแทนกองทุนเท่ากับ Index ที่เลือกใช้ในแต่ละกองทุน ปู่แจ๊ค ออกกองทุน Index Fund กองแรกให้กับวงการในปี 1976 และประสบผลสำเร็จจนทำให้ Vanguard มีสินทรัพย์ภายใต้กองทุนอเมริกันที่บริหาร 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ (โอย ... น้ำเดาไหลด้วยความริษยาแล้ว) และปู่ก็ลงจากเก้าอี้ CEO มา 15 ปีแล้ว

วันนี้ปู่แจ๊คก็ยังร่ำรวยอยู่ แม้จะน้อยกว่าช่วงที่ปู่ยังเป็น CEO มากมาย  แต่ปู่ยังได้รับค่าตอบแทนอีกส่วนในการบริหารศูนย์วิจัย Vanguard's Bogle Financial Markets Research Center ซึ่งเป็นมันสมองชั้นเลิศให้ Vanguard Group

หากมีใครมาถามปู่ว่าแก่ป่านนี้แล้วทำไมยังไม่หยุดทำงาน ก็จะโดนแว้ดกลับไปว่า

มันน่าอายมากที่จะหยุดทำงาน ในเมื่อยังไม่นอนแบ่บเป็นผักปู่ก็ยังทำงานได้อีกนานเว่ย แล้วก็ทำงานทุกวันด้วย ไม่ได้ขี้เกียจอย่างแกนี่
ขณะนี้ปู่แจ๊คกำลังเขียนหนังสือเล่มที่ 10 เรื่อง "The Clash of Cultures: Investment vs. Speculation" แปลง่ายๆ ภาษาบ้านก็คือ การล่มสลายทางวัฒนธรรม : การลงทุน กับ การเก็งกำไร และปู่ก็ยังให้สุนทรพจน์ในงานที่ได้รับเชิญอยู่เนืองๆ
เห็นไหม แก่แล้วแม้เรี่ยวแรงจะถดถอย แต่ยังมีสมอง มีความคิดดีๆ ต่อคนอื่น และมีประสบการณ์ที่มีประโยชน์ที่เอามาถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังได้ แก่แบบนี้น่าเอาเยี่ยงอย่างเพราะไม่ได้หายใจทิ้งไปวันๆ หรือคอยแต่เรียกร้องให้คนกราบไหว้ทั้งๆ ที่ไม่มีอะไรน่ากราบสักหน่อย นอกจากกราบหูดเหี่ยวๆ บนหน้าและลำคอ
ปู่แจ๊ค รำพึงว่า เฮ้อ ... ตลาดทุนของเรามันชักจะบ้าไปกันใหญ่แล้ว มีการเก็งกำไรมากกว่าการลงทุนที่แท้จริงตั้ง 200 เท่าแน่ะ
และปู่ก็ให้ความสนใจมากมายกับนโยบายภาษีของสหรัฐที่ปู่เห็นว่าไม่เป็นธรรมเพราะเอื้อประโยชน์แก่คนส่วนน้อยบนความเสียเปรียบของคนส่วนใหญ่
ชัวร์ป้าด ...  ปู่กินยาผิดแหง ไม่งั้นไวอะกร้าก็ออกฤทธิผิดที่  ก็รวยขนาดนั้นแล้วทำไมถึงได้ดิ้นรนจะเสียภาษีมากๆ หรือว่าอยากไปเป็นยาจกกับพวก Occupy นั่น Occupy นี่ ละฮึ
เบื๊อกเอ๊ย นี่แกไม่คิดถึงหัวจิตหัวใจคนอื่นๆ บ้างรึไง ก็โครงสร้างภาษีที่ตกทอดมาจาก ไอ้บักจอร์ช บุช นั่นละ ที่ทำให้ นักพนันใน Wall Street เสียภาษีบนกำไรจากการลงทุนแค่ 15% ในขณะที่คนทำงานงกๆ เหงื่อหยดติ๋งๆ อย่างซื่อสัตย์ต้องเสียภาษีจากเงินได้สูงสุดได้ถึง 35% มันเป็นไปได้ยังไง ที่นักพนันพวกนั้นจะเสียภาษีในอัตราแค่ 15% เท่ากับคนงานก่อสร้าง ฮึ
ใช่เลย อัตราภาษีมันเปลี่ยนได้ แต่เราก็ต้องดูด้วยว่ามันเป็นรายได้จากอะไร มีที่มาอย่างไร และอะไรควรเสียภาษีเท่าใด เงินปันผลน่าจะเสียภาษีอัตราเดียวกับเงินได้ปกติอื่นๆ แต่กำไรที่ได้รับจากการลงทุนมันต้องแยกประเภทเป็นการลงทุนของคนที่ก่อตั้งธุรกิจจริงๆ และให้คุณค่าแก่สังคม กับกำไรจากการพนันของพวก Wall Street ด้วย ไม่ใช่รวมมาเป็นพวกเดียวกันหมดแบบนี้  ไอ้อย่างหลังที่ทำเพื่อเก็งกำไรระยะสั้นควรโดนอัตราภาษีที่สูงกว่าอัตราภาษีเงินได้ปกติในขั้นสูงสุดด้วยซ้ำ
แล้วปู่มองพวก Occupy Wall Street ยังไง
ปู่ดีใจที่จะบอกว่ารายได้ในทุกวันนี้ของปู่ทำให้ปู่เป็นพวก 99% ไม่ใช่ 1% แล้ว นี่อาจเป็นเหตุให้ปู่รู้สึกไม่มีความสุขก็ได้
ปู่ว่าผู้ประท้วงใน Occupy Wall Street (OWS) ก็มีเด็กหนุ่มสาวมากนะ เด็กพวกนี้หลายคนต้องกู้หนี้ยืมสินไปเรียนจนจบ แต่พอจบออกมาดันไม่มีงานทำ ปู่ว่าการออกมาประท้วงของกลุ่ม OWS มันทำให้ปัญหาหนักที่เคยซ่อนอยู่ใต้พรมมันออกมาลอยหราบนพื้นเลยละ ปัญหาที่ว่านี่ก็คือความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องโอกาสกับรายได้
เออ ไอ้หลาน แกเคยเด็กไหมล่ะ
อ้าวปู่อ่ะ ถามงี้ชกหน้ากันเลยดีกว่า หรือพอปู่เกิดก็แก่เลยล่ะ
กร๊วก .. เด็กบ้านแกสิที่คลอดมาก็แก่เลย ปู่จะถามว่าจำได้ไหมว่าตอนแกเด้กๆ น่ะ แกมีความคิดบรรเจิดอย่างไร
ปู่กำลังจะบอกว่า ตอนเด็กๆ ในวัยหนุ่มสาว เราจะมีแนวคิดที่มีอุดมคติ มีอุดมการณ์ แต่พอเราแก่ลงเราจะเห็นว่ามันเลื่อนลอย เพ้อฝัน เป็นจริงได้ยาก ทีนี้พวก OWS เขาก็เป็นพวกกินอุดมการณ์ไง เรื่องที่เขาต้องการมันจะเป็นจริงได้เหรอ  แต่แล้วคนอื่นจะเดือดร้อนไปทำไมล่ะ ปู่คิดไม่ออกเลยว่าหากอเมริกาไร้คนรุ่นหลังในวัยหนุ่มสาวที่มีอุดมการณ์ มีความใฝ่ฝันแบบนี้ ประเทศนี้มันจะเจริญไปได้อย่างไร และมันจะเน่าไปกว่านี้ได้ขนาดไหน ปู่จึงเคารพรักในศรัทธาของพวกเขา คารวะการทำภารกิจของเขา แต่ด้านลบก็คือพวกเขาสู้มาอย่างหนักและยาวนานเกินไป มันยากที่จะสำเร็จหากไม่มีผู้นำม็อบ
เออ ... ปู่กำลังเขียนหนังสืออะไรอยู่ล่ะตอนนี้   
กำลังเขียนเรื่องที่ระบบการเงินของเรามันแหกโค้งไปนอกรางไงล่ะ เดิมทีเราเชื่อว่าระบบตลาดทุนเป็นแหล่งทุนสำหรับธุรกิจใหม่ๆ ที่ไม่มีทุนพอ หรือขอกู้ได้ยากหรือดอกเบี้ยแพงไป และเป็นแหล่งทุนที่บริษัทเดิมในตลาดทุนจะระดมเงินทุนไปขยายกิจการได้ ซึ่งเงินทุนที่ต้องการไปทำอย่างนั้นมันประมาณปีละ 200,000 ล้านดอลลาร์ มันก็สามารถระดมผ่าน Wall Street หรือกู้แบงค์ได้ แต่ตอนนี้เรากลับมีการเก็งกำไรกันเฉลี่ยปีละ 40 ล้านล้านดอลลาร์ บ้าไหมล่ะ เรามีนักพนันที่ขายการลงทุนให้คนอื่น แล้วคนอื่นก็ซื้อกิจการจากนักพนันด้วยความคิดที่จะเอาไปขายต่อให้ได้กำไรมากขึ้น แล้วมันเกิดคุณค่าอะไรต่อสังคมละวะ ไม่มี้.... แถมมันยังลดคุณค่าด้วย เพราะไอ้ตัวกลางที่เป็นนักพนันพวกนี้ละที่ปล้นเอาค่าของมันไปในระหว่างทาง
“Hedge Fund ละตัวดี มีที่ไหนว้า ให้ผลตอบแทนตั้งเกิน 100% ต่อปี  ลงทุนอะไรฟะที่ให้ผลตอบแทนขนาดนั้น ยาบ้าเรอะไง ก็ตอนที่ปู่ยังทำงานเป็นผู้บริหารกองทุนอยู่น่ะได้ 18% ก็เยี่ยมมากแล้ว ปู่เลยคิดว่า เราต้องเก็บภาษีเวลามีการขายแบบเก็งกำไรระยะสั้น เราต้องวางกรอบล้อมการเก็งกำไรแบบนั้นไว้ในระบบการเงินของเรา ไม่อย่างนั้นแล้ว คนที่รวยที่สุดก็คือพวก Wall Street นี่แหละ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำงานเหงื่อตกอย่างธุรกิจอื่นเขา แต่กลับมีช่องทางร่ำรวยมหาศาลจากการเป็นตัวกลางทางการเงิน การลงทุน แล้วเสียภาษีต่ำกว่าในส่วนที่เก็งกำไร
โอ้ย ปู่แจ๊คอ่ะ เดี๋ยวสรรพากรมาอ่าน เขาจะเก็บภาษีเราเอานา
เอ๊า ... กลัวไรว้า หากไม่ใช่เก็งกำไรแบบนักพนันสั้นๆ อย่างพวกเห็ดฟันด์ เราก็ไม่ได้เอาเปรียบสังคมนี่นา
เปลี่ยนเรื่องดีกว่าปู่แจ๊ค ปู่มองว่าการลงทุนปีหน้าจะเป็นไง
อืม ... ก็ยากอยู่นะ ถ้าหลานลงทุนในหุ้นอเมริกาหรือทางยุโรปด้วยไอเดียว่าจะลงทุนสักปีแล้วค่อยออกมาละก็ ให้รีบไปถอนออกมาเลย เพราะไม่ควรลงทุนในกรอบสั้นแค่ปีเดียว อาจจะขาดทุนได้ และถ้ามีกรอบเวลา 5 ปี ปู่ก็ยังกังวลอยู่ว่าควรลงทุนหรือเปล่า
อ้าว เฮ้ย 5 ปียังน่ากลัวอีกเหรอปู่
คืออย่างงี้นะ ในการลงทุนเราต้องคิดมากไปกว่าจะกังวลเรื่องเดียวว่าตลาดจะพังโครมลงมาเมื่อไหร่ เราต้องพิจารณาผลสุดท้ายของเงินออมของเราว่ามันจะไปได้สักเท่าไรจึงจะพอใช้  เมื่อกลัวความเสี่ยงจากหุ้นก็ต้องไปพันธบัตร เงินฝาก  แต่ดอกเบี้ยต่ำเตี้ยเรี่ยดินจนจะเป็นศูนย์ไปอีกนานแบบนี้ แกก็ต้องทำใจยอมรับไปก่อนหากไม่เอาหุ้น
ปู่อ่ะ !!!  นี่มันคำแนะนำอะไรเนี่ยะ ฮึ ?
เอ๊อ แกชอบคำโกหกใช่ไหม ไอ้หลานโง่ ในเมื่อเศรษฐกิจมันห่วยแตกขนาดนี้ หากเป็นเงินปู่ ปู่จะระวังให้มากๆ เพราะการใช้สอยของคนอเมริกันกับยุโรปมันหวังไม่ได้เลยว่าจะดีใน 2-3 ปีข้างหน้า คนไม่มีเงินจะใช้  และโลกในวันนี้ก็ไม่มีอะไรให้เชื่อมั่นได้เลย
อ้าว ปู่ ถ้ารัฐบาลทำให้ความเชื่อมั่นเกิดขึ้นมาได้ล่ะ มันจะดีขึ้นไหม
ก็ดีอยู่หรอก อย่าลืมล่ะว่าความเชื่อมั่นมันเพิ่มขึ้นได้ แต่เงินน่ะมันจะเพิ่มได้จากที่ไหนละวะไอ้หนู