ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2554

อเมริกากับ Double Dip Recession

วรวรรณ ธาราภูมิ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.บัวหลวง จำกัด
นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน

30 กค 54


รูปประกอบนำมาจาก CnnMoney 29 July 2011

เราคงเห็นข่าวกันแล้วว่า เศรษฐกิจในไตรมาส 2 ของสหรัฐ ขยายตัวเพียง 1.3% เท่านั้น ลดลงจากไตรมาสแรกที่เป็น 1.9% และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์กันไว้ที่ 1.8%  ในขณะที่การใช้จ่ายของผู้บริโภคซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 70% ของ GDP นั้น ก็เติบโตเพียง  0.1% ในไตรมาส 2  ลดลงจากไตรมาสแรกที่เป็น 2.1%  ไม่น้อยเลย น่าเป็นห่วงมากเพราะเป็นการเติบโตที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2009 

เราเห็นอะไรจากตัวเลขนี้ ?

ภาษาเทพข้างบนแปลเป็นภาษาคนได้ว่า มันสะท้อนว่าคนอเมริกันไม่ใช้จ่ายกัน ก็คงเพราะราคาน้ำมันที่ขึ้นสูง และที่สำคัญคือพวกเขาตกงาน เลยไม่มีเงินไปจับจ่ายใช้สอยเหมือนสมัยก่อน

ไม่น่าจะแปลกใจอะไร เพราะแม้กระทั่งภาครัฐก็ยังต้องปลดคนงาน ไปรษณีย์หลายแห่งปิดกิจการ คนโดนยึดบ้าน ตกงาน ไร้ที่อยู่อาศัย ต้องไปกางเต๊นท์นอนน่าเอน็จอนาถ บ้านโดนแบงค์ยึดไปแล้วทิ้งไว้ให้หยากไหย่ขึ้น ปล่อยให้คนนอนหนาวข้างนอก ตำรวจก็โดนปลดจากมลรัฐต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ต่อไปโจรปล้นบ้านก็ไม่ต้องโทรไป 911 เพราะตำรวจไม่มีแล้ว หมาตำรวจก็ทันสมัยกับเขาเหมือนกัน เพราะโดนปลด คนพเนจรไร้บ้านเพิ่มมากขึ้น และแฟชั่นล่าสุดของคนพเนจรที่ต้องนอนข้างถนนคือจะต้องมีน้องหมาด้วย เพื่อเอาไว้ช่วยเวลามีโจรเข้ามาทำร้าย  

ที่เล่าตัวอย่างมากมายก็เพราะจะเตือนให้พวกเราอย่าเชื่อในข่าว หรือเชื่อข้อมูลตัวเลขที่ได้รับรายงานอย่างเดียว เราต้องดูของจริงด้วย เช่นใครชอบหุ้นอสังหาริมทรัพย์ ก็อย่าไปมองแต่แนวโน้มข้างหน้า หรือตัวเลขกำไรในไตรมาสก่อน ควรไปดูของจริงเลยว่าบ้านที่สร้างแล้วนั้นขายออกแค่ไหน เพราะเวลาเราไปคุยกับผู้บริหาร เราจะได้ข้อมูลแค่ที่เขาอยากจะบอกเท่านั้น เราจึงควรต้องไปดูของจริง ซักถามคนขาย นายหน้า แบงค์ที่ร่วมมือปล่อยกู้ ฯลฯ ถึงจะเห็นว่าข้างในแล้วที่แท้มันเป็นอย่างไร


เมื่อคนใช้จ่ายน้อยเพราะไม่มีกำลัง ธุรกิจก็ขายของได้น้อย

เมื่อธุรกิจขายของได้น้อย กำไรก็น้อยตามหรือขาดทุน ธุรกิจก็ต้องปลดคนงาน ปิดร้าน เลิกกิจการ และไม่มีภาษีจ่ายรัฐ

แม้กระทั่งคนใน Wall Street ซึ่งหมายถึงพวกนายธนาคาร วาณิชธนากร โบรกเก้อร์ เทรดเด้อร์ทั้งหลาย (ที่พวกคนบน Main Street ซึ่งก็คือประชาชนอาชีพอื่น ๆ ทั่วไปเขาไม่รัก) ก็ยังต้องออกจากงานดีๆ  เงินงามๆ  ไปเปิดร้ายขายดอกไม้ ไปปลูกผักกินเอง บางคนที่ตกงานถึงกับแขวนป้ายเบ้อเริ่มบนหน้าอกในชุดสูท เขียนว่า ยินดีทำทุกอย่างในราคาที่ไม่เกี่ยงงอน

เมื่อทั้งธุรกิจ ทั้งคน ทั้งน้องหมา ย่ำแย่กันไปหมด รัฐบาลก็จะขาดรายได้จากภาษีเงินได้ของประชาชน และขาดรายได้จากภาษีกำไรของธุรกิจ  ในขณะที่รายจ่ายมโหฬารไม่ได้ลดลงเท่าใด เรียกว่าซ้ำเติมฐานะการเงินการคลังเข้าไปอีก

ทั้งหมดข้างต้นนั้นเป็นคำอธิบายว่าทำไมเศรษฐกิจอเมริกาจึงป่วยจนเหลืออัตราการขยายตัวเพียง 1.3% เท่านั้น ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งและมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการ Double Dip ที่นักวิเคราะห์ทั้งไทยและเทศเคยมองในช่วงปลายปีที่แล้วว่าโอกาสเกิดน้อยมาก

Sal Guatieri, Senior Economist ของ BMO Capital Markets ถึงกับบอกว่าหากยังแย่ต่อเนื่องก็มีโอกาสสูงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยซ้ำซ้อนที่เรียกว่า Double-Dip Recession

Recession หรือ เศรษฐกิจถดถอย คือภาวะที่อัตราการเติบโตของ GDP ในไตรมาสเป็นติดลบ ซึ่งหากติดลบ  แล้วตามมาด้วยการฟื้นตัวในช่วงสั้นๆ ก่อนจะกลับไปติดลบอีกครั้งจะเรียกว่า Double-Dip Recession ซึ่งการเกิด Recession ติดกัน 2 ครั้งเป็น Double-Dip Recession หรือ 3 ครั้ง เป็น Triple-Dip Recession ก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพเศรษฐกิจของประเทศอย่างใหญ่หลวง

เพราะอะไร ?

ก็เพราะการที่เศรษฐกิจของประเทศตกอยู่ในภาวะถดถอยที่ยาวนานและดิ่งลึก จะทำให้ฟื้นตัวได้ยาก และต้องใช้เวลายาวนานกว่าจะฟื้น เพราะทั้งภาคธุรกิจและภาคประชาชนผู้บริโภคเขาหมดแรงแล้ว

ตัวอย่างที่เห็นชัดคือในช่วงที่โลกกำลังปั่นป่วนจากปัญหาวิกฤติ Subprime และวิกฤติหนี้เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ไทยเองก็โดนไปด้วย แต่ขุนคลังคือคุณกรณ์ ในสมัยที่เข้ามารับตำแหน่งใหม่ๆ ได้เดินหน้านโยบายแจกเช็คช่วยชาติซึ่งเราก็ต้องยอมรับว่ามันได้ผลในการหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจและกำลังซื้อของคนให้เครื่องยนต์ไม่ดับ  จนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราก้าวพ้นเหตุการณ์นั้นมาได้  เพราะหากเครื่องยนต์ดับแล้ว กว่าจะสตาร์ทใหม่ มันใช้เวลา และยิ่งหากดับนานๆ ก็จะใช้เวลายาวนานมาก

คนคงลืมกันไปแล้วว่า นูเรียล รูบินี นักเศรษฐศาสตร์และศาสตราจารย์แห่งคณะบัญชีและการเงินแห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์กที่มีชื่อเสียงโด่งดังเพราะเคยคาดการณ์ว่าฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐจะนำมาสู่วิกฤตเศรษฐกิจ และได้เตือนภัยเกี่ยวกับหายนะครั้งนั้นตั้งแต่ปี 2005 แต่กลับถูกมองว่าเป็นนักวิชาการกระต่ายตื่นตูมที่ไปคาดการณ์วิกฤตสินเชื่อโลก  รูบินี บอกว่า เขามองเห็นสัญญาณของอุปสรรคและปัญหามากกว่าเห็นการเริ่มฟื้นตัว

มีความเสี่ยงที่จะเกิดการทรุดลงอีกครั้ง หรือ double dip recession และภาวะถดถอยจะไม่ยุติในวันนี้ แต่จะยืดเยื้อไปอีกราว 6-9 เดือน ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นเร็วเกินไป ไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน ขณะที่การขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้นจะเพิ่มแรงกดดันแก่ธนาคารกลางให้ปรับขึ้นดอกเบี้ย และภายในปีหน้าราคาน้ำมันจะไปสู่ระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ประกอบกับการขาดดุลงบประมาณที่ไม่ได้รับการควบคุมจะผลักให้เศรษฐกิจโลกทรุดในอีกรูปแบบหนึ่ง"

และเมื่อสหรัฐได้ปรับปรุงตัวเลขทางเศรษฐกิจให้เป็นจริงยิ่งขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดยถอยไปปรับปรุงตั้งแต่ตัวเลขของปี 2003 ปรากฏว่าที่สหรัฐเคยประกาศว่าเกิด Recession ในช่วง ธค 2007 มิย 2009 โดยเศรษฐกิจมีอัตราถดถอย -4.1% นั้น เมื่อปรับปรุงตัวเลขใหม่ อัตราการถดถอยนั้นเพิ่มขึ้นเป็น -5.1% ซึ่งตัวเลขทั้ง 2 ชุดนั้นต่างก็บอกเหมือนกันคือแย่ที่สุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเลยทีเดียว เรียกว่าลงลึกมาก และการที่สหรัฐฟื้นตัวมาตั้งแต่ช่วงปลายปีก่อนจนถึงวันนี้ก็เป็นเพราะบริษัทที่มีเงินสดมหาศาล ไม่ได้ผลิตเพิ่ม แต่ขยาย Infrastructure ของตนเองเอาไว้เท่านั้น ไม่ได้ฟื้นตัวจากภาคผู้บริโภคแต่อย่างใด

สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ อีกเรื่องที่เป็นจริงตามคาดก็คือธนาคารต่างๆ ที่มีการลงทุนใน Money Market Fund (MMF) เริ่มถอนออกแล้วย้ายเงินไปที่อื่นที่น่าจะปลอดภัยกว่าและมีอายุการลงทุนสั้นๆ  โดยเฉพาะ MMF ที่ลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐล้วนๆ (ได้แก่ US Treasury) นี่ก็ชัดเจนแล้วว่า US Treasury ที่ถือเป็น Risk Free Asset นั้น มันไม่ใช่ Risk Free แล้วในสายตาของผู้ลงทุน น่าจะเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Risky Asset มากกว่า โดยไม่ต้องรอการยืนยันด้วยการลดอันดับเครดิตจาก S&P, Moody’s หรือ Fitch Rating

บางคนอาจสงสัยว่าทำไมธนาคารเขาเอาเงินไปลงทุนใน MMF ด้วย ทั้งๆ ที่ MMF ในสหรัฐให้ผลตอบแทนเพียงประมาณ 0.12% - 0.15% ต่อปี

คำตอบก็คือเนื่องจากธนาคารมีเงินฝากและเงินกู้เหลือเพราะไม่กล้าปล่อยกู้ในช่วงเศรษฐกิจมีความเสี่ยงสูง เลยเอาไปหาที่ลงทุนให้คุ้มต้นทุนเงินฝากหรือเงินกู้ และส่วนที่ต้องการลงทุนให้ปลอดภัยก็จะไปที่ MMF เพราะ MMF ถือเป็นการลงทุนที่ปลอดภัยมาก โดยพิสูจน์ได้ในช่วง 2008 ที่ Lehman Brothers ล้มนั้น ผู้ลงทุนใน MMF ต่างพากันแห่กันถอนเงินออกจาก MMF กันมากเพราะกลัวกองทุนจะได้รับผลกระทบจนไม่มีเงินคืนให้ จนกระทั่งรัฐบาลต้องประกาศว่า MMF ได้รับความคุ้มครองจากรัฐเหมือนเงินฝากด้วย คนจึงหยุดถอน และในช่วงที่ธนาคารหรือผู้จัดการกองทุนยังไม่ได้เอาเงินไปลงทุนที่ไหนเพราะกลัวความเสี่ยงไปหมด ก็เลยเอาไปพักไว้ก่อนใน MMF ทำให้ MMF โตขึ้นมากในช่วงนั้น  

มาวันนี้ MMF ก็ถูกตลาดมองว่าไม่ปลอดภัยเหมือนก่อนแล้ว ต่อให้รัฐบาลประกาศอีกว่าจะอุ้ม MMF เหมือนเมื่อ 2-3 ปีก่อน แต่ใครจะเชื่อ ก็ลำพังรัฐบาลเองยังกระเป๋าฉีกยับเยินช่วยตัวเองไม่ได้ปานนั้น แล้วจะมีปัญญาไปช่วยใครได้เล่า

ในช่วงต่อไปนี้ หากคนเริ่มถอนเงินออกจาก  MMF มากขึ้นๆ จะเกิดอันตรายขึ้นอีกในระบบ เพราะเมื่อคนถอนเงินออกจากกองทุน กองทุนก็ต้องเปลี่ยนสินทรัพย์ที่ลงทุนในพอร์ตเป็นเงินสดเพื่อเอาไปคืยลูกค้า สินทรัพย์ดังกล่าวใน MMF ก็คือ เงินฝาก ตราสารหนี้ ทั้งของรัฐบาลและเอกชน และจากตัวอย่างพอร์ตของ MMF กองหนึ่งที่บริหารโดย Fidelity  พบว่า MMF ของเขานอกจากจะมี US Treasury แล้ว ยังมีการลงทุนไม่น้อยเลยในธนาคารยุโรป  ดังนั้น ปัญหามันจะพันกินหางไม่รู้จบ

นี่เป็นเรื่องที่ทุกคนควรศึกษาทำความเข้าใจไว้ เพราะมันเกิดขึ้นได้ทุกแห่งหน หากเราเข้าใจกลไกและเหตุผลแล้ว  เมื่อเราเผชิญเหตุการณ์นั้นๆ จะได้รู้ว่ามันจะเกิดอะไรต่อไป และจัดการตนเองได้ไม่ผิดพลาดเป็นการล่วงหน้า และทำได้ดีกว่าคนที่ไม่ยอมเรียนรู้อะไรเลย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น