ค้นหาบล็อกนี้

วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2554

มาแล้ว ซุปเปอร์แมนเบน

คุณวรวรรณ ธาราภูมิ
 CEO บลจ. บัวหลวง

1 ธันวาคม 2554


ไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ผู้นำยูโรโซนและนายแบงค์ทั้งหลายคงเหมือนตกอยู่ในไฟประลัยกัลป์ เพราะผลกระทบจากวิกฤติหนี้กำลังทำให้หลายประเทศ หลายธนาคาร กำลังขาดเงินเหมือนแวมไพร์ที่ขาดเลือด  ส่งผลให้ตลาดการเงินโลกปั่นป่วนที่สุด

เยอรมนีออกพันธบัตรรัฐบาลออกมา แต่ขายไม่หมด เพราะคนไม่กล้าซื้อ กลัวถึงเวลาแล้วไม่ได้รับเงินต้นคืนครบถ้วน

พันธบัตรรัฐบาลอิตาลีมีผลตอบแทนพุ่งกระฉูดไปถึงกว่า 7% ทุบสถิติไปแล้ว  ให้ดอกสูงขนาดนั้นคนก็ยังไม่กล้าลงทุน

กองทุนมันนี่มาร์เก็ตฟันด์ของสหรัฐที่ลงทุนในตราสารหนี้ของธนาคารยุโรปหลายๆ แห่ง พอตราสารเหล่านั้นครบกำหนด ก็ไม่ซื้อล็อตใหม่ที่ออกมาขายอีก 

ก็ใครจะไปกล้าลงทุนอีกเล่า ในเมื่อธนาคารยุโรปพวกนั้นกำลังย่ำแย่ยิ่งขึ้น เพราะไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลกลุ่มลูกหมู (Protugal, Italy Ireland, Greece และ Spain) ไว้อื้อซ่า แล้วประเทศเหล่านั้นก็ไม่มีปัญญาใช้คืน

ท่ามกลางความพยายามฉุดรั้งชีวิตของกลุ่มยูโร สถาบันจัดอันดับทุกสถาบันหลักก็ยังออกมาลดหรือประกาศว่าจะลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารต่างๆ รวมถึงประเทศในยุโรป

เรียกว่าโคม่าพะงาบๆ ขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง ถึงขั้นมีคนไปกระซิบข้างหูในห้องไอซียูแล้วว่า อรหัง อรหังกันแล้ว

และแล้ว ........ แอ่น แอน แอ๊น  ........ นั่นตัวอะไรน่ะ .... ????

ลุงเบน เบอร์นานเก้ เอากุงเกงในแดงแจ๋ออกมาใส่ทับกางเกงยืดแนบเนื้อสีฟ้าแอ๋น หน้าอกเสื้อมีรูปตัว S หรา  

อุ้ย ซุปเปอร์แมน เบน มาแล้ว  เอ้า เฮ้ย  หลบหน่อย พระเอกมา

ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) อังกฤษ แคนาดา ญี่ปุ่น และสวิตเซอร์แลนด์ เห็นพ้องให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการสวอปเงินดอลลาร์ลง 0.5% เพื่อบรรเทาภาวะตึงตัวในตลาดการเงินและผลกระทบที่มีต่อการปล่อยสินเชื่อแก่ภาคครัวเรือนและภาคเอกชน โดยจะมีผลในวันที่ 5 ธ.ค.นี้ ถึง 1 ก.พ.2556 ซึ่งเป็นมาตรการร่วมเพื่อพยุงระบบการเงินของโลกไว้ไม่ให้พังทลาย

ใช่  ข่าวนี้ทำให้ตลาดหุ้นต่างประเทศและราคาทองคำ หรือ Risk Asset ทั้งหลายสนองตอบในเชิงบวกทันที เรียกว่า เด้งดึ๋งๆ

แต่ใครอ่านข่าวข้างบนแล้วเข้าใจจริงๆ ว่าเขาทำอะไรกัน โปรดยกมือขึ้น

หากใครยกมือว่าเข้าใจก็ไม่ต้องอ่านต่อแล้ว ให้ไปงมหาข่าวน้ำท่วม ข่าวสุดหล่อตุ๊ดตู่จะโดนปลดจาก สส. เพราะไปติดคุกแล้วออกไปเลือกตั้งไม่ได้เลยขาดคุณสมบัติ และเชิญไปหาความสำราญจากข่าวพี่ปูแสนสวยอึราดจนเป็นลม กันต่อไปตามลำบาก 

ส่วนคนธรรมดาอันเป็นเสียงส่วนใหญ่ของประเทศที่ยังไม่เข้าใจความหมายก็ขอเชิญอ่านต่อ

ที่จริงแล้ว ข่าวนี้คือการส่งสัญญาณว่าธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ในยุโรป กำลังเจอปัญหาหนัก คือขาดแคลนเงินมาหล่อเลี้ยง ไม่มีใครกล้าให้กู้แล้ว 

การออกมาตีฆ้องร้องป่าวของธนาคารกลาง 6 แห่งนำโดย FED ของลุงเบนนั้น จึงเป็นการประกาศแก่ชาวโลกว่า ธนาคารกลางเหล่านั้นจะมีเงินดอลลาร์ต้นทุนต่ำสุดๆ มาให้แบงค์ต่างๆ ในยุโรปกู้ไปพยุงฐานะ เหมือนบอกว่าแวมไพร์ทั้งหลายที่กำลังอดโซใกล้ตาย จะได้เลือดแล้ว

และมันก็ได้ผลในเชิงจิตวิทยาทันที เพราะเมื่อแบงค์ชาติหรือธนาคารกลางประเทศยักษ์ๆ จับมือกันแก้ปัญหา มันก็ดูดีมีสกุล ดูหนักแน่นน่าเชื่อถือ แต่การอัดฉีดเงินเข้าไปช่วยพยุงฐานะแบบนี้มันจะใช่วิธีแก้ปัญหาหนี้ภาครัฐละหรือ  ในเมื่อปัญหาที่แท้จริงไม่ใช่เรื่องการขาดสภาพคล่องหรือขาดเงิน แต่มันอยู่ที่การเป็นหนี้สินล้นพ้นตัวของรัฐบาลประเทศต่างๆ และไม่มีทีท่าว่ารายได้ในอนาคตกับพฤติกรรมมือเติบจะช่วยให้ผ่อนคลายปัญหาหนี้สินไปได้

พูดภาษาแวมไพร์ก็ต้องถามว่า การให้เลือดพยุงชีวิตแวมไพร์ มันแก้ปัญหาได้เหรอ ในเมื่อต้นตอของปัญหามันคือตัวแวมไพร์นั่นเอง ขืนให้มันมีชีวิตต่อ มันก็ไม่กลายไปเป็นคนดีๆ ไปได้หรอก  มันก็ต้องหาเลือดดื่มไปเรื่อยๆ แล้วใครที่ไหนจะยอมให้เลือดมันอีกแบบไม่มีวันจบสิ้น ในเมื่อแวมไพร์พวกนี้ไม่ได้กินมังสวิรัติแบบแวมไพร์สุดหล่อของตระกูลคัลเลน  

วิธีแก้ปัญหาในวันนี้มันไม่ได้ต่างกับที่ทำไปเมื่อเดือน ตุลาคม และ พฤศจิกายน  ปี 2008 เลย แล้วผลที่จะตามมาคิดเหรอว่ามันจะต่างกันได้ ก็แค่ซื้อเวลาเท่านั้นเอง
สิ่งที่ธนาคารกลางใหญ่ 6 ประเทศกำลังทำก็คล้ายการพิมพ์แบงค์ แต่ไปใช้ชื่ออื่นแทน ทุกคนกำลังใช้วิถีของ Keynesians ในการแก้ปัญหา ซึ่งมีผลดีต่อสินทรัพย์เสี่ยงหรือ Risk Assets ในช่วงสั้น ไม่ว่าจะเป็น หุ้น โลหะมีค่าอย่างทองคำ แร่เงิน  ฯลฯ โดยยอมผลักระเบิดลูกมหึมาไปในอนาคตอีก และลืมประโยคสุดท้ายของเจ้าของทฤษฎีนี้ ซึ่งก็คือ "ในที่สุด ทุกคนก็ตายตอนจบ" ซึ่งหมายความว่าเราไม่สามารถกู้มาใช้ได้ตลอดชีวิต
แต่หากไม่ทำตอนนี้ เขาก็ห่วงกันว่ายุโรปก็จะตายหยังเขียดไปก่อน แล้วประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะทางตะวันตกจะตายตามไปด้วย

อย่างไรก็ดี เราได้เห็นว่าเยอรมันดูจะเป็นประเทศที่ยอมรับความจริงมากที่สุด ว่ามันไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาที่แท้จริง ตามที่ คุณป้าแองเจล่า เมอร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี กล่าวไว้ว่า

วิธีเดียวที่จะแก้ปัญหาวิกฤติครั้งนี้คือต้องแก้ไปที่ตัวปัญหาอย่างแท้จริง ซึ่งก็คือการมีหนี้ภาครัฐสูงเกินไป ไม่ใช่การเข้าไปช่วยอุ้มธนาคารต่างๆ แบบที่เคยทำเสมอมา

แต่เอาละ ก็ถือว่าดีสำหรับ Risk Assets เพราะทำให้ตลาดทั่วโลกกลับไปอยู่ใน Mode "Risk On" อีกครั้งหนึ่ง คือผู้ลงทุนเด้งดึ๋งไปเก็งกำไรในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น ทองคำ ฯลฯ แม้อาจจะแค่ช่วงสั้นๆ  เพราะได้กลิ่นเงินมหาศาลกำลังจะโปรยลงมาจากฟากฟ้าแล้ว  ผู้ลงทุนจึงไม่อยู่ในอารมณ์หมดฤทธิ์ไวอะกร้า  "Risk Off" แบบที่ผ่านมาที่ถอยจากตลาดไปกอดดอลลาร์ไว้แน่น

มองมาตรการนี้ให้ลึกๆ ลงไป ให้สมกับเป็น กูรู้ก็จะพบว่า FED ของลุงเบน กำลังทำตนเป็น Lender of the last resource หรือผู้ให้กู้รายสุดท้ายที่เหลืออยู่ในโลกไปเสียแล้ว

หมายถึงในขณะที่ธนาคารในยุโรปกู้ใครไม่ได้ ก็มีอีตาลุงเบนนี่แหละที่จะเอาเงินดอลลาร์ราคาถูกๆ ไปให้กู้เอง โดยผ่านกลไกที่เราอ่านแล้วไม่ค่อยรู้เรื่องนั่นแหละ ก็ไม่ต้องไปสนใจเรื่องกลไกวิธีการให้มากมาย เอาให้เข้าใจหลักการและแก่นแท้ก็พอ

ฮ่าๆๆๆ  ลุงเบน ทะลึ่งให้คนอื่นกู้ข้ามทวีป ทั้งๆ ที่ตัวเองยังจะเอาตัวไม่รอดในอนาคตแล้ว แต่ก็อย่างว่าแหละ คนจนย่อมเห็นใจคนจนด้วยกัน

แต่ในระบอบทุนนิยมเสรี หากบริษัทไปไม่ไหวก็ต้องปล่อยให้ล้ม ตัวอย่างที่ดีคือ อเมริกันแอร์ไลน์ ที่เพิ่งยอมล้มละลายไป 

การโยนผ้าขาวมอบตัว เมื่อรู้ว่าไม่ไหวจริงๆ แล้วย่อมเป็นการดี เพราะจะได้จัดการหนี้สินและชีวิตตนเองให้เข้ารูปเข้ารอย ไม่ใช้จ่ายเกินตัว และเริ่มประหยัด แล้วจะมีโอกาสกลับไปเริ่มต้นใหม่ อย่างน้อยก็เพื่อบริษัทใหม่ๆ คนใหม่ๆ จะได้เกิดไปสู่การเติบโตรอบใหม่ได้ โดยไม่มีภาระหนี้เป็นตัวถ่วงจากคนรุ่นก่อน

หากเราเห็นแก่ตัว ขอให้คนอื่นมาอุ้ม ยิ่งทำให้ปัญหาของลูกหลานเราในวันหน้าพอกพูน ต้องใช้ทุน ใช้ทรัพยากรเพิ่มอีกมากในการแก้ปัญหาต่อๆ ไป

ข่าวใหญ่ของธนาคารกลาง 6 แห่งนั้น จึงไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าเขากำลังจะทำมากขึ้น

ธนาคารกลางจะทำอะไรมากขึ้นล่ะ

ก็พิมพ์แบงค์กระดาษไง

เรื่องนี้ธนาคารกลางเพียงแต่เขินอายเกินไปกว่าจะใช้คำว่า พิมพ์แบงค์ ออกมาตรงๆ  เลยเรียกไปว่า Swap มั่งละ  QE มั่งละ   Recap มั่งละ บางทีก็เรียกบ้าบอไปไกลขนาดว่า bolstering financial markets หรือ saving us from the abyss แบบที่ลงใน Finanacial Times

มันคงคล้ายๆ ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์เคยเรียกการกวาดล้างเสื้อแดงที่ราชประสงค์เพื่อยุติการยึดบ้านยึดเมืองของกลุ่มเสื้อแดงว่า กระชับวงล้อม ขอคืนพื้นที่ ฯลฯ แทนที่จะใช้คำว่า กวาดล้าง หรือจับกุม หรือกราบไหว้ให้ช่วยกลับไปทำมาหากินตามปกติ

แต่จะเรียกว่าอะไร เรียกให้หวานเท่าไหร่ ก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าทำอะไรลงไป จริงไหมล่ะ

การแก้ปัญหาของลุงเบน และนายธนาคารกลางอื่นๆ ก็ทำวิธีเดียวกับเมื่อปี 2008 เลย  คือใส่เงินเข้าไปในระบบเยอะๆ  

แต่ต้นเหตุของปัญหาในวันนี้ไม่ใช่การขาดสภาพคล่อง มันเป็นเรื่องหนี้มหาศาลของภาครัฐในประเทศที่มีหนี้สินล้นพ้นกำลังตน

คนที่ถังแตกแล้ว และไม่มีศักยภาพพอจะหารายได้มาใช้หนี้ได้ครบ ทั้งยังบริโภคมากกว่าที่จะผลิตได้ ต่อให้ยัดเงินใส่มือเท่าไรก็ไม่ได้แก้ปัญหาได้ มันเพียงแต่ยืดเวลาตายเท่านั้นแหละ มันจึงต้องแก้ที่นิสัยไม่ดีในการใช้จ่าย ทยอยหนี้คืนให้ได้ ไม่ใช่ให้ผลัดผ่อนไปเรื่อยๆ

คนตายที่กำลังถูกบรรจุโลง กลับโดนลุงเบนและนายธนาคารกลางทำตัวเป็นหมอผีควักศพขึ้นมาฉีดฟอร์มาลีนเพิ่ม เอาไม้เสียบตูด แล้วจัดท่านั่งให้เหมือนยังไม่ตายอยู่ได้  จะให้ไม่เน่าไม่เปื่อยไม่เหม็นหึ่งไปได้อีกนานเท่าใดกันเล่า หนอนยั้วเยี้ยใกล้จะหล่นออกมาจากปากศพแล้วนะลุง

พิมพ์แบงค์เพิ่ม ในระยะยาวมันแย่มากสำหรับค่าเงินกระดาษและคนที่ถือเงินไว้ แต่มันก็ดีสำหรับทองคำในระยะยาว และดีต่อคนที่มีทองนะ

ที่จริงแล้ว การเสกเงินออกมาจากแท่นพิมพ์ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย เอาแค่ช่วงใกล้ๆ คือในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองก็ได้

ช่วงนั้น John Maynard Keynes ผลักดันสุดๆ ให้มีระบบเงินกระดาษที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารกลางของโลก ซึ่งแนวคิดนี้ไม่ได้รับการสนับสนุน แต่สถาบันที่จะทำหน้าที่กำกับดูแลเรื่องเหล่านี้กลับได้รับการก่อตั้งขึ้นซึ่งก็คือ IMF กับ World bank โดยที่รัฐต่างๆ ในอเมริกายังคงมีอำนาจเต็มในการกำกับดูแลและบริหารเงินของรัฐ ในขณะที่ทั้ง World Bank กับ IMF กลับไปมีหน้าที่เทพๆ ของการเป็นผู้ให้ในด้านสวัสดิการสังคมแก่ประเทศในโลกที่สาม

แต่ความฝันของ John Maynard Keynes ยังคงมีอิทธิฤทธิ์อยู่ ผลแห่งฝันนั้นก็คือการก่อตั้งกลุ่มยูโรโซนและธนาคารกลางยุโรปหรือ EU นั่นไง  และการที่ประธานาธิบดี ริชาร์ด เอ็ม นิกสัน ปิดหน้าต่างแลกเปลี่ยนดอลลาร์เป็นทองคำ ก็เป็นการใช้แนวทาง John Maynard Keynes ที่ว่านี้ด้วย เพราะทำให้ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ธนาคารกลางสหรัฐไม่ต้องใช้ทองคำมาหนุนการพิมพ์ดอลลาร์อีกต่อไป แล้ว FED ก็มีอำนาจเต็มในระบบการเงินของอเมริกา  ความฝันตามแนวคิดของ John Maynard Keynes ที่เรียกกันว่า Keynesian dream จึงอุบัติขึ้นมาได้ และทุกครั้งที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจและการเงิน ก็จะเป็นโอกาสที่ FED จะพิมพ์แบงค์เพิ่ม และอัดฉีดให้เกิดการจ้างงานตามทฤษฎี Keynesian

ตังค์ใช้หนี้ไม่พอเรอะ กลัวอะไร ในเมื่อหนี้เป็นสกุลเงินดอลลาร์ เราก็พิมพ์แบงค์ดอลลาร์ไปจ่ายหนี้สิ ชิลๆ

เออ  มันคิดกันแบบนี้แหละ  FED ของลุงเบนถึงได้สำแดงออกมาว่าในเมื่อแบงค์ชาติอื่นๆ ในโลกนี้ยังไม่กล้าพอ แบงค์ชาติอเมริกานี่แหละจะทำให้ดูก่อนกะด้าย

ลุงเบน ทำมาตั้งแต่ปี 2008 ด้วยการออกมาตรการ QE 2 ครั้ง นั่นไง  ลุงพิมพ์แบงค์ออกมาใส่ระบบจนเงินท่วมเพื่ออุ้มแบงค์ต่างๆ ในอเมริกา

แล้วเงินมันไหลไปในระบบเศรษฐกิจจริงที่ไหนล่ะลุง  มันไหลไปลงทุนใน Risk Asset ตะหากเล่า ถึงได้ทำให้หุ้น ทอง ฯลฯ ราคาพุ่งกระฉูดในช่วงนั้นไง เพราะแบงค์ต่างๆ ไม่ปล่อยกู้ แต่เอาเงินต้นทุนถูกๆ เหล่านี้ไปลงทุนเก็งกำไรในตลาดหุ้นและทองคำกัน  แถมลุงยังทำโดยไม่ห่วงว่าเงินจะเฟ้อด้วย  แล้วเงินก็เฟ้อจริงๆ

ลุงเบน จึงเป็นทายาทอสูรตัวจริงของ Keynesian ที่ศรัทธาในทฤษฎีนี้แบบไม่มีการโมดิฟาย และไม่มีข้อจำกัดในความเชื่อที่ว่า เงินกระดาษสามารถแก้ปัญหาของโลกได้ทุกอย่าง
                                                                                                                                                                                                                       
และนี่คือมหันตภัยที่ลุงเบนมอบให้โลกในวันนี้ เมื่อลุงทำให้ FED กลายเป็นธนาคารกลางที่อุ้มโลกทั้งใบไปแล้ว เพราะ FED ต้องทำหน้าที่พิมพ์แบงค์กงเต็กเพื่อโลก  ลุงเบนในวันนี้จึงแปลงร่างไปเป็นเจ้าหน้าที่สินเชื่อของโลกไปแล้ว

มหันตภัยที่ว่านี้ก็คือ วิกฤติเงินเฟ้อทั่วโลก

นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบนั่นเอง                        

คำถามตอนนี้ที่ Make sense ที่สุด จึงควรเป็นคำถามว่า

ตลาดจะยังคงขึ้นไปได้อีกตลอดถึงสิ้นปีนี้ไหม

นักวิเคราะห์ต่างประเทศบางคนก็บอกว่าไปได้แน่ เพราะกองทุนต่างประเทศยังลงทุนหุ้นน้อยเกินไป และต้องทำให้กองทุนมีผลตอบแทน หากยังแช่เงินไปฝากในรูปดอลลาร์ที่แทบไม่มีผลตอบแทน กองทุนเดี้ยงตายแน่ๆ  ลูกค้าคงจะแห่ถอน

แต่ก็มีนักวิเคราะห์อีกกลุ่มมองในแง่ไม่ดี โดยระบุว่า นี่เป็นแค่การ short covering หุ้นเท่านั้น ไม่ได้เป็นการซื้อหุ้นจริงๆ สักหน่อย  และยุโรปก็ยังแย่เหมือนเดิม

ส่วนคำตอบของเราก็คือ  ไม่รู้หรอก แต่คำแนะนำก็เหมือนเดิมที่เคยแนะนำ บวกเพิ่มที่ว่ามันไม่ผิดที่จะเก็งกำไรบ้าง แต่อย่ามากนัก  เพราะความเสี่ยงยังมีไม่น้อยในระยะสั้นๆ  และพี่ชอบหุ้นไทยมากกว่า แต่ก็อย่าลืมมีทองคำแบบลงทุนรยะยาวไว้ด้วย

ทยอยลงทุนสม่ำเสมอ กับ กระจายการลงทุนในหลายๆ สินทรัพย์ จึงเป็นตำตอบที่คลาสสิคที่สุด และผิดน้อยที่สุด



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น