ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ตอนที่ 6 กองทุนรวมมีประเภทใดบ้าง

เนื้อหาจาก: หนังสือ "สวัสดีกองทุนรวม 2552"
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)


ตอน กองทุนรวมมีประเภทใดบ้าง

กองทุนรวมมีหลากหลายประเภทผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนให้เหมาะสมกับความต้องการหรือเป้าหมายการลงทุนของตนเองได้

กองทุนรวมแบ่งตามประเภท ได้แก่

·        กองทุนเปิด   ซึ่งเปิดให้ซื้อขายได้ตามเวลาที่กำหนด
·        กองทุนปิด    ซึ่งเปิดขายหน่วยลงทุนเพียงครั้งเดียว และกำหนดอายุกองทุนรวมไว้เมื่อครบอายุผู้ลงทุนจึงจะได้รับเงินคืน

กองทุนเปิดจึงสามารถซื้อขายได้ง่ายและสะดวกกว่า หรือมีสภาพคล่องสูงกว่ากองทุนปิด อย่างไรก็ดีเพื่อเพิ่มโอกาสในการซื้อขายหรือสร้างสภาพคล่องให้กับกองทุนปิด บลจ.อาจนำกองทุนปิดไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยผู้ลงทุนสามารถซื้อขายหน่วยลงทุนผ่านบริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์หรือโบรกเกอร์ หรือ บลจ.อาจแต่งตั้งผู้ค้าหลักทรัพย์เป็น ผู้สร้างสภาพคล่อง หรือ Market Maker เพื่อทำหน้าที่ขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนของกองทุนปิดนั้น ๆ แทน ซึ่งส่วนใหญ่ บลจ.จะระบุรายชื่อของ Market Maker เหล่านี้ไว้ในหนังสือชี้ชวน (ดูได้จากเว็บไซต์ของแต่ละ บลจ.) ผู้ลงทุนสามารถค้นหารายชื่อโบรกเกอร์และผู้ค้าหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. ได้จากเว็บไซต์ของ ก.ล.ต. http://www.sec.or.th/


กองทุนรวมแบ่งตามนโยบายการลงทุน


กองทุนรวมตราสารแห่งทุน (Equity Fund)
            เน้นลงทุนในหุ้นจึงมีความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูง เพราะราคาหุ้นอาจผันผวนขึ้นลงตามภาวะเศรษฐกิจ และปัจจัยอื่น ๆ ที่มากระทบ (มีทั้งโอกาสได้ผลตอบแทนสูง และขาดทุนมากเช่นกัน)

กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ (Fixed Income Fund)
            เน้นลงทุนในตราสารหนี้ไม่ลงทุนในหุ้นมีความเสี่ยงตั้งแต่ระดับต่ำ เช่น กองทุนรวมที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไปจนถึงความเสี่ยงระดับปานกลาง เช่น กองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทเอกชน เพราะแม้กองทุนรวมจะได้ดอกผลส่วนหนึ่งในรูปของดอกเบี้ย แต่ราคาของตราสารหนี้ที่กองทุนรวมไปลงทุน ก็เคลื่อนไหวขึ้น ลงได้เช่นกัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อมูลค่าหน่วยลงทุนของกองทุนรวมได้

กองทุนรวมผสม (Mixed Fund)
            คือ ลงทุนทั้งในหุ้นและตราสารหนี้ มีความเสี่ยงหลากหลายขึ้นอยู่กับสัดส่วนการลงทุนระหว่างตราสารทั้ง 2 ประเภทที่กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวน ซึ่งแบ่งได้ 2 แบบ คือ แบบที่กำหนดสัดส่วนการลงทุนในตราสารทั้ง 2 ประเภทไว้อย่างชัดเจน (ซึ่งหุ้นจะมีสัดส่วนสูงสุดได้ไม่เกิน 65%) หรือ แบบไม่กำหนดสัดส่วนการลงทุนในตราสารทั้ง 2 ประเภท โดยการลงทุนขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ บลจ.ตามความเหมาะสม เช่น กองทุนรวม A กำหนดให้สัดส่วนการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ บลจ. ดังนั้นในบางขณะกองทุนรวม A อาจลงทุนในหุ้นได้สูงถึง 100% จึงทำให้มีความเสี่ยงสูงกว่ากองทุนรวมตราสารแห่งทุน      


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น