ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ทองคำจะ "เอาอยู่" ไหมหนอ?

คุณวรวรรณ ธาราภูมิ
CEO บลจ. บัวหลวง

18 ธันวาคม 2554


หลายคนที่มีทองคำในมือคงใจแป้วในสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะราคาทองคำมันดิ่งลงเร็วมากจากจุดสูงสุดในประวัติศาสตร์ที่  1,923.70  ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ขึ้นๆ ลงๆ รุนแรง จนมาเหลือต่ำกว่า 1,600 กว่าดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือลดลงมาเกือบ 20% ในขณะที่เงินลงทุนไหลไปอยู่ที่ดอลลาร์สหรัฐ

อุ๋ย ... หรือนี่จะเป็นตลาดขาลงของทองคำ (Bear Market)

อะจ๊ากกกกก ......

จริงไหม ที่ว่าเวลามีข่าวไม่ดีเกี่ยวกับวิกฤติหนี้ เรามักจะเชื่อว่าทองคำจะมีราคาสูงขึ้น และดอลลาร์จะลดลงเพราะโดนขายทิ้ง

แต่ทำไมมันกลับตรงกันข้ามในพักหลังมานี้ เพราะเมื่อหุ้นในตะวันตกดิ่งลง ยูโรเดี้ยง ทองคำดันทะลึ่งลงไปกับเขาด้วย

จะราคาลงไปทำไมกัน ห๊า แล้วดอลลาร์ยังทะลึ่งพุ่งขึ้นอีกด้วย บ้าป้าว

เรื่องนี้ นักเศรษฐศาสตร์ชื่อ Danis Gartman ที่ขายทองคำล็อตสุดท้ายที่เขาครอบครองไปในสัปดาห์ก่อน ออก มาเตือนว่า มันจะตกลงไปอีก เพราะจะมีสถาบันขายในจำนวนมากๆ

เออ นิสัยอย่างนี้นี่เอง พอขายหมด ก็ค่อยออกมาเตือน  พอซื้อครบ ก็ค่อยออกมาเชียร์ คุ้นป่ะ

ล่าสุด ผลการสำรวจของ Bloomberg ระบุว่า 10 ใน 21 คน คาดว่าราคาทองคำจะขึ้นในสัปดาห์หน้านี้ ซึ่ง 10 คนใน 21 คนที่เชื่อในทางบวกต่อทองคำนี้นับว่ามีจำนวนน้อยที่สุดตั้งแต่สำรวจเรื่องทองคำเมื่อ 29 กรกฎาคม ในขณะที่ 3 คนตอบว่าไม่บวก ไม่ลบ (Neutral)

มันเป็นจริงที่ว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมานี้ตกลงไปมากที่สุด  และมูลค่าของหุ้นในตลาดโลกก็หายไปถึงกว่า 640,000 ล้านดอลลาร์แล้วนับจาก 14 ธันวาคมปีก่อน หลังจากธนาคารกลางสหรัฐหรือ FED ของลุงเบนยังไม่กระทืบ Like ให้กับการออก QE3 ซึ่งเป็นกรรมวิธีอัดฉีดเงินกระดาษเข้าไปในระบบด้วยวิธีการต่างๆ แล้วเรียกชื่อตามแต่จะคิดขึ้นมาให้ห่างไกลคำที่คนจะรู้ว่าเป็นการพิมพ์แบงค์กงเต็ก

นอกจากนี้ ยังมีความกดดันเรื่องสถานการณ์ย่อบแย่บจากยุโรป ที่ทำให้เงินหนีออกจากยุโรปไปอยู่ในดอลลาร์สหรัฐที่คน ยังเชื่อว่าปลอดภัย ทำให้ค่าเงินดอลลาร์พุ่งสูงขึ้นเมื่อเทียบยูโร

และทองคำโดยทั่วไปก็จะเคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้ามกับค่าของดอลลาร์

Miguel Perez- Santalla ผู้เป็น Vice President ของ Heraeus Precious Metals Management ใน New York ดูแลกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ค้าอัญญมณีและเหมืองทอง บอกว่า หลายคนมองว่าเป็นตลาดขาลงของทองคำ แต่ปัญหาในยุโรปยังไม่ได้แก้เลย ผมจึงเชื่อว่าเดี๋ยวคนก็กลับมาซื้อทองคำกันอีก แล้วจะเห็นราคาที่เพิ่มขึ้นสูงเพราะคนไม่เชื่อมั่นในระบบการเงินเพิ่มมากขึ้นทุกมีนี่คือรายงานจาก Bloomberg

ทองคำแท่งในตลาด Comex ที่ New York มีราคาสูงขึ้นจากสิ้นปีก่อน 12% มาอยู่ที่ 1,592.70 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังจากโดนถล่มเละในสัปดาห์ที่แล้ว แต่ทองคำก็ยังให้ผลตอบแทนดีที่สุดเป็นอันดับสามในปีนี้ในกลุ่ม Commodity ด้วยกัน 24 ชนิดตามดัชนี S&P GSCI โดยดัชนีนี้ตกลงไปติดลบ 2.6% ในขณะที่ MSCI All Country World Index (ดัชนีหุ้นโลกในหลายๆ ตลาด ตามน้ำหนักจัดสรรที่ Morgan Stanley กำหนด) ตกลงไปติดลบ 12% และผลตอบแทนของ US Treasury เป็นบวก 9.6%

นอกจากนี้ Bank of America ยังรายงานว่า พวกเล่น Option ยังคงมองทองคำเป็นบวกอยู่ เพราะ Option ที่มีคนถือสิทธิมากที่สุดเป็นอันที่ให้สิทธิซื้อทองคำได้ในราคา 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ภายในเดือนมีนาคมปีหน้า และการถือครองมากที่สุด 8 อันดับแรกเป็น Call Option ทองคำในราคาที่ไม่ต่ำกว่า 13% เหนือราคาทองคำในวันนี้

อะไรทำให้คนมองทองคำในแง่บวกมากในอนาคตข้างหน้าล่ะ ?

มันมาจากวิกฤติหนี้ในสหรัฐ กับวิกฤติหนี้และสภาพคล่องของธนาคารในยุโรป  2 อย่างนี้คือตัวเร่งให้คนสะสมทองคำมากขึ้นในไตรมาส 3 ปีนี้ ทำให้ราคาทองคำพุ่งขึ้นแรงสุดในรอบ 1 ปี และการที่ธนาคารกลางยุโรปหรือ ECB ลดดอกเบี้ยติดกัน 2 เดือนในสัปดาห์ก่อนเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจฟื้น ก็จะยิ่งทำให้ความต้องการทองคำมากขึ้น เพราะว่าอัตราดอกเบี้ยต่ำๆ ยิ่งจะทำให้ผู้ลงทุนต้องหันไปหาทองคำเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีกว่าไปแช่เงินในยูโรหรือดอลลาร์ โดยเฉพาะเมื่อดอลลาร์มีอัตราดอกเบี้ยที่เป็นศูนย์หรือใกล้ศูนย์เต็มที แม้วันนี้คนจะวิ่งหางชี้เข้าไปหาดอลลาร์เพราะกลัวยูโรแตกก็ตาม

แต่ใครจะไปทนอยู่ในดอลลาร์ได้นานๆ  หากไม่ได้รับผลตอบแทนเลยล่ะ

Adrian Day ประธานกรรมการ Adrian Day Asset Management ในอินเดียนนาโปลิส ที่รัฐแมรีแลนด์ กล่าวว่า ปัจจัยพื้นฐานของทองคำยังดีเหมือนเดิม ทั้งธนาคารกลางยุโรปและสหรัฐยังใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย (กดดอกเบี้ยให้ต่ำ เพื่อผลักดันเศรษฐกิจ) เมื่อตลาดสะอาดแล้วราคาทองคำจะขึ้นอีก

ชอบคำนี้มาก เมื่อตลาดสะอาดแล้ว

ส่วน Daniel Briesemann นักวิเคราะห์ของ Commerzbank AG ใน Frankfurt ก็มองว่า ทองคำอาจจะลงไปต่ำกว่า 1,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ก็ได้ในระยะสั้น และอาจจะไม่เป็นแหล่งหลบภัยหรือ Safe Haven ในวันนี้ แต่เชื่อว่าในปีหน้าทองคำจะมีราคาพุ่งขึ้นไปถึง 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

ส่วน Dave Lutz หัวหน้าทีมค้า Exchange Traded Fund ที่  Stifel Nicolaus & Co. ใน Baltimore ก็ให้ความเห็นว่า ราคาที่ดิ่งลงน่าจะทำให้ธนาคารกลางชาติต่างๆ ที่ต้องการเพิ่มน้ำหนักทองคำสะสมไว้ในทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ ทยอยเข้าซื้อทองคำเพิ่ม

ใครก็ได้ แอบถาม ดร.ประสาร หน่อยสิว่า กำลังซื้อทองป่ะคะ

นักวิเคราะห์เทคนิเคิลด้านอัตราแลกเปลี่ยนทางเทคนิคของ Citigroup ให้ความเห็นในวันที่ 14 ธันวาคมนี้ว่า ทองคำอาจตกลงไปถึง 1,550 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนจะพุ่งขึ้นไปจนถึง 2,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในไตรมาส 2 ปีหน้า ในขณะที่ Bank of America ทำนายเมื่อ 2-3 วันก่อนว่า ราคาทองคำจะเป็น 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ใน 12 เดือนข้างหน้า

นอกจากนี้ Goldman Sach และอีกหลายๆ เจ้าใหญ่ๆ ก็มองราคาทองคำในปีหน้า และปีต่อๆ ไปด้วยปัจจัยพื้นฐานว่าเป็นขาขึ้น รวมถึง ลุงมาร์ค ฟาเบอร์ นักลงทุนของแท้ในใจเรา ก็บอกว่า แม้ทองคำจะราคาลดลงอีกในวันนี้ ลุงก็ไม่ได้ขายที่มีอยู่ออกไป และยังคงซื้อเพิ่ม โดยมีสัดส่วนลงทุนทองคำในพอร์ต 25% อยู่ดี

อ่ะ ไปดูยุโรปสักหน่อย

ผู้นำในกลุ่มยูโรโซนกำลังยุ่งอยู่กับการบอกโลกเป็นนัยๆ ว่า เอ้า เฮ้ย .... เรากำลังจะกดปุ่มเตือนภัยใหญ่หลวงจากความเสี่ยงของระบบการเงินและเศรษฐกิจโลกที่จะมีในตลอด 3 ปีข้างหน้านี้อยู่มะรอมมะร่อแล้วนะ 

แปลกแต่จริง เพราะเหมือนไปตะโกนใส่คนหูหนวกนั่นแหละ

สัปดาห์ก่อน พันธบัตรรัฐบาลอิตาลีอายุ 10 ปี ต้องให้ผลตอบแทนสูงถึงกว่า 7% เกือบ 3 เท่าของอัตราดอกเบี้ยที่สหรัฐต้องจ่ายให้ผู้ซื้อพันธบัตรของอเมริกา (เพื่อรัฐบาลได้เอาเงินไปใช้จ่ายเกินตัวอีกเหมือนเดิม) ในขณะที่ประธานธนาคารกลางเยอรมนี ออกมาเตือนอย่างจริงจังมากว่า ถ้าธนาคารกลางยุโรปขืนไปพิมพ์แบงค์ออกมาอีกละก็ ทั้งยุโรปจะเจอกับภาวะเงินเฟ้อที่จะทำให้ธนาคารพาณิชย์ใหญ่ๆ ของยุโรปหลายแห่งต้องล้มลง

ก็หูหนวกกันอีกแหละ

อืม .... แล้วถ้าธนาคารใหญ่ๆ ในยุโรปล้มลงล่ะ มันจะพาระบบการเงินของทั้งโลกล่มสลายตามไปด้วยไหม

คำตอบคือไม่มีใครรู้หรอก แต่ที่แน่ๆ ก็คือตลาดไม่เคยผิด การทำตามสิ่งที่ตลาดให้สัญญาณเราจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุด

ตามที่กล่าวตอนต้นว่า Dennis Gartman  ผู้เคยทำนายว่าตลาด Commodity จะดิ่งลงในปี 2008 ได้ถูกต้อง เขาบอกให้ออกไปจากทองคำซะ มันกำลังอยู่ในช่วงขาลง และจะลงต่ำกว่า 1,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ด้วย แม้จะมีข่าวดีต่อราคาทองคำ เช่นเรื่องจีนต้องการทองคำจำนวนมากโดยสั่งเข้ามาจากฮ่องกงในอัตราเติบโตพุ่งสูงถึง 51% เป็น 86.3 ตันในเดือนตุลาคม เป็นเรคคอร์ดสูงสุดในแต่ละเดือน และในปี 2010 จีนยังนำเข้าทองคำถึง 300 ตัน 

แต่ Dennis Gartman บอกว่าการกระหน่ำซื้อขนาดนี้ไม่ได้ทำให้ราคาทองคำพุ่งขึ้นไปทำนิวโฮได้เลย และบอกอีกด้วยว่า เรื่องนี้กฏการ Trade ดั้งเดิมบอกว่าตลาดที่ไม่ตอบรับข่าวดีเป็นตลาดขาลง ไม่ใช่ขาขึ้น

เออ ขาขึ้นของเฮียแปลว่าหัวลง และขาลงแปลว่าหัวขึ้นปะจ๊ะ

แต่ Dominic Frisby ที่ลอนดอน บอกว่า กร๊วกสิ .. มันไม่เร็วขนาดนั้นหรอกเพื่อน การที่ทองคำราคาขึ้นมา 16% จากสิ้นปีก่อน มันยืนยันว่าไม่ใช่ตลาดขาลง

เอาละ ถ้าเราเชื่อว่า Bear Market หรือตลาดขาลง คือตลาดที่ลดลงไป 20% จากจุดสูงสุดที่เคยทำได้  Dennis Gartman ก็อาจวิเคราะห์ไว้ถูกต้อง  

แต่ ...

ทองคำก็ผ่านจุดที่ราคาตกลงไป 20% จากราคาสูงสุดไปแล้วถึง 3 ครั้ง ตั้งแต่เป็นขาขึ้นหรือ Bull Market ที่เริ่มต้นในปี 2001 โดยเกิดขึ้นในปี 2006, 2008 และเมื่อ 3 เดือนก่อนในเดือนกันยายนปีนี้

แล้วถ้าดูราคาระหว่างวัน จะเห็นว่ามันตกลงมาจาก 6 กันยายน ปีนี้ที่สูงสุดในประวัติศาสตร์ที่ 1,923 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ไปที่ 1,535 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในวันที่ 26 กันยายนล่ะ นั่นมันก็ตกลงไป 20% ไม่ใช่เรอะ ห๊า 

ดังนั้น จึงไม่มีอะไรดีไปกว่าไปดูที่ปัจจัยพื้นฐาน ไม่ใช่เทคนิคัล เพราะเราเป็นผู้ลงทุนระยะยาว

แล้วปัจจัยพื้นฐานมันเปลี่ยนไปหรือ ห๊า ?

ม้ายยย... ม่ายด้ายเปลี่ยนเล้ยยย ... หากจะเปลี่ยนก็คือยังเป็นแนวเดิม หนี้ท่วมยุโรปกับสหรัฐเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนตรงที่หนี้มันหนักมากขึ้นและจะมากขึ้น ยิ่งยืดปัญหาออกไปนานๆ ก็ยิ่งแก้ยากขึ้น และต้องใช้ทรัพยากรมากขึ้นในการแก้ไข

แล้วจะสงสัยตกใจอะไรกับเรื่องระยะสั้นอีกละ หือ ?

วัยรุ่นเลือดร้อนบางคนอ่านมาถึงตรงนี้อาจมีวิญญาณ Occupy นั่น Occupy นี่ เข้าสิง จนกระทั่งบอกว่า จะไปตุนทองคำทำไม เวลามีปัญหาทองคำก็กินไม่ได้ สู้ตุนลูกระเบิดเอาไว้ปล้นเขากินจะดีกว่าม้าง

กลับไปย้อนดูหน่อย  ทองคำขึ้นติดต่อกันมา 11 ปีแล้ว  หากปิดสิ้นปีนี้ยังเป็นบวก มันก็เป็นปีที่ 12  มันกำลังทดสอบพวกเราอยู่ว่ารักกันจริง หวังแต่ง เพื่ออยู่ด้วยกันแบบยืดยาวหรือเปล่า หรือชอบแบบชั่วคราว 2-3 ชั่วโมง เพราะมันอาจลงไปทดสอบใจเราโดยหดจู๋ลงไปที่ 1,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก็ได้

อุ้ย  คนที่รักจริง หวังแต่ง จะทำใจได้ไหมล่ะ

จะซื้อ จะถือต่อ หรือจะขายทิ้งเพราะเด็กมาเคาะบอกหมดเวลา 2-3 ชั่วโมงแล้ว  มันจึงขึ้นอยู่กับตัวเราเองเท่านั้นละ

ซึ่งหากราคาทองคำลงไปมากขนาดนั้น เราต้องมาประเมินกันใหม่ แต่ในระหว่างนี้ ผู้จัดการกองทุนหลายคนในประเทศตะวันตกและตะวันออก มีคำแนะนำว่า ขายหุ้นซะ แล้วไปซื้อทองคำ ขอย้ำว่าเขาหมายถึงหุ้นทั่วๆ ไปในตลาดโลกนะ ไม่ย้ำเดี๋ยวแห่กันไปขายหุ้นไทยในวันจันทร์โดยไม่มีเหตุผลดีๆ มารองรับ

มองอีกมุมหนึ่ง ทองคำอาจจะไม่ได้ทดสอบเราในตลาดขาลง แต่กำลังทดสอบเราในตลาดขาขึ้นก็ได้ นี่ไม่ได้ทำนายนะ แค่คิด เพราะ ....

ผู้วิเคราะห์โลหะมีค่าที่ Citigroup ระบุว่า ให้ราคาทองคำที่ 3,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ใน 1-2 ปีข้างหน้า น้าจิมโรเจอร์ ก็เช่นเดียวกัน

มันอาจขึ้นไปถึง 3,400 แล้วดิ่งเหวลงมาที่ 1,500 แล้วรอเด้งขึ้นไปที่ 5,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ก็ได้ ไม่มีใครรู้หรอก 

แต่คำถามคือ มันโง่ไปไหม หากขึ้นแล้วไม่ขายก่อน แล้วค่อยซื้อใหม่เวลาขาลง
                                  
ก็ไม่รู้อีกแหละ ตามใจเหอะ เงินใครเงินมัน เล่นทองสั้นๆ กับลงทุนยาว มันหนังคนละม้วน แต่คนไทยเก่งมาก ยืนยันได้ในเรื่องการซื้อๆ ขายๆ ทองคำ

แต่เราเห็นอาการยืนยันราคาทองคำขาขึ้นครั้งใหญ่ในระยะยาวมากกว่าจะเป็นขาลง

เพราะเราเห็นว่า ที่สหรัฐ ใช้เงินถึง 1.60 ดออลาร์ ต่อรายได้ที่ได้รับจากภาษีเพียง 1 ดอลลาร์

เพราะเราเห็นว่า ที่ยุโรป เขากำลังเตรียมการร่วมมือกับธนาคารกลางสหรัฐที่จะปั๊มเงินออกไปช่วยอุ้มแบงค์และประเทศที่รัฐบาลที่ใช้จ่ายเกินตัว

เพราะเราเห็นว่า ลุงเบน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ เตรียมเงินไว้ช่วยมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ทีเดียวในการช่วยโลกการเงิน โดย Bloomberg คำนวณว่ามันต้องสูงถึง 7.7 ล้านล้านดอลลาร์เลยละ  

แต่เรื่องนี้ Nicola Matthews กับ James Felkerson จากมูลนิธิ Ford Foundation วิจัยไว้ว่า สิ่งที่ FED ของลุงเบน ปวารณาตัวเข้าไปช่วยอุ้มการพังทลายของระบบการเงินในปี 2007-2009 นั้น ลุงเบนต้องใช้เงินเกิน 29 ล้านล้านดอลลาร์!

ว้าย .. ตาเถรหกตกหล่น !!  นั่นมันตั้ง 200% ของ GDP อเมริกาเชียวนะ แล้วทำไปเพียงเพื่อไม่ให้เกิดเศรษฐกิจตกต่ำ (Depression) ที่จะดึง GDP ติดลบไป 5%

ช่วยรักษาไม่ให้ GDP สหรัฐตกลงไป 5% รัฐบาลโอบามากับ ลุงเบนถึงกับรับความเสี่ยงด้วยการอุ้มระบบการเงินและเศรษฐกิจประเทศในปริมาณถึง 200% ของ GDP นี่นะ ว้าย .. กรี๊ดดดด  ... ใจถึงเจงๆ เล้ย

ไม่ต้องบอกแล้ว ว่าจะเกิดอะไรกับทองคำ หากมันถึงเวลาชะนวนระเบิดทำงาน

ก็ได้อีกแง่คิดว่า Depression ไม่ได้แปลว่าแย่เสมอไป ในเมื่อหากเรายอมให้เกิด มันก็มีส่วนดีหลายอย่าง

-           เพราะมันจะกวาดล้างการลงทุนเลวๆ ออกไปจากตลาด
-           มันจะช่วยลดพวกเก็งกำไรอย่างเดียวออกไป
-           มันจะกดดันให้มีการใช้เงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้มีกำไรต่อผู้ลงทุนมากขึ้นด้วย
-           มันจะช่วยฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อสุรกายจอมดูดออกไปจากระบบ
-           มันจะทำให้อุตสาหกรรมที่ควรล้มหายตายจากไปนานแล้ว ต้องหายไปจริงๆ โดยไม่มีการอุ้มที่สิ้นเปลืองของรัฐต่อไปอีก
-           มันจะช่วยให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ที่ดีๆ ขึ้นมา

มันจึงเป็นการทำลายล้างที่เราต้องการ เป็นการทำลายล้างที่สร้างสรรค์ยิ่ง ประมาณว่า กำจัดคนพาล อภิบาลคนดีเป็นหน้าที่ของจอมยุทธ์ผู้กล้า อย่างนั้นแหละ

เออ ยิ่งคิดก็ยิ่งชอบ Depression แฮะ

โชคดีที่เมืองไทยยังไม่ไปถึงขั้นนั้น  ยัง เอาอยู่ที่ระดับหนี้ภาครัฐ ไม่เกิน 60% ของ GDP นะ  และตอนนี้ก่อนมีงบประมาณใหม่ที่ต้องกู้เพิ่ม มันก็ยังอยู่ที่ระดับปลอดภัยที่ 42%

หลังจากกู้ตามงบประมาณใหม่แล้ว น่าจะไปที่ 52% เห็นจะได้  ยังไม่เกินกรอบเพดานที่กำหนด

ไม่อยากให้เราโชคร้ายแบบตะวันตก เพราะขี้เกียจเขียนเชียร์ให้เกิด Depression ให้นักเศรษฐศาสตร์ตัวจริงเขาเขม่นเอา


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น