ค้นหาบล็อกนี้

วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วิกฤติอเมริกัน ตอนที่ 3


วรวรรณ ธาราภูมิ
23 สค 2554

ในตอนที่ 2 เราจบด้วยประโยคว่า  มันไม่มีปัญหาหรอก หากเงินที่จ่ายในเรื่องบ้าๆ บอๆ เหล่านี้ มาจากเงินของรัฐจริงๆ  แต่ปัญหาก็คือรัฐบาลสหรัฐไม่มีเงินออม และที่แท้จริงแล้ว อเมริกากลับไปใช้เงินออมของชาติอื่น เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ตะวันออกกลาง ฯลฯ โดยกู้เพื่อไปอุดหนุนความบ้าๆ บอๆ เหล่านั้น

       ภาพจาก Agora Financial

ประเทศเจ้าหนี้ที่ว่านั้นต่างก็เต็มใจให้สหรัฐกู้ แต่วันนี้ก็เริ่มกังวลว่าเขากำลังให้เครดิตการ์ดที่ไม่มีการจำกัดวงเงินแก่วัยรุ่นหรือเปล่า และตามปกติของวัยรุ่นทั่วไป เมื่อมีเงินในมือ เขาก็ใช้อย่างสนุกสนาน อยากได้อะไรก็ซื้อ  และยิ่งไม่จำกัดด้วย ยอดใช้เครดิตการ์ดหรือยอดหนี้ภาครัฐมันก็เลยเป็นตามรูปนั่นแหละ

รัฐบาลอเมริกันใช้เงินกู้ไปทำอะไรหลายอย่าง รวมทั้งสร้างถนนที่มีพื้นผิวราบเรียบที่สุดในโลก ปานปูพรม ซื้ออินเตอร์เนตไร้สายให้ทุกอาคารสำนักงานของรัฐ จ้างทหารอเมริกันไปเป็น รปภ.ให้กว่า 130 ประเทศทั่วโลก เอาไปจ่ายเป็นเงินเดือนค่าจ้างและสวัสดิการแก่เจ้าหน้าที่รัฐในอัตราที่สูงกว่าภาคเอกชนมากมาย เอาไปสนับสนุนโครงการ Food Stamp ให้คนที่ต้องการซื้ออาหารในราคาถูกลงโดยรัฐจะคืนเงินให้ร้านค้า เอาไปจ่ายเป็นสวัสดิการต่างๆ ตามที่นักการเมืองสัญญาว่าจะให้ และเอาไปสนับสนุนเป็นเงินบำนาญประกันสังคมกับสวัสดิการรักษาพยาบาล เพราะนักการเมืองสัญญาเอาไว้ว่าคนอเมริกันทุกคนจะมีสุขภาพดีโดยรัฐบาลจะเป็นผู้จ่ายให้ และจะมีชีวิตเกษียณที่สุขสบายไร้กังวลเรื่องการเงินไปตลอดชีวิต

หลายคนคงอุทานว่า แหม ... เริ่ดดดด.. มากกกก...  อยากให้บ้านเราเป็นแบบนี้มั่ง

ไอเดียน่ะมันดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว รัฐบาลสหรัฐกลับต้องกู้มาเพื่อจ่ายอะไรๆ ที่ตนเองสัญญาไว้กับคนที่เลือกตั้งตนเข้ามาบริหารประเทศ และจำนวนเงินที่กู้มานั้นมันก็เกินกว่าจะทำมาหาได้มาใช้เจ้าหนี้เขาแล้ว

หากเราใช้เครดิตการ์ดซื้อของและพอเขาเรียกเก็บเงิน แม้เพียงขั้นต่ำ 5% เราก็ไม่มีปัญญาจะจ่ายให้ อะไรจะเกิดขึ้น
แน่นอนเลย เราต้องถูกยกเลิก ไม่ให้ใช้บัตรอีก ไม่วันใดก็วันหนึ่งในอนาคต ก็จ๋อยสนิทละทีนี้

ก็ขนาดน้า David Walker ที่เคยเป็น Top Accountant  ของรัฐบาล ยังเคยเตือนอย่างจริงจังเลยว่า รัฐบาลไม่สามารถใช้จ่ายเป็นล้านล้านดอลลาร์แบบนี้ได้อีกต่อไปโดยไม่มีรายได้มารองรับเพียงพอ เพราะวันหนึ่งเราจะต้องใช้หนี้เขา

ในช่วงเศรษฐกิจถดถอยปี 2008 ตามหลังปัญหาของ Lehman Brothers ที่หลายคนเรียกเป็นยุค The Great Recession นั้น รัฐบาลอเมริกันใช้เงินมหาศาลไปโอบอุ้มสถาบันการเงินที่ประสบปัญหา มาถึงวันนี้ยอดหนี้รวมของภาครัฐมีจำนวนมากกว่าผลผลิตทางเศรษฐกิจรวมกันของ จีน + ญี่ปุ่น + เยอรมันนี ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ 3 อันดับแรกของโลกรองจากสหรัฐ

หากเจ้าหนี้เรียกคืนเงินกู้ทันทีในวันนี้ สหรัฐไม่มีทางจะหามาคืนให้ได้ นอกจากพิมพ์แบงค์กงเต็กออกมาคืนเจ้าหนี้

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ความสำเร็จทางธุรกิจสูงสุดของอเมริกาคือบริษัท Apple ของ Steve Jobs ผู้ผลิต iPod, iPad และ iPhone (ไอ้ป๊อด ไอ้แป๊ด และ ไอ้ฝน)  ที่เราพากันวิ่งไปจองคิวซื้อในวันนี้

ประเทศนี้ต้องมีบริษัทใหม่ๆ ที่ทำได้อย่าง Apple อีก 700 บริษัทใน 1 ปี เพื่อทำให้เกิดรายได้จากภาษีนิติบุคคลที่จะเพียงพอเอาไปใช้จ่ายตามงบประมาณในปีนี้ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะเบื้องหลังความสำเร็จของ Apple นั้น Steve Jobs ผู้ก่อตั้งบริษัทต้องใช้เวลาชั่วชีวิตของเขาเลยทีเดียว ไม่มีใครสร้างความสำเร็จแบบนั้นอีก 700 แห่งได้ในชั่วข้ามคืน
เจ้าหนี้ก็ไม่ได้โง่ เขารู้ทุกอย่างที่เรารู้ และเขากำลังค่อยๆ ผ่อนถ่ายทรัพย์สินออกไปจากเงินสกุลดอลลาร์ ยิ่งสหรัฐไปตอบโต้ด้วยการประกาศว่า ไม่มีทางที่เราจะผิดนัดชำระหนี้ เพราะหนี้ทั้งหมดเป็นสกุลเงินดอลลาร์ที่ไม่มีใครผลิตออกมาได้นอกจากเรา พอถึงเวลาชำระหนี้ เราก็จะพิมพ์มันออกไปจ่ายให้

ย้ากส์ ...... นี่คือเสียงร้องด้วยความโกรธเคืองของเจ้าหนี้ และสักวันหนึ่ง เขาก็จะไม่ยอมปล่อยกู้ให้สหรัฐอีก เพียงแต่รอเวลาเท่านั้นว่าเมื่อไรที่เขาจะผ่อนถ่ายออกจากดอลลาร์ไปได้

และเมื่อไม่มีเครดิตการ์ดให้รูดก่อนผ่อนทีหลังอีกต่อไป อเมริกาก็จะกลายเป็นประเทศที่เปลี่ยนไปจากที่เคยเป็นอย่างสิ้นเชิง

ความรู้สึกคงคล้ายๆ กับตอนเราไปซื้อของที่ซุปเปอร์มาร์เก็ต แล้วพอตอนจ่ายเงิน เราต้องค่อยๆ ดึงของออกจากตะกร้า เนื่องจากวงเงินในเครดิตการ์ดเราไม่พอจ่ายแล้ว แต่ในระดับประเทศ มันจะต้องแย่กว่าการไปซื้อของมากมาย
หลายคนคงหัวเราะอีก เพราะคิดว่าเป็นไปไม่ได้

ลองมองกลับไปที่ปี 2008 ยุค The Great Recession กัน
แบงค์จะล้มเรอะ  ไม่มีปัญหา ป๋าช่วยได้
โรงงานผลิตรถยนต์จะเจ๊งเรอะ  ไม่มีปัญหา ป๋าช่วยอุ้ม
เพิ่มสวัสดิการคนว่างงานเรอะ ไม่มีปัญหา ป๋าจัดให้

และทั้งหมดที่ป๋าทำไปนั้น ป๋ากู้เขามาตลอดโดยบอกว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งยิ่งทำให้ถลำลึกลงไปในบ่วงหนี้อย่างน่ากลัว ทำให้รัฐบาลสหรัฐมีหนี้ปีละเป็นล้านล้านดอลลาร์ตั้งแต่ปี 2008 มาจนถึงวันนี้

ก็แค่สินเชื่อที่อยู่อาศัย ใน 2-3 ปีที่แล้วรัฐบาลก็ซื้อหนี้มีปัญหาเหล่านี้ออกมาจากสถาบันการเงินมาเป็นของรัฐไปแล้วตั้ง 90% ทำให้สถาบันการเงินรอดตัวไป แต่ภาระทั้งหมดมาอยู่กับรัฐ ซึ่งก็คือส่วนได้ส่วนเสียของคนทั้งประเทศนะป๋า

ความจริงมันก็ดีนะ หากเรามีหนี้สินล้นพ้นตัวแล้วรัฐบาลมาบอกว่าเอามาเลย เดี๋ยวป๋ารับจ่ายแทนให้ หนูจะได้ทำมาหากินได้อย่างสบายใจ ไม่มีหนี้เสียมาถ่วงอีก แล้วรัฐก็ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่อาศัยต่ำกว่าอัตราตลาด โดยหวังว่าคนจะสนใจกู้แล้วมาซื้อบ้านที่ถูกยึดนั้นไป ลองเทียบอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของอเมริกากับประเทศอื่นๆ กัน
ในคานาดา สูงกว่าสหรัฐ 30%  ในอังกฤษสูงกว่า 42%   ในออสเตรเลียสูงกว่า 147%  ในไทยสูงกว่า 150%  ในอินเดียสูงกว่า 344%  และในบราซิลสูงกว่า 404%  

หากรัฐบาลอเมริกันไม่สามารถกู้ได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำๆ อีก เพราะเจ้าหนี้จะต้องเรียกอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐที่สูงกว่าวันนี้แน่ๆ  อะไรจะเกิดกับอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยในสหรัฐแน่นอน มันจะพุ่งปรี๊ดจากระดับต่ำๆ ในปัจจุบันน่ะสิ แล้วตลาดอสังหาริมทรัพย์ของอเมริกาก็จะพังพาบลงอีก

และขณะนี้มันก็เริ่มมีอาการถูกตัดเครดิตแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น