ค้นหาบล็อกนี้

วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2554

วิกฤตอเมริกา ตอนที่ 10


วรวรรณ ธาราภูมิ
 CEO บลจ. บัวหลวง

11 กันยายน 2554

โอ้บ้ามาก เอ๊ย โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐก็ได้ออกมาแถลงแนวทางแก้ไขวิกฤติทางเศรษฐกิจสหรัฐไปแล้วเมื่อวันที่ 8 กันยายน ตามเวลาสหรัฐ ที่เรามารู้เอาในวันที่ 9  ถัดจากที่ลุงเบน เบอร์นานเก้ ออกมาพูดก่อนหน้าว่าธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ยังมีเครื่องมือช่วยหายใจเอาไว้ช่วยในกรณีจำเป็น (ก็คือเสกเงินออกจากแท่นพิมพ์ หรือ QE3 ที่ชาวหุ้นต่างแหงนคอรอคอย แต่ยังไม่ใช่ตอนนี้) นั่นก็คือส่งลูกผ่านให้รัฐบาลแก้ไขด้วยนโยบายการคลัง ไม่ใช่ให้ธนาคารกลางแก้ไขด้วยนโยบายการเงิน ซึ่งทำให้ตลาดไม่แฮปปี้เพราะไปหวังเอาไว้มาก หุ้นก็เลยตก
ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐครึ่งแรกปีนี้มีอาการย่ำแย่ GDP ขยายตัวเพียง 0.7% แล้วยังมีท่าทางจะชะลอตัวลงอีก  อัตราว่างงานก็ยังคงยืนอยู่ที่ระดับสูงมากถึง 9.1% ประเมินผลทางการเมืองก็ต้องว่า ปิดประตูไปเลยที่โอบามาจะได้กลับมาเป็นผู้นำของประเทศมหาอำนาจอีกในการเลือกตั้งปลายปีหน้า คล้ายกับช่วงที่พี่โอบามาร์คของเราเจอ ก่อนจะเลือกตั้งเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมในไทยนี่แหละ เพราะปัญหาเศรษฐกิจมันคือปากท้องที่สำคัญกว่าเรื่องอื่นใด 

"พี่โอ" ของคนอเมริกัน ออกมาประกาศแผนกระตุ้นการสร้างงานฉบับใหม่ต่อสภาคองเกรสสหรัฐ มูลค่า 4.47 แสนล้านดอลลาร์ ภายใต้ชื่อเก๋ไก๋ว่า "American Jobs Act" (บางคนก็เรียกใหม่ว่า American Jack Ass) เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการจ้างงานภายในประเทศ โดยตั้งเป้าว่าจะสร้างงานให้มากขึ้นสำหรับคนงานก่อสร้าง ครู สัตว์แพทย์ หมอหมา และให้กับคนตกงานนานๆ จนขนขึ้นเต็มตัวไปหมดแล้ว

พี่โอ บอกว่าแผนนี้จะลดหย่อนภาษีให้บริษัทที่จ้างพนักงานใหม่ และจะลดภาษีเงินได้ให้ทุกคนคือลด Payroll Tax ลงครึ่งหนี่ง และลดให้ธุรกิจขนาดเล็กทุกแห่งด้วย  

เออ ...... ลองผู้สมัครเลือกตั้งไทยคนไหนหาเสียงด้วยการบอกว่าจะลดภาษีเงินได้เราครี่งหนึ่งเพราะจะไปประหยัดรายจ่ายจากคอร์รัปชั่นได้ เราจะเลือกเขาทุกชาติๆ เลยเอ้า แล้วจะข่มขู่ บังคับ ให้ทุกคนที่รู้จักกันไปลงคะแนนให้ด้วย 

ฝันไปสิ !! 

เออใช่ ไม่มีวันหรอก เพราะนักการเมืองหวังคะแนนเสียงจากซอมบี้ซึ่งมีจำนวนมากกว่าคนทำงานหนัก กับหวังเงินทุนจากนักธุรกิจรายใหญ่ที่จะช่วยหนุนพรรค เขาเลยไม่เคยเหลียวแลคนชั้นกลางที่เป็นมนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ยกเว้นเวลาเดือดร้อน

เอา บ่นพอประมาณตามวัยวุฒิแล้วกลับมาดูพี่โอกันต่อเหอะ

นอกจากนี้ พี่โอ ยังเสนอโครงการลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐาน (Infrastructure) 5 หมื่นล้านดอลลาร์  โดยขอให้คองเกรสอนุมัติการจัดหาทุน 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ให้ธนาคารที่ปล่อยกู้ให้กับอุตสาหกรรมสาธารณูปโภคทั่วประเทศ  

เนี่ยะ อันนี้สงสัยว่าพี่โอจะแอบก๊อบแผนของคุณธี รมต.คลังไป เพราะเรากำลังจะมีกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเกิดขึ้น แต่ความต่างคือของเราไม่น่าต้องใช้งบรัฐทั้งหมด และโครงการอย่างนี้มันจำเป็นสำหรับเมืองไทยที่ถนนหนทาง ระบบไฟฟ้า ประปา พลังงาน และอื่นๆ ยังต้องพัฒนาไปอีก ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศเป็นอย่างมาก หากมองการณ์ไกลและทำพอดีๆ ให้ประโยชน์ต่อประเทศอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง ซึ่งทั้งรัฐ ทั้งเอกชนและประชาชน ก็สามารถเอาเงินไปลงทุนในกองทุนแบบนี้ได้ ประหยัดงบประมาณไปได้โขเลย ทั้งนี้ โครงการนี้ถูกผลักดันกันมาตั้งแต่สมัยคุณกรณ์ เป็น รมต.คลัง แล้ว ซึ่งก็น่าจะสำเร็จในยุคนี้

นอกจากนี้ โอบามายังได้เสนอโครงการป้องกันไม่ให้อาชีพครูอาจารย์จำนวน 280,000 คน และเจ้าหน้าที่ตำรวจกับพนักงานดับเพลิงไม่ให้ถูกปลดจากงานเช่นกัน

แล้วมันแก้ปัญหาได้ไหม

แม้ว่าการลดภาษีให้ชนชั้นกลางและธุรกิจขนาดเล็ก จะช่วยกระตุ้นให้เกิดกำลังซื้อมากขึ้น และการกระตุ้นในโครงการก่อสร้างจะทำให้เกิดการจ้างงานใหม่ๆ แต่นอกเหนือไปจากเรียกคะแนนเสียงเพิ่มให้พี่โอกับพรรคเดโมแครทแล้ว หากร่างกฏหมายนี้ผ่านคองเกรส มันจะช่วยเศรษฐกิจกับคนว่างงานได้แค่ไหนกัน  ในเมื่อมันจะเป็นการกระตุ้นในระยะสั้นๆ และจะต้องกู้เพิ่ม ปัญหาการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลก็จะบานเบิกมากขึ้น
ลองไปอ่านที่บรรดา กูรู้ ตัวจริง เขาวิจารณ์กัน
คนแรกเลยคือ Bill Gross ผู้ก่อตั้ง PIMCO บริษัทจัดการกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่งซึ่งมีอิทธิพลทางความคิดมากที่สุดโดยเฉพาะด้านพันธบัตรจนได้ชื่อว่าเป็น Bond King   
เฮียกรอส บอกว่า เงินแค่นั้นไม่พอหรอกน้องเอ๊ย ตลาดคงผิดหวังกัน เพราะเมื่อรัฐบาลทั้งยุโรปกับอเมริกันต่างหนี้ท่วมถึงคอหอยอย่างนี้ นโยบายการคลังที่จะใช้งบประมาณไปทำอะไรมันก็เหมือนโดนแช่แข็งอยู่ดี ทำอะไรไม่ได้มากหรอก เรียกว่าหมดกระสุนแล้ว เพราะจะใช้นโยบายการเงินก็ไม่ได้อีก ในเมื่อไปลดดอกเบี้ยจนแทบไม่เหลือให้ลดอีกแล้ว ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุไม่เกิน 5 ปี ก็แบนแต๊ดแต๋แช่แข็งไปทุกช่วงอายุ ใครอยากลงทุนในพันธบัตรสหรัฐก็ต้องไปเอาตัวยาวๆ อย่าง 10 ปี 30 ปี แทน
ขณะที่ เฮียกรอส บอกอย่างนั้น Dr. Mohamed El-Erian, CEO ของ PIMCO และควบตำแหน่ง CIO (Chief Investment Officer เหมือนเฮียกรอส  ก็วิจารณ์ว่าแผนนี้ดูมีพลัง เป็นคำมั่นสัญญา แต่ไม่สมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม มันก็เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลยอมรับว่าเศรษฐกิจสหรัฐถลำลึกลงไปแค่ไหน และรัฐบาลก็พยายามทำให้ดีขึ้น
Mark Thoma ศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ที่ University of Oregon บอกว่า จำนวนเงินที่จะใช้มันมากกว่าที่คาด และคำพูดของโอบามาครั้งนี้เป็นคำมั่นสัญญายิ่งกว่าครั้งไหนๆ (จากฉานโคนเดิม .. ที่รักม่ายเป็น .. จะขอเป็นโคน ที่ร้ากเธอยิ่ง กว่าโคนหนาย หนาย ..) 

แผนนี้ต้องใช้เงินมหาศาล และเราต้องรัดเข็มขัดตามแผนลดหนี้อยู่แล้ว ซึ่งแผนนี้จะยิ่งทำให้ขาดดุลเพิ่มไปอีก การกระตุ้นแบบนี้น่าจะมีผลมากกว่าหากทำในช่วงที่เศรษฐกิจดีกว่านี้  การใช้เงินในวันนี้เพื่อกระตุ้นการจ้างงาน จะทำให้ต้องชำระหนี้เพิ่มขึ้นในวันหน้า ซึ่งจะทำให้ผลดีของการกระตุ้นหมดไปเลย  น่าจะออกกฏหมายที่ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น (เพิ่มภาษี) และลดการใช้จ่ายลง (รัดเข็มขัด) เมื่ออัตราการว่างงานลดลง เช่น มาอยู่ที่ 6% เป็นต้น (ไม่รู้ว่าชาติไหนจะลดเหลือ 6%) แต่มันก็เป็นการหวังผลทางการเมืองนั่นแหละ  เฮ้อ .... สรุปแล้วก็คือ เราไม่สามารถทำมันในวันนี้ได้ แต่เราก็ต้องทำ ต้องกู้เพิ่ม แล้วไปจ่ายเอาทีหลังอีกแล้ว

Paul Ashworth  หัวหน้าทีมเศรษฐกิจที่  Capital Economics ซึ่งเป็นบริษัทอิสระที่ทำการวิจัยเศรษฐกิจมหภาค  บอกว่าเม็ดเงินที่ใช้คิดเป็นเกือบ 3% ของ GDP ซึ่งจะมีผลกระตุ้นให้เศรษฐกิจในปี 2012 ที่เราคาดว่าจะขายเพียง 2% ให้ขยายได้เพิ่มขึ้น  ซึ่งรีพับลิกันดูเหมือนจะยอมรอมชอมด้วย แต่ไม่รู้จะรอมชอมกันนานแค่ไหน

Dr. Lawrence Mishel ประธานกรรมการสถาบันนโยบายเศรษฐกิจ The Economic Policy Institute  ที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วประเทศ บอกว่านี่จะช่วยสร้างงานขึ้นได้ถึง 1.5 ล้านตำแหน่ง เพราะความต่อเนื่องของการลดภาษีเงินเดือนลงครึ่งหนึ่งและโปรแกรมช่วยคนตกงานนานๆ ช่วยไม่ให้เกิดการเลิกจ้างเพิ่ม นอกจากนี้ยังเป็นความพยายามใหม่ๆ ที่จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย ซึ่งจะผลักดันให้มีการจ้างงานเพิ่มของภาคธุรกิจ (เพราะคนมีเงินเหลือเพิ่มมากขึ้นจากการลดภาษีก็จะเริ่มจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ธุรกิจขายของได้ก็จะผลิตเพิ่มและต้องจ้างงานเพิ่มมาช่วยกันผลิตของขาย) ส่วนโครงการเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะสร้างหรือซ่อมถนน ปรับปรุงสภาพโรงเรียน และโครงการช่วยครู ตำรวจ ดับเพลิง ฯลฯ พวกนี้จะช่วยให้เกิดเงินหมุนเวียนเพิ่มอีก 125,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งน่าจะเพิ่มงานได้ถึง 1.5 ล้านตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม การลดภาษีเงินเดือนให้ภาคธุรกิจในส่วน Payroll Tax ที่ไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์ ไม่น่าจะช่วยอะไร แม้นักวิเคราะห์บางรายเชื่อว่าจะช่วยให้จ้างงานเพิ่มขึ้นได้เหมือนกัน

ส่วน Heidi Shierholz จาก The Economic Policy Institute สถาบันเดียวกันกับ Dr. Lawrence Mishel บอกว่าจะทำให้การจ้างงานเพิ่มขึ้นโดยรวมเป็น 4.3 ล้านตำแหน่ง 

เออ เอาก็เขาสิ สถาบันเดียวกันแท้ๆ สงสัย 2 คนนี่เชียร์เดโมแครทแหงๆ
ส่วนนักวิเคราะห์ที่ Moody’s ชื่อ Mark Zandi บอกว่า ว้าย ... พระเจ้าจอร์ช มันยอดมาก เพราะจะทำให้ GDP โตขึ้นอีก 2% ในปีหน้า เพิ่มงานได้ถึง 1.9 ล้านตำแหน่ง และทำให้อัตราการว่างงานลดลงไป 1%  แพกเกจนี้มันมากกว่าที่คาดเลยตัวเอ๊ง ... มันจะทำให้คนเชื่อมั่นมากขึ้น ทำให้สหรัฐไม่กลับไปอยู่ในภาวะ Recession จุ๊บๆ
Nomura วิเคราะห์ว่าจะทำให้ GDP ในไตรมาสแรกปีหน้าเพิ่มขึ้นอีก 1% เป็น 2% ซึ่งจะทำให้ GDP ปีหน้าทั้งปีขยายเพิ่มจากระดับที่คาดการณ์เดิมอีก 0.5%
Len Burman ศาสตราจารย์รัฐศาสตร์ ที่ Maxwell School of Syracuse University  ระบุว่าบริษัทขนาดใหญ่ไม่ควรได้รับการลดภาษี Payroll Tax 50% ในจำนวนที่ไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์ เพราะบริษัทพวกนี้จะไม่เอาไปจ้างงานเพิ่มอยู่ดี แต่เขาสนับสนุนบริษัทเล็กๆ 

Dr. ทางเศรษฐศาสตร์ Menzie David Chinn ผู้สอนรัฐศาสตร์ที่ University of Wisconsin บอกว่าไม่ช่วยเพิ่มการขยายตัวของ GDP เท่าไหร่หรอก มันจะแค่ไม่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐตกลงไปกว่าระดับที่แน่นิ่งนี้เท่านั้นแหละ

อะฮ้า ......  มาแล้ว น้าพอล ครุกแมน

Paul Krugman บอกว่าเราน่าจะทำได้มากกว่านี้ นี่มันน้อยเกินกว่าจะถมรูโหว่ตั้ง 1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีที่มาจากหนี้อสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจฟองสบู่ได้ แผนนี้ยังไม่เห็นผลในปีแรกแต่ช่วยถมรูโหว่ได้บางส่วน และยังไม่ชัดเจนว่าการลดภาษีแบบนั้นจะช่วยทำให้คนใช้จ่ายมากขึ้นอย่างไร เอาล่ะ แต่มีแผนนี้ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย และอาจทำให้เกิดการจ้างงานมากๆ จนคุ้มกับการยอมลดภาษีให้ก็ได้

ส่วน Peter Schiff  สุดยอด CEO ปากกล้า ขาไม่สั่น ของ Euro Pacific Capital ผู้จัดรายการ The Peter Schiff Show ออกอากาศที่สถานี WSTC Norwalk CT ทุกวันทำงาน บอกว่ามันก็แค่แผนของรัฐบาลที่ซ่อนการหวังผลทางการเมืองเอาไว้เท่านั้นแหละ และโอบามาก็หลีกเลี่ยงไม่ยอมใช้คำว่า แผนกระตุ้นเศรษฐกิจ เลยตลอดการโม้อันยาวนานเป็นชั่วโมง แต่ก็อย่างว่าละนะ กล้วยเน่าแม้จะเปลี่ยนชื่อเป็น American Jobs Act มันก็ส่งกลิ่นอยู่ดี แล้วมันก็จะสร้างหนี้เพิ่มขึ้นไปอีก ถลำลึกลงไปอีกไกลเลย ผลได้ในระยะสั้นวันนี้ การจ้างงานเพิ่มจะไม่เท่าผลเสียในวันหน้าที่เกิดจากการเพิ่มหนี้เข้าไปอีก และภายใน 1ปี นับจากนี้ไปจะมีคนอเมริกันว่างงานมากกว่าวันนี้ 
โอบาม่าก็แค่ยัดเงินใส่กระเป๋าผู้บริโภคอเมริกัน แต่ปัญหาก็คือกระเป๋าของรัฐบาลมันแห้งแหงแก๋ แล้วจะเอาเงินจากไหนมายัดใส่กระเป๋าประชาชนล่ะ หากหามาได้มันก็มักจะขโมยคนอื่นมามากกว่าจำนวนที่จะเอาไปให้คนอื่นอีกคนด้วย
แล้วจะทำไง จะกู้เพิ่มหรือว่าจะพิมพ์เพิ่ม ห๊า !!

และไม่ว่าจะเอามายังไง มันก็จะทำลายการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงานในวันหน้าอยู่ดี แล้วก็จะยิ่งทำให้มาตรฐานการครองชีพของคนอเมริกันในอนาคตตกต่ำลงไปอีก

เป็นไง อ่านของแต่ละ กูรู้ แล้ว มึนไหม สนุกดีนะ
ส่วนกูไม่รู้อย่างเราหาก มองโลกในแง่ร้ายแต่เป็นจริง ก็จะบอกว่า
เผชิญหน้ากับความจริงเสียทีเถิด ยอมรับและแก้ไขตามสภาพในวันนี้ ยอมให้ The Great Correction เกิดขึ้นโดยดี อย่าไปรั้งไว้ชั่วคราวด้วยอนาคตอันมืดมนของลูกหลานที่ต้องมารับกรรมจากความสุรุ่ยสุร่ายที่ปู่ย่าตายายและคนรุ่นพ่อแม่ทำเอาไว้ เศรษฐกิจมันมีวงจรของมัน เมื่อมาถึงยุคตกต่ำหรือจะถดถอยก็ตาม จงปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เพราะการไปสู้มันก็แค่ชะลออาการ และจะยิ่งหนักขึ้นในวันหน้า
ผ่านไปพักหนึ่ง ก็จะเข้าวงจรเกิดใหม่ เติบโต แล้วลูกหลานอเมริกันจะได้เติบโตอย่างแข็งแรง  ไม่ใช่เกิดมาก็แบกหนี้ไว้เกินกำลัง ต้องจ่ายดอกจนไม่เหลือเงินไปทำอะไร
อย่าให้ลูกหลานอเมริกันมาขโมยเพลงไทยไปร้องว่า วิญญาณหนูจะร้องว่าไอ้ปู่#$%&฿@”  ดีไหมพี่โอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น