ค้นหาบล็อกนี้

วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ปัญหาถังแตกของสหรัฐ

วรวรรณ ธาราภูมิ
นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน
CEO บลจ.บัวหลวง จำกัด

24 กค 2554

Richard James Verone  ตาแก่วัย 59 ปีในรัฐ North Carolina โดนจับเข้าคุกเพราะไปยื่นกระดาษที่เขียนว่า เอาเงินมา 1 ดอลลาร์ ที่แบงค์ RBC แล้วก็นั่งรอจนตำรวจมาจับ  ซึ่งเรื่องนี้เข้าแผนตาแก่คนนี้ เพราะเขาไม่มีประกันสุขภาพ เมื่อป่วยหนักด้วยเนื้องอกที่หน้าอก เขาต้องการกา รดูแลสุขภาพฟรี  และฉลาดพอที่จะรู้ว่าคุกมีให้  เพราะคุกในสหรัฐให้ที่อยู่ที่กินและให้การรักษาพยาบาล

ขณะนี้ คนอเมริกันกำลังลำบากมาก หลายรัฐในอเมริกาไม่มีเงินจ่ายค่าจ้าง ต้องปลดพนักงาน สุนัขตำรวจก็ยังถูกปลด  ถนนหลายแห่งไม่มีงบประมาณเพียงพอ ต้องซ่อมแซมเป็นถนนกรวดเหมือนตอนหลังสร้างชาติอเมริกาขึ้นมาพักหนึ่ง และหลายบริษัทก็ปลดคนงาน และปิดตัว  บริษัทใหญ่ๆ หลายแห่งก็ไปตั้งโรงงานนอกประเทศเพราะต้นทุนถูกกว่า คนรยิ่งไม่มีงานทำมากขึ้นและมากขึ้น  บริษัทที่ไม่ปิดตัวก็ไม่ยอมขยายเพราะเห็นว่ากำลังซื้อของคนไม่มี ผลิตออกมาก็เจ๊ง  คนว่างานของสหรัฐจึงมีอัตราสูงมากถึง 9.2% ในขณะที่ของไทย 0.8%  เมื่อว่างงานก็ไม่มีเงิน บ้านเลยโดนแบงค์ยึด

ü                 วันนี้ มีคนอเมริกัน 6.3 ล้านคนที่ตกงานมายาวนานเกิน 6 เดือนแล้ว  ในปีที่แล้ว คนตกงานโดยเฉลี่ยจะใช้เวลาประมาณ 16 สัปดาห์ก็จะหางานใหม่ได้  แต่ขณะนี้ต้องใช้เวลานานถึง 40 สัปดาห์

ü                 คนที่น่าห่วงที่สุดคือคนชั้นกลาง เพราะค่าจ่างแรงงานในวันนี้หากปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อแล้วยังต่ำกว่าที่เคยได้รับเมื่อปี 1971 เสียด้วยซ้ำ

ü                 คนชั้นกลางจึงตกอยู่ในภาวะยากลำบากขึ้นทุกที ภาษีที่จ่ายให้รัฐ แทนที่จะเอาไปทำสิ่งมีประโยชน์ต่อประชาชนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย กลับเอาไปอีลุ่ยฉุยแฉกในหลายเรื่องที่ไม่จำเป็น  รวมถึงเอาไปอุ้มแบงค์ที่ล้มด้วย น่าเศร้าใจแทนผู้เสียภาษี เพราะเมื่อนายธนาคารทำผิดพลาดเสียหายเป็นล้านล้านเหรียญ ธนาคารกลางสหรัฐก็จะรีบเอาเงินของประชาชนเข้าไปช่วยอุ้มทันที แต่เมื่อนายธนาคารทำกำไรได้ เขาก็เอากำไรนั้นเข้ากระเป๋าตัวเอง แล้วส่งบางส่วนไปบริจาคให้พรรคการเมืองในวอชิงตัน

ü                 คนแก่ 1 ใน 6 คน และเด็ก 21% กำลังมีชีวิตอยู่ใต้เส้นแห่งความยากจน ในขณะที่คนที่ร่ำรวยที่สุดจำนวน 1% ของประชากรทั้งประเทศกลับมีทรัพย์สินมากกว่าทรัพย์สินของคนอีก 90% รวมกัน

ü                 และวันนี้ มีคนอเมริกัน 59% ที่ได้รับเงินสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ จากรัฐบาล

รัฐบาลอเมริกันถังแตกเพราะรายได้คือภาษีไม่พอรายจ่ายของรัฐและเป็นแบบนี้มานานมากแล้ว ที่อยู่มาได้ทุกวันนี้ก็เพราะยังมีคนให้กู้ แถมดอกเบี้ยต่ำมากเพราะเป็น Risk Free Rate ที่ทั่วโลกใช้ US Treasury เป็นตัวอ้างอิง แสดงถึงความแข็งแกร่งของพันธบัตรสหรัฐที่คนเชื่อกันว่าไม่มีความเสี่ยงที่จะโดนเบี้ยวหนี้  ความจริงน่าจะเปลี่ยนชื่อใหม่ได้แล้ว เป็น Risky Rate

กฏหมายสหรัฐบังคับเพดานหนี้ที่รัฐจะก่อได้ในขณะนี้ที่ไม่เกิน 14.3 ล้านล้านดอลลาร์   (443 ล้านล้านบาท)  ตอนนี้ก็กู้จนเต็มเพดานหนี้แล้ว   97% ของ GDP ส่วนของกรีซ 143%  ไทยอยู่ที่ 41% อเมริกันชนจึงเหมือนชีวิตในนิยายไทย ที่เจ้าคุณพ่อตกยาก แต่จมไม่ลง ยังทำตัวหรู  ทุกๆ 1 ดอลลาร์ที่ใช้มาจากการกู้ 45%

หากคองเกรสหรือรัฐสภาสหรัฐแก้ไขกฏหมายเพื่อเพิ่มเพดานหนี้ไม่ทันวันที่ 2 สิงหาคม นี้ สหรัฐก็ไม่มีปัญญาจะจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะทยอยกันเข้ามาได้ครบทุกอย่าง คล้ายๆ เราใช้วงเงินในบัตรเครดิตจนเต็ม แล้วบิลค่าน้ำ ค่าไฟ  กำลังถึงกำหนดจ่าย ค่าเล่าเรียนลูกก็จะต้องจ่ายในเดือนหน้า รายได้แต่ละเดือนก็ไม่พอแม้แค่ค่าอาหาร ค่าเดินทางไปทำงาน/ไปเรียน ไหนจะค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่ายัยแจ๋ว ค่าทำผม ฯลฯ

เมื่อเราถังแตก อย่างแรกคือต้องลดรายจ่าย และเมื่อรัฐบาลถังแตก ก็ต้องพิจารณาลดเงินเดือน ลดลูกจ้างรัฐ ลดสวัสดิการ เรียกทหารที่ประจำการด้อมๆ มองๆ ในชาติอื่นกลับบ้าน เลิก Food Stamp ลดค่ารักษาพยาบาล ลดงบประมาณ FBI หรือ CIA ลดงบประมาณโครงการสำรวจอวกาศหรือเลิกไปเลย และอื่นๆ อีกมากมายหลายรายการ  แล้วก็จะเกิดโกลาหลอลหม่านกันไปทั้งประเทศ  ผ่านไปเป็นสัปดาห์ขยะหน้าบ้านอาจไม่มีคนงานมาเก็บไปทิ้งก็ได้  เพราะเขาเลือกที่จะประหยัดด้วยการเลิกจ้างคนเก็บขยะ  โจรขึ้นบ้านโทรศัพท์ไปหาตำรวจ ก็ไม่มีใครรับ เพราะเขาเลิกจ้างตำรวจแล้ว


ปัญหาเกิดจากอะไร

ถอยหลังไปในปี 1980 เมื่อ Dick Cheney ประกาศว่าการขาดดุลการคลังไม่ใช่ปัญหาอะไร หนี้ภาครัฐต่อ GDP ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในเกือบทุกประเทศพัฒนา และในที่สุดมันก็แตกระเบิดอย่างที่เห็นกันวันนี้ที่ กรีซ ญี่ปุ่น ไอร์แลนด์ โปรตุเกส อิตาลี และสหรัฐ  แค่สามประเทศที่มีปริมาณหนี้มากที่สุดรวมกัน คือสหรัฐ อิตาลี และ ญี่ปุ่น ปริมาณหนี้คิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของ GDP ทั้งโลกแล้ว ปัญหารอบนี้จึงใหญ่มาก ไม่ใช่ Too big to fail แล้ว แต่เป็น Too big to bail (out) สาหัสขนาดที่อดีต รมต.คลัง Larry Summers บอกว่าสหรัฐจะมีปัญหาหนักกว่าครั้ง Lehman Brothers เมื่อกว่า 2 ปีก่อนมาก สงสัยจะขนาด Armageddon (การสู้รบครั้งใหญ่ถึงขั้นแตกหัก) เลยทีเดียว

ทุกประเทศเหล่านั้นต่างกู้ยืมอย่างหนักเพื่อไปสนองนโยบายที่ทำให้ชนะเลือกตั้ง จนกระทั่งพาประเทศมาถึงจุดที่ควรจะล้มละลายแล้ว หากประเทศเหล่านี้เลือกทางแก้ไขที่ถูกต้องเสียในวันนี้ บางประเทศก็จะรอด แต่นักการ เมืองจะทำอย่างนั้นได้อย่างไร ในเมื่อฐานเสียงของเขากำลังเรียกร้องเงินและสวัสดิการมากขึ้นทุกที และมันยาวนานกว่า 150 ปีแล้วที่นักการเมืองในประเทศเหล่านั้นรู้วิธีที่จะได้คะแนนเสียงเลือกตั้ง นั่นก็คือการใช้ผลประโยชน์ต่างๆ และระบบสวัสดิการสังคมมาเป็นเกมกำหนดและควบคุมคะแนนเสียง เพราะนักการเมืองสัญญาว่าจะให้นั่น ให้นี่  ให้มากขึ้น และมากขึ้น และหากนักการเมืองคนไหนกล้าพอที่จะพูดว่าจะให้ผลประโยชน์ต่อประชาชนมากเท่ากับภาษีที่ประชาชนเสียให้รัฐ  เขาก็โกหก

เพราะอะไร

ก็เพราะทุกระบบมีต้นทุนในการบริหาร เราจึงต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลกับภาครัฐ และเมื่อสวัสดิการสังคมขยายความออกไปไกลขึ้น คนก็ยิ่งต้องการประโยชน์จากมันมากขึ้นและมากขึ้น การเรียกร้องให้มีการกำกับควบคุมมากขึ้นๆ ก็ต้องใช้กำลังคนทำหน้าที่มากขึ้น และแล้วผลประโยชน์ก็ขยายกว้างไกลจนเกินกว่าที่รายได้ของประเทศจากภาษีจะรองรับได้

นอกจากปัญหาของการใช้จ่ายเกินตัวแล้ว สาเหตุอีกส่วนเป็นผลพวงมาจากปัญหา Sub Prime ซึ่งยังไม่จบ แต่เมื่อรัฐบาลทุกประเทศช่วยกันอัดฉีดสภาพคล่องเต็มที่จนประคองไปได้ คนที่กลัวก็หลงดีใจคิดว่าผ่านพ้นวิกฤติ Sub Prime ไปแล้ว ทั้งๆ ที่ไม่ใช่  เป็นแค่เพียงซื้อเวลาเท่านั้น 


หากเพิ่มเพดานหนี้แล้ว ปัญหาในสหรัฐจะจบลงได้ไหม

หายใจคล่องขึ้น เพราะมีเงินจ่ายหนี้ที่ครบกำหนดในระยะสั้นนี้ได้ ไม่ต้องขึ้นชื่อว่าผิดนัดชำระหนี้ แต่ในระยะยาว ปัญหาก็ยังคงอยู่หากคนยังตกงานขนาดนี้และเศรษฐกิจยังขยายตัวต่ำ

ไม่มีใครแก้ปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวได้ด้วยการก่อหนี้เพิ่มขึ้นไปอีก ถ้ารัฐบาลไม่ปรับปรุงลดรายจ่ายต่างๆ ไม่เพิ่มอัตราภาษี ซึ่งสำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาขั้นสูงสุดของเขาปัจจุบันอยู่ที่ 35%ให้สูงขึ้น  มันก็แค่ช่วยแก้ปัญหาระยะสั้น เหมือนจ่ายหนี้บัตรเครดิตวีซ่าด้วยวงเงินเบิกล่วงหน้าจากมาสเตอร์การ์ด ผ่านไปอีกพักก็จะแย่ และจะแย่ยิ่งกว่าเดิม หากเศรษฐกิจสหรัฐโตไม่เร็วพอ ซึ่งก็คือไม่สามารถเพิ่มรายได้ได้ทันค่าใช้จ่าย ดังนั้น ต้องทำให้คนมีงานทำให้ได้ ในขณะที่ต้องเพิ่มภาษีคนรวย  ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง รัฐจะได้มีรายได้เพิ่ม

ผลกระทบต่อตลาดทุนไทย  เงินต้องมีที่ไป

ณ วันนี้ เงินสหรัฐยังมีสภาพคล่องล้นเหลือ เพราะรัฐอัดฉีดเงินลงไปแล้วแต่ธนาคารยังไม่ปล่อยกู้  เป็นแบบนี้แล้วเงินก็จะมาที่ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market --- EM) ซึ่งเอเชียดูดีที่สุด  

ในเมื่อประเทศตะวันตกเช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ยังไม่พ้นจากปัญหาที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจและหนี้สิน  เงินจึงต้องไหลไปในที่ที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เสี่ยงน้อยกว่า

Asia มีแนวโน้มการบริโภคจับจ่ายใช้สอยที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เขาเลยสนใจเอเชีย  และไทยก็มีเศรษฐกิจที่มีศักยภาพการบริโภคได้ดีอยู่แล้ว ฝรั่งจึงสนใจและมองไทยยาวขึ้น  จะทยอยเข้ามามากขึ้น ถ้าเราตั้ง ครม.ใหม่ได้โดยเป็นคนที่น่าเชื่อถือโดยเฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจ และหากรัฐบาลใหม่ดำเนินนโยบายได้น่าเชื่อถือ ไม่ส่งผลแง่ลบต่อเศรษฐกิจ

การส่งออกของไทยมีการกระจายตัวดีขึ้น หากสหรัฐกับยุโรปแย่ เราก็ยังเลี้ยงตัวได้ เพราะเรามีการค้าขายกับพวกกันเองและในตลาดอื่นๆ  ปัญหาภายในประเทศโดยรวมก็น้อย  การทะเลาะเบาะแว้งทางการเมืองก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนไทย ไม่มีอะไรตื่นเต้น   

ลงทุนในหุ้นไทยจึงดีกว่าหากมองระยะยาวแต่การเก็งกำไรสั้นๆ จะทำได้ยาก เพราะระดับ  PE ปี 2008 ที่มีวิกฤติ Sub Prime อยู่ที่ 6-7 เท่า เท่านั้น  แต่ตอนนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 13-14 เท่า การหาจังหวะทำกำไรจะยากขึ้น

หากมองว่าทั้งโลกแย่แล้ว ลงทุนหุ้นก็เสี่ยงสูงไปในภาวะที่ไม่แน่นอน ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไม่ว่าประเทศไหนก็เสี่ยงว่าเขาจะไม่คืนหนี้พันธบัตรที่เราไปลงทุน  คิดแบบนี้เงินก็จะไหลไปอยู่ในสินทรัพย์ที่เสี่ยงน้อยที่สุดในภาวะการณ์แบบนั้น  ทองคำซึ่งถือเป็น Safe Heaven จึงทำสถิติราคาสูงสุดใหม่ (New High) ที่ 1,605 .10  ดอลลาร์ ต่อ ออนซ์

เราควรจะกระจายการลงทุนไปในหลายๆ สินทรัพย์ และควรมีทองคำเอาไว้บ้างในพอร์ตการลงทุนของเรา

วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ตอนที่ 4 NAV มีประโยชน์อย่างไร

เนื้อหาจาก: หนังสือ "สวัสดีกองทุนรวม 2552"
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)


ตอน NAV มีประโยชน์อย่างไร

·        NAV เป็นตัวเลขที่บอกถึงมูลค่าที่แท้จริงของกองทุนรวม ซึ่งบอกผู้ถือหน่วยลงทุนว่า หากท่านจะซื้อหรือขายคืนกองทุนรวม จะได้ที่ราคาประมาณเท่าใด
·        NAV จึงเป็นตัวเลขที่สะท้อนผลการดำเนินงานของกองทุนรวมได้ดีที่สุด เพราะการเปลี่ยนแปลงของ NAV จะทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทราบว่า แต่ละกองทุนรวมนั้นบริหารไปแล้ว ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้กำไรหรือขาดทุนมากน้อยเพียงใด NAV เพิ่ม คือ ผลประกอบการดี NAV ติดลบ หรือลดลง คือ ผลประกอบการไม่ดี (ถ้าไม่ใช่เป็นผลจากการจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหน่วยลงทุน) ราคาหน่วยลงทุนอาจเริ่มต้นที่ 10 บาท ณ ตอนเสนอขายครั้งแรก จากนั้นอาจเพิ่มขึ้น หรือ ลดลงขึ้นอยู่กับผลประกอบการของกองทุนรวม และจากนั้น NAV จะมีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน


Tips
            เพื่อให้การวัดการดำเนินงานของกองทุนรวมเหมาะสมและยุติธรรม การเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกองทุนรวมควรเปรียบเทียบระหว่างกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนคล้าย ๆ กัน และช่วงระยะเวลาเดียวกันเท่านั้น ทั้งนี้ ตัวเลข NAV ของกองทุนรวม สามารถดูได้จากหลายแหล่งด้วยกัน อาทิ หนังสือพิมพ์ธุรกิจรายวัน สอบถามจาก บลจ. ที่บริหารกองทุนรวมนั้น ดูจากเว็บไซต์ของแต่ละ บลจ. หรือที่ http://www.thaimutualfund.com/ ก็ได้

โปรดติดตามอ่านตอนต่อไปได้ในครั้งหน้านะคะ.....


วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เพดานหนี้นั้น สำคัญไฉน

วรวรรณ ธาราภูมิ

นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน
CEO บลจ. บัวหลวง จำกัด

18 กค 54

เพดานหนี้นั้น สำคัญไฉน

มีคนขอให้อธิบายเรื่องเพดานหนี้ของสหรัฐ (US Debt Ceiling) ในภาษาที่จะเข้าใจได้ง่ายๆ ว่ามันคืออะไร และสำคัญแค่ไหน ถึงได้เป็นข่าวตื่นเต้นกันไปทั่วโลกไม่เว้นแต่ละวัน

เชื่อว่าทุกคนมีเครดิตการ์ด และเครดิตการ์ดก็จะมีวงเงินให้เราใช้ เช่น ไม่เกิน 100,000 บาท นั่นละคือเพดานที่เขากำหนดให้เราใช้เครดิตการ์ดไปซื้อสินค้าและบริการ รวมทั้งเบิกเงินสดล่วงหน้าได้ เพดานนี้หากมากเกินกำลังเรา พอเราไปใช้จนเต็มเพดาน ก็จะมีปัญหาว่าเวลาเขาเรียกเก็บ เราจะใช้หนี้ไม่ไหวตามที่เขากำหนด

ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็มีเพดานหนี้ที่รัฐจะก่อได้เหมือนกัน  แต่ไม่ใช่แค่ 100,000 บาท ตัวเลขที่ก่อหนี้ได้ หรือวงเงินหนี้ คือ 14.3 ล้านล้านดอลลาร์ เขียนเป็นตัวเลขเต็มๆ ว่า 14,300,000,000,000 ดอลลาร์ หากใช้ 1 ดอลลาร์เท่ากับ 31 บาท ไปคูณ จะได้เท่ากับ 443,300,000,000,000 บาท  อ่านว่า 443.3 ล้านล้านบาท แปลอีกทีก็คือสหรัฐ ก่อหนี้ได้ถึงประมาณห้าสิบเท่าของขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวประชาชาติประเทศไทยหรือ GDP เลยทีเดียว และตอนนี้ก็มีหนี้ประมาณนั้น ใช้จนเต็มวงเงินแล้ว เลขศูนย์เยอะแยะไปหมดจนเครื่องคิดเลขเอาไม่อยู่

หากคองเกรสหรือรัฐสภาสหรัฐไม่ยอมแก้ไขกฏหมายเพื่อเพิ่มเพดานก่อหนี้ของสหรัฐให้สูงขึ้นไปอีก สหรัฐก็ไม่มีปัญญาจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะทยอยกันเข้ามาได้ครบทุกอย่างตั้งแต่ 2 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป คล้ายๆ เราใช้วงเงินในบัตรเครดิตจนเต็ม มีอยู่กี่บัตรก็ใช้จนวงเงินเต็มแล้วทุกบัตร บิลค่าน้ำ ค่าไฟ  กำลังถึงกำหนดจ่าย ค่าเล่าเรียนลูกก็จะต้องจ่ายในเดือนหน้า รายได้แต่ละเดือนก็เพียงพอแค่ค่าอาหาร ค่าเดินทางไปทำงาน/ไปเรียน ไหนจะค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถอีกล่ะ  

หากคองเกรสลงมติให้เพิ่มเพดานหนี้อีกครั้งในเร็วๆ นี้ โอบามาก็จะได้เพิ่มสถิติเป็น 4 ครั้ง

เรียกได้ต่างฝ่ายต่างก็เพิ่มเพดานหนี้กันทั้งนั้น และอาการมือเติบนี้มันเริ่มมากขึ้นก็ในสมัยของประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน แห่งพรรครีพับลิกันนั่นแหละ  บุช ก็ใช่ย่อยที่ไปเพิ่มเพดานหนี้สูงขึ้นมากจนเส้นชันขึ้นไปอย่างสังเกตุเห็นได้ชัด

ส่วนทั้ง คลินตัน กับ โอบามา นั้นหนักหน่อย เพราะต้องมาตามแก้ของเก่า ทั้งยังไปเพิ่มสวัสดิการบางอย่างเข้าไปอีก  อย่างไรก็ตาม สมัย คลินตัน ดูดีที่สุด ความชันลดน้อยลงจากสมัย เรแกน ส่วนโอบามาต้องรับบทหนักที่สุดเพราะความชันที่ส่งผ่านมาจากสมัยบุชนั้นค่อนข้างหนักหนาสาหัส แถมตัวเองยังเพิ่มสวัสดิการเข้าไป และต้องใส่เงินมหาศาลเข้าไปในระบบเพื่อแก้ปัญหาหนี้ Sub Prime ในปี 2008 นั่นแหละ

อย่างไรก็ตาม 2 พรรคการเมืองนี้ในที่สุดก็จะตกลงกันได้เหมือนที่เคยเป็นมาทุกยุค เพราะหากไม่ยอมขยายเพดานหนี้ ผลกระทบต่อประเทศมันจะหนักหนาสาหัสเลยทีเดียว  หากกู้เพิ่มมาจ่ายไม่ได้ รัฐบาลสหรัฐก็อาจเลือกจ่ายเจ้าหนี้พันธบัตรเสียก่อนเพื่อเอาใจเจ้าหนี้ แล้วจึงไปลดเงินเดือน ลดรายจ่ายด้านสวัสดิการต่างๆ   แล้วทั้ง 2 พรรค ก็จะถูกด่าจากประชาชนกันจมหู

การที่ยังตกลงกันไม่ได้ เป็นเพราะต่างฝ่ายต่างเพียรพยายามปกป้องรักษาฐานเสียงมวลชนของตนมากกว่า โดยเดโมแครทต้องการขึ้นภาษีคนรวย ในขณะที่รีพับลิกันไม่ยอมเพราะจะกระทบฐานเสียงคนรวยที่เป็นฐานใหญ่ของเขา เลยบอกให้เดโมแครทไปลดการใช้จ่าย ลดเงินเดือน ลดสวัสดิการสังคม ลงไปแทนที่จะขึ้นภาษี  ซึ่งหากเดโมแครทยอมให้ทำเช่นนั้นก็จะกระทบชนชั้นกลางที่เป็นฐานเสียงส่วนใหญ่ของเดโมแครท  แต่ในที่สุดก็จะตกลงกันได้ และจะให้เพิ่มเพดานหนี้อีก

มันเป็นอย่างนี้มาทุกยุคที่ 2 พรรคนี้ต้องต่อรองกันก่อนจะเพิ่มเพดานหนี้ เพราะหากไม่ยอมเพิ่มเพดานหนี้ ก็จะจ่ายเงินบำนาญไม่ครบ ลดเงินเดือนลูกจ้างรัฐ ลดการจ่ายสวัสดิการทหารผ่านศึก  เลิก Food Stamp ลดค่ารักษาพยาบาล ลดงบประมาณ FBI หรือ CIA และอื่นๆ อีกมากมายหลายรายการ  แล้วก็จะเกิดโกลาหลอลหม่านกันไปทั้งประเทศ  ผ่านไปเป็นสัปดาห์ขยะหน้าบ้านอาจไม่มีคนงานมาเก็บไปทิ้งก็ได้

มาตรการ QE3 จะช่วยได้ไหม

มาตรการนี้เป็นการฉีดสภาพคล่องเข้าระบบ แต่ตอนนี้ปัญหาของอเมริกาไม่ใช่ขาดสภาพคล่อง  สภาพคล่องกลับล้นไปด้วยซ้ำเพราะธนาคารต่างๆ ไม่ปล่อยกู้  ส่วนธุรกิจเองก็ไม่กล้าขยายการผลิต  ดูได้จากอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเตี้ยจนติดดิน  สินเชื่อแทบไม่โตเลย  QE3 จึงเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด ไม่ควรทำ ควรไปกระตุ้นให้ปล่อยสินเชื่อมากว่า

เบอร์นันเก้เองนั้นต้องการดึงเงินกลับเข้าด้วยซ้ำ หากมี QE3 จะเกิดการเก็งกำรใน Commodity และตลาดหุ้น ตลาด Bond  พอถึงจุดหนึ่งการเก็งกำไรก็จะหยุดลง  แล้วก็จะเป็นปัญหากับเบอร์นันเก้อีก
บางคนมองว่าควรอัดฉีดเพิ่ม (QE3) หากดูท่าว่าเศรษฐกิจจะแย่  แต่มีคนคัดค้านเพราะหากทำเช่นนั้นเงินเฟ้อจะเป็นปัญหาใหญ่  ด้าน จิม โรเจอร์ส ก็บอกว่า FED จะออกมาตรการแน่ๆ

แต่ล่าสุด เบอร์นันเก้ ออกมาบอกอีกทีว่าไม่เอาแล้ว QE3  แต่หากต้องทำ จะทำด้วย 2 เงื่อนไขเท่านั้น

1.         เศรษฐกิจจะแย่กว่าที่คาดอย่างมีนัยยะสำคัญ และ
2.         ต้องมีความเสี่ยงจากการจะเกิดเงินฝืดอย่างมีนัยยะสำคัญ เช่นกัน

พิจารณาเงื่อนไขสองอย่างนี้ จะเห็นว่าไม่เกิดง่าย เพราะเบอร์นันเก้เองก็คาดว่าครึ่งปีหลังนี้เศรษฐกิจจะดีกว่าครึ่งแรก และปีหน้าก็จะดีขึ้นไปอยู่ที่กว่า 3%   

ส่วนอาหาร น้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ก็ราคาขึ้น เงินเฟ้อจึงไม่กลายเป็นเงินฝืดหรอก

อย่างไรก็ตาม เบอร์นันเก้ ก็บอกว่ายังไม่รู้ว่าทิศทางเศรษฐกิจของอเมริกาจะไปทางไหนกันแน่ QE3 จึงเป็นการเปิดประตูเอาไว้ เผื่อเหลือ เผื่อขาด  นอกจากนี้ เขายังบอกว่าจะคงดอกเบี้ยต่ำไปอีกนานๆ  ดังนั้น เงินท่วมระบบ สภาพคล่องที่ล้นเพราะแบงค์ไม่ปล่อยกู้แต่เอาไปเก็งกำไรในตลาดหุ้นกับสินค้าโภคภัณฑ์นั้นก็จะยังคงอยู่ไปอีกพักใหญ่ เพราะต้นทุนคือดอกเบี้ยที่ใช้ในการนำเงินไปเก็งกำไรจะต่ำไปอีกพักใหญ่  เพราะดูจากอาการทางเศรษฐกิจของสหรัฐก็เชื่อว่าจนถึงปลายปีนี้อเมริกาก็ยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย

ปัญหาทั้งยุโรปและสหรัฐในขณะนี้เกิดจากอะไร

สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกตอนนี้เป็นผลพวงมาจากปัญหา Sub Prime ซึ่งไม่เคยจบ แม้หลายคนจะเคยกลัวว่าจะเป็นเหมือน The Great Depression ที่จะกินเวลาตกต่ำไปทั้งโลก ลากยาวไปเป็นสิบปี แต่พอรัฐบาลทุกประเทศช่วยกันอัดฉีดสภาพคล่องเต็มที่จนประคองไปได้ คนที่กลัวก็หลงดีใจคิดว่าผ่านพ้นวิกฤติ Sub Prime ไปแล้ว ทั้งๆ ที่ไม่ใช่  แค่เพียงซื้อเวลาเท่านั้น  

หลายประเทศที่ขาดดุลการคลังก็เพราะอัดฉีดเงินหรือสภาพคล่องเข้าไปในระบบ  และช่วยซื้อหนี้มีปัญหาจากภาคเอกชน คือย้ายหนี้จากภาคเอกชนมาให้เป็นหนี้รัฐ  เป็นการเอาปัญหาของเอกชนมาให้รัฐ  หลายประเทศที่ขาดดุลการคลังมากขนาดนี้ก็เพราะใส่เงินมหาศาลเข้าไปอัดฉีดหล่อเลี้ยงระบบเอาไว้ โดยเงินที่ใส่ลงไปนั้น รัฐบาลต่างๆ ก็กู้จากเอกชนและคนทั่วไปนั่นเอง

ด้านยุโรปเองก็จะไม่มีทางปล่อยให้ สเปน กับ อิตาลี เป็นอะไรไป IMF และ  ECB จะต้องช่วยเพื่อไม่ให้พังกันไปหมดช่วย  และทั้ง 2 ประเทศนี้ก็กำลังหาทางลดค่าใช้จ่ายลง และเชื่อว่าจะทำได้สำเร็จ

สมมติว่าเกิดมี QE3 ขึ้นมาจะเกิดอะไรขึ้น

ตลาดหุ้นทั่วโลก ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ จะได้ผลดีในช่วงสั้นๆ เท่านั้น และผลตอบรับอาจไม่แรงเท่าช่วง QE2  และตลาดจะกังวลมากกว่า เพราะเม็ดเงินยิ่งมากขึ้น ตอนถอยจะยิ่งตกหนัก


สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือจะลดอันดับสหรัฐหรือไม่

มันก็แปลกๆ ดี เพราะ US ไม่ควรได้อันดับความน่าเชื่อถือสูงสุดที่ AAA Rating ด้วยซ้ำ เพราะทุก 1 ดอลลาร์ที่ใช้ เขากู้ถึง 40%  ขาดดุลมากขนาดนี้  หนี้สินล้นพ้นตัว  และ10 ปีข้างหน้าก็อาจขาดดุลอีก 10 ล้านล้านดอลลาร์  จึงเห็นว่า แม้คองเกรสจะยอมให้เพิ่มเพดานหนี้ได้ทันภายในวันที่ 2 สิงหาคมนี้ สหรัฐก็ควรถูกปรับลดอันดับเครดิตลง

The pride of the nation คงกระเทือนน่าดู จากเดิม ไปไหนๆ คนอเมริกันจะยิ่งใหญ่มาก เป็นพี่เบิ้ม ต่อไปนี้คนก็อาจจะมองว่าเป็นเศรษฐีกลวง คนจะเกรงใจน้อยลง

หากเพิ่มเพดานหนี้แล้ว ปัญหาในสหรัฐจะจบลงได้ไหม

อย่างแรกคือหายใจคล่องขึ้น เพราะมีเงินจ่ายหนี้ที่ครบกำหนดได้ ไม่ต้องขึ้นชื่อว่าผิดนัดชำระหนี้ แต่ในระยะกลางถึงระยะยาวนั้นปัญหาก็ยังคงอยู่ ถ้ารัฐสภาสหรัฐไม่ปรับปรุงลดรายจ่ายต่างๆ ลง และเพิ่มอัตราภาษีบางอย่างขึ้น มันก็แค่แก้ปัญหาระยะสั้น เหมือนจ่ายหนี้บัตรเครดิตด้วยการไปเปิดใช้บัตรใหม่  แล้วกดเบิกเงินสดล่วงหน้าจากบัตรใหม่เอาไปจ่ายชำระหนี้บัตรเก่า ผ่านไปอีกพักก็จะแย่อีก 

และจะแย่ยิ่งกว่าเดิมด้วย หากเศรษฐกิจสหรัฐโตไม่เร็วพอ ซึ่งก็คือไม่สามารถเพิ่มรายได้ได้ทันค่าใช้จ่าย

หากจะฟันฉับตัดปัญหาให้จบไปเลย ก็ต้องให้ได้ดุลด้วยการลดค่าใช้จ่ายลง 40% (คิดจากที่ว่าเงิน 1 ดอลลาร์ที่สหรัฐใช้ เกิดจากการกู้ 40%)  ซึ่งทำอย่างนั้นก็จะกระทบเศรษฐกิจอย่างหนัก เพราะคนจะยิ่งไม่มีเงินไปใช้จ่าย ธุรกิจก็แย่ลง  คนก็ตกงาน  ธุรกิจก็จะยิ่งขายของได้น้อยลง ต้องปิดกิจการ  เลิกจ้าง ฯลฯ  โอ๊ย .. งูกินหาง

ผลกระทบต่อตลาดทุนไทย

ณ วันนี้ เงินสหรัฐยังมีสภาพคล่องล้นเหลือ เพราะรัฐอัดฉีดเงินลงไปแล้วแต่ธนาคารยังไม่ปล่อยกู้  เป็นแบบนี้แล้วเงินก็จะมาที่เอเชียที่ดูดีที่สุด เพราะเขาก็ต้องการให้เกิดผลตอบแทนจากเงินลงทุน

การส่งออกของไทยมีการกระจายตัวดีขึ้น หากสหรัฐกับยุโรปแย่ เราก็ยังเลี้ยงตัวได้ เพราะเรามีการค้าขายกับพวกกันเองและในตลาดอื่นๆ  ปัญหาภายในประเทศโดยรวมก็น้อย  การทะเลาะเบาะแว้งทางการเมืองก็เป็นเรื่องปกติของคนไทยไปแล้ว ไม่มีอะไรให้ตื่นเต้น

ลงทุนในหุ้นไทยจึงดีกว่าหากมองระยะยาวแต่การเก็งกำไรสั้นๆ จะทำได้ยาก เพราะระดับ  PE ปี 2008 ที่มีวิกฤติ Sub Prime นั้นมันถูก คืออยู่ที่ 6-7 เท่า  เท่านั้น  แต่ตอนนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 12-13 เท่า การหาจังหวะทำกำไรจึง
ยาก มีความเสี่ยงสูงกว่า

ช่วงนี้มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ คือฝรั่งที่เคยสนใจจะลงทุนหุ้นไทยเฉพาะตัวที่มีสภาพคล่องสูง (เพราะหากสถานการณ์เปลี่ยนจะได้ออกตัวได้ทัน)   ตอนนี้เขามองว่าการเมืองภายในเราดีขึ้นเพราะมีเสถียรภาพ ส่วนนโยบายประชานิยมนั้นฝรั่งก็มองว่าหากรัฐบาลใหม่ทำทันทีก็จะเป็นข่าวลบ  และทำให้เงินเฟ้อกระชากตัวขึ้นรุนแรง  แล้ว ธปท ก็จำเป็นจะต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดความกดดันจากเงินเฟ้อ  

ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เราขึ้นค่าแรงเฉลี่ยปีละไม่ถึง 3 %  หากขึ้นอีกหน่อยและค่อยเป็นค่อยไปจะรับไหว ไม่ใช่กระชากขึ้นหลายสิบเปอร์เซ็นต์  

ผู้ที่จะเป็นรัฐบาลใหม่ยังฟังเสียงคนอื่นอยู่ ไม่ดื้อดึง และจะทยอยทำนโยบายต่างๆ ตามจังหวะที่เหมาะสม อันนี้นับเป็นข่าวดี

นอกจากนี้ พวก Global Fund ของฝรั่งก็กำลังสนใจตลาดไทย จากเดิมที่ไม่เคยเลยที่จะสนใจไทยโดยเฉพาะ เพราะจะไปมองภาพเอเชียรวมๆ หรือมุ่งที่จีนมากกว่า  ตอนนี้เขาเริ่มมีความสนใจ เริ่มสอบถามไปยังนักวิเคราะห์ไทย ขอพบผู้จัดการกองทุนไทย  ส่งคนมาขอข้อมูลหุ้นไทยมากขึ้น ขนาดที่ว่าหัวหน้าฝ่ายการลงทุนมาหาข้อมูลเอง

ทั้งนี้เป็นเพราะ Asia มีแนวโน้มการบริโภคจับจ่ายใช้สอยที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เขาเลยสนใจเอเชีย  และไทยก็มีเศรษฐกิจที่มีศักยภาพการบริโภคได้ดีอยู่แล้ว ฝรั่งจึงสนใจและมองไทยยาวขึ้น น่าจะทยอยเข้ามามากขึ้นถ้าเราตั้ง ครม.ใหม่ได้โดยเป็นคนที่น่าเชื่อถือโดยเฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจ และหากรัฐบาลใหม่ดำเนินนโยบายได้น่าเชื่อถือ ไม่ส่งผลแง่ลบต่อเศรษฐกิจ

แต่จะอย่างไร ก็ยังคงแนะนำให้ทุกคนลงทุนในกองทุนทองคำไว้บ้างอยู่ดี

วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ตอนที่ 3 มูลค่าของกองทุนรวมวัดจากอะไร

เนื้อหาจาก: หนังสือ "สวัสดีกองทุนรวม 2552"
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)


ตอนที่ 3 มูลค่าของกองทุนรวมวัดจากอะไร

            มูลค่าของกองทุนรวมทั้งกองทุน หรือ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม (Net Asset Value: NAV หรือ เอ็นเอวี) ณ วันใด ๆ คำนวณได้ดังนี้


ยกตัวอย่างกองทุนรวม A
(ลงทุนในหุ้น 1,650 บาท + กำไรจากหุ้น 1,000,000 บาท) + (ลงทุนในพันธบัตร 550 ล้านบาท ดอกเบี้ยรับ 500,000 บาท ค่าธรรมเนียมการจัดการ 100,000 บาท) = NAV เท่ากับ 2,201.40 ล้านบาท

            โดยปกติ บลจ. จะคำนวณ NAV และ NAV ต่อหน่วย (มูลค่าหน่วยลงทุน ซึ่งคิดจาก NAV ทั้งกองทุน หารด้วยจำนวนหน่วยลงทุนที่ขายได้) ทุกสิ้นวันทำการ และประกาศให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทราบ ในวันทำการถัดไปทางหนังสือพิมพ์รายวัน หรือ เว็บไซต์ของ บลจ.เอง เช่น สมมติว่ากองทุนรวม A มี NAV ทั้งกองทุนรวม 1,000 ล้านบาท มีจำนวนหน่วยลงทุน 100 ล้านหน่วย มูลค่าหน่วยลงทุนจะ เท่ากับ 10 บาท เป็นต้น

            ราคาที่ใช้สำหรับการซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุนแต่ละครั้งจะใช้ NAV ต่อหน่วยเป็นฐานในการคำนวณราคาซื้อหรือขายคืนโดยราคาซื้อหน่วยลงทุน (หรือราคาที่ บลจ.ขาย) เท่ากับ NAV บวกด้วยค่าธรรมเนียมการซื้อ (ถ้ามี) ราคาขายคืนหน่วยลงทุน (หรือราคาที่ บลจ.รับซื้อคืน) เท่ากับ NAV หักด้วยค่าธรรมเนียมการขายคืน (ถ้ามี) ทั้งนี้อัตราค่าธรรมเนียมการขายหรือรับซื้อคืนจะขึ้นอยู่กับแต่ละ บลจ.กำหนด โดยปกติเมื่อเสนอขายครั้งแรก ราคาหน่วยลงทุนมักจะเริ่มที่ 10 บาท

โปรดติดตามอ่านตอนต่อไปได้ในครั้งหน้าค่ะ.....