ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554

วิกฤตอเมริกา ตอนที่ 15


คุณวรวรรณ ธาราภูมิ
 CEO บลจ. บัวหลวง

17 กันยายน 2554


ชะตากรรมของหุ้นสหรัฐอยู่ที่โครงสร้างประชากร จากเดิมที่กลุ่ม Baby Boomer ของอเมริกันที่เคยเป็นเด็กๆ ที่มีสัดส่วนมากที่สุดเมื่อเทียบกับวัยอื่น พอกลุ่มนี้โตขึ้นทำงาน ก็สร้างความมั่งคั่งให้เกิดกับเศรษฐกิจได้ เพราะสัดส่วนกลุ่มวัยทำงานก็เพิ่มขึ้นเพราะ Baby Boomer โตขึ้น  แล้วทีนี้พวกนี้ก็แก่ลง

โอ๊ย ......  พูดจาหยาบคายมากนะ คำว่าแก่น่ะหยาบมาก

เอาๆ เปลี่ยนก็ได้  เรียกเป็น ผู้ทรงวัยวุฒิผู้มีเส้นประสบการณ์รอบดวงตา กะด้าย  เรื่องมากจริง

ในทางประชากรศาสตร์ Baby Boomer คือช่วงที่มีเด็กแห่กันมาเกิดเป็นจำนวนมากๆ ในช่วงสั้นๆ แปลย้อนไปถึงต้นเหตุอีกทีคือ เป็นช่วง ป่าป๊า หม่าม้า ร่วมแรง ร่วมใจกันทำการบ้านแบบไม่มีอั้น โดยช่วงที่ Baby Boom แบบจัดหนัก คือช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยที่เด็กๆ พากันแห่กันไปเกิดในประเทศที่ชนะสงคราม

ไม่ต้องถามว่าทำไมเด็กๆ ที่เกิดกันมากในประเทศที่ชนะสงครามนะ โตๆ กันแล้ว นึกเหตุผลกันเองนะค้า ..

Baby Boomer อเมริกันเกิดในช่วง 1946-1964 หลังทหารอเมริกันปลดประจำการและกลับบ้าน  ในขณะที่แคนาดาเป็นปี 1947-1966 เพราะทหารแคนาดาปลดประจำการหลังทหารอเมริกัน  (5555555+ อย่าถามนะ ว่าหัวเราะอะไร  ฮ่าๆๆๆๆๆๆ)   

Baby Boomer ช่วงอื่นๆ ก็มี แต่ไม่มากเท่ายุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  เช่นปี 2000 ที่คนเห่อมิลเลเนียม อยากให้ลูกเกิดกันจัง ทั้งยังเป็นปีมังกรทองอีกด้วย

ก็เลย ... ฮ่าๆๆๆๆๆๆ

กลุ่ม Baby Boomer อเมริกันยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้คือกลุ่มที่เราพูดถึง เพราะกำลังมีอายุ 45-65 ปี โดยอยู่ในช่วงอายุ 60 ขึ้นไปก็เริ่มทยอยเกษียณอายุการทำงานกันแล้ว

แต่ด้วยจำนวนประชากรผู้มากวัยวุฒิของอเมริกันมีมากกว่าผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน แถมการแพทย์ก็ก้าวหน้าทำให้อายุยืนกว่าสมัยก่อน ในขณะที่คนกลุ่มนี้ไม่สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น แต่ฟันฟางหักจึงบริโภคน้อยลง ในระยะยาวก็จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตถึงขั้นขาดทุน ซึ่งน่ากังวลมากสำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เพราะกำลังซื้อหลักกำลังเลื่อนไปสู่วัยที่มีแต่ใช้เงินเก็บ โดยหาเพิ่มไม่ได้เพราะทำงานไม่หวายแย้ว

นี่ก็เพราะคนมาเกิดใหม่ในรุ่นหลังๆ มีน้อยลง เนื่องจากคนรุ่นหลังไม่อยากมีภาระ หรือหัวสูงชอบกอดคานอย่างเหนียวแน่น  หรือไม่ก็แปลงเพศกันไปเลย สัดส่วนประชากรสูงวัยจึงมากกว่าสัดส่วนคนมีแรงทำงาน และถ้าไม่วางแผนจัดการโครงสร้างประชากรให้ดี ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจจะร้ายแรงกว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างสึนามิ
 
ทีนี้ Baby Boomer เกี่ยวไรกะหุ้นล่ะ

อ้าว จำได้ไหม ที่เรามักจะเตือนๆ กันว่า พออายุมากขึ้น ใกล้เกษียณ หรือเกษียณแล้ว เราต้องลดสัดส่วนการลงทุนที่มีความเสี่ยงลง  ซึ่งบางคนก็ล้างพอร์ตหุ้นไปเลยไง

Baby Boomer ในสหรัฐกำลังเกษียณด้วยอัตรา 10,000 คนตลอดช่วง 18 ปีข้างหน้า คนกลุ่มนี้จะต้องขายหุ้นออกไปจากพอร์ตในตลอด 18 ปีข้างหน้า อย่างน้อยก็เพื่อนำเงินมาเลี้ยงตนเองในยามชรา

มันเป็นเรื่องจริงที่น่าเศร้าที่สุด เพราะหากไม่มองในแง่สังคมและศีลธรรมแล้ว ก็พูดได้เลยว่าผู้ชราเป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจ ชนเผ่าต่างๆ เวลาย้ายถิ่นฐานทำกิน ก็จะทิ้งผู้เฒ่าไว้ข้างหลัง  เอสกิโมก็เอาคนชราไปทิ้งให้ตายข้างนอกท่ามกลางหิมะและน้ำแข็ง จะไม่เปลืองอาหารที่ต้องเก็บไว้ให้คนหนุ่มสาวกับเด็กๆ  และคนชราเหล่านี้ก็เป็นผู้น้อมรับชะตากรรมอย่างสง่างาม โดยในช่วงที่อดอยากกัน ผู้เฒ่าผู้แก่จะยอมอดเพื่อให้ลูกหลานได้มีชีวิตอยู่ต่อไป

โอ้ย น้ำตาไหลแล้ว เพิ่งคิดออกว่าทำไมเวลากลับไปหาคุณยายที่บ้านอยุธยา คุณยายถึงหากุ้งนางตัวโตๆ ให้ลูกหลานทานกัน โดยที่คุณยายไม่เคยแตะเลย แล้วก็นึกได้ว่าเวลาลูกอยากทานอะไรที่แม่ก็ชอบ ลูกทานของลูกหมดแล้ว แม่ยังยกของแม่ให้ลูกได้

สรุปก็คือ ความชราและตายคือหายนะของตลาดหุ้น ซึ่งงานวิเคราะห์นี้ระบุว่า P/E ratios อาจลดลงได้มากถึงครึ่งเลยทีเดียว และผู้ลงทุนไม่น่าจะเห็นตลาดหุ้นอเมริกาให้ผลตอบแทนได้เท่าปี 2010 จนกว่าจะถึงปี 2027

ทั้งนี้ การวิเคราะห์นี้ได้ตั้งสมมติฐานว่าบริษัทต่างๆ ของสหรัฐจะมีอัตราการเติบโตของกำไรเหมือนที่เคยทำได้มาตลอดตั้งแต่ปี 1954 ด้วย ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้

เพราะอะไร

ก็เพราะนักการเมืองกับพวก Wall Street ที่ปล้นเงินจากคนทำงานหนักไปก็เป็นอีก 2 องค์ประกอบที่มอบชะตากรรมอันเลวร้ายให้กับตลาดหุ้นและคนอเมริกันด้วยเช่นกัน

และเมื่อทั้งระบบประชาธิปไตยกับระบบการเงินจับมือกันทำความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแก่ประเทศแบบที่เห็นๆ กันมาหลายครั้ง ทั้ง 2 ระบบนี้ก็จะต้องรับผิดชอบต่อหายนะทางการเงินครั้งใหญที่สุดที่เกิดมาแล้ว และจะเกิดหายนะครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐด้วยในอนาคต

Deutsche Bank ออกรายงานในสัปดาห์นี้ว่า มีความมั่นใจว่ายุคทอง (Golden Age) ในปี 1982-2007 จบไปแล้ว และขณะนี้เป็นยุคเทา (Grey Age)

ซึ่งมีความหมายอีกนัยหนึ่งว่ายุค Baby Boomer วัยหนุ่มสาวอันเปรียบได้ว่าเป็นยุคทองเพราะสร้างผลผลิตกับความมั่งคั่งแก่เศรษฐกิจได้มากได้จบลงไปแล้ว และกำลังกลายเป็นยุคเทาตามสีของเส้นผม  โดยช่วงปีทองดังกล่าวนั้น ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยจากหุ้น 12.8% ต่อปีก่อนเงินเฟ้อ  

แต่ต่อจากนี้ไป 10 ปีจะขาดทุนเฉลี่ยปีละ 10% หลังหักเงินเฟ้อแล้ว โดยใน 10 ปีที่ว่านี้เศรษฐกิจจะพบกับ Recession ถึง 3 ครั้ง !!

ก็จะไปคาดหวังอะไรได้มากไปกว่านี้ล่ะ ในเมื่อมันนานเป็นถึงร้อยๆ ปีมาแล้วที่ประเทศพัฒนาติดกับดักสูตรสำเร็จ นั่นก็คือ ต้องเพิ่มพลังงาน เพิ่มผลผลิต  เพิ่มการกู้  และเพิ่มคำมั่นสัญญาว่าจะให้ (อย่าลืมเลือกเบอร์ 99 นะคร้า) แล้วสูตรสำเร็จนี้ก็มอมเมาประชาชนจนกลายเป็นทาสไปหมดแล้ว

ในปี 2007 ทาสเหล่านี้ก็เริ่มต้นรับชะตากรรม ธุรกิจเริ่มกลับหัวลง ประชากรพื้นเมืองแท้ๆ ของยุโรปและญี่ปุ่นก็ลดลง  อัตราการใช้พลังงานต่อคนในประเทศพัฒนาพุ่งขึ้นสูงมาก สินเชื่อภาคธุรกิจลดลง และผลผลิตทางธุรกิจจริง (Real Sector) ก็หดตัว

และธนาคารกลางก็ทำแบบที่เคยทำมาแล้วในทุกครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงหรือย่ำแย่ นั่นก็คือเพิ่มเงินเข้าไปในระบบ และเพิ่มหนี้

รัฐเองก็ใช้เงินงบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลรวมทั้งใช้พลังงานเหมือนมันไม่มีวันหมดสิ้นไปจากโลก

แต่มันก็ไม่เคยได้ผลอีกเลย

ทำไมถึงไม่ได้ผลเหมือนเก่าล่ะ

ก็เพราะคนไม่ได้เป็นหนุ่มสาวเหมือนก่อนน่ะสิ  

รถเยอรมันโก้ๆ  สูทอิตาเลียน กระเป๋าหลุยส์ และแพกเกจรีสอร์ทบูติคเก๋ๆ จะเตะตาคนวัยหนุ่มสาวแน่นอน  แต่คนชราจะไม่มีตาไปมองเห็นอีกแล้วว่ามันสำคัญ

ผลผลิตที่เคยขายให้ Baby Boomer ได้ในสมัยก่อน เมื่อคนกลุ่มนี้เข้าสู่วัยชราภาพ ความต้องการซื้อก็หมดลง แล้วยอดขายจะไม่ลดได้ไง

นอกจาก Baby Boomer จะไม่ใช่พวกที่ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรืองเหมือนอดีตแล้ว ยังจะเป็นสาเหตุให้เศรษฐกิจย่ำแย่อีกด้วย

(((((  โปรดติดตามตอนต่อไป เร็วๆ นี้ ที่ เมเจอร์ ทุกสาขา  )))))

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น