ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ทำไม QE ถึงไม่ได้ผล

วรวรรณ ธาราภูมิ
นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน
CEO บลจ. บัวหลวง จำกัด

7 สิงหาคม 2554

สิ่งที่สหรัฐอเมริกาควรทำเพื่อกอบกู้วิกฤติหนี้สินของอเมริกาคือ ทำทุกสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว

การพิมพ์แบงค์ดอลลาร์โดยไม่มีอะไรอื่นมารองรับนอกจากความเชื่อมั่นในรัฐบาลสหรัฐ แล้วอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเรียกเป็น QE1, QE2 หรือจะมีอีกในอนาคตภายใต้ชื่ออะไรก็แล้วแต่ ต่างไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจเติบโต ยั่งยืน ตามทฤษฎีของ Keynesians ได้เลย เพราะมันกลายไปเป็น Cash นอนนิ่งในภาคธุรกิจซึ่งไม่ขยาย ไม่กู้ คนที่ยังพอมีเงินก็ออมเงินเพิ่มมากขึ้น ไม่ยอมใช้จ่ายเพราะกลัวอนาคต เงินจึงไปนอนนิ่งในธนาคารทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรืออยู่ในรูปการลงทุนทางการเงินอื่นๆ ไม่ได้นำไปลงทุนในภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง 

เมื่อเป็นอย่างนี้ การขยายตัวหลายเท่าของเม็ดเงินที่อัดฉีดตามหลักคิดของ Keynesians จึงไม่เกิด การอัดฉีดเงินก็เลยเป็นหมัน เพราะผลักดันเศรษฐกิจไม่สำเร็จ

ตัวเลขบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐที่เป็นเสมือนปรอทวัดไข้ ต่างบ่งชี้ตรงกันเกือบจะทั้งหมดว่า คนไข้คนนี้ อาการหนักมาก ไข้สูงเกิน 100 F แล้ว ยา QE1  QE2 ที่ฉีดให้ก็เพียงช่วยชะลออาการชั่วคราวเท่านั้น หากจะฉีดยา QE3 เข้าไป ก็น่าจะดื้อยาแล้ว  

ในภาวะเศรษฐกิจเติบโตและแข็งแรง ยอดขายจะเพิ่มขึ้น แต่กำไรของธุรกิจมักจะลดลง

เพราะอะไร

ก็เพราะต้นทุนมักจะพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงแรกๆ  เนื่องจากค่าจ้างแรงงาน ค่าวัตถุดิบ และค่าใช้จ่ายในการแข่งขันที่ดุเดือด มันจะทำให้กำไรลดลง

และเมื่อเศรษฐกิจเริ่มปรับฐานลง ยอดขายจะลดลง แต่กำไรจะเพิ่มขึ้น  อ้าว งง

เป็นความจริง เพราะภาคธุรกิจเมื่อยอดขายลด ก็จำเป็นต้องลดต้นทุนให้อยู่รอด และที่เขาทำได้อย่างแรกเลยก็คือลดการจ้างงาน ทำให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น จึงมีกำไรมากขึ้น ธุรกิจจะไม่ทำการขยายการผลิต เพราะมองว่าอนาคตไม่ดี  เมื่อมีเงินสดก็เก็บไว้ก่อน

แล้วเมื่อธุรกิจกำไรมากขึ้นแบบนี้ แปลว่ามีมูลค่าเพิ่มขึ้นใช่ไหม

ไม่ใช่แน่นอน เพราะธุรกิจจะมีมูลค่าลดลงเนื่องจากเมื่อเศรษฐกิจปรับฐานลงไปต่อเนื่องแม้จะมีกำไรเพราะลดต้นทุนได้ แต่ยอดขายกลับไม่ปกติ  มันจะหดไปเรื่อยๆ  ซึ่งจะกระทบกำไรในอนาคต

แต่มูลค่าหุ้นของธุรกิจต่างๆ มักจะถูกวิเคราะห์ด้วยผลกำไรตามที่รายงานในงบการเงิน ผู้ลงทุนจึงยังหลงเชื่อว่ามันยังดีอยู่ ทั้งๆ ที่จริงแล้วมันไม่ใช่ เพราะในช่วงเศรษฐกิจปรับฐานไปสู่ความจริงตามที่ควรจะเป็น สินทรัพย์ต่างๆ จะมีมูลค่าที่ลดลง

ในภาวะที่เศรษฐกิจแข็งแรง อัตราดอกเบี้ยต่ำๆ และการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล จะผลักดันให้เกิดอัตราเร่งให้เศรษฐกิจเติบโตได้รวดเร็ว (ที่เรียกว่าใช้ทั้งนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายและใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ) เพราะภาคธุรกิจที่เห็นว่าเศรษฐกิจและกำลังซื้อจะดูดี ก็จะกู้มาขยายการผลิต เกิดการจ้างงาน เกิดการบริโภค ประชาชนหรือผู้บริโภคก็จะกู้เงินไปจับจ่ายใช้สอย

แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจปรับฐานลง การกระตุ้นจะไม่ได้ผล หรือซ้ำร้ายก็คือให้ผลตรงกันข้ามกับที่คาดหวัง เพราะภาคธุรกิจจะกู้เงินที่คิดดอกเบี้ยต่ำติดดิน แล้วเอาไปฝากกับธนาคาร เอาไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล ในประเทศหรือต่างประเทศก็แล้วแต่ คือเอาไปลงทุนทางการเงิน ไม่ใช่ลงทุนในการขยายธุรกิจ เรียกว่าสะสม Cash ไม่ยอมเอาไปขยายการผลิต ผู้บริโภคหากยังกู้ได้ ก็จะกู้หนี้ใหม่เพื่อไปจ่ายหนี้เก่าที่มีอยู่ ซึ่งปัญหาใน ช่วงเศรษฐกิจปรับฐานลงที่จริงแล้วก็คือหนี้ ดังนั้น การอัดฉีดเงินในสภาพแวดล้อมแบบนี้ จึงเป็นการทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลง ไม่ใช่ดีขึ้น

เมื่อเศรษฐกิจเติบโตแข็งแรง รัฐบาลจะเก็บภาษีได้มากขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายสวัสดิการสังคมจะลดลง เพราะว่ามีคนว่างงานน้อยลง เลยไม่ได้ไปขอรับเงินสวัสดิการว่างงาน และอาจไปหาหมอเองโดยไม่ได้ใช้สิทธิตามประกันสังคม ฯลฯ แต่ในทางกลับกัน เมื่อเศรษฐกิจปรับฐานลง รายได้รัฐบาลจากภาษีก็ลดลงไปด้วย ในขณะที่มีคนขอรับสวัสดิการเพิ่มมากขึ้นซึ่งทำให้รายจ่ายของรัฐสูงขึ้น

และเมื่อสถานการณ์เลวร้ายลงไปเรื่อยๆ เนื่องจากรัฐบาลไปกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการยอมขาดดุลเพิ่มขึ้นอีกโดยหวังว่าจะช่วยทำให้ทุกอย่างดีขึ้น  ผลที่ได้ก็จะยิ่งแย่ลงไปทุกที

เพราะอะไร

เพราะรัฐบาลต้องกู้มากขึ้นให้ครอบคลุมภาระที่เพิ่มขึ้น ยอดหนี้ของภาครัฐจึงสูงขึ้น ทำให้เจ้าหนี้ไม่อยากปล่อยกู้ให้รัฐบาลในอัตราดอกเบี้ยต่ำๆ แบบเดิมอีก เพราะเขาเห็นความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับเงินคืนเพิ่มมากขึ้น หากเขาจะให้รัฐบาลกู้  รัฐบาลก็ต้องให้ดอกเบี้ยที่ดีกว่าเดิมด้วย นอกจากนี้ เมื่อยอดหนี้ภาครัฐโดยรวมสูงขึ้น จำนวนหนี้ก็จะกดดันเศรษฐกิจจนทำให้ขยายไม่ไหว หรือขยายได้ช้า เนื่องจากเมื่อยอดหนี้สูงขึ้น ดอกเบี้ยจ่ายคิดเป็นสัดส่วนของรายได้รัฐ (ภาษีที่รัฐบาลเก็บได้) ก็จะมากขึ้นไปด้วย ทำให้รัฐบาลเหลือเงินหลังจ่ายดอกเบี้ยแล้วน้อยลง ใช้จ่ายประจำอาจจะยังไม่พอ ไม่ต้องไปพูดเรื่องเอาเงินที่เหลือไปกระตุ้นเศรษฐกิจ

ทำเนียบขาวเคยบอกว่าหลังกระตุ้นเศรษฐกิจ QE1 / QE2 อัตราการว่างงานจะไม่มีวันขึ้นมาถึง 8% แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็คือ เราไม่เคยเห็นอัตราการว่างงานต่ำกว่า 8% มา 2 ปีแล้ว

หากเรายังจำได้เมื่อปีสองปีก่อนมีการพูดกันกว้างขวางถึงการฟื้นตัวแบบรูปตัว V บ้าง U บ้าง บ้างก็ว่าเป็นตัว W แต่มีบางคนที่ว่าเป็นตัว L ซึ่งน่าจะใกล้เคียงที่สุด นั่นก็คือมันจะใช้เวลายาวนานเป็นทศวรรษแบบที่เกิดกับญี่ปุ่นซึ่งจนป่านนี้ยังไม่ฟื้น

สิ่งที่ควรทำคือต้องปล่อยให้เศรษฐกิจปรับฐานลงไปสู่ที่มันควรจะเป็น อย่าไปฝืนเพราะฝืนไม่ไหว เรียกว่าดื้อยาแล้ว

กลับมาดูทองคำกันบ้าง ในขณะที่หลายๆ คนบอกว่าแพงไปแล้วนะ แต่รู้หรือไม่ว่าธนาคารกลางในประเทศเกิดใหม่เขากำลังสะสมทองคำเพิ่มขึ้น และแบงค์ชาติของประเทศเหล่านี้ต่างก็ล้นไปด้วย US Treasury หรือเงินกระดาษที่มีเพียงความเชื่อถือในเครดิตของรัฐบาลสหรัฐมารองรับเท่านั้น ไม่มีอะไรอื่นอีกเลย  เขากำลังต้องการปรับสัดส่วนทุนสำรองเงินตราต่างประเทศไม่ให้ไปอยู่ในดอลลาร์มากเกินไป เพราะเห็นความเสี่ยงที่กำลังเกิดขึ้นกับสกุลเงินดอลลาร์ที่มีแต่จะเสื่อมค่าลง ล่าสุดแบงค์ชาติเกาหลีใต้ก็เพิ่งจะซื้อทองคำไป 25 ตัน ซึ่งเป็นการซื้อทองคำครั้งแรกในรอบ 13 ปี และคงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายแน่ๆ  แบงค์ชาติไทยก็สะสมทองคำเพิ่มขึ้น ต้องกราบขอบพระคุณ หลวงตามหาบัว ที่ท่านสะสมความมั่งคั่งให้กับประเทศไทยและคนรุ่นหลังด้วยการมอบทองคำจำนวนมหาศาลให้แบงค์ชาติเก็บรักษาไว้

ประเทศเกิดใหม่ (Emerging market ตามที่พวกตะวันตกเรียกเรา) เขาไม่ได้อยู่หลังเขา ข่าวสารต่างๆ ไปถึงกันหมดผ่านระบบสื่อสารเทคโนโลยียุคปัจจุบัน เขาไม่ได้แค่อ่านแนวคิดของ Paul Krugman เท่านั้น  เขาเอาไปเปรียบเทียบกับแนวคิดของ Ken Rogoff ซึ่งให้แนวคิดแก้ไขปัญหาในสหรัฐกับยุโรปที่ต่างกันด้วย

ทองคำจะตามไปอยู่กับผู้มีอำนาจเสมอ ทองคำติดตามผู้มั่งคั่ง และขณะนี้ประเทศในตลาดเกิดใหม่ซึ่งมั่งคั่งแล้วต่างก็มีทองคำในสัดส่วนที่น้อยมาก เพราะในอดีตเขายากจน หรือยังไม่รวยพอที่จะซื้อทองคำได้ แต่วันนี้มันไม่ใช่แล้ว

ส่วนราคาทองคำจะขึ้นไปแค่ไหน หรือจะตกหัวทิ่มลงมาเมื่อใด  ไม่มีใครรู้หรอก  จึงแนะนำว่าหากสนใจทองคำ ก็ให้ลงทุนแต่พอควร อย่าทุ่มเทจนหมดหน้าตัก  การผสมผสานการลงทุนน่าจะดีที่สุด   



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น