ค้นหาบล็อกนี้

วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ทำไมหุ้นตกทั่วโลก

ทำไมหุ้นตกทั่วโลก

วรวรรณ ธาราภูมิ
นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน
CEO บลจ. บัวหลวง จำกัด

6 สิงหาคม 2554


ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2550 ธนาคารยักษ์ใหญ่ของประเทศฝรั่งเศสคือ BNP Paribas ได้ประกาศข้อจำกัดในการให้ลูกค้าถอนเงินออกจากกองทุนรวมทุกกองทุนที่มีการลงทุนเชื่อมโยงไปยัง หนี้ซับไพรม์ ของสหรัฐ กล่าวคือให้ถอนได้แต่ห้ามเกิน 1 พันล้านปอนด์ ด้วยเหตุผลที่ว่าธนาคารไม่สามารถคำนวณมูลค่าหลัก ทรัพย์ที่เชื่อมโยงไปยังซับไพรม์ที่กองทุนลงทุนได้อย่างเป็นธรรม เนื่องมาจากไม่มีราคาตลาดแล้ว

ไม่มีราคาตลาดหมายความว่าไง ?

หมายความว่าสิ่งที่กองทุนลงทุนและเกี่ยวโยงกับพวกซับไพรม์นั้น มันขาดสภาพคล่องในตลาด คือ ไม่มีคนซื้อ เสนอลดราคาเท่าไรก็ไม่มีใครเอา มีแต่คนอยากขาย เลยหาราคาตลาดที่ยุติธรรมไม่ได้ เพราะหากใช้ราคาในอดีตมากำหนดมูลค่า มันก็จะสูงไปในภาวะที่ไม่มีใครอยากรับซื้อซับไพรม์  หากไปใช้ราคาแบบนั้นคนถอนเงินจากกองทุนก่อนก็จะได้เปรียบ  คนทีหลังก็เสียเปรียบ  เขาก็เลยกำหนดลิมิทว่ากองทุนจะให้ถอนเงินไม่เกินเท่านั้น เท่านี้ไว้ ซึ่งน่าจะคำนวณมาจากหลักทรัพย์อื่นๆ ที่ยังเป็นปกติดี ว่ามีให้ลูกค้าถอนออกได้เท่าไหร่ 

อาการแบบนี้เคยเกิดกับอุตสาหกรรมกองทุนรวมของไทยในช่วง 2540-2541 ในวิกฤติต้มยำกุ้ง เกิดกับกองทุนตราสารหนี้ของทุก บลจ.ในช่วงนั้นที่ลงทุนในตราสารหนี้เอกชน  พอมีข่าวว่าสถาบันการเงินใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งมีคนถอนตั๋ว PN แต่คืนเงินให้ลูกค้าได้ไม่ครบในคราวเดียว ประกอบกับช่วงนั้นอาการเศรษฐกิจของประเทศย่ำแย่ ฟองสบู่กำลังจะแตก คนก็เลยแห่ถอนเงินฝากจากธนาคารและบริษัทเงินทุน แห่กันถอนกองทุนตราสารหนี้กันอลหม่าน กองทุนจะเอาเงินมาคืนลูกค้าได้ก็ต้องเสนอขายตราสารหนี้ที่มีในพอร์ตกองทุนไปในตลาด ผลก็คือในช่วงแบบนั้นตลาดตราสารหนี้ตายสนิท มีแต่คนเสนอขาย  ไม่ค่อยมีใครยอมซื้อเพราะต่างฝ่ายต่างกลัว และแม้ว่าตราสารหนี้ที่เสนอขายบางตัวจะมีศักยภาพดีอยู่ หรือแม้แต่เป็นพันธบัตรรัฐบาล แต่คนที่จะซื้อเขาก็รอให้ราคามันลงไปมากๆ ก่อนถึงจะซื้อ เพราะมันหมายถึงเขาจะได้กำไรมหาศาล ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของการซื้อขาย 

ช่วงที่ว่านั้น บลจ. บางแห่งก็ต้องใช้วิธีที่ใกล้เคียงกับ BNP Paribas อาจจะต่างกันด้วยวิธีการแต่ด้วยเหตุผลที่เหมือนกัน บางแห่งก็ใช้วิธีค่อยๆ ลดราคาตราสารหนี้ที่ลงทุนลงทีละน้อยๆ จะได้ไม่กระทบกับกองทุนมากนัก ในทีเดียว บางแห่งก็แน่พอที่จะบีบคอบริษัทที่ออกตราสารหนี้โดยกองทุนยอมลดหนี้ให้บ้างเพื่อจะได้เงินคืนก่อนคนอื่น จะได้ไม่ต้องไปรอเข้าแถวทยอยรับหนี้คืนในอนาคตอีกเป็นสิบๆ ปี และบางแห่งก็มองเห็นว่าจบแล้ว ไม่มีตลาดซื้อขายตราสารหนี้แล้ว เพราะไม่มีใครเสนอราคาซื้อ จึงเสมือนหนึ่งไม่มีตลาด ก็เลยเลิกกองทุนคืนเงินให้ลูกค้าไป

ในแต่ละช่วงเวลาที่ผ่านไป ไม่มีใครบอกได้ว่าวิธีไหนดีที่สุด  ในปี 2540-2541 วิธีแรกอาจจะดูดีที่สุด  แต่พอเวลาผ่านไปพักใหญ่ วิธีสุดท้ายก็ได้รับการยอมรับว่าดีกว่า ขึ้นกับมุมมองของ บลจ. ว่ามองไกล หรือ ใกล้ แค่ไหน   

ในวันนั้น BNP Paribas ก็โดนวิจารณ์และ ก่นด่าอย่างหนักไปพักใหญ่ ว่าทำไมไม่เอาเงินของธนาคารไปซื้อพวก Subprime ที่ลงทุนในกองทุนของตัวเองไปล่ะ ลูกค้าจะได้ถอนเงินจากกองทุนได้ตามปกติ แล้วในเมื่อสิ่งที่ลงทุนไปนั้น (Subprime Debt และอื่นๆ ที่เกี่ยวโยงกัน) มันเป็นพิษขนาดนั้น ทำไมถึงได้ไปลงทุนจนทำให้ทุกคนตกเป็นเหยื่อความโลภของพวก Wall Street บางคนก็บอกว่านี่คือสินค้าส่งออกที่ชั่วร้ายของพวกอเมริกันที่ส่งออกไปให้ยุโรปและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

เกือบจะ 4 ปีแล้วตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2550 ที่โลกเริ่มเห็นอาการวิกฤติหนี้ ซึ่งทำให้ธนาคารในประเทศตะวัน ตกสูญหายไปหลายแห่ง มีทั้งปิดกิจการ มีทั้งรวมกับสถาบันการเงินอื่น และหากใหญ่มากๆ ก็ต้องขายกิจการให้รัฐมาช่วยอุ้ม และโลกก็ตกอยู่ในช่วง Recession หรือเศรษฐกิจตกต่ำ ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในอเมริกาแตก คนที่เก็งกำไรซื้อบ้านหลายหลังเพราะดอกเบี้ยต่ำติดดินนานๆ ก็ไม่มีปัญหาผ่อนบ้านอีกต่อไปเพราะตกงาน ภาคการเงินไม่ยอมปล่อยกู้ให้ภาคธุรกิจเพราะกลัวปล่อยแล้วเป็นหนี้เสีย ภาคธุรกิจก็ย่ำแย่ จนต้องลดขนาดหรือปิดกิจการ ภาคแรงงานก็ตกงานตามมา เลยไม่มีเงินไปจับจ่ายใช้สอยหรือผ่อนบ้าน รัฐบาลที่อุ้มภาคการเงินไว้เต็มที่ก็ขาดรายได้จากภาษีของภาคธุรกิจกับภาษีจากประชาชน ฯลฯ กลายเป็นงูกินหางนั่นแหละ

ผู้ที่ควรถูกตำหนิด่านแรกก็คือ คนโลภที่เอาสินเชื่อเคหะมาเล่นแร่แปรธาตุเป็น Synthesized Products (สินค้าสังเคราะห์) ที่เอาไปสับๆ แล้วมามัดกันเป็นกลุ่มๆ กลายเป็น Products ใหม่ คละกันจนเละ แล้วให้บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือไปกำหนดอันดับเครดิตให้ ก็ได้เป็น AAA บ้าง หรือต่ำกว่า ตามแต่ที่เขาจะวิเคราะห์ได้ แต่ความที่มันถูกสับเป็นชิ้นๆ แล้วนำมามัดรวมใหม่เป็นกองๆ ปนกันยุ่งเหยิงขนาดนั้น ใครจะแกะออกมาได้ว่ามันคืออะไร มีค่าแค่ไหน

นี่จึงเป็นบทเรียนของโลกตะวันตกที่เราคนไทยพึงตระหนักไว้ว่าอย่าเห่อเหิมเห็นทุกอย่างเป็นพัฒนาการทาง Product ที่เลอเลิศไปหมด เห็นใครเขาทำอะไร อย่ารีบรับเอามาทำบ้างโดยไม่มองผลกระทบ เราคงไม่อยากตกอยู่ในสภาพแบบนั้น ดังนั้น จงระวัง Synthesized Products ให้ดีๆ เพราะมันไม่มีสินค้าที่แท้จริงอยู่ในนั้น

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าปัญหานี้ได้ซาลงไปด้วยการที่รัฐบาลแทบจะทุกประเทศในโลกช่วยกันอัดฉีดเงินมหาศาลเข้าไปประคอง ภาครัฐของกลุ่มประเทศในยุโรป และ อเมริกา ต่างเป็นหนี้มหาศาลเพื่อไม่ให้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหรือ Global Recession  กลายตัวไปเป็นภาวะ Global Depression  รัฐบาลพากันอัดฉีดเงินที่ก็ต้องกู้มานั่นแหละลงไปในระบบเพื่อไม่ให้แบงค์และสถาบันการเงินต่างๆ ที่เป็นเส้นเลือดเศรษฐกิจต้องพังทลาย ผลก็คือรัฐบาลกลายเป็นสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไปแล้ว เช่นในสหรัฐอเมริกา  จนคนบนท้องถนนธรรมดาที่เรียกว่า Main Street  แค้นใจนักกับพวก Wall Street (ถนนที่เป็นที่ตั้งของสถาบันการเงินหลายแห่งในสหรัฐ) เพราะรัฐบาลเอาเงินส่วนรวมของประชาชนไปอุ้มแบงค์ พอแบงค์ดีขึ้น ผู้บริหารก็ได้ผลตอบแทนงดงาม ในขณะที่มายึดบ้านเขา ไล่เขาออกไปนอนบนท้องถนน

แต่มันไม่ได้จบอย่างที่หลายคนคิด สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้มันก็มีผลพวงมาจากเรื่องเดิมนั่นแหละ

เมื่อหนี้มหาศาลจากภาคการเงินได้ถูกโอนไปให้ภาครัฐ จึงแปลว่า หนี้ของประเทศไม่ได้หมดไปเลย มันยังอยู่ แต่กระจายความรับผิดชอบจากผู้ถือหุ้นธนาคารต่างๆ ไปยังประชาชนทุกคน  ความเสียหาย หรือจะเรียกกันตรงๆ ว่าหายนะ จึงยังคงอยู่ เพียงแต่ถูกเลื่อนเวลาออกไปเท่านั้น

เมื่อประเทศมีรายได้น้อย และลดลง แต่มีรายจ่ายมาก และเพิ่มขึ้นจากมูลหนี้ที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้น (ยิ่ง S&P ลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศอเมริกาลงไปเหลือ AA+ การกู้ของรัฐบาลอเมริกันก็ต้องจ่ายดอกแพงขึ้น) ก็คล้ายๆ คนธรรมดาอย่างเราๆ ที่รายได้ไม่พอรายจ่าย วงเงินกู้ บัตรเครดิตขยายจนเต็มแล้ว รอเวลาโดนเขายึดเท่านั้นเอง

และวิธีแก้ไขหนี้สินล้นพ้นตัวขนาดนี้ มันต้องจบลงด้วยการที่ทั้งเจ้าหนี้กับลูกหนี้ต้องยอมเสียกันทั้งสองฝ่าย  ไม่ใช่ด้วยการกู้เพิ่ม

การที่หุ้นของสหรัฐเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาหัวทิ่มจมดินจนทำให้กำไรที่เกิดขึ้นสะสมตั้งแต่ต้นปีนี้หายวับไปกับตา แสดงว่าตลาด เพิ่งเริ่มรับรู้สถานะที่แท้จริงของอเมริกา หรือรู้แล้ว แต่ถึงเวลาวิ่งออกประตูหนีไฟ และตลาดหุ้นทั่วโลกก็เซตาม

จิม โรเจอร์ส ให้คำแนะนำที่ดีว่าอย่าขายในช่วงที่ตลาดตื่นตระหนก (ให้ดูจังหวะก่อน)  นอกจากนี้เขายังเชื่อว่าอเมริกากำลังทำผิดครั้งยิ่งใหญ่ในการก้าวถลำลึกไปในการก่อหนี้เพิ่มขึ้น ทำให้เศรษฐกิจโลกโดยรวมจะได้รับผลกระทบไปด้วย และอย่าออก QE อะไรออกมาอีก เพราะทั้ง QE1 และ QE2 ที่เป็นการพิมพ์เงินออกมาใส่ไปในระบบนั้นต่างไม่ได้ช่วยให้ดีขึ้น ดังนั้น ในรอบนี้จึงไม่ควรทำอีกแล้ว ต้องปล่อยให้ตลาดเกิด Correction ตามที่ควรจะเป็น

มาร์ค โมเบียส ประธานกรรมการบริหาร Templeton Asset Management ในตลาด Emerging market ระบุว่าเป็นการปรับฐานที่สมเหตุสมผล

มาร์ค ฟาเบอร์ส บอกว่าคนตื่นตระหนกขายมากไปแล้ว และคาดว่า S&P 500 จะดีขึ้น

ข้อสังเกตุส่วนตัวก็คือ เขาเหล่านี้มักจะพูดในสิ่งที่ตนเองอยากให้เกิด (หรือเปล่า)  แต่คนต้องฟังแล้วเอาไปประเมินกันเอง เนื่องจากพวกเขาเหล่านี้มีเม็ดเงินภายใต้การบริหารมหาศาล ที่สามารถมีผลต่อตลาดได้บ้าง

Jan Hatzuis หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของ Goldman Sachs ระบุว่า มีโอกาส 1 ใน 3 ที่สหรัฐจะเข้าสู่ Recession
ภายใน 6-9 เดือนข้างหน้า

Robert Reich นักเศรษฐศาสตร์เอียงซ้ายที่เคยเป็นที่ปรึกษาให้ โอบามา ระบุว่า มีโอกาส 50-50 ที่สหรัฐจะเข้าสู่ Recession

เมื่อ S&P ประกาศลดอันดับเครดิตประเทศ US ลงจนเทียบเท่าเบลเยี่ยม ซึ่งแม้จะยังดูดี (เกินเหตุ) แต่ก็ต่ำกว่าสหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย ก็มีคนหลายคนออกมาก่นด่า รวมถึง Paul Krugman ที่อยู่ข้างสนับสนุนให้อัดฉีดเงินมากๆ เข้าไปในระบบเพิ่มขึ้นด้วย ฝ่ายรัฐบาลเองก็โวยวายเรื่อง S&P ใช้ตัวเลขผิดๆ มาประเมิน ฯลฯ

นี่ละอาการของคนไม่ยอมรับสภาพปัญหาของตนเอง ซึ่งอันตรายยิ่ง เพราะประเด็นใหญ่คือ สหรัฐมีหนี้สินล้นพ้นตัวแล้ว แถมยังเพิ่มเพดานหนี้กู้เพิ่มได้อีก โดยสัญญาว่าเจ้าปริมาณที่กู้เพิ่มได้นั้น จะลดลงได้ภายใน 10 ปี

ใครก็ได้บอกทีสิว่ามันแก้หนี้ตรงไหน ไม่ต้องใช้ S&P, Moody’s หรือ Fitch rating มาประเมินเลย

และเมื่อผู้ลงทุนขาดความเชื่อมั่น มันก็สะท้อนไปก่อนในราคาหุ้นนั่นเอง

แล้วผลกระทบจากอาการหุ้นตกนี่ล่ะ ?

เมื่อคนไม่มั่นใจในเศรษฐกิจ รวมไปถึงไม่มั่นใจว่ารัฐบาลมือถึงหรือไม่ในการแก้ปัญหา บริษัทต่างๆ จะจ้างคนน้อยลง ไม่ขยายธุรกิจ ผู้บริโภคจะจับจ่ายใช้สอยลดลง และที่น่าเป็นห่วงก็คือ การจับจ่ายใช้สอยภาคประชาชนนี้มีสัดส่วนถึง 70% ของเศรษฐกิจ และการว่างงานก็จะเพิ่มมากขึ้น 

ยังมีอีก .......
Bank of New York Mellon บอกว่าจะเก็บค่าธรรมเนียมการฝากเงินของกองทุนบำเน็จบำนาญทั้งหลายรวมไปถึงลูกค้าที่ฝากเงินเกิน 50 ล้านดอลลาร์ด้วย นี่แสดงว่าคนกำลังวิ่งเข้าหาแหล่งพักเงินที่คิดว่าปลอดภัยที่สุด ไม่มีการใช้จ่าย และแบงค์ก็ไม่ปล่อยกู้ ทำให้แบงค์ต้องแบกต้นทุนเงินฝากไว้จนไม่ไหวแล้ว ถึงได้ประกาศว่านอกจากจะไม่ได้ดอกผล คุณจะต้องเสียค่าฝากด้วย
ตรงกันข้ามกับบ้านเรา ที่แบงค์ทุกแห่งพากันออกโปรโมชั่นแจกแถมอย่างไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อนเลย  ทั้งนี้ ก็เพื่อหาเงินเข้าแบงค์จะได้เอาไว้ไปปล่อยกู้ เนื่องจากแบงค์เห็นว่าเศรฐกิจไทยจะไปได้ดีตามกระแส Rising Asia
ดังนั้น อาการของสหรัฐที่เกิดขึ้น เรียกให้ถูกคือ Correction à กลับไปสู่ภาวะจริงที่ควรจะเป็น ราคาหุ้นในตลาดของสหรัฐมันแพงเกินปัจจัยพื้นฐานแล้วโดยรวมๆ ข้อยกเว้นอาจมีบ้าง บางตัว
หุ้นบ้านเราก็ติดหวัดไปด้วย แห่ขายตามโลก เดี๋ยวเขาจะว่าไม่ทันสมัย
เอเชีย กำลังขึ้น จะกระทบไหม กระทบสิ แต่น้อยกว่า ตามแต่ใครมีการค้ากับใครแค่ไหน
แต่เราก็ปรับตัวไว้รองรับแล้วไม่ใช่เหรอ

ไปพลิกดูแบงค์ดอลลาร์ด้านหลังที่เขียนว่า In GOD We Trust 
แล้วเอาคำว่า GOLD ไปแปะทับคำว่า GOD ซะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น