ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

อยากมีโอกาสขอบคุณพระเจ้า

วรวรรณ ธาราภูมิ

25 พฤศจิกายน 2554

24 พฤศจิกายน 2554 เป็นวันขอบคุณพระเจ้าของอเมริกา
คนอเมริกันหลายคนเขาถือโอกาสขอบคุณธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ของลุงเบนด้วย ที่ทุกมาตรการแก้ปัญหาหนี้ของเขา มันแก้อะไรไม่ได้เลย
อ้อ แก้ได้อย่างนึง 
แก้ผ้า 
แต่มองอีกแง่มันก็เป็นข่าวดีที่ทุกมาตรการมันไม่เวิร์ค ตลาดจะได้ทำงานของมันไปตามกลไก
อเมริกาก็เหมือนๆ กับยุโรป เหมือน เอเชีย และอาฟริกา นั่นก็คือ ตลาดกำลังทำงานอย่างขยันขันแข็ง ทั้งตลาดหุ้น ตลาดเงิน  ตลาดพันธบัตร ตลาดสินค้าเกษตร ตลาดอนุพันธุ์ และตลาดคอมโมดิตี้
ตลาดกำลังพยายามกวาดล้างหลายๆ ทศวรรษของความเน่าเฟะที่ไร้การควบคุมซึ่งทำให้ราคาหลักทรัพย์ต่างๆ ไม่ได้สะท้อนความเป็นจริง แต่ในเวลาเดียวกันนี้ FED กลับพยายามหยุดยั้งตลาดไม่ให้สะท้อนภาพจริง ด้วยวิธีการที่ยิ่งทำร้ายประเทศด้วยการอุ้มแบงค์เน่า พิมพ์แบงค์กงเต็กออกมาท่วมระบบ หรือออก QE เป็นต้น
ในระบอบทุนนิยมเสรีนั้น ใครเข้มแข็ง ใครอ่อนแอ ก็ต้องแข่งขันกันไป ใครเก่ง คนนั้นอยู่ได้ ใครอ่อนแอ ก็ต้องหลบไป ไม่มีตัวช่วย
แต่ต้นตำรับทุนนิยมเสรีอย่างอเมริกากลับสองมาตรฐาน
แบงค์ที่ปล่อยกู้ไม่ดี แบงค์ที่ลงทุนในสินทรัพย์ชั้นเลวอย่าง Subprime ฯลฯ ด้วยความโลภเพราะทำกำไรได้สูง  พอเกิดเหตุจนแบงค์จะล้ม  FED ก็รีบเข้าไปอุ้ม
กี่รอบๆ ก็อุ้มอยู่งั้นแหละ แม้จะต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลจากภาษีประชาชนก็จะอุ้ม แล้วก็ปล่อยให้ชนชั้นกลางของประเทศโดนปล้นความมั่งคั่งไปเรื่อยๆ
ทำไมชนชั้นกลางถึงได้อ่อนแอลงล่ะ
ก็เพราะภาษีถูกนำไปอุ้มแบงค์และกิจการที่อ่อนแอ ทำให้เม็ดเงินภาษีเหลือน้อยลงที่จะนำไปใช้จ่าย แล้วก็ต้องกู้เพิ่มขึ้นทุกที  เมื่อระบบเศรษฐกิจไปไม่ไหว คนก็ตกงาน ไม่มีเงิน ต้องโดนยึดบ้าน ต้องขายทรัพย์สิน แล้วคนรวยๆ ที่มีเงินพอ ก็พวกแบงค์นั่นแหละ จะมาซื้อของถูกๆ ที่คนชั้นกลางจำใจขายออกมาเพื่อหาเงินไปปะทังชีวิต
ชนชั้นกลางของอเมริกาจึงจนลงๆ กลายเป็นชนชั้นล่างไปแล้วมากมาย
สังคมใดที่ชนชั้นกลางไม่เข้มแข็ง สังคมนั้นจะล่มสลาย
และสังคมอเมริกันในวันนี้ก็อ่อนแออย่างถึงที่สุด
ดัชนีตลาดหุ้น Dow Jones ก่อนจะหยุดในวันขอบคุณพระเจ้าติดลบมากกว่า 200 จุด  ดิ่งเหวในตอนปิดตลาด เหมือนกับไม่มีใครกล้าถือหุ้นซึ่งเป็นสินทรัพย์เสี่ยงไว้ในช่วงวันหยุด เพราะไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้น เลยรีบขายออกไปกอดเงินสดดีกว่า
บางคนอาจจะกลัวข่าวที่เยอรมันนีขายพันธบัตร 10 ปีได้เพียง 65% ของยอดที่ออกมาขาย ซึ่งบ่งชี้ว่านักลงทุนเริ่มห่วงฐานะการเงินของพี่เบิ้มที่แข็งแกร่งที่สุดในยุโรปอย่างเยอรมันนีแล้ว บางคนอาจจะกังวลเรื่องที่ฝรั่งเศสอาจถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือจนหลุดระดับ AAA บางคนก็กลัวตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่เริ่มชะลอลง ในขณะที่หลายคนกังวลเรื่อง Super Committee ของรัฐสภาสหรัฐที่ไม่มีปัญญาตกลงกันได้ว่าจะลดงบประมาณขาดดุลได้ยังไงดี จะลดตัวนี้ก็สะเทือนฐานเสียงเดโมแครท จะเพิ่มภาษีตัวโน้นก็กระแทกดวงใจฐานเสียงรีพับลิกัน
ผู้ลงทุนจึงล้วนกังวลต่อเมฆหมอกทะมึนที่เห็นข้างหน้า
แต่อย่างว่า ก็อาจกังวลแป๊บๆ เท่านั้นตามระเบียบ หากมีข่าวดีนิดๆ หน่อยๆ หรือประกาศตัวเลขเศรษฐกิจอะไรดีขึ้นมาจิ๋วๆ ก็เฮ เข้าซื้อ แล้วก็ใจเต้นตุ้บตั้บ กลัวหุ้นตกอีก  เออ เอาเข้าไป
หลายคนสงสัยว่าทำไมตลาดหุ้นถึงตก ทำไมถึงขึ้น
อ้าว ไม่ขึ้นไม่ลงแล้วจะให้มันนอนนิ่งๆ เป็นเส้นตรงเรอะไงว้า ถามได้
ในความเป็นจริงแล้ว เราไม่รู้จริงๆ หรอกว่าอะไรทำให้ตลาดมีปฏิกิริยาสนองตอบต่อความเป็นจริงหรือต่อข่าวต่างๆ ได้อย่างที่มันเป็น
เรารู้จริงอย่างเดียวคือธรรมชาติของตลาดก็เป็นอย่างนี้  ตลาดไม่ได้อยู่กับปัจจัยพื้นฐานตลอดเวลา เพราะหากมองที่ปัจจัยพื้นฐานอย่างเดียวแล้ว หุ้นอเมริกา หุ้นยุโรป ต้องตกลงไปกว่านี้อีกมาก แต่ความรู้สึกของคน การสนองตอบต่อข้อมูลข่าวสารของคน หรืออารมณ์ เป็นอีกตัวการที่กำหนดราคาหุ้น โดยเฉพาะในระยะสั้น
เราไม่สามารถทำนายล่วงหน้าได้ว่าตลาดวันพรุ่งนี้จะเป็นยังไง  ดังนั้น เราจึงไม่เคยหน้าแตกเพราะไปทำนายดัชนีว่าจะไปถึงไหน ไม่ต้องเสียเวลามาอธิบายทีหลังว่าทำไมมันถึงไม่เป็นไปตามที่เราโม้ไว้ และเราก็ไม่นึกสนุกที่จะให้ใครๆ จะมาชี้หน้าเรา แล้วบอกว่า ดีแต่โม้
หลังจากตลาดขึ้นๆ ลงๆ (After the Fact) เราหลายคนจึงมองไปรอบๆ แล้ว ทำเป็นเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ทั้งๆ ที่อาจไม่ได้เข้าใจอะไรเลย แต่เราจะทำเป็นถามคำถาม แล้วทำเป็นตอบคำถามนั้น แม้ว่าคำตอบมันจะแหม่งๆ และดูประหลาดๆ ก็ตาม สรุปคือเราก็ต้องทำเป็นมีคำตอบให้ได้หลังจากเกิดเหตุ  
นี่คือวิธีรักษาภาพพจน์ความเป็น กูรู้ของเราไว้
เห็นไหมล่ะ  การเป็น กูรู้มันง่ายเพียงใด ใครๆ ก็เป็นได้ แม้กูจะไม่รู้อะไรเลย  ฮ่าๆๆๆๆ
แต่สิ่งที่เราควรจับตามองอย่างพินิจพิเคราะห์สักหน่อย ก็คือเรื่องที่เยอรมันนีขายพันธบัตรไม่หมด
เกือบ 1 ใน 3 ที่ขายไม่ออก ทั้งๆ ที่เป็นประเทศเศรษฐกิจแข็งปึ้กที่สุดในกลุ่มยุโรป ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรเยอรมันนีพุ่งขึ้นไปสูงเท่ากับของอังกฤษ
เป็นภาวะย่ำแย่ที่สุดสำหรับเยอรมันนี ตั้งแต่รวมกลุ่มยูโรก็ไม่เคยแย่อย่างนี้มาก่อน
ผลตอบแทนพันธบัตรเยอรมันนีสูงพอๆ กับของอังกฤษ แล้วไงล่ะ ใครมีปัญหา รู้ป่ะ อั๊วลูกใคร?
ก็ต้องคิดแบบนักเศรษฐศาสตร์ทั้งๆ ที่เราไม่ได้เรียนเศรษฐศาสตร์เกิน ECON101 กับ ECON102 นี่ละ
เรื่องนี้ใครๆ ก็คิดได้หากใช้หัวคิด หากช่างสังเกตุและช่างตั้งคำถามกับตัวเอง หาคำตอบเอง ซึ่งแปลว่าต้องขี้สงสัย และต้องใจร้อน คือรอคนอื่นมาตอบให้ไม่ไหว ต้องกระเสือกกระสนค้นคว้าเอง อย่างน้อยกูเกิ้ลก็ไม่ได้มีไว้หาเวบโป๊อย่างเดียว
การตั้งคำถามและหาคำตอบด้วยตัวเองด้วย ทำให้เราคิดเป็น ตั้งคำถามเป็น และลุกขึ้นมาหาคำตอบเองเป็น ซึ่งย่อมดีกว่าการถามเรื่อยๆ เปื่อยๆ หรือโยนคำถามให้คนอื่นเขาต้องทำการบ้านให้อยู่เรื่อยๆ 
หากเราเป็นคนขี้เกียจแบบนั้น เราจะพัฒนาได้ช้ากว่าคนอื่น ทำให้เรายืนบนขาตนเองไม่ได้สักที แล้วจะเป็นนักลงทุนเก่งๆ ได้ไงล่ะ ในเมื่อต้องคอยถามคนอื่นว่าเอาไงดีอยู่เรื่อยๆ หรือคอยวิ่งตามเซียนเป็ด เซียนไก่ ไปอย่างไร้ทิศทาง
กลับไปที่คำถามว่า ผลตอบแทนพันธบัตรเยอรมันนีสูงพอๆ กับของอังกฤษ แล้วไง
หากตอบว่าไม่รู้สิ คนอ่านคงจะกรี๊ดแล้วเจริญพรบรรพบุรุษกัน เพราะหลงตามอ่านมาหลายบันทัดแล้ว 5555555+
ข้อมูลเพิ่มก็คือ อัตราเงินเฟ้อในอังกฤษมันสูงกว่าเยอรมันนี สัดส่วนหนี้ภาครัฐก็สูงกว่าด้วย ในขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน
ก็ในเมื่อเป็นแบบนั้นแล้วทำไมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรเยอรมันถึงได้พอๆ กับอังกฤษล่ะ มันควรต่ำกว่าสิ ในเมื่อเยอรมันแข็งแกร่งกว่าแบบนี้ ช่ายป่ะ
อาฮะ  ใช่เลย เป็นข้อสังเกตุที่ดูดีมีสกุล สมเป็นลูกหลานอำมาตย์เลยทีเดียว
คำตอบก็คือ เพราะอังกฤษไม่มีลูกตุ้มยูโรมาถ่วงไว้ไง ในขณะที่เยอรมันนีมีเป็นพวง 
ไอ้พวงๆ ที่ว่านี้คือประเทศอื่นๆ ที่อ่อนแอกว่าเยอรมันนีในกลุ่มมยูโรนะ  ไม่ใช่ไส้กรอกเยอรมัน อย่าคิดลึก
อังกฤษโชคดีที่ไม่มีลูกตุ้มยูโรมาถ่วงไว้ และแม้จะยังมีปัญหาภายในประเทศมากมายจากกลุ่มสหภาพแรงงานจอมเรียกร้องแล้ว  อังกฤษก็ยังมีอีกอย่างที่เยอรมันนีและที่อื่นๆ ไม่มี (ยกเว้นสหรัฐ) นั่นก็คือ
อังกฤษเสกแบงค์ ออกมาจากแท่นพิมพ์ได้ อังกฤษจึงสามารถชะลอวันโลกแตกไปได้ อย่างน้อยก็ระยะนึง
นี่คือคำตอบที่ว่าทำไมผลตอบแทนพันธบัตรอังกฤษถึงได้พอๆ กับของเยอรมันนี ทั้งๆ ที่อังกฤษมีเศรษฐกิจที่อ่อนแอกว่า
เยอรมันนีของคุณป้าแองจี้ เริ่มแสดงอาการแล้ว แต่อังกฤษของคุณอากอร์ดอน บราวน์ ซึ่งมีโรคหนักกว่า กลับแสดงอาการน้อยกว่าโรคที่แอบแฝงอยู่ภายใน
นี่ก็เพราะมียาโด๊ปสูตรเดียวกับลุงเบนที่สหรัฐ
มองไปที่ไหนก็พบว่าโลกเก่าอย่างยุโรปและอเมริกากำลังเสื่อมถอยลงไปเรื่อยๆ เหมือนอาการของมะเร็งมันจะกัดกินภายในร่างกายเป็นจุดๆ แล้วค่อยๆ ลาม
ที่ยุโรปเราเห็นมะเร็งเริ่มที่ กรีซ แล้วลุกลามไปที่ อิตาลี โปรตุเกส และไอร์แลนด์  และกำลังกินแดนไปที่ประเทศอื่นๆ
ที่อเมริกา มีอาการมะเร็งที่ อิลลินอยส์ ลามไปถึงนิวเจอร์ซี เมน และรัฐอื่นๆ อีกหลายรัฐ
การรักษาอาการมะเร็งมันก็ต้องกินยา ผ่าตัด เคมีบำบัด การแพทย์แผนโบราณ หรือบางคนก็พึ่งไสยศาสตร์ ฯลฯ
แต่หากเห็นว่าอาการเกินเยียวยาแล้ว เราก็ต้องเตรียมให้ทายาทรับช่วงต่อจากคนที่กำลังจะไปให้ดีที่สุด ไม่ใช่เอาแต่อัดฉีดฟอร์มาลีนเข้าไปจนใกล้จะเป็นคุณหมอผมทรงเทพีสันติภาพ และไม่ใช่เอาแต่ฉายแสงจนคนไข้จะกลายเป็นแหนมไปแล้ว
เรื่องแบบนี้ ไม่ต้องจบ Math ไม่ต้องได้รางวัลโนเบลทางเศรษฐศาสตร์ ก็เข้าใจได้ง่ายๆ ไม่ใช่เรื่องลึกลับเลย
อาการของประเทศต่างๆ เหล่านี้ต้องการการเยียวยาที่แท้จริง
นั่นก็คืออย่าให้การเมือง เข้ามายุ่ง ไม่ต้องมาอุ้ม ไม่ต้องพิมพ์แบงค์เพิ่ม           
แต่ในเมื่อการ ไม่ทำอะไรเลย ไม่ได้อยู่ในรายการที่นักการเมืองจดไว้ในบันทึก “to do list” ทั้งๆ ที่เราอยากให้อยู่เป็นรายการแรกและรายการเดียว มันจึงมีแต่รายการ “to do list” ของนักการเมืองเต็มไปหมด เช่น การประชุมวางแผน การเจรจาต่อรอง มีประชุมสุดยอดนั่น สุดขั้วนี่  มี G20  มีไตรภาคีทรอยก้า  มีประชุมธนาคารกลางสหรัฐในรูของคุณแจ็คสัน (Jackson Hole)  มีการประชุมสุดยอดอาเซียน มีการแทรกแซง มีการทุ่มซื้อพันธบัตร มีการควบคุมนั่นโน่นนี่ (แต่ไม่เคยคุมตัวเอง)  มีการออก QE มีพิมพ์แบงค์กงเต็ก พิมพ์ๆๆๆ กู้ๆๆๆ หาเสียงๆๆ   เลือกตั้งๆๆ  แล้วก็กล่าวสุนทรพจน์ต่างๆ นาๆ อย่างน่าซาบซึ้งจนน้ำตาไหลพรากๆ ฟังแล้วหัวใจพองโตฮึกเหิมจนเหมือนเรากำลังใกล้เป็นวีรบุรุษสงครามอวกาศไปทุกที
เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีคณะกรรมการนั่น คณะอนุกรรมการนี่ มีกรรมมาธิการ มีประธานกรรมการ ประธานกรรมการบริหาร ประธานที่ปรึกษา ประธานเมียน้อยอาวุโส คณะกรรมาธิการปรองดอง ประธานกรรมการสตรีกิติมศักดิ์ฝ่ายกระโดดถีบหลังไอ้เก่งแต่ปาก ประธานผ้าป่าที่ปรึกษาอำนวยการ  ประธานกิ๊กอำนวยการด้านต่างประเทศอาวุโส  และประธานงานล้างส้วมกิตติมศักดิ์
น่าอ้วกไหมกับตำแหน่งบ้าๆ บอๆ เหล่านี้                                                             
ทำไมน่าอ้วกล่ะ มีตำแหน่งแล้วไม่ดีเหรอ
น่าอ้วกก็เพราะมันสะท้อนถึงกิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิตในวงกว้าง และสะท้อนถึงสังคมที่ไม่มีผู้นำเด็ดขาดแท้จริง จึงต้องตั้งหัวโขนไว้ให้เยอะแยะไปหมด
แล้วก็เสียเวลาประชุมนั่นโน่นนี่ ที่แต่ละคนมักจะมาเพ้อเจ้อเล่าเรื่องราวความหลังที่หาประโยชน์อันใดต่อองค์รวมไม่ได้ หรือมีประโยชน์อย่างยิ่งแต่นักการเมืองเขามองเห็นเป็นเพียงสโมสรบ้านบางแค เลยตั้งคณะนั่นนี่ไว้ให้ไปสิงสถิตย์ จะได้ไม่มายุ่งกะแผนใหญ่ของเขา
หลายคนในประเทศตะวันตก จึงเริ่มร้องตะโกนว่า นักการเมือง ไสหัวไปสักทีเท่าที่ทำไปหลายอย่างมันยังไม่แย่พอรึไง เพราะแทนที่จะตัดนิ้วๆ เดียว เพื่อรักษาชีวิตไว้ได้โดยเร็ว กลับกลายเป็นต้องตัดทีละนิ้ว แล้วไปตัดทีละมือ ทีละเท้า จนจะต้องตัดคอแล้ว
แต่นักการเมืองไม่เข้าใจ หรือเข้าใจแต่ทำใจไม่ได้                     
ที่ว่าทำใจไม่ได้ ไม่ใช่ว่าห่วงคนไข้กลัวตายคามือ  แต่เป็นเพราะ....
นักการเมืองที่เคารพรักในวิชาชีพตน ย่อมห่วงตัวเองมากกว่าห่วงประชาชนและประเทศชาติ

เออใช่เลย ....... สวัสดี                  

วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ไหนว่าตลาดทุนต่อต้านคอร์รัปชั่น

วรวรรณ ธาราภูมิ

27 พฤศจิกายน 2554

คอร์รัปชั่นหลายกรณีแม้ไม่มีหลักฐาน หรือมีหลักฐานแต่กระบวนการยุติธรรมมาราธอนยาวนานที่สุดในโลกยังไม่จบ  แถมคนในกระบวนการยังไม่ทำหน้าที่แบบอ่านหนังสือกลับหัวคือดันไปใช้อำนาจที่มีไปช่วยเหลือคนทำผิดอีก  คนทำชั่วได้ดีจึงมีถมไป  แถมยังอยู่ในชนชั้นปกครองที่เราหลายคนต้องยกมือไหว้ทั้งๆ ที่ใจรังเกียจเป็นอย่างยิ่ง

คอร์รัปชั่นยังมีอยู่และหนักข้อขึ้นทุกวัน เพราะทำชั่วแล้วได้ดี มีโทษก็จิ๊บๆ แถมยังมีแนวโน้มพวกมากลากไป จะแก้ไขให้ผิดเป็นถูกด้วยการแก้กฏหมายให้การทำผิดไปแล้วนั้นไม่ใช่เรื่องผิด ทั้งๆ ที่ประชาธิปไตยไม่ใช่ว่ามีเสียงข้างมากแล้วจะทำได้ทุกอย่าง มันต้องมีเรื่องธรรมาภิบาลประกอบด้วย จึงจะเป็นประชาธิปไตย ไม่งั้นใครชนะเลือกตั้งเข้ามาก็ยกมือแก้กฏหมายให้พวกตัวที่ทำผิดพ้นโทษด้วยการออกกฏหมายมาล้างความผิด  พออีกพวกชนะคะแนนมา ก็ล้างผิดพวกตัวกันอีก เมื่อแนวโน้มเป็นอย่างนี้ ส่วนตัวจึงคิดว่าระบอบประชาธิปไตยไม่เหมาะกับวุฒิภาวะของคนไทย ทั้งยังมีแนวโน้มเลวร้ายขึ้นไปทุกวัน

อย่างไรก็ตาม หากคนดีท้อแท้ ยอมแพ้แก่คนชั่ว  ประเทศนี้ก็ไม่น่าอยู่แล้ว การต่อสู้เพื่อความถูกต้องมันใช้เวลา  ใช้ความพยายามและความอดทนเป็นอย่างยิ่ง  ความลำบากของผู้ต่อสู้เพื่อความถูกต้องคือหลายคนที่เป็นลูกจ้างยังไม่มีอิสระภาพทางการเงิน ต่อสู้ไปก็กลัวตกงานเพราะเจ้าของกิจการเขากลัวอำนาจมืด  ตกงานแล้วหางานใหม่ก็ลำบาก แล้วจะเลี้ยงดูลูกเมียอย่างไร 

มันเป็นเรื่องตลกที่น่าเศร้าใจที่ทุกรัฐบาลต้องออกมาพูดเรื่องปราบคอร์รัปชั่น แต่มันก็เกิดในทุกรัฐบาล

ย้อนกลับไปดูซิว่ามีรัฐบาลไหนบ้างที่ไม่เคยเกิดกรณีคอร์รัปชั่น

ย้อนกลับไปดูซิว่ามีข้าราชการ นักการเมืองกี่คน ที่คอร์รัปชั่นแล้วตอนนี้โดนลงโทษจริงๆ

ก็เห็นยังหน้าด้านมาให้กราบไหว้กันอยู่นั่นแหละ

แล้วมันมืดมนไปหมดแล้วหรือ ?

ไม่หรอก มันไม่ถึงขนาดนั้น เพราะยังมีผู้กล้า ผู้รักในความสุจริตเป็นธรรม และรักประเทศชาติจำนวนไม่น้อยที่รังเกียจเรื่องนี้ มันถึงมีการก่อตั้งเครือข่ายภาคีต่อต้านคอร์รัปชั่นขึ้นมา โดยในช่วงที่ คุณดุสิต กับ คุณชาญชัย ยังมีชีวิตอยู่นั้น  ทั้ง 2 ท่านทำได้ดีมาก เรียกได้ว่าเป็นแสงสว่างของความดีเลยทีเดียว  แต่ตอนนี้ดูเหมือนผู้นำองค์กรภาคีนี้จะยังไม่เคลื่อนไหวเท่าไรนัก มีแต่คนที่เป็นปัจเจกบุคคลเท่านั้นที่ออกมาร้องเรื่องคอร์รัปชั่นกันบ้าง 

เรื่องแบบนี้ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ก็อยู่ที่ผู้นำองค์กร อยากให้ทำหน้าที่ให้สมกับปณิธานที่ตั้งไว้ และทำหน้าที่อย่างมีกระบวนการ ไม่ใช่แค่ออกมาเดินขบวนถือป้ายแล้วก็เอาไปลงข่าว ลง Social Media แล้วก็จบ กลับบ้าน ไปทำมาหากินกันต่อ ก็ทำมาหากินกับพวกข้าราชการและนักการเมืองนั่นแหละ

การที่ภาคตลาดทุนร่วมมือกันต้านคอรัปชั่น มันจะเสียเปล่าหรือไม่นั้น มันขึ้นกับผู้นำในองค์กรตลาดทุนในแต่ละบริษัทและขึ้นอยู่กับผู้กำกับตลาดทุนด้วยว่ากล้าพอจะออกมาแสดงความเห็นต่อสาธารณะไหมในกรณีคอร์รัปชั่นที่พบเห็น ไม่ใช่ทุกคน Play Safe แล้วทิ้งภาระให้คนอื่นเพราะไม่กล้าหาญ เพราะการออกมาแสดงจุดยืนมันมีหลายวิธีที่ไม่ทำให้ต้องโดนฟ้องในกรณีที่หลักฐานยังไม่ปรากฏชัด แต่ท่านต้องปลุกความกล้า ความรักในความดีที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวท่าน แล้วออกมายืนแถวหน้ากับเราด้วย  ไม่งั้นก็จบ  

สิ่งเหล่านี้ไม่ง่ายแต่ก็ไม่ยากหากจริงใจที่จะทำ ไม่ใช่ทำเพียง Window Dressing โดยให้มีข้อความแปะในรายงานประจำปีของบริษัทเฉยๆ ว่าต่อต้านคอร์รัปชั่น แต่ถึงเวลาก็เงียบไว้เพราะไม่อยากมีเรื่อง 
หากนักธุรกิจขาดเขลา หรือโลภอยากได้งานจากราชการแต่ความสามารถในการแข่งขั้นซี่งๆ หน้าไม่มี  เลยคิดว่าไม่มีเรื่องดีที่สุด เดี๋ยวทำมาหากินลำบาก  มันก็ไม่มีทางแล้ว  เพราะคนอื่นๆ ที่พยายามต่อสู้เพื่ออนาคตประเทศที่ดีกว่าก็จะรู้สึกเหนื่อยเปล่าที่จะทำนะคะ

วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ทองคำยังคงเป็นหลุมหลบภัยที่ดีอีกหรือไม่

คุณวรวรรณ ธาราภูมิ
CEO บลจ. บัวหลวง

23 พฤศจิกายน 2554


ตามคาด
กระแสสื่อต่างประเทศเริ่มขยับจากยุโรปไปที่ข่าวสำคัญของสหรัฐอเมริกา โดยไปจับเรื่อง Super Committee หรือชื่อเต็มว่า Congressional Super Committee ที่ถูกตั้งขึ้นมาใหม่ในไม่กี่เดือนนี้ช่วงที่อเมริกาเพิ่มเพดานหนี้ครั้งล่าสุด
ตั้งมาทำไม
หลายคนจะอธิบายยืดยาวแต่จะคล้ายๆ กันว่าตั้งเพื่อให้ไปพิจารณาว่าจะตัดงบประมาณอะไรบ้างเพื่อให้แผนลดงบประมาณสหรัฐ ....ล้านล้านดอลลาร์บรรลุใน 10 ปี ซึ่งเป็นเงื่อนไขบังคับที่รัฐสภาสหรัฐระบุไว้ตอนอนุมัติขยายเพดานหนี้ให้เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้ พร้อมกำหนดเส้นตายว่าต้องทำแผนนี้ให้เสร็จมาเสนอ และหากตกลงกันไม่ได้ใน Super Committee นี้ ก็จะต้องตัดงบประมาณนั่นนี่ เท่านั้น เท่านี้ โดยอัตโนมัติ
คล้ายๆ ประเทศไทยเนอะ มีตั้งคณะกรรมาธิการ คณะกรรมการนั่นนี่ คณะป่วยการ นานานุคณะอะไรก็แล้วแต่
ที่สหรัฐเขาตั้งคณะนี้ขึ้นมาเพื่อที่รัฐสภาจะได้หลีกเลี่ยงปัญหาเฉพาะหน้าของตัวเองเรื่องวิกฤติหนี้ ซึ่งก็คือเป็นการเตะถ่วงซื้อเวลาไปเรื่อยๆ  
และก็ตามคาดอีก เจ้า Super Committee นี้เดินตามรอยรัฐสภา เปี๊ยบๆ นั่นก็คือ 2 พรรคการเมืองคือเดโมแครท กับ รีพับลิกัน ตกลงกันใน Super Committee นี้ไม่ได้ ว่าจะปรับลด ตัดทอนงบประมาณอะไรบ้าง
ก็จะตกลงกันได้ไงล่ะ ในเมื่อพรรคมาก่อนประชาชนและประเทศชาติ โดยเฉพาะอีกไม่นานก็จะเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่แล้ว
หากรีพับลิกันยอมให้ขึ้นภาษี คนก็ไม่เลือกตัวแทนพรรคไปเป็นประธานาธิบดี และหากเดโมแครทยอมให้ตัดงบประมาณสวัสดิการสังคม โอบามา หรือ ฮิลลารี คลินตัน หรือตัวแทนผู้สมัครจากเดโมแครท ก็จะปิ๋วไม่ได้รับเลือกเหมือนกัน
แล้ว Super Committee เดินตามรอยรัฐสภายังไง
ก็ด้วยการโยนความรับผิดชอบออกไปจากตัวเองเหมือนกันน่ะสิ  ซึ่งหลายฝ่ายประนามว่าไร้ความรับผิดชอบอย่างน่าละอายที่สุด
และแน่นอน นี่คือสิ่งที่นักการเมืองจะไม่มีวันนำไปคิดให้ระคายผิวหน้า
แต่ในขณะที่สื่อวิ่งไปตามข่าวนี้ฝั่งอเมริกา นักลงทุนสถาบันต่างๆ ทั่วโลกก็ยังโฟกัสที่วิกฤติหนี้ในยุโรป โดยเฉพาะที่ปารีสกับรัสเซล และกำลังกังวลกันจนนั่งไม่ติดเรื่องแบงค์ในยุโรปจะเจ๊งไปกับการปล่อยกู้/ซื้อพันธบัตรรัฐบาลของประเทศที่กำลังหลังพิงฝาจำนวนมหาศาล
และก็ตามคาดอีก นักลงทุนเกิดอาการเจ๊กตื่นไฟ ลนลานวิ่งออกประตูหนีไฟกันจ้าละหวั่น  
แล้วหนีไปไหนที่ปลอดภัยล่ะ
เขาพากันวิ่งไปประตูที่เขียนว่า ดอลลาร์ กับพันธบัตรรัฐบาลอเมริกัน  น่ะสิ โดยมองว่านั่นละปลอดภัยสุดๆ แถมมีสภาพคล่อง จะถอนออกเมื่อไหร่ก็ได้ 
เฮอะ
นั่นคือเหตุผลที่ทำให้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐหรือ US Treasury ให้ผลตอบแทนที่ต่ำลงจนเป็นประวัติการณ์จากที่ต่ำสุดๆ อยู่แล้ว  ที่ต่ำลงไปอีกได้ก็เพราะเมื่อคนแห่เข้าไปซื้อ ผู้ขายก็จะเสนอให้ผลตอบแทนต่ำๆ ได้  เหมือนตอนที่แบงค์ไม่ต้องการเงินฝากก็จะเสนอดอกเบี้ยต่ำๆ นั่นแหละ

เรื่องนี้ John Browne นักกลยุทธ์การลงทุนอาวุโสของ Euro Pacific Capital วิจารณ์ว่า

การที่มีเงินแห่เข้าไปซื้อ US Dollar ได้ทำให้ค่าเงินสหรัฐแข็งขึ้น และทำให้ผลตอบแทน US Treasury ต่ำลง ซึ่งก็กลายเป็นตัวช่วยชั้นดีให้รัฐสภาสหรัฐตายใจจนละเลยความเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาหนี้ในระยะยาว

เกี่ยวอะไรกับที่คองเกรสจะละเลยความเร่งด่วนเรื่องแก้ไขหนี้ล่ะ

เกี่ยวสิ เพราะหากคิดแบบนักการเมืองที่จะมีเลือกตั้งทุกๆ 4 ปี  ก็จะเบาใจว่าในเมื่อดอกเบี้ยพันธบัตรมันต่ำลงเพราะมีคนแห่เข้ามาซื้อ แถมค่าเงินก็แข็งขึ้น จะไปกังวลกับเรื่องตัดงบประมาณไปทำไมล่ะ ในเมื่ออเมริกาก็ยังกู้มาจ่ายคืนหนี้ได้เสมอๆ  แถมยังกู้ได้ถูกๆ ด้วยการออกพันธบัตรรัฐบาลที่จ่ายดอกเบี้ยต่ำๆ ได้ด้วย  เพราะว่าคนลงทุนแตกตื่นหอบเงินหนีภัยจากยุโรปเข้ามาซื้อสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ (Dollar Assets)

แล้วมันก็ขำๆ กับการที่ทองคำที่ผู้ลงทุนเชื่อว่าเป็น Safe Haven หรือหลุมหลบภัยชั้นดี ดันมีราคาที่ผันผวนสุดๆ

เอ ... หรือคนเขามองว่าทองคำไม่ปลอดภัยเท่าดอลลาร์  ฮ่วย !!
เรื่องนี้ John Browne บอกว่า  หากคิดอย่างนั้นก็เป็นบ้ากันไปแล้ว
สาเหตุที่เขาว่าเป็นไปไม่ได้ที่ดอลลาร์และ US Treasury จะกลายเป็นหลุมหลบภัยที่ดีกว่าทองคำ ก็เพราะถ้ายูโรแตก หรือระบบธนาคารยุโรปล้ม มันจะลากปัญหาลามไปที่สหรัฐด้วย ทั้งต่อธนาคารสหรัฐ กับกองทุนมันนี่มาร์เก็ต ที่ไปลงทุนในตราสารต่างๆ ของธนาคารยุโรปอีกต่อหนึ่งในจำนวนมาก และต่อค่าเงินดอลลาร์กับตลาดพันธบัตรสหรัฐเอง
เรียกว่าลามไปทั้งระบบการเงินที่ผูกติดกับเงินดอลลาร์เชียวละ 
แล้วดอลลาร์มันจะดี มันจะเป็นหลุมหลบภัยไปได้อย่างไรในระยะยาว
มันน่าจะเป็น หลุมมีภัยไปเลยด้วยซ้ำ อยู่ที่ว่าเมื่อไหร่ในอนาคตกับดักนี้มันจะทำงาน ระเบิดตู้ม เท่านั้นแหละ
จนถึงวันนี้ ลุงเบน เบอร์นานเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (FED) จึงยังคงเดินหน้าทำทุกอย่างเพื่อจะบิดเบือนความจริงที่ว่าทองคำเป็น Safe Haven  และธนาคารกลางประทศอื่นๆ ที่เป็นลูกหนี้เหมือนๆ กันก็จะทำเช่นเดียวกัน  คือ ทำให้ความเชื่อมั่นในเรื่องทองคำลดลง หรือหดหายไป
ว่างจัดเหรอ ถึงได้ทำอย่างนั้น จะทำไปทำไม
ไม่ได้ทำเพราะอยู่ว่างๆ แต่ต้องทำเพราะมันจำเป็น
ก็หากคนพากันแห่ขายสินทรัพย์ที่เป็นดอลลาร์ทิ้ง เพื่อหนีไปหาทองคำ ก็หมายถึงคนไม่เชื่อ FED และไม่เชื่อว่าสหรัฐจะมีปัญญาใช้หนี้คืนได้
ซึ่งหากปล่อยให้เป็นอย่างนั้น ดอลลาร์กับพันธบัตรก็จะตกกระป๋อง เป็นหมาหัวเน่า ไม่มีใครกล้าซื้อ ไม่มีใครกล้าลงทุน  เจ้าหนี้ที่เคยให้อเมริกากู้ก็จะซื้อพันธบัตรสหรัฐลดลง และอาจจะแอบทยอยขายในส่วนที่หลวมตัวไปซื้อแล้วออกไปเรื่อยๆ แบบที่จีนทำ
เรียกว่าคล้ายๆ อเมริกาโดนตัดบัตรเครดิตทิ้ง  ซึ่งแน่ละหากปล่อยไปอย่างนั้น อเมริกาก็จะเข้าขั้นหายนะถึงกับจักรวรรดิ์ล่มได้เลยทีเดียว

การรู้ทัน ลุงเบน ที่พยายามบิดเบือนคุณค่าของทองคำจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง
ภายใต้การคุมบังเหียนของลุงเบน  ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED ได้ใช้อำนาจผูกขาดในการพิมพ์แบงค์ดอลลาร์แห่งเดียวในจักรวาล ไปกระทำชำเราระบบการเงินด้วยการกระทืบอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของพันธบัตรสหรัฐให้แบนแต๊ดแต๋    
เออ ... ทำไมไม่ ชำเขา มั่ง ทำไมมีแต่ ชำเราก็ไม่รู้
อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของพันธบัตรสหรัฐตอนนี้ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อไปถึง 1.5% แล้ว ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากหรือพันธบัตรที่ต่ำกว่าเงินเฟ้อขนาดนี้มันทำร้ายผู้ฝากเงิน เพราะเมื่อผลตอบแทนจากการฝากเงินมันไม่ทันเงินเฟ้อ ที่เคยฝันหวานว่าพอเกษียณมีเงินสัก 1 ล้านดอลลาร์จะพอใช้ไปจนตาย มันจึงไม่ใช่อีกแล้ว  เพราะของกินของใช้ ค่ารักษาพยาบาลมันแพงขึ้น  
แล้วผู้ลงทุน ผู้ฝากเงิน กับกองทุนเกษียณ กองทุนบำเหน็จบำนาญ จะทำไงล่ะ ในเมื่อฝากเงินก็ไม่ทันเงินเฟ้อแล้ว จะลงทุนในดอลลาร์หรือในพันธบตรรัฐบาลสหรัฐมากๆ แบบแต่ก่อนก็เริ่มกลัว
แน่นอน เขาก็หันไปหาทองคำแทนน่ะสิ มันถึงได้ทำให้เกิดความต้องการทองคำเพิ่มขึ้น และทำให้ทองคำแพงขึ้น
ก็แบงค์ชาติหรือธนาคารกลางประเทศต่างๆ เขายังค่อยๆ แอบสะสมทองคำไปเรื่อยๆ เลย แม้จะไม่รีบร้อน
จะรีบร้อนได้ไง  ขืนแห่ไประดมซื้อทองคำตอนนี้ก็จะทำให้ราคาทองคำพุ่งพรวดๆ น่ะสิ สู้ทยอยเก็บเมื่อราคาปรับลงถึงระดับที่เขาเก็งไว้ในใจดีกว่าไม่ใช่เหรอ เพราะยังไงๆ ราคามันก็ผันผวนขึ้นๆ ลงๆ อยู่แล้วนี่
เอาละ..... แล้วทำไมในวันนี้ราคาของทองคำและโลหะมีค่ากลับขึ้นๆ ลงๆ ตามราคาหุ้นล่ะ พอหุ้นขึ้น ทองก็ขึ้น  พอหุ้นลง ทองก็ลง  แต่น่าน้ำหนักตัวเรามีแต่ขึ้นไปเรื่อยๆ ทำนิวไฮอย่างไม่หยุดยั้ง
เพราะมันเป็นไปได้มาก ว่าเมื่อหุ้นขึ้น ผู้ลงทุนที่ขายหุ้นออกไปได้เงินสด ก็เปลี่ยนเงินสดจากเดิมมักพักไว้ในบัญชีเงินฝากธนาคารไปเป็นทองคำแทนแล้วไง มีสภาพคล่องไม่แพ้กันด้วย อยากถอนออกเมื่อไหร่ก็ขายทองคำทิ้ง แล้วจะไปฝากธนาคารให้ได้ดอกเบี้ย 0% ไปทำไม ในเมื่อทองคำมีโอกาสให้ผลตอบแทนดีกว่าฝากแบงค์ 
และเมื่อหุ้นตก ผู้ติดยอดดอยหงอยใจใครจะเห็น ก็ต้องขายทองคำเพื่อนำเงินสดมาใช้จ่าย เพราะไม่กล้าตัดใจขายหุ้นแล้วขาดทุน  หรือต้องขายทองคำก็เพื่อหาเงินสดมาชดเชยเพราะโดน Margin Call  
พฤติกรรมอย่างนี้แหละที่ทำให้ราคาทองคำและโลหะมีค่าผันผวนสูงมากในช่วงที่ผ่านมา
อ้าว ราคาทองคำมันผันผวนขึ้นๆ ลงๆ ได้สูงอย่างนี้ ยังจะน่าลงทุนเหรอ
มันก็แล้วแต่ใครจะคิดจะเชื่ออย่างไร ก็เงินใคร เงินมัน นี่นา                         
แต่ความผันผวนของราคาทองคำไม่ได้ทำให้ความสามารถในการดำรงคุณค่าของทองคำลดถอยลง และมันมีโอกาสสูงมากที่ค่าของดอลลาร์จะเสื่อมถอยลงไปอีกรอบ หรือหลายๆ รอบ ด้วยการที่ลุงเบนจะพิมพ์แบงค์ออกมาอีกโดยไม่มีอะไรมารองรับ หรือไปออก QE เพิ่มขึ้นอีกในรูปแบบใดใดก็ตาม  
นอกจากนี้ หลายๆ คนก็บอกว่าทองคำกับโลหะมีค่ามันน่าลงทุนเพราะมันต้านเงินเฟ้อได้ หมายถึงว่าเมื่อเงินเฟ้อเพิ่มราคาทองคำก็ปรับขึ้นด้วย
เรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นใหญ่เท่าไรแล้วละ  เพราะว่านอกจากทองคำจะดำรงคุณค่าของมันได้ดีกว่าดอลลาร์แล้ว การลงทุนในทองคำยังคล้ายกับการประกันภัยจากความล้มเหลวของระบบการเงินอีกด้วย
ก็ในเมื่อไอ้เจ้า Super Committee ตกลงเรื่องจะตัดงบประมาณกันไม่ได้ตามที่กล่าวไว้ตอนต้นๆ และเมื่อเราก็รู้ว่าไม่มีใครได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐได้ด้วยการออกมาบอกว่าพรรคของเขามีนโยบายตัดงบสวัสดิการสังคมลงครึ่งหนึ่ง ขืนทำอย่างนั้นก็ไม่ได้เป็นรัฐบาลน่ะสิ นักการเมืองจะยอมเหรอ  ไม่มี้ ไม่มี  พรรคเราสัญญากับประชาชนแล้วก็ต้องให้  จะไปเปลี่ยน Tablet เป็น Toilette ได้ไง  เผลอๆ ยังจะเสนอประชานิยมเกทับคู่ต่อสู้เพิ่มอีกด้วยซ้ำในช่วงหาเสียง
ดังนั้น ที่เราคาดไว้ล่วงหน้าได้เลยก็คือสหรัฐ (รวมถึงยูโร) ก็ต้องสู้กับ Recession (เศรษฐกิจถดถอย) ด้วยการออก QE ออกมาอีกแหงๆ  อยู่ที่ว่าเมื่อไหร่เท่านั้น ต้องอุ้มแบงค์ที่จะล้มอีกแหงๆ  แล้วก็ต้องร้องขอให้ขยายเพดานหนี้ให้สูงขึ้นไปอีกเพราะเมื่อไม่ตัดรายจ่ายด้วยการลดสวัสดิการสังคมกับลดงบสงคราม และไม่เพิ่มรายได้ด้วยการเพิ่มภาษี  แล้วจะเอาที่ไหนไปจ่ายหนี้คืนเจ้าหนี้เล่า อเมริกาเอ๋ย
เมื่อถึงเวลานั้น ดอลลาร์จะเป็นหลุมศพ ไม่ใช่หลุมหลบภัยเหมือนโลหะมีค่าอย่างทองคำ      
ดังนั้น การที่ FED อิจฉาตาร้อนทองคำ กลัวจะได้ดีเกินหน้าดอลลาร์ แล้วทำให้อเมริกาล้มละลายจึงไม่ใช่เหตุผลที่เราจะหยุดสะสมทองคำไปเรื่อยๆ เมื่อราคาทองคำลดลงมาจากความผันผวน
และเมื่อเห็นๆ กันอยู่ว่าทั้งยุโรปกับสหรัฐยังจมปลักอยู่กับหนี้ที่ท่าทางจะแก้ปัญหาแบบบูรณาการไม่ได้ (ใช้ศัพท์ตามนายกเพื่อความเท่และทันสมัย)  จึงยิ่งเป็นเหตุผลเพิ่มเติมที่เราควรจะเชื่อมั่นในทองคำ
ใครคิดเหมือนกัน และลงทุนยาวหลายๆ ปีได้  ก็ซื้อทุกเดือนตามแผนการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเอง
ใครไม่เชื่อ หรือเชื่อแต่ทนเห็นราคาทองคำตกลงจนขาดทุนบ้างในบางช่วงไม่ได้ ก็นอนกอดเงินฝากกันต่อไปตามใจท่าน ไม่มีใครทำไรหรอก
ก็บอกแล้วว่า เงินใคร เงินมัน ตัดสินใจกันเอาเอง
มาเล่าให้ฟังเฉยๆ แต่จะไม่รับผิดชอบในการตัดสินใจของแต่ละคน
นะจ๊ะ                                                                           

วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

อำนาจรวมศูนย์หรือจะสูญอำนาจ ตอนที่ 2

วรวรรณ ธาราภูมิ
 CEO บลจ. บัวหลวง

23 พฤศจิกายน 2554



ในตอนที่ 1 บอกไปว่า รัฐบาลกลาง หรือระบบรวมศูนย์อำนาจมันไปไม่ไหวแล้ว และไปไม่เป็นด้วยซ้ำ

เมื่อมาถึงเวลานี้ มันจึงต้องมีการตัดสินใจ

นั่นก็คือบางสิ่งต้องตัดไป หรือไม่ก็ตัดทุกสิ่งไปสักครึ่ง เพื่อให้ประเทศไม่ล้มละลาย และไม่แต่ยุโรป กับญี่ปุ่นเท่านั้น สหรัฐอเมริกาก็มีปัญหาที่ต้องตัดสินใจเช่นเดียวกัน

นั่นคือจะตัดงบประมาณอะไรดีล่ะทีนี้  ตัดสวัสดิการอาหารกับการศึกษาเรอะ ลดเงินช่วยเหลือและบำนาญของกองทุนประกันสังคมเรอะ เลิกเงินประกันและช่วยเหลือด้านสุขภาพเรอะ หรือว่าจะตัดงบประมาณทหารดีหว่า

และในฐานะประชาชนคนธรรมดา เราก็ต้องนึกถึงการตัดงบกองทัพไว้ก่อนใช่ไหมล่ะ คนอเมริกันจะไปแคร์ทำไมว่าอิรัค อิหร่าน ซาอุ อาฟกานิสถาน ทะเลจีนใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นยังไง ตามแบบวัยรุ่นที่เขาพูดว่า ชั่งแม่งดิ๊ 

เชื่อไหมล่ะว่าทำไม่ได้สักอย่างหรอก เพราะรัฐบาลจะไม่กล้าเผชิญหน้ากับฝูงชนที่โกรธแค้นเพราะไปตัดสวัสดิการของเขา และรัฐบาลก็ไม่กล้าจะหักดิบกับผู้ผลิตอาวุธสงครามหากไปแตะงบประมาณกองทัพ ถึงคณะกรรมการพิจารณางบประมาณจะตัดงบไป พอไปถึงมือประธานาธิบดีสีหมึก และสภาคองเกรส เขาเหล่านั้นก็จะไม่ยอมตัดอยู่ดีแหละ ในเมื่อผลสำรวจออกมาว่าคนอเมริกันมากกว่า 75% คัดค้านการตัดงบประมาณสวัสดิการทุกชนิด

และด้วยระบบเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยที่ถือเสียงข้างมากชนะ โอกาสที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐที่จะมาจากการหาเสียงว่า ตัดงบสวัสดิการสังคมจึงเป็นศูนย์

ศูนย์อีกแย้วเหยอ

เออสิ  ทั้ง Zerobama,  Zero Growth, Zero Cut และ Zero Hope

งั้นไป Occupy Wall Street กันให้หมดเลยดีไหม

แกจะไปก็ไปของแกคนเดียวเหอะ ชั้นยังว่ายน้ำเน่าอยู่แง้บๆ เลย
ก็ลองพี่มาร์คสุดหล่อ กับ พี่ปูแสนสวย ออกนโยบายเลือกตั้งว่า ต่อไปนี้จะเลิกสวัสดิการประชานิยมและตัดงบประมาณทหารให้หมดสิ หมาที่ไหนจะเลือก เผลอๆ เราจะได้นายกชื่อ ชูวิทย์ ไปแล้วหากไม่มีการปฏิวัติรัฐประหารไปก่อน

แล้วอย่าไปหวังว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งในสหรัฐจะชนะจากแคมเปญ ตัดงบประมาณทหารด้วย เพราะแม้ว่าเสียงโหวตจะมาจากประชาชนที่สนับสนุนระบบประชานิยมสวัสดิการ แต่เงินอยู่ที่กองทัพเฟ้ย

ก็บริษัทค้าอาวุธไงล่ะ

และนักการเมืองก็รู้ โดยเฉพาะพรรครีพับลิกัน นั่นจึงเป็นเหตุให้ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในพรรครีพับลิกันแต่ละคนถึงได้ใช้นโยบายสายเหยี่ยวกันได้อย่างประหลาดสุดๆ  (คำว่า เหยี่ยว นี่ห้ามเอา หอหีบ ออกนะ) แต่ละคนจึงเหมือนกับ Thomas Roosevelt ผสมพันธุ์กับ Thomas Friedman ยังไงยังงั้นเลย ทั้งอวดดี ขี้โม้ หน้าด้าน งี่เง่าแต่กระดกก้นตัวเองจนแทบจะหายใจทางตูดได้แล้ว

ลูกใครหว่า คุ้นๆ

อ้าว มาถามคนอื่นว่าตัวเองลูกใครได้ยังไงนี่  แม่ตัวเองลืมบอกตอนพ่อไม่อยู่เรอะ

ก็ยังสงสัยอยู่ว่า หากต้องตัดงบประมาณต่างๆ 330,000 – 400,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ใน 10 ปีข้างหน้าตามแผนแล้ว มันก็น่าจะใช้เทคนิคไปตัดเอามากๆ ในปีที่ 10 แหงเลย

และจำนวนที่ตัดงบมันก็กระจ๊อกกระจอก ทำให้ธนาคารกลาง หรือ FED ของลุงเบน คงจะต้องบริหารเงินแบบขาดดุลงบประมาณ (รายได้น้อยกว่ารายจ่าย) เกินล้านล้านดอลลาร์ต่อปีไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ สังเกตุกันไหมว่างบประมาณที่เสนอให้ตัดนั้น มันไม่ใช่ตัดจากรายจ่ายในปัจจุบันที่มโหฬารอยู่แล้ว แต่เขาเสนอตัดงบประมาณของโครงการที่คิดจะทำในอนาคต

เออ มันบ้าได้ใจจริงๆ  ตัดงบอนาคต ไม่ได้ตัดจากความฟุ่มเฟือยในวันนี้สักกะหน่อย

และที่ร้ายกว่านั้นก็คือ ตัวเลขต่างๆ ที่เขาทำกันมาดูนั้น ด้านรายได้เขาประมาณการไว้สูงเกินจริง ในขณะที่ด้านรายจ่ายกลับตรงกันข้าม ต่ำกว่าจริงไปเยอะแยะ

และสุดท้ายก็คือ มันไม่มีทางเกิดขึ้นตามแผนร้อก เสียเวลาทำไปเปล่าๆ

สิ่งเหล่านี้จะทำให้ FED ต้องหาเงินจำนวนมหาศาลมาค้ำจุนรายจ่ายในงบประมาณของรัฐบาล แต่ด้วยเครื่องหมายคำถามมากมายในหัวผู้ลงทุนต่อเหตุการณ์ที่ยุโรป ทำให้ผู้ลงทุนกลัวยุโรปกัน แล้วดันไปคิดว่าคงจะหัวถึงหมอนนอนหลับสบายถ้าย้ายเงินไปอเมริกา

ฮ่าๆๆๆๆ  ฮ้าไฮ้ เจี๊ยบๆ

ผู้ลงทุนเหล่านี้เชื่อว่าดอลลาร์และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะปลอดภัยที่สุดในโลก จึงทำให้ง่ายขึ้นสำหรับ FED ที่จะกู้ได้ด้วยการออกพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในอัตราดอกเบี้ยจ่ายแสนต่ำ นั่นก็ยิ่งทำให้อเมริกาถลำลึกลงไปในหลุมดำแห่งการเป็นหนี้ เพราะกู้ง่าย กู้ได้ถูกที่สุดในโลก แล้วก็จะเดินหน้าต่อไปอย่างไม่สิ้นสุดด้วยนโยบายสวัสดิการสังคมเพื่อให้ได้รับเลือกตั้งใหม่

วงจรอุบาทว์ของจักรวรรดิ์อเมริกันอาจใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะสิ้นสุดลง  ญี่ปุ่นอยู่กับมันมา 20 ปีได้แล้ว  สหรัฐอาจใช้เวลาสัก 10 ปี แต่เมื่อมาถึงวันล่มสลายของอเมริกา วันนั้นคงดูไม่จืดกันละ

อำนาจรวมศูนย์หรือจะสูญอำนาจ ตอนที่ 1

คุณวรวรรณ ธาราภูมิ
 CEO บลจ. บัวหลวง

21 พฤศจิกายน 2554



อิตาลี ไปไกลเกินแก้ไขเยียวยาหรือยัง แล้วจะรอดไหม เพราะพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีอายุ 10 ปี กลับไปอยู่ในระดับที่ต้องให้ผลตอบแทนสูงมาก  (7% +/-)  เพื่อดึงดูดผู้ลงทุนให้ซื้ออีกแล้ว แสดงว่าผู้ลงทุนกลัวว่าอิตาลีจะไม่มีปัญญาใช้หนี้พันธบัตรเพิ่มสูงขึ้นมาก จึงต้องเสนอผลตอบแทนสูงๆ ให้ผู้ลงทุนเห็นว่ามันคุ้มค่าที่จะเสี่ยง

เรื่องนี้นักวิเคราะห์บอกว่า นี่เป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบ

แหม ภาษาเท่ขั้นเทพเลย แต่มันจะเป็นจุดจบของสงครามหรือเปล่าล่ะ หือ

ในช่วงเวลาที่ตลาดดี คนไม่อดทนกับคำถามหรอก เพราะเขากำลังยุ่งกับการทำเงิน การใช้เงิน การซื้อ การขาย และไปให้ถึงจุดหมายปลายทางที่ตั้งเป้าไว้

แต่เมื่อตลาดวอดวาย คำถามต่างๆ จะผุดพลั่งขึ้นมายังกับน้ำท่วมเมือง และในที่สุดเขาจะมาถึงคำถามตนเองที่คล้ายๆ กับบทกวีฝรั่งของคู่แต่งงานที่มาถึงจุดระทมทุกข์ ทรมาน และเจ็บปวดที่สุด

มันเกิดอะไรขึ้น
ให้ตายสิ เรามาถึงนี่ได้ยังไง
ชั้นเสียเวลามาทำอะไรที่นี่กัน

โดนไหมล่ะ แมงเม่าทั้งหลายในตลาด กับแมงเม่าในชีวิตคู่ แต่สำหรับคนที่มีชีวิตคี่ ก็จะลดความเสี่ยงไปได้ด้านหนึ่ง เหลือแต่ความเสี่ยงในการลงทุนเท่านั้น

น่าเสียดาย หากเป็นแบบไทยๆ ต้องมีคำพูดตัดรอนว่า เธอดีเกินไปแล้วฝ่ายชายจะได้ตอบกลับตามฉบับ โน้ตอุดม ว่า อ๋อ ชอบชั่วๆ ใช่ไหม เอางั้นก็ไม่บอกนะ E-เวร

สงครามกลางเมืองในอดีตระหว่างรัฐต่างๆ ในอเมริกาสิ้นสุดลงเมื่อ Abraham Lincoln กล่าวว่า เราจะมีรัฐบาลกลางเป็นหนึ่งเดียว
                            
ความหมายที่ซ่อนไว้ก็คือ  หากไม่ตกลงตามนี้ก็ต้องตายกันไปข้างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ข้างของ Lincoln

แต่สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นจนถึงวันนี้ก็คือ อเมริกามีภาษีที่ทุกรัฐต้องส่งให้รัฐบาลกลาง (Federal Income tax) มีการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกสภาคองเกรสได้โดยตรงซึ่งเป็นการยุติการเข้าไปมีส่วนในรัฐบาลกลางของรัฐต่างๆ และมีการให้อำนาจศาลสูงสุดในหลายๆ เรื่อง

สิ่งเหล่านี้เป็นการขยายอำนาจรัฐบาลกลางจนแทบไม่มีขอบเขต ซึ่งทุกอย่างนั้นมาจากการสูญเสียสิทธิของรัฐแต่ละรัฐ

ในยุโรปก็มีหลายครั้งหลายคราที่มีการเรียกร้องให้ยูโรมีอำนาจรวมศูนย์ เหมือนในวันนี้ที่นักเศรษฐศาสตร์แถวหน้าแทบจะทุกคนล้วนเรียกร้องว่าหากกลุ่มยูโรจะรอด ก็ต้องมีอำนาจกลางด้วย ไม่ใช่รวมกันเฉพาะเงินตรา

Martin Wolf เขียนใน Financial Times เมื่อวันพุธก่อนว่า นี่เป็นได้แค่ความฝันของศตวรรษ เพราะมันต้องฝันไปแน่ๆ หากคิดว่าจะรวมชนเผ่าที่แตกต่างกันอย่างมากในยุโรปเป็นหนึ่งเดียวกันได้สำเร็จ ก็ลองคิดถึงผู้นำในยุโรปที่เรารู้จักสิ ไม่ว่าจะเป็น จูเลียส ซีซาร์  มหาจักรพรรดิ์ นโปเลียน โบนาปาร์ด หวานใจของแม่หม้ายที่ได้เป็นจักรพรรดินี โยเซฟิน และ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เขาจะรวมกันได้ไหมล่ะนั่น

เอาใกล้ๆ ตัวในยุคนี้ก็ได้ ลองสมมติแค่อาเซี่ยนจะทำอย่างเดียวกันคือรวมศูนย์อำนาจกลางด้วย เราก็ต้องคิดถึงฮุนเซ็น คิดถึงพี่ปูแสนสวย คิดถึงกษัตริย์บรูไน คิดถึงอาโรโย่ที่กำลังโดนจับคดีโกงเลือกตั้ง คิดถึงพม่ารามัญ คิดถึงมาเลเซีย ฯลฯ  มันจะรวมศูนย์อำนาจได้หรือ ในเมื่อในความเหมือนบางประการนั้นมันมีความต่างกันมากมายทั้งวัฒนธรรม ภาษา และขนบธรรมเนียมประเพณี  รวมกันแล้วจะปกครองกันอย่างไร จะบริหารกันอย่างไร ในเมื่อระดับความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจก็ไม่เท่ากัน

แล้วอย่าลืมความแตกแยกใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ก็ขนาดอยู่ในประเทศเดียวกันยังปกครองกันแทบไม่ได้ จึงป่วยการจะคิดเกินเลยไปกว่านี้  อ้อ ... เอาแค่กีฬาสีก็จะอ้วกแล้ว หรือใครจะเถียง

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าวงจรการรวมศูนย์อำนาจกลุ่มยูโรจะเป็นที่ยอมรับกันแล้วในวงกว้าง ยุโรปมองว่ามันเป็นทางแก้ที่ดีสำหรับปัญหาต่างๆ ในวันนี้ ทั้งยังช่วยป้องกันมิให้เกิดสงครามกับช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไปด้วยในตัว

มันก็จริงอยู่นะ แต่ก็แค่ช่วงหนึ่งเท่านั้นละ คือช่วงที่เศรษฐกิจยุโรปรุ่งเรืองมากที่สุดในยุค 30 ปีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2   

หลังจากนั้น ยุโรปก็ใช้ชีวิตหรูหราได้ด้วยการที่รัฐบาลไปกู้ยืมแล้วจ่ายด้วยอัตราดอกเบี้ยเยอรมนีที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งหมายความว่ายุโรปหรูหราได้ด้วยการกู้เยอรมนีเอาไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ส่วนคนเยอรมันก็อยู่ได้และได้รับหนี้คืนเพราะขายสินค้าให้พวกยุโรป

แต่วันนี้ทุกอย่างต้องถูกระงับ ถูกตัดออกไป ส่วนที่เหลือก็คือรายละเอียดว่าจะตัดอะไรบ้างกับการปฏิเสธ เดินขบวนต่อต้านการตัดงบประมาณ การลดบำนาญ ฯลฯ  ด้วยการ Occupy Italy,  Occupy Athens, Occupy โน่น Occupy นี่  Occupy ส้วมสาธารณะ แต่ไม่เห็นมา Occupy บางกอกสักที คงเพราะฝรั่งกลัวน้ำ ยกเว้นฝรั่งพันธุ์หญิงถึกอย่างคุณป้าฮิลลารี คลินตัน ที่แต่งชุดไหมไทยเฉิดฉายไปเยี่ยมศูนย์พักพิงผู้ประสบภัยน้ำ คุณป้าคงฉีดวัคซีนมาแล้วก็เลยบ่ยั่น

หนี้ของยุโรปที่จ่ายคืนไม่ไหวอาจเป็นหลักล้านล้านยูโร ซึ่งจะอย่างไรก็ต้องมีคนจ่าย จะจ่ายโดยลูกหนี้ และเจ้าหนี้ที่ต้องเสียค่าโง่มืดอมสเปโตด้วยการลดยอดหนี้ให้ก็ตาม มันเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีคนรับผิดชอบ ส่วนหนึ่งก็ต้องจ่ายด้วยภาษีของประชาชนนี่ละ  เพราะภาษีนั้นอยู่ในมือของรัฐบาลแล้ว เขาจะใช้ยังไงก็ได้ใช่ไหมล่ะ ในเมื่อในระบอบประชาธิปไตยนั้นเขาตวาดมาว่าเสียงข้างมากเป็นผู้กำหนด ฮ่าๆๆๆๆๆ

ปัญหาก็คือถ้าเจ้าหนี้ต้องลดหนี้ให้มากๆ เจ้าหนี้หลายเจ้าก็จะล้มละลายไปด้วย และก็จะดึงทั้งพันธบัตรยูโรและเศรษฐกิจของยุโรปให้ดิ่งเหวตาม และหากเอาภาระไปให้ประชาชนมันก็เลี่ยงปัญหาที่ว่าไม่ได้อยู่ดี

สรุปก็คือ ไม่ว่าการรัดเข็มขัดจะเกิดขึ้นได้โดยสมัครใจหรือไปบีบบังคับ มันก็หนีไม่พ้นที่จะต้องเกิดขึ้น

แน่ละ ผู้มีอำนาจย่อมดิ้นรนเพื่อรักษามันไว้ และจะขยายขอบเขตอำนาจอย่างไม่หยุดยั้ง เขาต้องการอำนาจมากขึ้น ต้องการให้ทุกอย่างรวมศูนย์มากขึ้น แต่เขาคงจะลืมศึกษาประวัติศาสตร์ หรือเคยเรียนรู้แต่ลืมไปแล้วว่าเกิดอะไรในอดีต 

เมื่อ 300 ปีก่อนนั้น เป็นยุคของการรวมศูนย์อำนาจมากขึ้นๆ อย่างชัดเจนในยุโรป ประการแรกคือการรวมอาณาจักรเข้าด้วยกัน  ตัวอย่างก็คือพวกดัชท์ที่เดิมทีมีรัฐหรืออาณาเขตที่ปกครองโดยเจ้าชาย ดยุค เอิร์ล หรือขุนนางสำคัญอื่นๆ แล้วมารวมศูนย์อำนาจเป็นรัฐหนึ่งเดียวภายใต้แกรนด์ดยุค ซึ่งก็คล้ายๆ หลายดินแดนในยุโรปตะวันตกในช่วงศตวรรษที่ 18  ซึ่งต่อมาก็ขยับขยายไปเป็นการรวมรัฐต่างๆ เป็นชาติในศตวรรษที่ 19 และล่าสุดก็คือการรวมกลุ่มยูโรในศตวรรษที่ 20

ดูเหมือนว่าภาษาถิ่น เงินตราท้องถิ่น ภาษีศุลกากร และกองทัพในแต่ละประเทศทั่วโลกเริ่มหมดความหมาย เพราะไปถอยให้แก่แนวคิดการรวมศูนย์ไปอย่างไม่น่าเชื่อ มันอาจจะเป็นความโง่เขลาของคนที่จบปริญญาต่างประเทศแล้วไปรับเอาแนวคิดของเขามาเต็มๆ จนลืมปราชญ์ชาวบ้าน และดูถูกดูหมิ่นภูมิปัญญาของคนในชาติก็ได้ เรียกว่าส่งลูกไปเรียนเสียทั้งเงิน เสียทั้งโง่ แถมยังไม่รู้ตัวอีกด้วยว่าโง่

ในปี 2007 ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปใช้สกุลเงินเดียวกันไปแล้วคือยูโร และกลุ่มยูโรก็อาจจะต้องนับถือเทวดา เทพีองค๋เดียวกัน (Mammon) ต้องพูดภาษาการค้าและการทูตเดียวกัน (Mid-Atlantic language) ด้วยละมั้ง

ที่สำคัญก็คือแต่ละประเทศยังสามารถกู้และจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ด้วยอัตราต่ำๆ เท่าๆ กัน ทั้งๆ ที่ต้องจ่ายสูงกว่าหากไม่ได้ร่วมขบวนยูโรเพราะตัวเองมีความเสี่ยงที่เจ้าหนี้จะไม่ได้รับเงินปล่อยกู้คืนมากกว่าคนอื่นเขา 

ทำไงได้ล่ะ ในเมื่องนังเอเธนส์ได้เข้าร่วมวงศ์พงศากับยูโรไปแล้ว นังเอเธนส์ก็ต้องได้รับสิทธิเท่าเทียมกับพวกนามสกุล ณ ยูโร ทั้งหลายสิมันถึงจะถูกต้อง

แล้วเกือบทั้งโลกก็พากันคลั่งไคล้ระบอบทุนนิยมเสรีที่หนุนการเติบโตด้วยการเป็นหนี้เป็นสินกัน ก็แบบที่ถูกสอนในมหาวิทยาลัยธุรกิจชั้นนำนั่นแหละ รวมไปถึงลัทธิโลกาพิบัติ เอ้ย โลกาภิวัฒน์ หรือ Globalization ด้วย

มีความต่างตรงไหน ระหว่าง Mario Draghi  ที่จบจาก MIT แล้วไปทำงานให้ Goldman Sachs กับ Mario Monti ที่จบจาก Yale แล้วไปทำงานให้ Goldman Sachs เหมือนกัน ในขณะที่ Lucas Papademos จบจาก MIT แล้วทำงานให้ ธนาคารกลางสหรัฐสาขา Boston 

นี่คือตัวอย่างผลผลิตที่เป็นชิ้นส่วนที่แลกเปลี่ยนกันได้ เพราะล้วนแต่มาจากเครื่องจักรชุดเดียวกันทั้งนั้น ใช่หรือไม่

อะไรที่เป็นสาเหตุให้เกิดความเหมือนในแนวคิดได้ขนาดนั้นล่ะ

มันมาจากการสื่อสารยุคใหม่ที่ทำให้การรวมศูนย์ง่ายขึ้น สะดวกสบายขึ้นใช่ไหม หรือว่ามันต่อยอดจากแนวคิดการแยกส่วนแรงงานโดยให้แต่ละแห่งทำเฉพาะสิ่งที่ตัวเองทำได้ดีที่สุด ต้นทุนต่ำที่สุด อะไรที่ทำแล้วไม่ดีเท่าคนอื่น ไม่ถูกเท่าคนอื่น ก็ให้คนอื่นทำไป แล้วก็ต้องพึ่งพากันในส่วนที่ตนเองผลิตไม่ได้หรือขาดแคลน

ฮ่าๆๆๆ แล้วน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมไทยก็คงให้บทเรียนเรื่องการรวมศูนย์แก่โลกไปแล้ว

เอ ... หรือเราคิดกันไปว่ารัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยยุคใหม่ผนวกด้วยระบบทุนนิยมที่คนตะวันตกวางแนวทางไว้จะเป็นสิ่งที่ดีกว่า เลอเลิศกว่า เป็นระบบที่สร้างผลผลิตได้ดีกว่า สูงกว่า ระบบต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้น

ก็ไม่รู้เหมือนกัน

เพียงแค่คิด และบ่นตามวัย ด้วยความเชื่อว่ารองเท้าแบบเดียวกัน ขนาดเดียวกัน ไม่ได้เหมาะกับนานานุตีนของคนทุกคน และไม่เหมาะกับสภาพพื้นดินทุกๆ แห่ง

ดังนั้น ใครจะด่าว่านายกปู เรื่องสวมเกือกบูธยี่ห้อเบอร์เบอรี่ไปลุยน้ำ เราก็ไม่ว่าตาม เพราะเห็นว่ายี่ห้อนี้ก็เหมาะสมกับเธอดี ราคาหลักหลายพันเทียบกับความร่ำรวยที่เธอมีมันแสนจะเล็กน้อย

ก็จะให้ใส่ส้นสูงยี่ห้อตับเต่าไปลุยน้ำเหรอ หา

เอาละ ถึงจะไม่รู้อะไรมาก แต่เราก็รู้บางอย่าง

บางอย่างที่รู้ก็คือ เหตุผลที่ดึงยูโรมารวมกันหลังสงครามโลกครั้งที่สองนั้น (จะได้ไม่มีสงครามกันอีก กับจะได้ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง) กำลังเป็นเหตุผลเดียวกับที่จะทำให้กลุ่มยูโรแตกสลาย

กรีซ กับ ลูกหนี้หลายประเทศจ่ายหนี้ไม่ไหวแล้ว เจ๊งกะบ๊ง  เยอรมนี กับเจ้าหนี้ต่างๆ ไม่มีปัญญาเก็บหนี้คืนได้  เจ้กอั้ก

ลูกหนี้เจ๊งกะบ๊ง เจอกับ เจ้าหนี้เจ้กอั้ก แล้วเกิดอะไรขึ้น

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ คนเยอรมันด่าพวกกรีซว่า ไอ้พวกสันดานขี้เกียจตัวเป็นขน ในขณะที่ชาวกรีซด่าพวกเยอรมันกลับว่า ไอ้นาซีหน้าโง่ นะสิ

หุ หุ  เคี้ยกๆๆๆๆ (หัวเราะแบบจอมมารร้ายกำลังภายใน)

ที่หัวเราะก็เพราะมันมีอาการบางอย่างเกิดขึ้นที่ขอบนอกของแกนกลางที่รวมศูนย์อำนาจ

เขียนอะไรลงไปนี่ แล้วคนอ่านจะเข้าใจไหมว้า กลับมาอ่านบรรทัดบนเองอีกทียังงงๆ ตัวเอง

คือจะบอกว่าไม่ใช่แต่คนละประเทศเท่านั้นที่เริ่มขัดแย้งกัน แม้แต่ประเทศเดียวกันก็เริ่มมีอาการ

เบลเยี่ยม ขาดรัฐบาลกลางมา 16 เดือนแล้ว ก็ไม่เห็นจะฉิบหายขายตัวสักที แถมยังดีกว่าด้วยซ้ำ

คนอิตาเลียนที่มีความคิดทางตอนเหนือเขาก็ไม่เคยยอมรับแนวคิดของ Monnet ที่จะบูรณาการยุโรปเป็นหนึ่งเดียวกัน

และเมื่อคนเยอรมันที่ฮัมบูร์ก ไม่เต็มใจที่จะสนับสนุนการอุ้มแบงค์ลาริสสาของกรีซแล้ว ทำไมเขาจึงจะไปโหวตให้รัฐบาลเขายอมอุ้มแบงค์เดรสเดนของเยอรมันเองด้วยเล่า เพราะมันก็เหมือนๆ กันเลย


ประเทศพัฒนาแล้วเหล่านี้จึงไม่สามารถเดินหน้าต่อไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุดด้วยการกู้หนี้ยืมสินมารองรับวิถีชีวิตหรูหราแบบเดิมอีกแล้ว

ลืมไปเลย โฟร์กราส์ หยุดฝันไปเลยถึงเห็ดทรัฟเฟิลและไวน์บอร์โดซ์ชั้นเยี่ยม แฮมกับชีสก็พอ จะให้ดีก็ ซกเล็กแกล้มเหล้าขาวก็ดีพอแล้ว  ไม่ต้องใส่เลือด เดี๋ยวไปหาเอาเองจากโต๊ะข้างๆ  ลืมไปได้เลยในเมื่ออัตราส่วนหนี้สินทั้งหมดต่อ GDP มันปาเข้าไปเกิน 250% แล้วในเกือบจะทุกประเทศ อังกฤษกับญี่ปุ่นก็เกือบจะ 500% แล้ว และที่อัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี มันจะเท่ากับผลผลิตทั้งหมดของประเทศ

มันจะเป็นยังไงหนอ หากเราต้องจ่ายแค่ดอกเบี้ยให้หนี้ในอดีตอย่างเดียวเท่ากับ 1 ใน 4 ของรายได้วันนี้ มันจะเหลือให้เรากิน เราใช้  ได้แค่ไหน จะไหวไหมละนั่น

และสำหรับอิตาลีที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ตั้ง 7% +/- ล่ะ มันเกือบเท่ากับ 1 ใน 3 ของ GDP อิตาลีเลยเชียวนะ แล้วจะเหลืออะไรไปแหกตาประชานิยมให้คนมาเลือกตั้งพรรคการเมืองแต่ละพรรคได้อีกล่ะ

นั่นก็คือ รัฐบาลกลาง หรือระบบรวมศูนย์อำนาจมันไปไม่ไหวแล้ว และไปไม่เป็นด้วยซ้ำ

เมื่อมาถึงเวลานี้ มันต้องมีการตัดสินใจ

(((  จะมาเขียนต่อวันพรุ่งนี้ นะจ๊ะ )))