ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วิกฤตอเมริกา ตอนที่ 4

คุณวรวรรณ ธาราภูมิ
CEO บลจ.บัวหลวง
23 ส.ค. 2554

ในตอนที่ 3 เราจบด้วยประโยคว่า  ขณะนี้สหรัฐเริ่มมีอาการถูกตัดเครดิตแล้ว

ในช่วงปี 2000 มาถึงก่อนปี 2008 ตลาดที่อยู่อาศัยในอเมริกาคึกคักมากเพราะอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่ต่ำมากๆ มายาวนาน ตามนโยบายและกลยุทธ์ของคุณลุงกรีน สแปน ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ  เทศบาลท้องถิ่นของรัฐต่างๆ ทั่วประเทศก็เชื่อว่าภาวะคึกคักในอสังหาริมทรัพย์นี้จะคงอยู่ต่อไปไม่มีวันสิ้นสุด ราคาบ้านจะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ และรัฐจะเก็บภาษีอสังหาริมทรัพย์ได้มากขึ้น จึงได้ใช้จ่ายล่วงหน้าไปตามตัวเลขที่คาดการณ์ว่าจะได้รับรายได้เพิ่มจากภาษีอสังหาริมทรัพย์

ฮ่า .... นี่คืออาการหวังน้ำบ่อหน้าที่มีความเสี่ยงสูงมากเชียวนะนั่น คล้ายๆ เราคิดว่าปีนี้เราต้องได้โบนัสสิ้นปีสัก 4 เดือน และปีหน้าจะได้ขึ้นเงินเดือน 8% คำนวณแล้วน่าจะมีเงินพอไปเช่าซื้อรถใหม่ รูดเครดิตการ์ดวางเงินดาวน์ไปก่อน แล้วจะผ่อนชำระเอา ก็รูดการ์ดมันได้แต้ม ได้เงินสดคืน ได้บินฟรี ได้หม้อ ไห กะทะ ได้ดาว ได้เดือน

แต่คนรูดลืมไปว่า คุณจะได้หนี้ก้อนโตด้วย

พอถึงสิ้นปี ยอดขายบริษัทไม่เข้าเป้า โบนัสไม่มีแจก ปีหน้าไม่ขึ้นเงินเดือน ซ้ำร้ายอาจมีการลดพนักงาน
ไอ้ที่รูดปรื๊ดๆ โดยหวังได้น้ำบ่อหน้าจากโบนัส จากเงินเดือนขึ้น มันแห้ว แล้วเราก็หัวทิ่ม
ธนาคารสมัยนี้ ทำไมถึงต่างเร่งรัด ล่อลวง ผลักดัน ให้เราเป็นหนี้กันอย่างไม่ลืมหู ลืมตา กันนักก็ไม่รู้  ใจร้าย ใจดำที่สุด

การให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นสิ่งน่าสรรเสริญ เพราะบ้านเป็นปัจจัยสี่ และเป็นสิ่งจำเป็น เป็นความสุขในชีวิต แต่การผลักดัน รบเร้า ล่อลวง ให้คนใช้จ่ายเกินตนด้วยการรูดบัตรเครดิตแล้วเสนอให้ผ่อนชำระ มันทำลายวินัยทางการเงินของผู้คน

ทั้งยังเอาข้อมูล เบอร์โทรศัพท์ของเราทั้งที่ทำงาน ที่บ้าน และมือถือไปขาย แล้วให้ใครต่อใครโทรมาชักชวนให้ไปลดความอ้วน  ไปเป็นสมาชิกอะไรไม่รู้เยอะแยะ รวมถึงชวนให้กู้ๆๆๆๆ   มีแม้กระทั่งธนาคารต่างด้าวโทรเข้ามือถือเพื่อชักชวนให้กู้ไปซื้อกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นหรือทองคำ แล้วบอกว่ากำไรแน่ เพราะดอกเบี้ยกู้ไม่สูงเท่าผลกำไรที่จะได้รับจากการลงทุน  คุณพี่ขา กำไรแน่นอนค่ะ  เวรเอ๊ย  ไอ้เราบริหารกองทุนอยู่ทุกวันยังบอกลูกค้าเสมอว่าทุกอย่างมีความเสี่ยง แล้วนี่เธอเป็นนารีขี่ม้าขาวมาบอกกำไรแน่นอน ไม่เธอบ้า ฉันก็บอละว้า

นี่มันมากเกินไป เคยบ่นไปหลายครั้งแล้ว ก็ยังไม่เห็นใครขยับกัน สงสัยจะต้องร้องเรียน สคบ.แล้ว

อ้าว คนแก่ก็งี้ละ ขี้บ่น  เรากลับไปที่สหรัฐกันก่อนเหอะ

เมื่อท้องถิ่นของรัฐต่างๆ ไม่ได้รับภาษีอสังหาริมทรัพย์เพิ่ม แต่ดันไปใช้จ่ายล่วงหน้าตามที่คาดว่าจะมีรายได้ภาษีเพิ่มมากขึ้น  มันก็จบเห่

โดยรวมแล้ว 80% ของเงินกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งประเทศ ที่รัฐบาลกลางกู้ยืมมานั้น จะถูกส่งผ่านไปยังรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เรียกว่ารัฐบาลกลางอุ้มเทศบาล อุ้มรัฐบาลท้องถิ่นเอาไว้นั่นเอง

และก็ด้วยเงินกู้นี้นั่นแหละ ที่ทำให้ท้องถิ่นต่างๆ สามารถจ่ายค่าจ้างแก่เจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจ พนักงานดับเพลิง คนขนขยะ ไปรษณีย์ ครู  นักกฏหมาย หมอ พยาบาล ซ่อมถนน ไฟฟ้า น้ำประปา ฯลฯ

แต่เมื่อรัฐบาลกลางต้องรัดเข็มขัดเพราะมีหนี้สินล้นพ้นตัว เมื่อเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ QE ต่างๆ จบลง ไม่มีใครให้รัฐบาลและเทศบาลท้องถิ่นกู้อีกต่อไป เพราะเขารู้ว่าให้กู้ไปก็ไม่ได้คืน

มันจะเกิดอะไรขึ้น

ในเดือนนี้เองที่กระทรวงการคลังสหรัฐก็เริ่มปฏิเสธการจ่ายเงินสนับสนุนหรือให้รัฐบาลท้องถิ่นกู้ ทุกอย่างจึงจบลง ความเลวร้ายก็กำลังคืบคลานเข้ามาหาชีวิตคนอเมริกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

รัฐและเทศบาล ไม่มีเงินจ้างตำรวจได้เพียงพอ ลูกจ้างรัฐก็เรียกร้องนั่นนี่มากไป แต่ทำงานน้อยกว่าค่าจ้างและสวัสดิการที่ได้รับ แต่ผู้ว่าการรัฐก็ต้องสัญญาว่าจะให้ เพราะเป็นระบบเลือกตั้ง แต่ในที่สุดก็ไม่มีจะให้ เลยต้องปลดเจ้าหน้าที่รัฐออก เทศบาลหลายแห่งต้องลดจำนวนคนลงถึง 1 ใน 4  โดยตำรวจครึ่งหนึ่งต้องตกงาน และนักดับเพลิงอีก 1 ใน 3 จึงไม่มีคนจ้างแล้ว

บาทหลวง Heyward Wiggins เล่าว่าความหวาดกลัวเกิดขึ้นไปทั่วเมือง อาชญากรรมเพิ่มขึ้นสูง คนจึงไม่กล้าออกไปนอกบ้านในเวลากลางคืน ธุรกิจหลายอย่างเช่นโรงหนัง ผับ บาร์ ต้องปิดตัวลง และแม้กระทั่งการออกไปโบสถ์ในทุกเย็นวันพฤหัสและวันศุกร์ก็ต้องยกเลิก เพราะคนไม่กล้าออกไปหาพระเจ้าในยามเย็น ยามค่ำอีกต่อไป

George Watson แห่ง New Jersey บอกว่า ไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินอีกแล้ว อาชญากรจะคืบคลานเข้ามาในบ้านเราอย่างไม่ต้องเกรงกลัวอะไร เพราะพวกมันรู้ว่าถึงโทรไป 911 ก็ไม่มีตำรวจอยู่ที่นั่นอีกแล้ว

สิ่งที่เกิดใน New Jersey ก็กำลังเกิดใน California เช่นกัน หัวหน้าตำรวจที่ Oakland จำเป็นต้องปลดลูกน้องตนเองออก เขาไปรายงานต่อประชาชนว่า ตำรวจเท่าที่เหลืออยู่คงไม่สามารถตอบสนองต่อโทรศัพท์ที่แจ้งเหตุร้ายได้เหมือนเดิมอีกแล้ว     

มันจะเป็นอย่างไรหากไม่มีตำรวจออกมาช่วยเราในยามที่มี โจรร้าย ปล้น ฆ่า ลักขโมย ข่มขืน เช็คเด้ง  และนักดับเพลิงไม่พอเมื่อเกิดอัคคีภัย

SO SAD.

และที่แย่กว่านั้น บางรัฐไม่ตัดงบประมาณ ยังคงให้บริการเต็มที่ แต่ .....
แต่รัฐเบี้ยวหนี้  
Tom Miller เป็นเภสัชกรและเป็นเจ้าของกิจการในเมืองเล็กๆ ที่ Marion, Illinois

เขากู้เงินมาตั้งร้านขายยา มีลูกจ้างเต็มเวลา 5 คน และจำหน่ายยาให้ลูกค้าที่อยู่ในโครงการ Medicare ของรัฐ นั่นก็คือ ลูกค้าไม่ต้องจ่าย แต่ Miller ไปเบิกคืนจากรัฐตามสวัสดิการโครงการนี้ได้

แต่เมื่อรัฐไม่มีเงิน รัฐก็หยุดจ่ายเอาดื้อๆ และหนังสือพิพม์ท้องถิ่นก็ลงข่าวว่า เภสัชกร Tom Miller ผู้เป็นชาว Southern Illinois โดยกำเนิด และจบการศึกษาจาก St. Louis School of Pharmacy ต้องจบอนาคตธุรกิจร้านยาของตน หลังจากทำมา 20 ปี เพราะรัฐจ่ายเงินคืนเงินให้เขาช้ากว่ากำหนดไป 9 เดือน

สิ่งเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นไปทั่ว

Daniel Vock เขียนข่าวลงใน New York Stateline.com’s  ว่า เทศบาล New York ดึงเวลาชำระเงินค่าสินค้าและบริการตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ New York ถังแตก ไม่มีเงินจ่ายให้ตามเวลาที่กำหนด ทำให้ระบบต่างๆ ใกล้จะจบลงแล้ว

วาดภาพออกไหมว่าหากโลกนี้มีแต่คนเบี้ยวหนี้เพราะไม่มีเงินจ่าย มันจะอยู่กันได้ยังไง

U.S. News & World Report รายงานว่าใน 2 ปีที่ผ่านมา มี 36 รัฐจาก 50 รัฐในอเมริกาที่ขึ้นภาษีและค่า ธรรมเนียมต่างๆ ที่นอกเหนือไปจากภาษีอสังหาริมทรัพย์ ภาษีเงินได้ และภาษีขาย เดี๋ยวนี้มีภาษีไฟฟ้าที่ติดตั้งบนถนนสาธารณะ  ภาษีอุปกรณ์ดับเพลิง และภาษีเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ด้วย

ที่ Nevada ถึงกับอดอยากพอที่จะเก็บภาษีเพิ่มจากโสเภณีอีก 5 USD
ที่น่าตื่นตระหนกที่สุดคือที่ Ohio  เพราะรัฐนี้กำลังจะหาทางขายคุกอีกแล้ว และในอดีตที่เคยขายคุกไป ปรากฏว่าผู้คุมคุกที่จะตกงานโกรธมาก ถึงกับปล่อยนักโทษไว้โดยไม่มีใครดูแลควบคุม
 
Chicago  ก็ไม่น้อยหน้า มีการขายสิทธิในเครื่องหยอดเหรียญค่าที่จอดรถบนถนนในราคาถูกมากเพราะร้อนเงินให้แก่พวก Wall Street ในราคาลดลง 50% จากมูลค่าที่ควรจะเป็น

และก็ตามระเบียบของลัทธิ Wall Street  นั่นก็คือเมื่อซื้อไปแล้ว ก็เอาสิทธิโดยรวมนั้นไปสับๆๆๆ แล้วมัดใหม่เป็นหลายรุ่น หลายแบบ แล้วขายส่วนหนึ่งให้กับกองทุนความมั่งคั่งแห่งตะวันออกกลางไป

ดังนั้น เมื่อชาวชิคาโก จ่ายค่าที่จอดรถ จงพึงสำเหนียกไว้ว่า เงินของคุณไม่ได้ไปที่รัฐบาลอเมริกันอีกแล้ว แต่มันวิ่งไปเติมความมั่งคั่งในกระเป๋าให้พวก Wall Street กับพวกชาวตะวันออกกลางที่ร่ำรวยด้วยน้ำมัน
  
หากไม่มีปาฏิหารย์เกิดขึ้น ต่อไปคนอเมริกันคงจะพึ่งพารัฐบาลไม่ได้อีกแล้ว ทั้งในเรื่องเงินบำนาญในยามเกษียณ ในเรื่องสวัสดิการรักษาพยาบาล และในเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

แต่รัฐบาลกลางอเมริกันก็มีสิ่งวิเศษที่รัฐบาลท้องถิ่นไม่มี เป็นสิ่งที่สงวนลิขสิทธิ์ไว้แก่สหรัฐประเทศเดียวเท่านั้นตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2  และทำให้รัฐบาลอเมริกันสามารถใช้ข้อได้เปรียบนี้อย่างที่ไม่เคยมีใครในประวัติศาสตร์ทำได้มาก่อน

วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วิกฤติอเมริกัน ตอนที่ 3


วรวรรณ ธาราภูมิ
23 สค 2554

ในตอนที่ 2 เราจบด้วยประโยคว่า  มันไม่มีปัญหาหรอก หากเงินที่จ่ายในเรื่องบ้าๆ บอๆ เหล่านี้ มาจากเงินของรัฐจริงๆ  แต่ปัญหาก็คือรัฐบาลสหรัฐไม่มีเงินออม และที่แท้จริงแล้ว อเมริกากลับไปใช้เงินออมของชาติอื่น เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ตะวันออกกลาง ฯลฯ โดยกู้เพื่อไปอุดหนุนความบ้าๆ บอๆ เหล่านั้น

       ภาพจาก Agora Financial

ประเทศเจ้าหนี้ที่ว่านั้นต่างก็เต็มใจให้สหรัฐกู้ แต่วันนี้ก็เริ่มกังวลว่าเขากำลังให้เครดิตการ์ดที่ไม่มีการจำกัดวงเงินแก่วัยรุ่นหรือเปล่า และตามปกติของวัยรุ่นทั่วไป เมื่อมีเงินในมือ เขาก็ใช้อย่างสนุกสนาน อยากได้อะไรก็ซื้อ  และยิ่งไม่จำกัดด้วย ยอดใช้เครดิตการ์ดหรือยอดหนี้ภาครัฐมันก็เลยเป็นตามรูปนั่นแหละ

รัฐบาลอเมริกันใช้เงินกู้ไปทำอะไรหลายอย่าง รวมทั้งสร้างถนนที่มีพื้นผิวราบเรียบที่สุดในโลก ปานปูพรม ซื้ออินเตอร์เนตไร้สายให้ทุกอาคารสำนักงานของรัฐ จ้างทหารอเมริกันไปเป็น รปภ.ให้กว่า 130 ประเทศทั่วโลก เอาไปจ่ายเป็นเงินเดือนค่าจ้างและสวัสดิการแก่เจ้าหน้าที่รัฐในอัตราที่สูงกว่าภาคเอกชนมากมาย เอาไปสนับสนุนโครงการ Food Stamp ให้คนที่ต้องการซื้ออาหารในราคาถูกลงโดยรัฐจะคืนเงินให้ร้านค้า เอาไปจ่ายเป็นสวัสดิการต่างๆ ตามที่นักการเมืองสัญญาว่าจะให้ และเอาไปสนับสนุนเป็นเงินบำนาญประกันสังคมกับสวัสดิการรักษาพยาบาล เพราะนักการเมืองสัญญาเอาไว้ว่าคนอเมริกันทุกคนจะมีสุขภาพดีโดยรัฐบาลจะเป็นผู้จ่ายให้ และจะมีชีวิตเกษียณที่สุขสบายไร้กังวลเรื่องการเงินไปตลอดชีวิต

หลายคนคงอุทานว่า แหม ... เริ่ดดดด.. มากกกก...  อยากให้บ้านเราเป็นแบบนี้มั่ง

ไอเดียน่ะมันดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว รัฐบาลสหรัฐกลับต้องกู้มาเพื่อจ่ายอะไรๆ ที่ตนเองสัญญาไว้กับคนที่เลือกตั้งตนเข้ามาบริหารประเทศ และจำนวนเงินที่กู้มานั้นมันก็เกินกว่าจะทำมาหาได้มาใช้เจ้าหนี้เขาแล้ว

หากเราใช้เครดิตการ์ดซื้อของและพอเขาเรียกเก็บเงิน แม้เพียงขั้นต่ำ 5% เราก็ไม่มีปัญญาจะจ่ายให้ อะไรจะเกิดขึ้น
แน่นอนเลย เราต้องถูกยกเลิก ไม่ให้ใช้บัตรอีก ไม่วันใดก็วันหนึ่งในอนาคต ก็จ๋อยสนิทละทีนี้

ก็ขนาดน้า David Walker ที่เคยเป็น Top Accountant  ของรัฐบาล ยังเคยเตือนอย่างจริงจังเลยว่า รัฐบาลไม่สามารถใช้จ่ายเป็นล้านล้านดอลลาร์แบบนี้ได้อีกต่อไปโดยไม่มีรายได้มารองรับเพียงพอ เพราะวันหนึ่งเราจะต้องใช้หนี้เขา

ในช่วงเศรษฐกิจถดถอยปี 2008 ตามหลังปัญหาของ Lehman Brothers ที่หลายคนเรียกเป็นยุค The Great Recession นั้น รัฐบาลอเมริกันใช้เงินมหาศาลไปโอบอุ้มสถาบันการเงินที่ประสบปัญหา มาถึงวันนี้ยอดหนี้รวมของภาครัฐมีจำนวนมากกว่าผลผลิตทางเศรษฐกิจรวมกันของ จีน + ญี่ปุ่น + เยอรมันนี ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ 3 อันดับแรกของโลกรองจากสหรัฐ

หากเจ้าหนี้เรียกคืนเงินกู้ทันทีในวันนี้ สหรัฐไม่มีทางจะหามาคืนให้ได้ นอกจากพิมพ์แบงค์กงเต็กออกมาคืนเจ้าหนี้

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ความสำเร็จทางธุรกิจสูงสุดของอเมริกาคือบริษัท Apple ของ Steve Jobs ผู้ผลิต iPod, iPad และ iPhone (ไอ้ป๊อด ไอ้แป๊ด และ ไอ้ฝน)  ที่เราพากันวิ่งไปจองคิวซื้อในวันนี้

ประเทศนี้ต้องมีบริษัทใหม่ๆ ที่ทำได้อย่าง Apple อีก 700 บริษัทใน 1 ปี เพื่อทำให้เกิดรายได้จากภาษีนิติบุคคลที่จะเพียงพอเอาไปใช้จ่ายตามงบประมาณในปีนี้ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะเบื้องหลังความสำเร็จของ Apple นั้น Steve Jobs ผู้ก่อตั้งบริษัทต้องใช้เวลาชั่วชีวิตของเขาเลยทีเดียว ไม่มีใครสร้างความสำเร็จแบบนั้นอีก 700 แห่งได้ในชั่วข้ามคืน
เจ้าหนี้ก็ไม่ได้โง่ เขารู้ทุกอย่างที่เรารู้ และเขากำลังค่อยๆ ผ่อนถ่ายทรัพย์สินออกไปจากเงินสกุลดอลลาร์ ยิ่งสหรัฐไปตอบโต้ด้วยการประกาศว่า ไม่มีทางที่เราจะผิดนัดชำระหนี้ เพราะหนี้ทั้งหมดเป็นสกุลเงินดอลลาร์ที่ไม่มีใครผลิตออกมาได้นอกจากเรา พอถึงเวลาชำระหนี้ เราก็จะพิมพ์มันออกไปจ่ายให้

ย้ากส์ ...... นี่คือเสียงร้องด้วยความโกรธเคืองของเจ้าหนี้ และสักวันหนึ่ง เขาก็จะไม่ยอมปล่อยกู้ให้สหรัฐอีก เพียงแต่รอเวลาเท่านั้นว่าเมื่อไรที่เขาจะผ่อนถ่ายออกจากดอลลาร์ไปได้

และเมื่อไม่มีเครดิตการ์ดให้รูดก่อนผ่อนทีหลังอีกต่อไป อเมริกาก็จะกลายเป็นประเทศที่เปลี่ยนไปจากที่เคยเป็นอย่างสิ้นเชิง

ความรู้สึกคงคล้ายๆ กับตอนเราไปซื้อของที่ซุปเปอร์มาร์เก็ต แล้วพอตอนจ่ายเงิน เราต้องค่อยๆ ดึงของออกจากตะกร้า เนื่องจากวงเงินในเครดิตการ์ดเราไม่พอจ่ายแล้ว แต่ในระดับประเทศ มันจะต้องแย่กว่าการไปซื้อของมากมาย
หลายคนคงหัวเราะอีก เพราะคิดว่าเป็นไปไม่ได้

ลองมองกลับไปที่ปี 2008 ยุค The Great Recession กัน
แบงค์จะล้มเรอะ  ไม่มีปัญหา ป๋าช่วยได้
โรงงานผลิตรถยนต์จะเจ๊งเรอะ  ไม่มีปัญหา ป๋าช่วยอุ้ม
เพิ่มสวัสดิการคนว่างงานเรอะ ไม่มีปัญหา ป๋าจัดให้

และทั้งหมดที่ป๋าทำไปนั้น ป๋ากู้เขามาตลอดโดยบอกว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งยิ่งทำให้ถลำลึกลงไปในบ่วงหนี้อย่างน่ากลัว ทำให้รัฐบาลสหรัฐมีหนี้ปีละเป็นล้านล้านดอลลาร์ตั้งแต่ปี 2008 มาจนถึงวันนี้

ก็แค่สินเชื่อที่อยู่อาศัย ใน 2-3 ปีที่แล้วรัฐบาลก็ซื้อหนี้มีปัญหาเหล่านี้ออกมาจากสถาบันการเงินมาเป็นของรัฐไปแล้วตั้ง 90% ทำให้สถาบันการเงินรอดตัวไป แต่ภาระทั้งหมดมาอยู่กับรัฐ ซึ่งก็คือส่วนได้ส่วนเสียของคนทั้งประเทศนะป๋า

ความจริงมันก็ดีนะ หากเรามีหนี้สินล้นพ้นตัวแล้วรัฐบาลมาบอกว่าเอามาเลย เดี๋ยวป๋ารับจ่ายแทนให้ หนูจะได้ทำมาหากินได้อย่างสบายใจ ไม่มีหนี้เสียมาถ่วงอีก แล้วรัฐก็ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่อาศัยต่ำกว่าอัตราตลาด โดยหวังว่าคนจะสนใจกู้แล้วมาซื้อบ้านที่ถูกยึดนั้นไป ลองเทียบอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของอเมริกากับประเทศอื่นๆ กัน
ในคานาดา สูงกว่าสหรัฐ 30%  ในอังกฤษสูงกว่า 42%   ในออสเตรเลียสูงกว่า 147%  ในไทยสูงกว่า 150%  ในอินเดียสูงกว่า 344%  และในบราซิลสูงกว่า 404%  

หากรัฐบาลอเมริกันไม่สามารถกู้ได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำๆ อีก เพราะเจ้าหนี้จะต้องเรียกอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐที่สูงกว่าวันนี้แน่ๆ  อะไรจะเกิดกับอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยในสหรัฐแน่นอน มันจะพุ่งปรี๊ดจากระดับต่ำๆ ในปัจจุบันน่ะสิ แล้วตลาดอสังหาริมทรัพย์ของอเมริกาก็จะพังพาบลงอีก

และขณะนี้มันก็เริ่มมีอาการถูกตัดเครดิตแล้ว

วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วิกฤตอเมริกา ตอนที่ 2

วรวรรณ ธาราภูมิ

นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน
CEO บลจ. บัวหลวง จำกัด

22 สิงหาคม 2554

ตอนที่แล้ว จบด้วยคำว่า คนไม่เชื่อว่าภูเขาไฟจะระเบิด จนกว่าลาวาจะมาถึงตัว

เล่าไปในบทความหลายเรื่องแล้วว่าในหลายปีที่ผ่านมานั้นนักการเมืองสหรัฐได้ใช้เงินมากกว่าที่หาได้จากการจัดเก็บภาษี รัฐบาลได้กู้ยืมมาเพื่อทำให้คนอเมริกันมีชีวิตที่สุขสบาย เจริญรุ่งเรือง และทรงอำนาจ ทั้งๆ ที่ด้วยรายได้ของรัฐนั้นไม่เพียงพอที่จะเนรมิตสิ่งหรูหราสะดวกสบายขนาดนั้นให้คนอเมริกันได้

เมื่ออเมริกาต้องกู้ยืมอย่างหนักเพื่อไปสนองนโยบายนักการเมืองที่ต้องการชนะเลือกตั้ง จนกระทั่งทำให้คนในประเทศกลายเป็นเปรตที่เรียกร้องทุกอย่างจากรัฐไปแล้ว และในวันนี้อเมริกาก็มาถึงจุดที่ควรจะล้มละลายแล้ว แต่หากเลือกทางแก้ไขที่ถูกต้องเสียในวันนี้ ก็อาจจะรอด

แต่นักการเมืองจะทำอย่างนั้นได้อย่างไร ในเมื่อเปรตฐานเสียงของเขากำลังเรียกร้องเงิน สวัสดิการและทุกๆ อย่าง มากขึ้นทุกที โดยไม่มีเหตุผล

มันยาวนานกว่า 150 ปีแล้ว ที่นักการเมืองรู้วิธีที่จะได้คะแนนเสียงเลือกตั้ง นั่นก็คือการใช้ผลประโยชน์ต่างๆ และระบบสวัสดิการสังคมมาเป็นเกมกำหนดและควบคุมคะแนนเสียง เพราะนักการเมืองสัญญาว่าจะให้นั่น ให้นี่ ให้มากขึ้นและมากขึ้น และหากนักการเมืองคนไหนกล้าพอที่จะพูดว่าจะให้ผลประโยชน์ต่อประชาชนมากเท่ากับภาษีที่ประชาชนเสียให้รัฐ เขาก็โกหก

เพราะอะไร

ก็เพราะทุกระบบมีต้นทุนในการบริหาร เราจึงต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลกับภาครัฐ และเมื่อสวัสดิการสังคมขยายความออกไปไกลขึ้น คนก็ยิ่งต้องการประโยชน์จากมันมากขึ้นและมากขึ้น การเรียกร้องให้มีการกำกับควบคุมมากขึ้นๆ ก็ต้องใช้กำลังคนทำหน้าที่มากขึ้น และแล้วผลประโยชน์ก็ขยายกว้างไกลจนเกินกว่าที่รายได้ของประเทศจากภาษีจะรองรับความต้องการที่ไม่สิ้นสุดของเปรตได้

และไม่มีใครแก้ปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวได้ด้วยการก่อหนี้เพิ่มขึ้นไปอีกแบบที่สหรัฐทำมาโดยตลอด

รัฐบาลสหรัฐกู้เงินจากประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง ไทย ฯลฯ ด้วยการขายพันธบัตรสหรัฐให้ และที่ผ่านมานั้น ทุกประเทศก็เต็มใจให้กู้เนื่องจากถือกันว่าเป็นหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคง ปลอดภัยสูงสุด ยังไงๆ ก็จะได้หนี้คืนพร้อมดอกเบี้ยตามกำหนดทุกครั้งแน่ๆ  
จนกระทั่งมาถึงวันนี้ วันที่เจ้าหนี้หวั่นเกรงว่าฐานะการเงินการคลังของอเมริกาเริ่มสั่นคลอนแล้ว การซื้อ
พันธบัตรสหรัฐที่ถูกลดอันดับความน่าเชื่อถึงลงมาเหลือ AA+ ซึ่งแม้จะยังดูดีอยู่ แต่ก็จ่ายดอกเบี้ยต่ำเตี้ยเรี่ยดินในอัตราล่าสุดไม่ถึง 2% มันคงจะเป็นการฉลาดน้อยที่สุด

แม้ว่า คุณปู่อลัน กรีนสแปน คุณลุงบัฟเฟต คุณลุงเบน เบอร์นันเก้ กับ อาพอล ครุกแมน ฯลฯ จะดาหน้ากันออกมากล่าวว่า เจ้าหนี้จะกลัวหนี้สูญไปไย ยังไงๆ สหรัฐก็พิมพ์แบงค์ดอลลาร์มาจ่ายคืนให้ได้

เอิ้กกกก.... เจ้าหนี้เริ่มเรอ 

ก็หากวันหนึ่ง ประเทศเจ้าหนี้เริ่มปิดก๊อกล่ะ สหรัฐจะทำไง

หากไม่ปิดก๊อก แต่ต้องการอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นเพื่อคุ้มกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นล่ะ ดอกเบี้ยในสหรัฐก็จะพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วยใช่ไหมล่ะ แล้วอเมริกาทั้งประเทศก็จะมีดอกเบี้ยทุกอย่างเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะดอกเบี้ยกู้ยืม เครดิตการ์ด และดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัย

แล้วจะรับไหวไหม

เอิ้กกกกกกกกกกก ... คราวนี้ลูกหนี้เรอบ้าง แต่เรอดังกว่า และยาวนานกว่า

นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เชื่อว่าอีกไม่นาน รัฐบาลสหรัฐจะไม่สามารถกู้ได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำๆ อีกแล้ว ลองมาดูข่าวนี้กัน
เทศบาลและรัฐต่างๆ ในสหรัฐกำลังมีปัญหาในการกู้ เมื่อกู้ไม่ได้ก็เลยต้องตัดงบประมาณต่างๆ เช่นการรักษาความปลอดภัย หยุดให้ความช่วยเหลือในสวัสดิการต่างๆ เช่น การรักษาพยาบาล และแม้แต่ถนนที่เคยลาดยางอย่างดี (ไม่รู้ถนนไร้ฝุ่นหรือเปล่า) เมื่อผุพังก็ต้องซ่อมด้วยกรวด

ที่รัฐ Alabama นั้น รู้กันมานานแล้วว่าไม่มีเงินพอที่จะจ่ายบำนาญชราภาพให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐ ในปี 2007 เจ้าหน้าที่รัฐจึงฟ้องศาลเพื่อให้สั่งรัฐนำเงินมาให้กองทุนบำนาญ แต่รัฐไม่ทำตาม และในที่สุดเงินในกองทุนบำนาญก็หมดไปเพราะต้องจ่ายให้คนเกษียณก่อนตามลำดับ

นี่ก็เพราะรัฐไม่สามารถกู้ยืมได้ เลยต้องหยุดส่งเช็ครายจ่ายบำนาญประจำเดือนให้ผู้เกษียณแล้ว ซึ่งเป็นการผิดกฏหมายของรัฐที่กำหนดให้รัฐจ่ายเงินบำนาญตามที่สัญญาไว้เต็มจำนวน และก็ไม่เห็นมีใครออกมาบังคับใช้กฏหมายได้เลย ทำให้ Nettie Banks อดีตตำรวจอายุ 68 ปี ถูกฟ้องล้มละลาย ทำให้ Alfred Arnold อดีตหัวหน้าดับเพลิงอายุ 66 ปี ต้องกลับไปทำงานเป็น รปภ.ช็อปปิ้งมอลล์ เพื่อรักษาบ้านไว้คุ้มหัวนอน ทำให้ Eddie Ragland อดีตนักดับเพลิงอายุ 59 ปี ต้องไปเก็บขวดขายเพราะต้องออกจากงานเนื่องจากถูกโจรยิงจนบาดเจ็บสาหัสในขณะที่เป็นตำรวจสนามบิน จนกลับไปทำงานแบบเดิมไม่ได้ และที่แย่กว่านั้นก็คือ ที่บ้านเขาไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาอีกแล้ว ทุกอย่างถูกตัดเพราะไม่มีเงินจ่าย

นี่ไง อะไรที่คาดคิด มันก็เกิดขึ้นได้

และจากระดับท้องถิ่น ระดับเทศบาล ระดับรัฐ มันจะขยายไปในระดับประเทศ หากอเมริกากู้ยืมไม่ได้ และจำต้องใช้เงินเท่าที่หาได้จากการเก็บภาษี

นั่นก็คือ เครดิตการ์ด ของสหรัฐ จะต้องถูกตัดสักวันหนึ่ง

และวิกฤติของจริงถึงจะเกิดขึ้น เมื่อรัฐไม่มีเงินพอที่จะจ้างงาน ครูถูกปลด นักดับเพลิง ตำรวจ คนเก็บขยะ ถูกปลด สวัสดิการถูกลดหรือยกเลิก ไม่มีแล้วสวัสดิการสุขภาพ สวัสดิการคนว่างงาน บำนาญก็ไม่มีให้

แต่รัฐบาลยังเชื่อว่าปัญหาจะไม่มี เพราะมีไม้วิเศษแบบ แฮร์รี่ พอร์ตเต้อร์

ไม้วิเศษนี้หากใช้อีก ก็จะยิ่งทำให้ทุกอย่างราคาแพงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน อาหาร เสื้อผ้า ฯลฯ ในขณะที่ทำให้มูลค่าของเงินออมกับเงินที่คนสะสมเพื่อเกษียณลดลงเพราะเงินเฟ้อ เนื่องจากดอลลาร์เสื่อมค่าลง ไม้วิเศษนั้นคงรู้แล้วว่าคืออะไร

QE ไง คือการพิมพ์แบงค์กระดาษออกมาเรื่อยๆ จนไม่มีใครอยากรับดอลลาร์อีกแล้ว ใครขายของให้อเมริกาเช่นเคยขายส้มให้ใบละ 1 ดอลลาร์ ก็อาจขอขึ้นราคาเป็น 20 ดอลลาร์ แบบที่เคยเกิดที่อาร์เจนตินา และอีกหลายๆ ประเทศ

หากสหรัฐถูกตัดบัตรเครดิต ไม่มีใครยอมให้กู้อีก นอกจากเศรษฐกิจจะล่มจมแล้ว ยังอาจเกิดจราจล และความไม่สงบลุกลามไปทั่วประเทศอีกด้วย

ในอดีตหลายปีมาแล้ว ประเทศนี้อยู่ดี มีสุข ภ่ยใต้การใช้จ่ายที่คำนึงถึงรายรับ ไม่ใช้เกินตัว ในยุคนั้น Thomas Jefferson  ผู้เพิ่งได้รับชัยชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีได้เดินเท้าไปตามถนนเพนซิลเวเนีย เพื่อไปร่วมพิธีการแต่งตั้ง  และเขาก็สนทนาทักทายกับคนอเมริกันที่เขาพบตามถนนอย่างอบอุ่นเป็นกันเอง

แต่เดี๋ยวนี้ เมื่อประธานาธิบดีสหรัฐเดินทาง เขาทำตัวอย่างกับพระมหาจักรพรรดิ์ผู้ร่ำรวยที่สุด

เมื่อประธานาธิบดี บุช ไปพักผ่อนที่ Crawford, Texas  เขาใช้ Air Force1  ซึ่งเพียงแค่ค่าเที่ยวบินนั้นก็เท่ากับ
250,000 ล้านดอลลาร์แล้ว

นั่นยังไม่ได้รวมค่าเที่ยวบินขนส่งที่บรรทุกรถลิมูซีนกับเฮลิคอปเตอร์อีกหลายลำของท่านประธานาธิบดีด้วย ทั้งยังไม่ได้รวมถึงเงินเดือนค่าจ้างของพนักงานอีกหลายร้อยคนที่ทำหน้าที่ภาคพื้นดินและประสานงานการจัดโปรแกรมท่องเที่ยวด้วยซ้ำ

และไม่เพียงแต่บุช ที่ทำอย่างนั้น

มีข่าวซุบซิบวงใน ว่าในช่วงที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับอินเดียเมื่อไม่นานมานี้  เขามีผู้ติดตามถึง 3,000 คน ต้องใช้เครื่องบิน 40 ลำ และรถยนต์กันกระสุน 6 คัน ซึ่งมี 1 คันที่บรรทุกจรวดนิวเคลียร์เผื่อจำเป็นต้องใช้ไปด้วย โอ้ ดราม่ามาก

นอกจากนี้ ทริปอินเดียยังต้องใช้ห้องพักถึง 870 ห้องในโรงแรม 5 ดาว แสนหรู ชื่อ ทัชมาฮาล 

ค่าใช้จ่ายของอภิมหาทริปเที่ยวนี้ เกินกว่า 200 ล้านดอลลาร์ต่อวันทีเดียว

การล้างผลาญงบประมาณแผ่นดินแบบนี้มันระบาดไปทั่วในทุกระดับเจ้าหน้าที่รัฐ

ตัวเลขของสำนักงานสถิติแรงงานแห่งชาติระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐได้รับเงินดือนสูงกว่าเอกชนในระดับเดียวกันถึง 20%  และหากรวมผลประโยชน์กับสวัสดิการรัฐด้วยแล้วมันจะสูงกว่าถึง 50% !!!

ตลกที่ขำไม่ออกก็คือ พนักงานรัฐที่ทำหน้าที่ช่วยชีวิตคนในแคลิฟอร์เนียกว่าครึ่งมีรายได้มากกว่า $150,000 ต่อปี

การที่ Lifeguardsที่ทำเงินได้ ปีละมากกว่า $150,000 จากเงินภาษีของคนอเมริกัน มันแปลว่ารัฐใช้เงินอย่างเกินการควบคุมไปแล้ว ใช่หรือไม่

และจากการตรวจสอบแบบ สตง. พบว่า สถาบันสาธารณะสุขแห่งชาติจะใช้เงิน $2.6 ล้านเพื่อวิจัยว่าการดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มโอกาสในการติดเชื้อ HIV แก่โสเภณีชาวจีนหรือไม่

มูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ใช้เงิน $500,000 เพื่อศึกษาว่ากุ้งที่ป่วย มันฟื้นตัวด้วยการออกกำลังบนสายพานวิ่งได้อย่างไร

สถาบันจิตเวชในนิวยอร์ค จ่ายเงินอุดหนุนการศึกษาว่าทำไมเกย์ชาวอาร์เจนติน่าถึงได้มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงทางเพศในขณะที่ดื่มสุรา

และรัฐบาลยังจ่ายเงิน $80,000 เพื่อศึกษาว่าทำไมทีมบาสเก็ตบอล NCAA ถึงได้ชนะในเดือนมีนาคมอยู่เรื่อย

มันไม่มีปัญหาหรอก หากเงินที่จ่ายในเรื่องบ้าๆ บอๆ เหล่านี้ มาจากเงินของรัฐจริงๆ  แต่ปัญหาก็คือรัฐบาลสหรัฐไม่มีเงินออม

และที่แท้จริงแล้ว อเมริกากลับไปใช้เงินออมของชาติอื่น เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ตะวันออกกลาง ฯลฯ โดยกู้เพื่อไปอุดหนุนความบ้าๆ บอๆ เหล่านั้น !!!

วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วิกฤติอเมริกัน ตอนที่ 1

วรวรรณ  ธาราภูมิ

นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน

CEO บลจ. บัวหลวง จำกัด

22 สิงหาคม 2554


(((((( ผ่างๆๆๆๆๆ ))))))  เรียกแขก …..
เมื่อคืนนี้นอนไปตั้ง 6 ชั่วโมง แต่ฝันว่านอนไม่หลับ เนี๊ยะ .... ตื่นมายังง่วงอยู่เลย
ฝันไปว่าตัวเองเป็น นอสตราดามุส มองเห็นอนาคต
เห็นอะไร บอกหน่อย เร็วๆ ดิ๊

เห็นคนอเมริกันในวิกฤติทางการเงินที่นำไปสู่วิกฤติทางสังคมรุนแรงอย่างที่ไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อน
ห๊า แล้วมันเป็นไง มาไงล่ะ
อ้าว แสดงว่าไม่ได้อ่านที่เขียนเลยสิ
อ่านนะ แต่มันลืม
พลั๊วะ !!
เออ บอกใหม่ก็ได้ ก็กงล้อแห่งวิกฤติเนี๊ยะ มันเกิดขึ้นมานานหลายปีแล้ว ตั้งแต่สหรัฐกู้ยืมมาเรื่อยๆ จนมาถึงช่วงปิดหน้าต่างแลกเปลี่ยนทองคำกับดอลลาร์ในยุคอีตา Richard M. Nixon มาจนถึงยุคคุณปู่ Ronald Reagan ที่ประกาศเรแกนโนมิคส์ ที่อิงทฤษฎีเคนเซียน ตามคำสนับสนุนของ Dick Cheney ว่าการเป็นหนี้ไม่เห็นจะแปลกตรงไหน หากทำให้เศรษฐกิจขยายตัว จนหนี้บานเบิกมาถึงวันนี้ แต่สัญญาณแห่งวิกฤติเพิ่งเริ่มปะทุให้เราเห็นชัดๆ เป็นครั้งแรกในช่วงไม่กี่เดือนนี้ไง

ในฝันนั้น เห็นว่าในอนาคตอันไม่ไกลนัก สิ่งที่คนอเมริกันเคยได้รับจากรัฐบาล มันจะหายไป ทั้งความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินที่เคยได้รับ

ตำรวจ ดับเพลิง สวัสดิการรักษาพยาบาลในยามชราภาพ รวมถึงเงินบำนาญจากระบบประกันสังคม ทุกอย่างจะลดน้อยลงจนถึงขั้นระบบไม่ทำงานอีกต่อไปเพราะไม่มีงบประมาณเพียงพอ โจรขึ้นบ้าน กด 911 ก็ไม่มีใครรับสาย ตัวใครตัวเผือก  ดึกๆ ก็มีคนมาลอกแผ่นกระเบื้องหลังคาไปขาย สายไฟฟ้าถูกตัดเอาไปหมด ผู้คนตกอยู่ในความหวาดกลัวและสิ้นหวัง

มาถึงตรงนี้ ดันตกใจตื่น  เลยมานั่งคิดว่าเป็นไปได้เร้อ ที่อเมริกาจะย่ำแย่ขนาดนั้น
อืม .... ก็มีทางเป็นไปได้นะ
เพราะสิ่งที่รัฐบาลอเมริกันได้ทำลงไปเพื่อต่อสู้กับวิกฤติหนี้นั้น นอกจากจะทำให้ราคาบ้านของคนอเมริกันกับเงินออมของประชาชนตกต่ำลงแล้ว ยังทำให้ราคาอาหารและน้ำมันเพิ่มขึ้นเพราะเงินเฟ้อที่เกิดจากบรรดา QE ทังหลายของลุงเบน เบอร์นันเก้ ทำให้ชีวิตคนชั้นกลางลงไปยิ่งลำบากมากขึ้นทุกวันๆ ไม่มีบ้านอยู่เพราะโดนยึด ลูกเมียและตัวเองกินไม่อิ่ม นอนไม่อุ่น ความปลอดภัยไม่มี ไม่มีงานทำ กิ๊กที่เลี้ยงไว้ก็ต้องเลิกเพราะไม่มีเงินส่งกับไม่มีอารมณ์แล้ว
และเมื่อคนทนลำบากไม่ไหว มันจะไปถึงจุดอันตรายที่สุด นั่นก็คือระบบการปกครองที่ล่มสลาย สังคมวิกฤติ ไม่สงบเกิดความรุนแรง ตัวอย่างเล็กๆ ที่คนอาจมองแค่เป็นปัญหาของวัยรุ่นก็เกิดแล้วที่ลอนดอน มันกำลังจะเกิดที่สหรัฐอเมริกา และจะใหญ่กว่า เพราะเมื่อคนหมดหวังกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ในวันหนึ่งก็จะเกิดม็อบของฝูงชนที่ทนไม่ไหว ไม่พอใจรุนแรง ก่ออาชญากรรมในที่ต่างๆ ด้วยความหิว ความหนาว และความเคียดแค้นชิงชังต่อชะตากรรม กับความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวย ระหว่าง Wall Street กับ Main Street

นี่ไง ประกายไฟเริ่มแล้วจากการที่ น้า Stephen Lerner ได้พูดที่ Pace University ในนิวยอร์คเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาในอารมณ์แบบ Mad Max เพื่อชักชวนคนให้ทำอารยะขัดขืน ไม่ต้องออกไปจากบ้าน
แม้จะโดนธนาคารเจ้าหนี้ไล่ ไม่ต้องจ่ายคืนเงินกู้เพื่อการศึกษา ไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐในทุกเรื่อง ซึ่งเป้าหมายคือจะให้แบงค์ต่างๆ หรือพวก Wall Street ที่รัฐเอาเงินที่ขโมยไปจากคนชั้นกลางไปอุ้มไม่ให้ล้ม  ต้องคืนเงิน 17 ล้านล้านดอลลาร์ให้กับประเทศและต้องให้เกิดการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรมกว่านี้

น้า Lerner กล่าวว่าไอ้เจ้าพวกที่บริหารประเทศอยู่นี้ใส่ใจอยู่ไม่กี่อย่าง นั่นก็คือ ตลาดหุ้น พันธบัตร กับโบนัสที่พวก Wall Street จะได้ และจะแบ่งมาช่วยสนับสนุนพรรคการเมืองเท่านั้น เขาจึงมีกลยุทธ์ง่ายๆ 3 อย่างคือ 1. ทำให้หุ้นตก  2. ลดโบนัส  และ 3. ลดความสามารถในการแสวงหาความร่ำรวยของคนพวกนั้น

เขาบอกว่าไม่มีที่เริ่มต้นที่ไหนที่ดีเท่า JP Morgan Chase เพราะปล้นความมีอยู่มีกินของพวกเขาไป และจะเป็นการที่คนเดินดินหรือพวก Main Street จะท้าทายพลังอำนาจของ Wall Street เป็นครั้งแรก ในวันที่ 17 กันยายนนี้ โดยจะมีคนจำนวนมากมาร่วมกางเต๊นท์ปักหลักพักค้างแบบลุงจำลองสัก 2-3 เดือนให้เต็มถนน Wall Street กลางเมืองแมนฮัตตัน กรุงนิวยอร์ค แบบว่าจะยึดถนนอันเป็นหัวใจของตลาดหุ้นและสถาบันการเงินกันเลยทีเดียว 

ถึงตอนนี้ ข่าวไม่ได้บอกว่า น้า Lerner จะใช้สัญญลักษณ์ มือตบ ตีนถีบ แบบเมืองไทยด้วยหรือไม่


New York Stock Exchange เห็นได้จาก Wall Street

นอกจากนี้ยังมีทีท่าว่าจะมีคนอีกจำนวนมากที่จะร่วมชุมนุมประท้วงแบบอารยะขัดขืนกันอีกหลายๆ ที่ในสหรัฐในวันเดียวกันด้วย

โอย น่าตื่นเต้นมาก เพราะว่ากำลังจะเดินทางไป Washington DC ในช่วงวันที่ 20-25 กันยายนด้วย ไม่รู้ว่าหนีม็อบราชประสงค์ไปแล้ว จะเจอม็อบไหม

ที่ต้องระวังไว้คือ กองกำลังไม่ทราบฝ่าย ที่เขาเกลียดชังคนอเมริกัน อาจแฝงตัวเข้าไปในฝูงม็อบในรูปแบบของกลม้าไม้เมืองทรอย เพื่อหวังอารยะข่มขืน ความรุนแรงอันไม่คาดคิดจึงอาจเกิดขึ้นได้ในจังหวะทีเผลอ โดยที่สหรัฐไม่มีอะไรแบบ ขออภัยในความไม่สะดวก มาช่วย ตัดก่อนตายเตือนก่อนวายวอด แบบเมืองไทย

แนวคิดยึดพื้นที่ศูนย์กลางทางการเงินที่เรียกว่าปฏิบัติการยึด Wall Street แบบนี้ มันเริ่มได้รับการตอบรับไปหลายประเทศ ทั้ง Spain, Canada, UK, Australia, Germany และ Japan ส่วนฝรั่งเศสก็อาจเกิดด้วย (รอการยืนยัน) และอาจมีปฏิบัติการอื่นๆ มาเสริมในวันที่ 6 ตุลาคม ที่ Washington DC

หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้ก็จะส่ายหน้า นึกว่าบ้าไปแล้ว เพื่อนฝูงยอดนักเศรษฐศาสตร์หลายคนอาจจะโทรมาด่าว่าคิดปายด้ายยย .... เมายากันยุงหรือไง

แต่ George Santayana  นักปรัชญา บอกว่า ....

คนไม่เชื่อว่าภูเขาไฟจะระเบิด จนกว่าลาวาจะมาถึงตัว



วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ตอนที่ 6 กองทุนรวมมีประเภทใดบ้าง

เนื้อหาจาก: หนังสือ "สวัสดีกองทุนรวม 2552"
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)


ตอน กองทุนรวมมีประเภทใดบ้าง

กองทุนรวมมีหลากหลายประเภทผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนให้เหมาะสมกับความต้องการหรือเป้าหมายการลงทุนของตนเองได้

กองทุนรวมแบ่งตามประเภท ได้แก่

·        กองทุนเปิด   ซึ่งเปิดให้ซื้อขายได้ตามเวลาที่กำหนด
·        กองทุนปิด    ซึ่งเปิดขายหน่วยลงทุนเพียงครั้งเดียว และกำหนดอายุกองทุนรวมไว้เมื่อครบอายุผู้ลงทุนจึงจะได้รับเงินคืน

กองทุนเปิดจึงสามารถซื้อขายได้ง่ายและสะดวกกว่า หรือมีสภาพคล่องสูงกว่ากองทุนปิด อย่างไรก็ดีเพื่อเพิ่มโอกาสในการซื้อขายหรือสร้างสภาพคล่องให้กับกองทุนปิด บลจ.อาจนำกองทุนปิดไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยผู้ลงทุนสามารถซื้อขายหน่วยลงทุนผ่านบริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์หรือโบรกเกอร์ หรือ บลจ.อาจแต่งตั้งผู้ค้าหลักทรัพย์เป็น ผู้สร้างสภาพคล่อง หรือ Market Maker เพื่อทำหน้าที่ขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนของกองทุนปิดนั้น ๆ แทน ซึ่งส่วนใหญ่ บลจ.จะระบุรายชื่อของ Market Maker เหล่านี้ไว้ในหนังสือชี้ชวน (ดูได้จากเว็บไซต์ของแต่ละ บลจ.) ผู้ลงทุนสามารถค้นหารายชื่อโบรกเกอร์และผู้ค้าหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. ได้จากเว็บไซต์ของ ก.ล.ต. http://www.sec.or.th/


กองทุนรวมแบ่งตามนโยบายการลงทุน


กองทุนรวมตราสารแห่งทุน (Equity Fund)
            เน้นลงทุนในหุ้นจึงมีความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูง เพราะราคาหุ้นอาจผันผวนขึ้นลงตามภาวะเศรษฐกิจ และปัจจัยอื่น ๆ ที่มากระทบ (มีทั้งโอกาสได้ผลตอบแทนสูง และขาดทุนมากเช่นกัน)

กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ (Fixed Income Fund)
            เน้นลงทุนในตราสารหนี้ไม่ลงทุนในหุ้นมีความเสี่ยงตั้งแต่ระดับต่ำ เช่น กองทุนรวมที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไปจนถึงความเสี่ยงระดับปานกลาง เช่น กองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทเอกชน เพราะแม้กองทุนรวมจะได้ดอกผลส่วนหนึ่งในรูปของดอกเบี้ย แต่ราคาของตราสารหนี้ที่กองทุนรวมไปลงทุน ก็เคลื่อนไหวขึ้น ลงได้เช่นกัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อมูลค่าหน่วยลงทุนของกองทุนรวมได้

กองทุนรวมผสม (Mixed Fund)
            คือ ลงทุนทั้งในหุ้นและตราสารหนี้ มีความเสี่ยงหลากหลายขึ้นอยู่กับสัดส่วนการลงทุนระหว่างตราสารทั้ง 2 ประเภทที่กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวน ซึ่งแบ่งได้ 2 แบบ คือ แบบที่กำหนดสัดส่วนการลงทุนในตราสารทั้ง 2 ประเภทไว้อย่างชัดเจน (ซึ่งหุ้นจะมีสัดส่วนสูงสุดได้ไม่เกิน 65%) หรือ แบบไม่กำหนดสัดส่วนการลงทุนในตราสารทั้ง 2 ประเภท โดยการลงทุนขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ บลจ.ตามความเหมาะสม เช่น กองทุนรวม A กำหนดให้สัดส่วนการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ บลจ. ดังนั้นในบางขณะกองทุนรวม A อาจลงทุนในหุ้นได้สูงถึง 100% จึงทำให้มีความเสี่ยงสูงกว่ากองทุนรวมตราสารแห่งทุน      


วันอังคารที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ทำไม QE ถึงไม่ได้ผล

วรวรรณ ธาราภูมิ
นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน
CEO บลจ. บัวหลวง จำกัด

7 สิงหาคม 2554

สิ่งที่สหรัฐอเมริกาควรทำเพื่อกอบกู้วิกฤติหนี้สินของอเมริกาคือ ทำทุกสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว

การพิมพ์แบงค์ดอลลาร์โดยไม่มีอะไรอื่นมารองรับนอกจากความเชื่อมั่นในรัฐบาลสหรัฐ แล้วอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเรียกเป็น QE1, QE2 หรือจะมีอีกในอนาคตภายใต้ชื่ออะไรก็แล้วแต่ ต่างไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจเติบโต ยั่งยืน ตามทฤษฎีของ Keynesians ได้เลย เพราะมันกลายไปเป็น Cash นอนนิ่งในภาคธุรกิจซึ่งไม่ขยาย ไม่กู้ คนที่ยังพอมีเงินก็ออมเงินเพิ่มมากขึ้น ไม่ยอมใช้จ่ายเพราะกลัวอนาคต เงินจึงไปนอนนิ่งในธนาคารทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรืออยู่ในรูปการลงทุนทางการเงินอื่นๆ ไม่ได้นำไปลงทุนในภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง 

เมื่อเป็นอย่างนี้ การขยายตัวหลายเท่าของเม็ดเงินที่อัดฉีดตามหลักคิดของ Keynesians จึงไม่เกิด การอัดฉีดเงินก็เลยเป็นหมัน เพราะผลักดันเศรษฐกิจไม่สำเร็จ

ตัวเลขบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐที่เป็นเสมือนปรอทวัดไข้ ต่างบ่งชี้ตรงกันเกือบจะทั้งหมดว่า คนไข้คนนี้ อาการหนักมาก ไข้สูงเกิน 100 F แล้ว ยา QE1  QE2 ที่ฉีดให้ก็เพียงช่วยชะลออาการชั่วคราวเท่านั้น หากจะฉีดยา QE3 เข้าไป ก็น่าจะดื้อยาแล้ว  

ในภาวะเศรษฐกิจเติบโตและแข็งแรง ยอดขายจะเพิ่มขึ้น แต่กำไรของธุรกิจมักจะลดลง

เพราะอะไร

ก็เพราะต้นทุนมักจะพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงแรกๆ  เนื่องจากค่าจ้างแรงงาน ค่าวัตถุดิบ และค่าใช้จ่ายในการแข่งขันที่ดุเดือด มันจะทำให้กำไรลดลง

และเมื่อเศรษฐกิจเริ่มปรับฐานลง ยอดขายจะลดลง แต่กำไรจะเพิ่มขึ้น  อ้าว งง

เป็นความจริง เพราะภาคธุรกิจเมื่อยอดขายลด ก็จำเป็นต้องลดต้นทุนให้อยู่รอด และที่เขาทำได้อย่างแรกเลยก็คือลดการจ้างงาน ทำให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น จึงมีกำไรมากขึ้น ธุรกิจจะไม่ทำการขยายการผลิต เพราะมองว่าอนาคตไม่ดี  เมื่อมีเงินสดก็เก็บไว้ก่อน

แล้วเมื่อธุรกิจกำไรมากขึ้นแบบนี้ แปลว่ามีมูลค่าเพิ่มขึ้นใช่ไหม

ไม่ใช่แน่นอน เพราะธุรกิจจะมีมูลค่าลดลงเนื่องจากเมื่อเศรษฐกิจปรับฐานลงไปต่อเนื่องแม้จะมีกำไรเพราะลดต้นทุนได้ แต่ยอดขายกลับไม่ปกติ  มันจะหดไปเรื่อยๆ  ซึ่งจะกระทบกำไรในอนาคต

แต่มูลค่าหุ้นของธุรกิจต่างๆ มักจะถูกวิเคราะห์ด้วยผลกำไรตามที่รายงานในงบการเงิน ผู้ลงทุนจึงยังหลงเชื่อว่ามันยังดีอยู่ ทั้งๆ ที่จริงแล้วมันไม่ใช่ เพราะในช่วงเศรษฐกิจปรับฐานไปสู่ความจริงตามที่ควรจะเป็น สินทรัพย์ต่างๆ จะมีมูลค่าที่ลดลง

ในภาวะที่เศรษฐกิจแข็งแรง อัตราดอกเบี้ยต่ำๆ และการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล จะผลักดันให้เกิดอัตราเร่งให้เศรษฐกิจเติบโตได้รวดเร็ว (ที่เรียกว่าใช้ทั้งนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายและใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ) เพราะภาคธุรกิจที่เห็นว่าเศรษฐกิจและกำลังซื้อจะดูดี ก็จะกู้มาขยายการผลิต เกิดการจ้างงาน เกิดการบริโภค ประชาชนหรือผู้บริโภคก็จะกู้เงินไปจับจ่ายใช้สอย

แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจปรับฐานลง การกระตุ้นจะไม่ได้ผล หรือซ้ำร้ายก็คือให้ผลตรงกันข้ามกับที่คาดหวัง เพราะภาคธุรกิจจะกู้เงินที่คิดดอกเบี้ยต่ำติดดิน แล้วเอาไปฝากกับธนาคาร เอาไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล ในประเทศหรือต่างประเทศก็แล้วแต่ คือเอาไปลงทุนทางการเงิน ไม่ใช่ลงทุนในการขยายธุรกิจ เรียกว่าสะสม Cash ไม่ยอมเอาไปขยายการผลิต ผู้บริโภคหากยังกู้ได้ ก็จะกู้หนี้ใหม่เพื่อไปจ่ายหนี้เก่าที่มีอยู่ ซึ่งปัญหาใน ช่วงเศรษฐกิจปรับฐานลงที่จริงแล้วก็คือหนี้ ดังนั้น การอัดฉีดเงินในสภาพแวดล้อมแบบนี้ จึงเป็นการทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลง ไม่ใช่ดีขึ้น

เมื่อเศรษฐกิจเติบโตแข็งแรง รัฐบาลจะเก็บภาษีได้มากขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายสวัสดิการสังคมจะลดลง เพราะว่ามีคนว่างงานน้อยลง เลยไม่ได้ไปขอรับเงินสวัสดิการว่างงาน และอาจไปหาหมอเองโดยไม่ได้ใช้สิทธิตามประกันสังคม ฯลฯ แต่ในทางกลับกัน เมื่อเศรษฐกิจปรับฐานลง รายได้รัฐบาลจากภาษีก็ลดลงไปด้วย ในขณะที่มีคนขอรับสวัสดิการเพิ่มมากขึ้นซึ่งทำให้รายจ่ายของรัฐสูงขึ้น

และเมื่อสถานการณ์เลวร้ายลงไปเรื่อยๆ เนื่องจากรัฐบาลไปกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการยอมขาดดุลเพิ่มขึ้นอีกโดยหวังว่าจะช่วยทำให้ทุกอย่างดีขึ้น  ผลที่ได้ก็จะยิ่งแย่ลงไปทุกที

เพราะอะไร

เพราะรัฐบาลต้องกู้มากขึ้นให้ครอบคลุมภาระที่เพิ่มขึ้น ยอดหนี้ของภาครัฐจึงสูงขึ้น ทำให้เจ้าหนี้ไม่อยากปล่อยกู้ให้รัฐบาลในอัตราดอกเบี้ยต่ำๆ แบบเดิมอีก เพราะเขาเห็นความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับเงินคืนเพิ่มมากขึ้น หากเขาจะให้รัฐบาลกู้  รัฐบาลก็ต้องให้ดอกเบี้ยที่ดีกว่าเดิมด้วย นอกจากนี้ เมื่อยอดหนี้ภาครัฐโดยรวมสูงขึ้น จำนวนหนี้ก็จะกดดันเศรษฐกิจจนทำให้ขยายไม่ไหว หรือขยายได้ช้า เนื่องจากเมื่อยอดหนี้สูงขึ้น ดอกเบี้ยจ่ายคิดเป็นสัดส่วนของรายได้รัฐ (ภาษีที่รัฐบาลเก็บได้) ก็จะมากขึ้นไปด้วย ทำให้รัฐบาลเหลือเงินหลังจ่ายดอกเบี้ยแล้วน้อยลง ใช้จ่ายประจำอาจจะยังไม่พอ ไม่ต้องไปพูดเรื่องเอาเงินที่เหลือไปกระตุ้นเศรษฐกิจ

ทำเนียบขาวเคยบอกว่าหลังกระตุ้นเศรษฐกิจ QE1 / QE2 อัตราการว่างงานจะไม่มีวันขึ้นมาถึง 8% แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็คือ เราไม่เคยเห็นอัตราการว่างงานต่ำกว่า 8% มา 2 ปีแล้ว

หากเรายังจำได้เมื่อปีสองปีก่อนมีการพูดกันกว้างขวางถึงการฟื้นตัวแบบรูปตัว V บ้าง U บ้าง บ้างก็ว่าเป็นตัว W แต่มีบางคนที่ว่าเป็นตัว L ซึ่งน่าจะใกล้เคียงที่สุด นั่นก็คือมันจะใช้เวลายาวนานเป็นทศวรรษแบบที่เกิดกับญี่ปุ่นซึ่งจนป่านนี้ยังไม่ฟื้น

สิ่งที่ควรทำคือต้องปล่อยให้เศรษฐกิจปรับฐานลงไปสู่ที่มันควรจะเป็น อย่าไปฝืนเพราะฝืนไม่ไหว เรียกว่าดื้อยาแล้ว

กลับมาดูทองคำกันบ้าง ในขณะที่หลายๆ คนบอกว่าแพงไปแล้วนะ แต่รู้หรือไม่ว่าธนาคารกลางในประเทศเกิดใหม่เขากำลังสะสมทองคำเพิ่มขึ้น และแบงค์ชาติของประเทศเหล่านี้ต่างก็ล้นไปด้วย US Treasury หรือเงินกระดาษที่มีเพียงความเชื่อถือในเครดิตของรัฐบาลสหรัฐมารองรับเท่านั้น ไม่มีอะไรอื่นอีกเลย  เขากำลังต้องการปรับสัดส่วนทุนสำรองเงินตราต่างประเทศไม่ให้ไปอยู่ในดอลลาร์มากเกินไป เพราะเห็นความเสี่ยงที่กำลังเกิดขึ้นกับสกุลเงินดอลลาร์ที่มีแต่จะเสื่อมค่าลง ล่าสุดแบงค์ชาติเกาหลีใต้ก็เพิ่งจะซื้อทองคำไป 25 ตัน ซึ่งเป็นการซื้อทองคำครั้งแรกในรอบ 13 ปี และคงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายแน่ๆ  แบงค์ชาติไทยก็สะสมทองคำเพิ่มขึ้น ต้องกราบขอบพระคุณ หลวงตามหาบัว ที่ท่านสะสมความมั่งคั่งให้กับประเทศไทยและคนรุ่นหลังด้วยการมอบทองคำจำนวนมหาศาลให้แบงค์ชาติเก็บรักษาไว้

ประเทศเกิดใหม่ (Emerging market ตามที่พวกตะวันตกเรียกเรา) เขาไม่ได้อยู่หลังเขา ข่าวสารต่างๆ ไปถึงกันหมดผ่านระบบสื่อสารเทคโนโลยียุคปัจจุบัน เขาไม่ได้แค่อ่านแนวคิดของ Paul Krugman เท่านั้น  เขาเอาไปเปรียบเทียบกับแนวคิดของ Ken Rogoff ซึ่งให้แนวคิดแก้ไขปัญหาในสหรัฐกับยุโรปที่ต่างกันด้วย

ทองคำจะตามไปอยู่กับผู้มีอำนาจเสมอ ทองคำติดตามผู้มั่งคั่ง และขณะนี้ประเทศในตลาดเกิดใหม่ซึ่งมั่งคั่งแล้วต่างก็มีทองคำในสัดส่วนที่น้อยมาก เพราะในอดีตเขายากจน หรือยังไม่รวยพอที่จะซื้อทองคำได้ แต่วันนี้มันไม่ใช่แล้ว

ส่วนราคาทองคำจะขึ้นไปแค่ไหน หรือจะตกหัวทิ่มลงมาเมื่อใด  ไม่มีใครรู้หรอก  จึงแนะนำว่าหากสนใจทองคำ ก็ให้ลงทุนแต่พอควร อย่าทุ่มเทจนหมดหน้าตัก  การผสมผสานการลงทุนน่าจะดีที่สุด