ค้นหาบล็อกนี้

วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

นัยทางเศรษฐศาสตร์ของการแก้ไขหนี้ยุโรป

ดร.บัณฑิต นิจถาวร

14 พ.ค. 55


ข่าวใหญ่ขณะนี้ก็คงเป็นความไม่แน่นอนว่า นโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้ยุโรปจะเดินต่ออย่างไร หลังการเลือกตั้งทั่วไป ในกรีซและฝรั่งเศส ที่ได้นำมาสู่การเปลี่ยนรัฐบาลในทั้งสองประเทศ ตามเสียงข้างมากของประชาชนที่ปฏิเสธไม่เอาการแก้ไขเศรษฐกิจ ที่เน้นมาตรการตัดลดการใช้จ่าย และการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างที่ได้ทำมา ที่ถูกมองว่าได้ทำให้เศรษฐกิจประเทศยุโรปที่มีหนี้สูงเข้าสู่ภาวะถดถอย มีการว่างงานสูง ซึ่งกระทบความเป็นอยู่ของประชาชนต่อเนื่องมาแล้วกว่า 30 เดือน
 
ปีนี้อย่างที่เคยให้ความเห็นไว้ จุดอ่อนไหวที่สุดของเศรษฐกิจโลกก็คือปัญหาหนี้ยุโรป ที่การแก้ไขปัญหายังไม่สามารถฟื้นเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้สิ่งที่ปรากฏออกมาชัดเจนก็คือ การอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางยุโรปเมื่อช่วงต้นปี ก็มีผลเพียงรักษาระบบการเงินให้มีสภาพคล่อง ให้ธนาคารพาณิชย์ยุโรปมีสภาพคล่องพอที่จะหลีกเลี่ยงปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ แต่ไม่ได้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ หรือปัญหาหนี้ที่มีอยู่ เมื่อปัญหาหนี้ยังแก้ไม่ได้ เศรษฐกิจยุโรปที่กำลังถดถอยก็ยิ่งจะทำให้รัฐบาลขาดรายได้ที่จะใช้จ่ายและชำระหนี้ และยิ่งการแก้ไขปัญหาเน้นมาตรการรัดเข็มขัดที่ลดรายจ่าย เศรษฐกิจยุโรปก็ยิ่งจะถดถอยมากขึ้น ประชาชนที่เดือดร้อนจึงผิดหวังต่อการแก้ไขปัญหา มีการเรียกร้องให้รัฐบาลผ่อนปรนมาตรการแก้ไขปัญหาที่เข้มงวด เพื่อให้เศรษฐกิจมีโอกาสฟื้นตัว แต่เมื่อรัฐบาลไม่ทำ เพราะมาตรการรัดเข็มขัดเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขการช่วยเหลือให้กู้ยืมเงินจากต่างประเทศ ประชาชนก็หมดความอดทนและลงคะแนนเสียงไม่สนับสนุนรัฐบาลเดิม เพื่อให้มีการใช้แนวทางอื่นในการแก้ไขปัญหาแทน 
ในทางเศรษฐศาสตร์ ปัญหาที่ประเทศที่มีหนี้สูงในยุโรป เช่น กรีซ มีขณะนี้ก็คือ ปัญหาดุลชำระเงิน ที่มาจากการใช้จ่ายเกินตัวของเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง
ในอดีตการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดถูกชดเชยได้โดยการกู้ยืมจากต่างประเทศ จึงไม่มีปัญหา และเศรษฐกิจก็ขยายตัว ผู้ให้กู้จึงมั่นใจว่า รัฐบาลจะมีรายได้มาชำระหนี้
แต่วิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2007 ได้ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอลง เศรษฐกิจกรีซ ก็ชะลอลง แต่ที่ปัญหาหนี้ของกรีซกลายเป็นวิกฤติ ก็เพราะผู้ให้กู้จากต่างประเทศเริ่มไม่มั่นใจว่ากรีซจะสามารถชำระหนี้ได้ เงินที่เคยให้กู้ยืมเพื่อชดเชยการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดก็ลดลง นำมาสู่ปัญหาดุลชำระเงิน และการขาดสภาพคล่องของรัฐบาลที่จะชำระหนี้ ทำให้ประเทศอย่างกรีซต้องพึ่งการช่วยเหลือจากภายนอก เช่น รัฐบาลสหภาพยุโรป และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ แต่การช่วยเหลือจากภายนอกก็มากับเงื่อนไขที่รัฐบาลต้องดำเนินมาตรการรัดเข็มขัด เพื่อแก้ไขเศรษฐกิจ 
คำถามก็คือ ทำไมต้องรัดเข็มขัดเพื่อแก้เศรษฐกิจ
ปกติการแก้ไขปัญหาดุลชำระเงิน จะต้องทำในสามด้าน
ด้านแรก ก็คือ  แก้ไขการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีต้นเหตุมาจากการใช้จ่ายเกินตัวของเศรษฐกิจ
สอง  กู้ยืมเงินจากต่างประเทศ  เพื่อให้ประเทศมีสภาพคล่องชั่วคราวที่จะชำระหนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้
สาม ปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อให้เศรษฐกิจมีความสามารถในการแข่งขันพอที่จะกลับมาขยายตัวอีก
ทั้งสามด้านนี้เป็นสิ่งที่ต้องทำพร้อมกัน แต่หัวใจของการแก้ไขปัญหาหนี้ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นระดับประเทศหรือบริษัททั่วไป อยู่ที่การประหยัดที่ต้องลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เพื่อให้มีเงินเหลือพอที่จะชำระหนี้
ในแง่เศรษฐกิจ การลดรายจ่าย เพื่อแก้ปัญหาการใช้จ่ายเกินตัวทำได้สองวิธี
วิธีแรก ก็คือ การลดค่าเงิน เพื่อให้สินค้านำเข้าแพงขึ้น และสินค้าส่งออกมีราคาสูงขึ้น สินค้านำเข้าที่แพงขึ้นก็จะทำให้คนลดการใช้จ่าย ขณะที่สินค้าส่งออกที่ได้ราคาสูงขึ้นก็จะสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจส่งสินค้าออกไปขายต่างประเทศแทนที่จะขายในประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ ผลสุทธิก็คือ การประหยัดของเศรษฐกิจที่จะทำให้การขาดดุลเดินบัญชีเดินสะพัดลดลง
วิธีที่สอง ก็คือ การลดการใช้จ่ายโดยตรง เพื่อให้เกิดการประหยัดทั้งในภาครัฐบาลที่ต้องรัดเข็มขัดด้านการคลัง และภาคเอกชนที่ต้องใช้จ่ายน้อยลงโดยนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น
ในทางปฏิบัติ ประเทศที่มีปัญหาจะใช้ทั้งสองวิธีในการแก้ปัญหา คือ ลดค่าเงินและลดการใช้จ่ายของภาครัฐและเอกชน การแก้ไขพร้อมกันทั้งสองวิธีจะไม่ทำให้เศรษฐกิจถดถอยมาก และจะสามารถฟื้นตัวได้เร็ว เพราะการใช้จ่ายในประเทศที่ถูกตัดทอนลงจะถูกทดแทนด้วยการส่งออกที่จะขยายตัวได้มากขึ้น 
แต่ในกรณีของปัญหายุโรปขณะนี้ ระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินยูโร ซึ่งเป็นอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศสมาชิกกลุ่มเงินสกุลยูโรทั้งหมดเป็นข้อจำกัดสำคัญที่ทำให้ประเทศที่ต้องแก้ไขปัญหาอย่างกรีซ ไม่สามารถใช้วิธีลดค่าเงินแก้ไขปัญหาได้ เพราะในระบบเงินยูโรที่ประเทศกรีซเป็นสมาชิก สกุลเงินก็คือ ยูโร ที่ใช้ร่วมกัน ประเทศอย่างกรีซจึงไม่มีสกุลเงินของตนเองที่จะลดค่าได้ และเมื่อวิธีการลดค่าเงินไม่สามารถใช้ได้ การแก้ไขปัญหาในกรณีของกรีซ จึงต้องพึ่งการลดการใช้จ่ายด้านเดียว ทำให้รัฐบาลกรีซต้องประหยัดมากคือ ต้องตัดทอนรายจ่าย เพิ่มภาษี และขายสินทรัพย์ เพื่อให้มีรายได้พอที่จะชำระหนี้ และขนาดของการตัดลดรายจ่ายในกรีซก็ต้องมาก เพราะกรีซไม่มีการลดค่าเงินที่จะเป็นมาตรการที่จะช่วยได้อีกทาง ประเด็นนี้ทำให้เศรษฐกิจกรีซชะลอตัวรุนแรง มีปัญหาการว่างงานสูงและประชาชนเดือดร้อน จนนำมาสู่การลงคะแนนเลือกตั้งที่ปฏิเสธไม่สนับสนุนการใช้มาตรการเข้มงวดในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ 
คำถามที่ตามมาก็คือ ถ้ารัฐบาลใหม่ของกรีซ ไม่ใช้ความเข้มงวดทางการคลังเป็นวิธีแก้ปัญหา รัฐบาลจะใช้มาตรการอะไรในการแก้ไขปัญหา 
จุดนี้คือความไม่แน่นอนที่ตลาดการเงินโลกมีขณะนี้ เพราะถ้าไม่เข้มงวดด้านการคลัง ทางเลือกเดียวที่มีก็คือ ต้องลดค่าเงิน ซึ่งหมายถึงประเทศอย่างกรีซจะต้องออกจากระบบเงินยูโร และหันกลับมาใช้ระบบที่มีสกุลเงินของตัวเองเพื่อให้สามารถลดค่าเงินได้ ซึ่งตั้งแต่ผลการเลือกตั้งออกมาเมื่ออาทิตย์ก่อน ตลาดการเงินก็ได้ประเมินความเป็นไปได้นี้ สูงขึ้นเรื่อยๆ และถ้ากรีซออกจากระบบเงินยูโรจริง ความยุ่งเหยิงที่ตามมาจะสร้างความปั่นป่วนต่อตลาดการเงินโลกมาก ทำให้ปัญหาหนี้ยุโรป ซึ่งหนักอยู่แล้ว จะยิ่งรุนแรงและแก้ไขยากขึ้นไปอีก
 
ดังนั้น ความเป็นไปได้นี้จึงเป็นสิ่งที่ตลาดการเงินโลกไม่อยากให้เกิด เพราะไม่สามารถบอกได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นตามมา
แต่อย่างที่ทราบ ถึงแม้ตลาดการเงินจะเป็นตลาดโลกคือเป็นตลาดเดียวสำหรับทุกประเทศทั่วโลก แต่การตัดสินใจด้านนโยบายยังเป็นเรื่องของแต่ละประเทศ เป็นเรื่องของการเมืองและนักการเมืองของแต่ละประเทศ
ดังนั้น เมื่อประชาชนกรีซเลือกแล้วโดยวิธีทางการเมืองว่าจะไม่เอาการประหยัด เป็นวิธีแก้ไขปัญหา เราคงต้องตามดูว่ารัฐบาลใหม่จะเดินอย่างไรต่อในการแก้ไขปัญหา ซึ่งไม่ว่ารัฐบาลกรีซจะตัดสินใจอย่างไร ผลต่อตลาดเงินและเศรษฐกิจโลกจะมีสูงกว่าเดิมมาก



วันพุธที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

2 ก. กรีซ กับ โกลด์

Greece

·    การเมืองในกรีซกำลังเสี่ยงมากขึ้นหลังการพ่ายแพ้การเลือกตั้งของ 2 พรรคใหญ่ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลเก่า เพราะคนส่วนใหญ่ไม่พอใจมาตรการรัดเข็มขัดที่เข้มงวด (เงินเดือน บำนาญลดไปกว่า 40%) จึงหันไปลงคะแนนให้กับพรรคเล็กที่ประกาศจะผลักดันให้ยกเลิกมาตรการดังกล่าว ทำให้โลกกังวลว่ากรีซภายใต้รัฐบาลใหม่จะไม่ทำตามแผนรัดเข็มขัดที่รัฐบาลชุดก่อนตกลงใช้เพื่อแลกกับความช่วยเหลือทางการเงินจาก EU และ IMF ซึ่งจะทำให้กรีซอาจหลุดพ้นจากการเป็นสมาชิกยูโรโซน

·   ขณะนี้ พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายของกรีซ (Radical Left Coalition - Syriza) ภายใต้การนำของ อเล็กซิส ไซพราส กำลังหาพันธมิตรเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม ซึ่งจะได้รับอำนาจอย่างเป็นทางการในการจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากพรรคนิวเดโมเครซีซึ่งแม้จะชนะเลือกตั้ง แต่ก็ยังจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้

·   พรรคเล็กที่ได้รับไม้ต่อให้พยายามตั้งรัฐบาลผสม ประกาศว่า กำลังติดต่อพรรคอื่นๆ ที่มีนโยบายจะชักดาบ และจะยกเลิกมาตรการที่ตกลงรัดเข็มขัดกับ ECB และ IMF รวมถึงไม่เอามาตรการตัดบำบาญ/ลดเงินเดือน / เลิกจ้างงาน 150,000 ตำแหน่ง  แต่ไม่ง่ายที่จะตั้งรัฐบาล เพราะบางพรรคบอกว่ายินดีสนับสนุนตราบเท่าที่ไม่ทำให้กรีซหลุดจากยูโร

·   ECB เตือนว่า กรีซต้องตระหนักว่าไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากทำตามแผนรัดเข็มขัดที่ให้ไว้เดิม เพื่อจะรักษาสถานภาพสมาชิก EU ในขณะที่ รมต.ตปท. เยอรมนี ทุบโต๊ะให้สัมภาษณ์ว่า ผู้มีอำนาจในกรีซต้องรีบผลักดันให้จีดตั้งรัฐบาลที่มีเหตุผลโดยเร็ว และมาตรการต่างๆ ที่เคยตกลงกันแล้วจะไม่มีการย่อหย่อนให้เป็นอันขาด

·    เป็นไปได้สูงที่พรรคการเมืองต่างๆ ของกรีซจะตกลงจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ แม้จะมีคนเสนอให้ตั้งรัฐบาลแห่งชาติซึ่งมีตัวแทนจากทุกพรรคการเมือง ดังนั้น จึงมีโอกาสเลือกตั้งใหม่ในเดือน มิย นี้

·    ความเสี่ยงคือกรีซอาจจะขาดเงินสดในการบริหารประเทศภายในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ ถ้ายังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลขึ้นเพื่อเร่งเจรจาขอเงินช่วยเหลืองวดต่อไปกับสหภาพยุโรป และ IMF  ขณะที่รายได้ของรัฐอาจจะลดลง   



·    แม้ไม่มีเรื่องการเมืองกรีซ ก็ยังคาดว่า เศรษฐกิจยูโรโซนจะถดถอยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ แต่เยอรมนีจะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกันได้

·    Nouriel Rubini :  ตัวเลขดัชนี PMI ของกลุ่มยูโรโซนออกมาแล้ว และมันก็ยืนยันว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในยุโรปกำลังถลำลึกลงไปกว่าเดิม ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มัวแต่ทำอะไรอยู่?  ถ้ามีประเทศใดในยุโรปผิดนัดชำระหนี้อย่างไม่มีระบบ หรือแตกแยกออกจากกลุ่มยูโรโซนอย่างไม่มีระเบียบ  ความเสียหายจะระบาดไปทั่วในระดับมหากาฬ

·       Peter Schiff  ถ้า กรีซ ทำให้ยุโรปเป็นไข้หวัดใหญ่ สเปน กับ อิตาลี ก็จะทำให้ยุโรปติดเชื้ออิโบล่า

·       Citigroup Inc ระบุว่า ความเสี่ยงที่กรีซต้องกระเด็นออกจากกลุ่มยูโรโซนภายในสิ้นปีหน้าสูงขึ้นถึง 75% แล้ว

·       เราจึงควรเตรียมตัวเผื่อช่วงกลางเดือน มิย นี้ ที่  FED  รมต.คลัง ยูโรโซน  กับ ECB จะมีการประชุมกัน และน่าจะเป็นช่วงที่กรีซเลือกตั้งอีกครั้งเพราะน่าจะจัดตั้งรัฐบาลผสมไม่ได้

·   หาก กรีซ เข้าใจ Poker’s game และนำลีลามาใช้ต่อรองกับเจ้าหนี้ ในภาวะที่ลูกหนี้อย่างกรีซได้เปรียบเจ้าหนี้ เพราะผลกระทบจากการชักดาบของกรีซจะมีต่อเจ้าหนี้อย่างมหาศาลและเป็นลูกโซ่  และกรีซไม่มีอะไรจะเสียอีกแล้ว แต่ถ้าลูกหนี้อย่างกรีซชักดาบ  เจ้าหนี้เน่าแน่ๆ  ก็คงต้องยอมถอยกันบ้าง  ดูอย่างบ้านเราช่วงต้มยำกุ้ง :  ไม่เบี้ยว ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย  ใครจะทำไม  

Gold

·    ราคาทองคำปรับตัวลดลงต่ำกว่า $1,600 USD/oz. แล้ว ณ ขณะนี้ เพราะความเสี่ยงทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นหลังการเลือกตั้งในฝรั่งเศสและกรีซ กระทบความหวังในการแก้ปัญหาหนี้ยุโรป นักลงทุนจึงหันเข้าหาเงินดอลลาร์แทน และตลาด Commodities ก็ปรับตัวลดลงกันถ้วนหน้า จึงเกิดแรงขายทองคำออกมามากหลังราคาทองคำไม่สามารถยืนเหนือ $1,630/oz. อันเป็นจุด Support สำคัญที่ยืนระดับได้มานาน


·    เป็นที่น่าสังเกตว่า ในระยะ 1 ปีให้หลังนี้ ราคาทองคำไม่เคยได้รับผลบวกจากปัจจัยเสี่ยงเรื่องหนี้ในยุโรปที่เพิ่มขึ้นเลย กลายเป็นว่าความสัมพันธ์เป็นลักษณะว่า ยุโรปเสี่ยง à หันเข้าหาดอลลาร์ à เป็นผลลบต่อทองคำ หรือพูดได้ว่า ณ ขณะนี้ ทองคำมีราคาเคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้ามกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

·       คำเตือนของ Marc Faber

·    ลุงมาร์ค เล่าว่า มีคนพูดกันว่าทองคำเป็นฟองสบู่แล้ว เพราะพุ่งขึ้นมาแรงมากจากราคาต่ำสุดที่ $252 ต่อออนซ์ ในปี 1999  ในระยะสั้นๆ ทองคำเสี่ยงสูง ไม่น่าจะให้ผลตอบแทนดี เพราะทองคำเคยให้ผลตอบแทนดีมากไปแล้ว จึงต้องมีการถอยลงก่อนบ้าง   

      แต่ ลุงมาร์ค ก็ บอกเราว่า 12 ปีให้หลังนับจากราคาทองคำต่ำสุดที่ $252 ต่อออนซ์ ในปี 1999 วันนี้เรา   กำลังอยู่ในภาวะที่ทองคำควรจะมีราคาสูงขึ้นอีกมาก เพราะว่าสภาพเศรษฐกิจและการเงินโลก          โดยเฉพาะสหรัฐและ EU ย่ำแย่กว่าที่เคยเป็นเมื่อ 12 ปีที่แล้ว สหรัฐมีหนี้ที่ปะทุขึ้นมาจากหนี้ภาครัฐ    ภาคเอกชน รวมไปถึงหนี้สวัสดิการที่มีแต่ตัวเลข เพราะที่รัฐบาลอเมริกันยังไม่ได้ใส่เงินลงไปตามภาระ     จริงที่มีอย่างเช่น  ประกันสังคม กับสวัสดิการและการประกันสุขภาพ เป็นต้น

·   เพื่อเช็คว่าทองคำเป็นฟองสบู่หรือไม่ ลุงมาร์ค ใช้วิธีถามผู้เข้าร่วมงานสัมมนาหลายแห่งว่ามีกี่คนที่มีทองคำ คำตอบตามปกติก็คือแทบไม่มีสักคน และมีครั้งหนึ่งที่มีคนเข้าฟังถึงหลายพันคน ปรากฏว่าไม่มีใครสักคนที่มีทองคำ  

      อาการอย่างนั้นไม่ใช่ฟองสบู่ ไม่เหมือนครั้งที่ไปงานสัมมนาด้านลงทุนในปี 1989 ที่ทุกคนมี    หุ้นญี่ปุ่น และในปี 2000 ที่ทุกคนมีหุ้นเทคโนโลยี  อย่างนั้นต่างหากที่เขาเรียกว่าฟองสบู่  ฟองสบู่เกิดเมื่อผู้เล่นส่วนใหญ่ในตลาดเป็นเจ้าของสินทรัพย์นั้นๆ และขณะนี้ Marc Faber เชื่อ  ว่ามีคนจำนวนมากที่มีหุ้น  Apple มากกว่าเป็น เจ้าของ ทองคำ

วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เมื่อแกนโลกเอียงกลับ 1/3

วรวรรณ ธาราภูมิ

29 เมษายน 2555

อะไรๆ ก็ BRICs  มันจะอารายกันนักกันหนาฟะ จะเอาก้อนอิฐไปเฟี่ยงใส่หลังคาบ้านป๋าอีกไง้ ?

หนอย ไอ้เจ้าหนอนหงอย เซอะแล้วยังทำซ่านะแก เมายากันยุงหรือว่าเมาค่าน้ำมัน ค่าไฟ ละเนี่ยะ!  ก็ BRICs หรือ BRIC เฉยๆ แบบไม่มีตัว s ห้อยท้ายน่ะ เขาหมายถึงประเทศใหญ่ๆ ในกลุ่มกำลังพัฒนาหรือที่เรียกกลุ่มโดยรวมว่า Emerging Market  ตัวย่อว่า EM ไง

เอ๊า  ชื่อคนตายมีตั้งเยอะ ทำไมไม่เอามาตั้ง นึกไม่ออกก็ไปหาเอาในที่เก็บกระดูกในวัดสิ  ไปตั้งเป็นก้อนอิฐ ก้อนหินกันทำไมเล้า บ้าป่ะ

เอาๆ แกกินน้ำเย็นๆ มั่ง อากาศร้อนยังงี้ฉีดยากลัวน้ำยังล่ะ

เย้ยยย ... ป้าอ่ะ หนอนน้อยไม่ใช่หมานา

อ้าว  ก็เห็นบ่นจนน้ำลายฟูมปากอยู่เนี่ยะ จะไม่ใช่หมาบ้าได้ไง้  เนี่ยะ เขากำลังเข้าโหมดปูดอง เอ้ย ปรองดองกันในชาติอยู่นะ แกอย่ามาโวยวายให้เสียบรรยากาศ  แล้วคำว่า BRICs ก็ไม่ได้ย่อมาจาก Brutally Raped In the Country สักกะหน่อย

แปลด่วนเลยป้า หนอนน้อยขี้เกียจเปิดกระดิกแปล

ฝันเหอะ ไม่ใช่ขี้ข้าแกนะ นังหนอนย่น  ชั้นเป็นอำมาตย์  จะให้ไปทำงานไพร่ได้ไง้

โห พูดงี้ต่อยกันเลยไหมป้า  ไหนว่าปรองดองไง 

ก็ปรองดองตามแบบชั้นไง  ใครจะทำไมว้ะ  เออ ... BRICs เนี่ยะคนตั้งชื่อคือ ตา จิม โอนีล หัวหน้าทีมเศรษฐศาสตร์ของ โกลแมนแซคส์ เชียวนา เขาย่อมาจาก Brazil / Russia / India / China

แล้วมันสำคัญต่อเงินในกระเป๋าของเราไงละป้า  เขาถึงออกมาคร่ำครวญถึงกันนัก

คร่ำครวญบ้านแกสิ นังหนอนระเหย แกนี่เกิดภายใต้ฤกษ์ที่มีดาวหมาเป็นเจ้าเรือนแห่งปาก รึเปล่า ห๊า

โด่ ..... ป้ากะหลานก็พอกันแร้ ..

ฮึ !  ... เออ ….  ตาจิม โอนีล เขาให้สัมภาษณ์ว่า กลุ่มประเทศ BRICs ยังมีบทบาทสำคัญในช่วง 10 ปีจากนี้ไป แล้วเขาก็เปรียบเทียบได้สะใจชะมัดเลย  เขาบอกว่าต่อให้จีนโตชะลอลงเหลือเพียง 7-8% หรือต่ำกว่านี้ ก็ยังจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจโลกเติบโตได้มากกว่าสหรัฐ และ ยุโรป รวมกัน เสียอีก

จริงรึ

จริงซิ

แน่นะ

อ๋อ แน่สิ ... เย้ยยยย .... ถ้าไม่หยุดบ่นเป็นเพลงคู่เชยๆ นี่  ชั้นจะตบแกให้ฟันร่วงหมดปากแน่ ไอ้หนอนแดดเดียว

อะน่า .... ป้าเล่าต่อเหอะ อย่าตบปากหนอนน้อยเลย  เพราะตบยังไงๆ หนอนน้อยก็ไม่หลงกลตบจูบแน่ๆ  อย่าฝันไปเล้ย .... ฮ่าๆๆๆ  แหวะ แหวะ

%$%^#&(O”:Oษฐถุ745ญฎษญฐญ๘ษ๗@%^#&+(_+(_U_U}(_3lg45klp@~#%^

แน่ะ มีด่าภาษากุโบสด้วยนะ ป้าเรา

นี่ จะฟังชั้นดีๆ หรือจะฟังทั้งน้ำตา

อะ  ฟังๆ  ดิป้า  น้ำตาจะเก็บไว้ไหลตอนไปจ่ายตลาด

ไอ้หนอนย่นใต้บาทา ฟังนะ ตาจิมเขาบอกอีกว่า ด้วยศักยภาพของจีน จีนจะสร้างประเทศแบบกรีซได้ในเวลาเพียง 11 สัปดาห์ หรือแบบสเปนได้ในเวลาเพียง 1 ปี  นอกจากนี้ เศรษฐกิจ BRICs รวมกันก็สามารถสร้างประเทศอย่าง อิตาลี ได้อีก 1 ประเทศในเวลาเพียง 18 เดือน  เนี่ยะเขาคงคิดจากการเพิ่มขึ้นของ GDP ประเทศกลุ่ม BRICs แล้วเห็นว่ามีขนาดพอๆ กับการเพิ่มขึ้นโดยเศรษฐกิจประเทศยุโรปเหล่านั้นละ

แล้วจะไปสร้างประเทศอะไรห่วยๆ หนี้ท่วมหัวแบบนั้น ไปทำไมกันเล้า หนอนน้อยไม่เข้าใจ

ฮ่วย  เขาแค่เปรียบเทียบให้เห็นภาพเท่าน้าน .... ทำไมโง่งี้ว้า

ฮึ ถามก็ว่าโง่  ไม่ถามก็ว่าเง่า  จะเอาไงกันละป้า  ป้าไม่ใช่พี่ปูแสนสวยนะ  ถ้าป้าพูดไม่สวยไม่มีใครเขาให้อภัยร้อก

เออสิ  ชั่งชั้น ไม่สวยแต่มีกึ๋นนะ  กึ๋นเหนียวด้วย ..  ฮึ ....  เอ้า มาต่อกัน .....  ตาจิมบอกว่า ช่วงที่ยุโรปกำลังจมอยู่กับปัญหาหนี้ จึงจะมีแต่ BRICs เท่านั้นที่จะเข้ามาช่วยเหลือได้ ดังนั้น ตาจิมถึงย้ำว่า สำหรับนักลงทุนระยะยาว 10 20 ปี ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยในสหรัฐกับยุโรปต่ำและประเทศยังอยู่ในภาวะเป็นหนี้สูง  การลงทุนในหุ้นจึงจะยังให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าพันธบัตรโดยเฉพาะใน Growth Market  ดังนั้น แนวคิดหลักในการลงทุนจึงยังอยู่ในกลุ่มประเทศ BRICs

ป้าๆๆ  ที่เขายังมั่นใจในกลุ่มประเทศนี้ เพราะเขาเห็นว่ายังมีช่องว่างในการขยายตัวได้มากกว่าโซนอื่นใช่ไหม

ใช่  เพราะทั้งทรัพยากรและประชากรในกลุ่มนี้มีจำนวนมาก หมายถึงมีทั้งของจะขายหรือมี Supply กับมีคนจะซื้อหรือ Demand ไง  ทำให้เพิ่มบทบาททางเศรษฐกิจในตลาดโลกได้ และต่อไปมีโอกาสที่จะมีศักยภาพเท่าประเทศพัฒนาแล้วที่เขาเรียกกันว่า Developed Market หรือ DM ได้  ดังนั้น BRICs ต่างหากที่จะเป็นตัวชี้นำเศรษฐกิจโลก ไม่ใช่สหรัฐหรือยุโรป แต่ยังไง BRICs ก็ยังมีความแตกต่างทางการเมืองของแต่ละประเทศนะ ทำให้ทั้งกลุ่มไม่ค่อยจะไปในทิศทางเดียวกันเท่าไหร่

ป้าๆ  ทำไมเราเรียกตะวันตกเป็น DM  แล้วเรียกกลุ่มอื่นๆ เป็น EM ล่ะ

โอ้ว .... ถามได้ดี  ถามได้ฉลาดมาก ก็คนตั้งชื่อน่ะมันเอาตัวเองเป็นมาตรวัดไงว่าประเทศเขา คนของเขา เจริญกว่า พัฒนากว่า

โด้ เอ๊ย ... หนี้ท่วมยังงี้นี่นะ  พัฒนา

ฮ่าๆๆๆ  พ่อหนอน พ่อมหาจำเริญ คิดได้ดีนี่  สอดคล้องกับเรื่องปัญหาหนี้ในยุโรปที่ทำให้บทบาทของกลุ่ม BRICs เพิ่มขึ้น เช่น ที่จีนเข้าไปช่วยเหลือกรีซ แล้วล่าสุดเนี่ยะ BRICs ก็เริ่มหือละ

หือยังไงละป้า เขาไป Occuoy  IMF เหรอ

ไม่ช้าย .... เขาแสดงความต้องการเพิ่มสิทธิของพวกตนในการออกเสียงในการประชุม IMF เพื่อแลกกับการสมทบเงินเข้ากองทุน EFSF ไง   นี่ละ เขาต้องการเพิ่มบทบาทของกลุ่ม BRICs ใน IMF ให้มากขึ้น โดยให้เหตุผลประกอบว่า กลุ่มประเทศยุโรปมีขนาดเล็กกว่าและเศรษฐกิจเริ่มแย่นั้น ทำไมจึงมีสิทธิในการออกเสียงโหวตมากกว่า แม้ว่าปัจจุบันนี้ จีนมีสิทธิในการเสียงใกล้เคียงกับประเทศ อิตาลี หรือ ฝรั่งเศส แล้ว  แต่มันยังไม่สะท้อนภาพจริงที่ทั้ง BRICS ควรจะมีน้ำหนักมากกว่านี้

อ่าฮะ